ศ. ดร. สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ถก KM กับ สมศ. (4)


ศ. ดร. สมหวัง  พิธิยานุวัฒน์ถก KM กับ สมศ. (4)

         วารสารวงการครู  ฉบับเดือนมกราคม 2549   นำเรื่องนี้มาลงเป็นเรื่องเด่นของฉบับ  คือเรื่องจากปก   สคส. จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อเป็นตอน ๆ ดังต่อไปนี้  ตอนที่ 2

"จุดเริ่มต้นของความรู้  คือการยอมรับว่าเราไม่รู้" 
อมเรศ ศิลาอ่อน  อดีตประธาน สมศ.

ในเรื่องของ KM ใน สมศ. อาจารย์หวังไว้กี่ปี
         ถ้ามองที่สำนักงานคงจะประมาณ 1-2 ปีน่าจะเห็นผล แต่เราวางแผนในระยะยาวไว้ 5 ปีที่จะทำในเรื่องนี้อย่างจริงจัง และอย่างน้อยในอีก 4 ปีในวาระของผมนั้น เราก็จะใช้ตรงนี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงาน

การศึกษาในส่วนระดับรากหญ้า สมศ. จะไปกระตุ้นในเรื่องนี้หรือไม่
         ส่วนนี้เป็นส่วนของหมอวิจารณ์ คือ สคศ. ซึ่งขณะนี้ท่านอาจารย์สุวัฒน์  เงินฉ่ำ ที่ปรึกษาเลขาธิการสภาการศึกษา กำลังทำเรื่องของ KM เขตพื้นที่การศึกษาอยู่ ซึ่งทางด้านคุณหมอวิจารณ์ท่านทำทุกระดับอยู่แล้วตรงนี้ เป็นเรื่องดี  จุดนี้ ผมมองว่า เป็นทางเลือกของการพัฒนางาน และเป็นเรื่องของการพัฒนาคน เป็นการดึงพลังสร้างสรรค์จากคน
          และในส่วนของระยะที่ 3 ของ สมศ. เองนั้น  ถ้าเราสามารถที่จะช่วยเขา ให้ประเมินตนเองได้อย่างเข้มแข็งขึ้น ในเรื่องที่หมอวิจารณ์ฝันไว้ก็จะเป็นจริง คือ เราก็จะลดบทบาท แต่ในขณะนี้ในเรื่องการประเมินตนเองยังไม่ค่อยได้มาตรฐาน ซึ่งเราเองจำเป็นต้องไปดูแล กำกับในเรื่องมาตรฐานร่วมกับเขา  ซึ่งในเรื่องการศึกษานั้น เขาใช้เวลาถึง 30 ปี ฉะนั้น การที่จะทำเรื่องนี้ให้ได้มาตรฐาน ต้องประกอบไปด้วยหลายเรื่องด้วยกัน คือ ต้องเป็นคนที่ยอมรับว่า เราก็พลาดได้ ไม่ดีได้ เป็นคนโปร่งใส เปิดเผย และถ้าระบบการประเมินความก้าวหน้า สามารถที่จะยอมรับสิ่งเหล่านี้ได้ มันก็ไม่รู้ว่าจะต้องปิดเรื่องเหล่านี้ไปทำไม แต่ในระบบของเรามันยังไม่เป็นแบบนั้น คือ ถ้าเกิดว่า เขาจะไปตั้งใครสักคนขึ้นมา แล้วถ้าใครเป็นจุดอ่อน เขาก็จะชี้ว่าไม่เอาคนนี้เพราะว่าเป็นคนที่มีจุดอ่อน ฉะนั้น ทุกคนก็เลยพยายามที่จะปิดจุดอ่อน และเรื่องการประเมินตนเอง รายงานมันก็ออกมาแต่ในแง่บวก มันไม่ได้เป็นความจริง
         ถ้าเราไปให้บทบาทเขา ยอมรับเขา ทั้ง ๆ ที่มันไม่เป็นความจริง อันนี้คือ สิ่งที่ผิดพลาด ฉะนั้น  สมศ. เองพูดง่าย ๆ ก็คือ กัลยาณมิตรที่จะต้องยืนเรื่องของความเป็นจริงให้ได้ แต่ตรงนี้ก็คงจะต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี

ในระดับโรงเรียนเราจำเป็นต้องนำ KM เข้าไปจับหรือไม่
         จริง ๆ แล้ว KM สามารถที่จะนำไปใช้ได้ในทุกเรื่อง ทุกที่ ทุกระดับ ทุกประเภท เพราะจริง ๆ แล้วมันเป็นในเรื่องการบริหารบุคคล และเป็นเรื่องการพัฒนางานพัฒนาคน ยิ่งองค์กรในมหาวิทยาลัย ไม่ค่อยมีเรื่องของการแลกเปลี่ยนความรู้กันทั้ง ๆ แต่ละคนเก่ง ตรงนี้เป็นจุดอ่อนของมหาวิทยาลัย ที่จริงแล้วแบบนี้เป็นโอกาสทองของ KM เลย ถ้าเราเอาเรื่องของ KM เข้าไปยังมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งตรงนี้เราก็จะได้ในเรื่องของความรู้อย่างมหาศาลเลย  นี่เป็นตัวอย่าง ซึ่งในทางแพทย์เองเขาจะมีในเรื่องของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนองค์กรอื่น ๆ อยู่แล้ว
         ในเรื่องของครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์นั้น  ประเด็นของการแลกเปลี่ยนมีน้อยมาก คนที่เกษียณไปก็ไปกับความรู้ ภูเขาความรู้ท่านก็เอาไปด้วย แต่ถ้าในเรื่องของ KM ก็จะทำให้ความรู้ยังคงอยู่ในสถาบันต่อไป

สภาพจริง ๆ ของสังคมไทยนั้น เรายังขาดในเรื่องของคุณเอื้อ คุณอำนวย
         ถูกต้อง และอย่างที่บอก ในเรื่องของอุดมศึกษาเขาไม่อยากที่จะให้ใครไปยุ่งกับเขา เขาอยู่อย่างนั้นดีแล้ว เขามีความสุข ผู้บริหารเขาก็ไม่อยากที่จะมาแตะอาจารย์ อาจารย์ก็ไม่อยากให้แตะ เพราะเขาคิดว่าทุกคนมีอิสระ  ทุกคนดูแลตัวเองได้ ทุกคนโตแล้ว อะไรแบบนี้

ศ. ดร. สมหวัง  พิธิยานุวัฒน์ถก KM กับ สมศ. (1)

ศ. ดร. สมหวัง  พิธิยานุวัฒน์ถก KM กับ สมศ. (2)

ศ. ดร. สมหวัง  พิธิยานุวัฒน์ถก KM กับ สมศ. (3)


 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15415เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 10:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท