KM มุ่งสร้างนิสัยในการทำงานที่ดีเพื่อองค์กร


เครื่องมือคุณภาพอื่น ๆจะเน้นที่เรื่องของการควบคุม ในขณะที่ KM จะมุ่มเน้นที่การเสริมสร้างนิสัยที่ดีในกับคนในองค์กรนั้น ๆ ซึ่งหมายถึง การมีวินัยในการทำงาน การมีจิตสำนึกและค่านิยมในการทำงานที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน บนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ในการทำงาน

ผมไม่ได้เขียนบันทึกไปอยู่หลายวันพอสมควรครับ เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมาเป็นช่วงวันหยุด ผมต้องเดินทางไปต่างจังหวัดเลยไม่สะดวกในการใช้คอมพิวเตอร์ วันนี้พอที่จะมีเวลาก็อยากที่จะเขียนบันทึกในเรื่องเกี่ยวกับแนวคิดของ KM ให้พวกเราชาววลัยลักษณ์ หรือท่านผู้รู้ทุกท่านได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันนะครับ หลายครั้งในหลายเวทีของการประชุม ผมมักจะได้ยินเพื่อนร่วมงานของเรา มีการพูดถึงเสมอว่า KM ก็เป็นกระแส เหมือนกับ TQM , Six Sigma และเครื่องมือคุณภาพอื่น ๆ ซึ่งมาแล้วก็ไป ผมก็เลยอยากที่จะให้ความคิดเห็นในเรื่องนี้สักเล็กน้อยนะครับ เผื่อว่าพวกเราที่อาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจ KM จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน หากพวกเราได้เคยอ่านในบันทึกของผมที่ผมได้บันทึกไว้ว่า KM เปรียบเสมือนวิตามิน ซึ่งในบันทึกนั้นผมได้แสดงทัศนะไว้ว่า KM เป็นเสมือนวิตามิน ไม่ใช่ยารักษาโรค ดังนั้น วัตถุประสงค์ของการทำ KM แตกต่างจากการทำเครื่องมือคุณภาพอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเราได้ศึกษาที่มา แนวคิด และเป้าหมาย จะพบว่า ประเด็นสำคัญของเครื่องมือคุณภาพเหล่านั้นจะมุ่งเน้นที่เรื่องของ การควบคุม เป็นสำคัญ โดยพยายามที่จะกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงาน วิธีการทำงาน วิเคราะห์ตรวจสอบเพื่อว่าจุดบกพร่องของงาน ซึ่งก็ถือเป็นการสร้างคุณภาพของงาน พัฒนาคน เป็นพัฒนาองค์กรในอีกแนวทางหนึ่ง ในขณะที่ KM เป็นเครื่องมือและกระบวนการที่ไม่ได้เน้นที่เรื่องของการควบคุม แต่เน้นที่การเสริมสร้าง เปรียบเสมือนกับคนเราที่ทานพวกวิตามินต่าง ๆ เพราะเราไม่ทานวิตามินเมื่อเราป่วย แต่เราควรจะอยากทานวิตามินเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงมีภูมิป้องกันโรค และที่สำคัญไม่ควรทานวิตามินที่ทำเป็นเม็ดสำเร็จรูป แต่ก็ควรทานวิตามินจากอาหารประจำวันที่พวกเราทานกันทุกวัน เช่น ผัก ผลไม้ ต่างๆ เป็นต้นที่เราเรียกว่า เนียนในเนื้องานนั่นเอง ถึงตอนนี้พวกเราพอจะนึกภาพออกไหมครับ  จากแนวคิดนี้  KM  จึงได้มุ่งที่จะสร้างนิสัยที่ดีในกับคนในองค์กรนั้น ๆ ซึ่งหมายถึง การมีวินัยในการทำงาน การมีจิตสำนึกและค่านิยมในการทำงานที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน บนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ในการทำงาน และที่สำคัญมุ่งประโยชน์ต่อองค์กร ต่องาน และต่อคนเป็นหลัก แน่นอนที่สุดว่า หากองค์กรใดมีพนักงานที่มีวินัยในการทำงาน มีจิตสำนึกและค่านิยมร่วมอย่างที่ผมได้กล่าวถึง อย่างดีและเข้มแข็งแล้ว เครื่องมือคุณภาพใด ๆ ก็ไม่มีความสำคัญและไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ แต่ในโลกของความเป็นจริง ทุกองค์กรก็จะมีทั้งพนักงานที่มีวินัย และจิตสำนึกตลอดจนค่านิยมร่วมที่ดีมาก และที่ยังไม่ดีมาก  เป็นธรรมดานะครับ

ดังนั้นหลายองค์กรจึงเห็นว่า การที่จะนำพาองค์กรของพวกเขาไปสู่ความเป็นองค์กรแห่งคุณภาพ จึงต้องทำทั้งการเสริมสร้างและควบคุมไปพร้อม ๆ กัน เพราะถ้าควบคุมอย่างเดียวโดยที่นิสัยของคนในองค์กรไม่เปลี่ยน คนก็จะรู้สึกอึดอัดและทนที่จะทำ  แต่ถ้าคนในองค์กรนั้นได้ถูกเสริมสร้างนิสัยที่ดีแล้วและมีจิตสำนึกที่มุ่งประโยชน์ขององค์กรเป็นหลัก เมื่อถูกควบคุมบ้างก็จะไม่รู้สึกอึกอัดอะไรเพราะพวกเขาก็จะรู้และเข้าใจว่า การควบคุมที่เกิดขึ้นนั้นทำเพื่อประโยชน์ขององค์กร ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของผู้บริหาร หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จริงไหมครับ ถึงตอนนี้พวกเราก็พอจะมองภาพออกใช่ไหมครับ ว่าทำไมพวกเราชาววลัยลักษณ์จึงต้องช่วยกันทำ KM และแน่นอนครับในที่สุดคำว่า KM ก็จะหายไป แต่มันไม่ได้หายไปไหนหรอกนะครับ แท้ที่จริงเมื่อถึงเวลานั้นมันได้ซึมเข้าไปในสายเลือดของพวกเราชาววลัยลักษณ์เรียบร้อยแล้ว  หากจะต้องมีเครื่องมืออะไรเข้ามาควบคุมบ้างพวกเราก็จะไม่รู้สึกอึดอัดอะไร และพร้อมที่จะให้มีการควบคุมเพื่อประโยชน์ของ..วลัยลักษณ์ของพวกเรา  ใช่ไหมครับ

หมายเลขบันทึก: 15414เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 11:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 23:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท