ป้าเจี๊ยบ
น้อง พี่ อา ป้า ครู อาจารย์ คุณ นางสาว ดร. รศ. ฯลฯ รสสุคนธ์ โรส มกรมณี

น่าจะสอนมารยาทบนโต๊ะอาหารไทยให้...บ้าง?


เรื่อง 'ช้อมส้อมในการกินแบบไทย' ในคอลัมน์ Etiquette นิตยสาร Gourmet&Cuisine

     เรามีการสอนมารยาทบนโต๊ะอาหารแบบตะวันตกเพื่อจะได้เข้าสังคมได้อย่างไม่เคอะเขิน  แต่เราไม่ยักกะมีการสอนมารยาทบนโต๊ะอาหารแบบไทยให้ฝรั่งบ้าง   ยิ่งตอนนี้อาหารไทยมีชื่อเสียงระดับโลก    แถมคนไทยเองก็ดูเหมือนจะไม่ใส่ใจกับมารยาทในการกินแบบไทยกันอีกแล้ว

     กล้าพูดอย่างนี้เพราะเห็นตัวอย่างได้ไม่ยากจากคนที่เจอะเจอกันทุกวัน  บางคนเป็นถึงระดับครูบาอาจารย์   เป็นนักวิชาการระดับดอกเตอร์ก็มี  นักการเมืองใหญ่โตก็มี  แต่สอบตกมารยาทดีของวิถีกินข้าว   ใช้อุปกรณ์การกินก็เหมือน “กำ” ไม่ใช่ “จับ” ช้อนส้อม  ทำยังกับว่าเป็นดุ้นไม้ บางคนที่สนิทหน่อยเคยแหย่เล่นว่า “ทำไมกำช้อนยังงั้นล่ะ  ไม่น่าดูเลย”  ก็พบว่าแก่เกินแกง  ทำมานานไม่มีใครว่า  ถ้าจะเปลี่ยนตอนนี้  กินข้าวไม่อร่อย  ไม่ชินมือ(ว่ะ)      

     การกินแบบไทยด้วยช้อนและส้อม  ที่เคยคิดกันว่า ไม่เห็นจะต้องสอนเลย  เป็นเองได้  ทำยังไงให้ตักข้าวเข้าปากได้ก็แล้วกัน  จะกินยังไงก็ไม่หนักอวัยวะของใคร ไม่ได้ขอใครกินนี่หว่า  ใครคิดอย่างนี้ก็เลิกพูดกันได้  แต่คนที่ยังอยากจะพัฒนาตนเองให้มีกิริยามารยาทงดงามเวลาอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่น หรือแม้แต่ขณะที่นั่งรับประทานอาหารอยู่เพียงคนเดียว ก็คงความเป็นผู้มีวัฒนธรรม บ่งบอกว่าได้รับการอบรมมาดี ก็น่าจะทบทวนเรื่องนี้กันได้

     ใครทำได้ดีอยู่แล้ว  ก็ขอชมเชย  ใครยังต้องแก้ไขก็ปรับกันไป  ไม่มีใครแก่เกินเรียนอยู่แล้ว

     ช้อนกับส้อมเป็นเครื่องมือสำหรับการกินอาหารของคนไทย    การจัดโต๊ะอาหารแบบไทยจึงมีช้อนกับส้อม จะวางคู่กันทางขวามือของจาน โดยมีส้อมอยู่ซ้ายช้อนอยู่ขวา  หรือวางส้อมทางด้านขวา ช้อนทางซ้ายของจานก็ได้  สำหรับคนถนัดซ้ายก็สลับเอาเองเวลานั่งโต๊ะ

     การใช้ช้อนส้อมของคนไทยเป็นธรรมเนียมบนโต๊ะอาหารที่แตกต่างไปจากพวกยุโรปและอเมริกา    ฉันรำคาญทุกครั้งที่เห็นฝรั่งใช้ส้อมตักข้าวใส่ปาก และข้าวจะหลุดร่วงลอดส้อมออกมา ด้วยว่าข้าวแบบไทยเม็ดเล็กๆนั้นร่วน ไม่เกาะติดกันเป็นก้อนแบบข้าวจีนหรือญี่ปุ่นที่เหมาะกับการใช้ตะเกียบคีบหรือพุ้ยใส่ปากได้ง่ายๆ เราจึงเรียกข้าวที่หุงสุกแล้วว่าข้าวสวย 

     ตอนนี้ยิ่งหมั่นไส้หนัก เพราะมีคนไทยบางคน  ดัดจริตตามฝรั่งไร้สกุลที่มานั่งกินอาหารในเมืองไทย  เห็นเขาใช้ส้อมกินข้าวผัด  ก็เอาอย่างบ้าง  ความพยายามเอาส้อมตักข้าวเข้าปากก็ดูทุลักทุเล  ยิ่งตอนส้อมรุนข้าวไปรอบๆจานยิ่งน่าสังเวชเข้าไปใหญ่

     ชาวต่างชาติมาเมืองไทย  แทนที่จะเรียนรู้ธรรมเนียมไทยบ้าง  กลับทำตามแบบของตน  คนไทยก็ไม่ว่าอะไร  อยากทำยังไงก็ได้   แทนที่จะแนะนำหรือสอนกลับไปบ้าง  ให้รู้ซะบ้างว่า  คนไทยก็มีวัฒนธรรมในการกินเป็นของตนเองแบบอารยะประเทศเหมือนกัน

     ฉันเคยไปร่วมประชุมนานาชาติครั้งหนึ่งซึ่งมีเลี้ยงอาหารไทยตอนเย็นในโรงแรมชั้นหนึ่ง  อาหารเสริฟแบบไทย  มีช้อนกับส้อมให้สำหรับของคาว   และช้อนส้อมเล็กสำหรับของหวาน  มีให้แม้กระทั่งน้ำปลาพริกใส่ถ้วยเล็กไว้ให้  เลยได้โอกาสสอนฝรั่งให้รู้ซะบ้างว่า  บนโต๊ะอาหารนั้น  คนไทยก็มีวัฒนธรรมการกินเหมือนกัน

     หลังจากที่มองเห็นสมาชิก หยิบส้อมขึ้นมาตักข้าว! ในฐานะที่เป็นคนไทยคนเดียวในโต๊ะ  เลยหาเรื่องสาธิตการใช้ช้อนส้อมซะเลย  บรรยายกาศครึกครื้นกันใหญ่  เมื่อทุกคนยินดีที่จะลองกินแบบไทยอย่างเต็มใจ   ก็เป็นนักวิชาการทั้งนั้น  ย่อมยินดีเรียนรู้ของใหม่อยู่เป็นวิสัย    ไม่ดันทุรังว่าวัฒนธรรมของตนเท่านั้นที่ดีเลิศแต่เพียงผู้เดียว      

     อาหารแบบไทยแท้    ถ้าเสริฟแบบไทย   จะมี 2 ลักษณะ คือ  แบบแรกเป็นสำรับเฉพาะตัว   ต่างคนต่างมีชุดของตนเอง  ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร   สมัยโบราณ  ครอบครัวใหญ่ คนเยอะ เมียเยอะ ลูกเยอะ  ครัวก็ใหญ่ไปด้วย  แต่จะให้มากินด้วยกันทั้งหมด เห็นทีจะไม่ได้   ทางครัวก็จัดสำรับส่งไปให้ตามที่พักของแต่ละคน  กินเสร็จก็ไปเก็บมา

     อีกลักษณะเป็นแบบล้อมวงกันกิน  มีกับข้าวอยู่กลางโต๊ะ  คนกินมีจานข้าวของใครของมัน  แต่กับข้าวนั้น กินด้วยกัน  เวลากิน  ก็ไม่ได้ส่งกับข้าวให้ตักใส่จาน  จนครบแบบฝรั่ง  แล้วจึงลงมือกิน  แต่คนไทย “กินข้าวกับกับข้าวทีละคำ”  โดยมีการจัดวางกับข้าวที่ต้องการจะกิน ลงบนข้าว  ใช้”ช้อน”ตักข้าวและกับนั้นด้วยปริมาณพอเหมาะ  โดยมี “ส้อม” เป็นตัวช่วยเขี่ย ตัด แต่ง ให้ข้าวและกับที่ต้องการอยู่ในช้อนอย่างพอเหมาะพอคำ  ก่อนจะส่งเข้าปาก

     การจับช้อนส้อม ก็ไม่ต้องกำให้แน่นแบบกำจอบกำเสียม  จับด้วยนิ้วโป้งและนิ้วชี้เป็นหลัก  โดยมีนิ้วที่เหลือเป็นตัวรองรับน้ำหนักช้อน โดยข้อศอกไม่ยกขึ้นมาวางบนโต๊ะเช่นเดียวกับมารยาทบนโต๊ะอาหารของหลายๆชาติ    

     คนไทยใช้ช้อนกลางตักอาหารมาใส่จานตนเอง  ไม่ใช้ช้อนของตนตัก   ถ้ามีแกงจืดที่ต้องการซดน้ำ จะใช้ถ้วยเล็กๆแบ่ง  ถ้าไม่มี  ก็ใช้ช้อนกลางตักมาใส่ช้อนของตนเองเสมอ และเวลาซดน้ำแกงก็ต้องไม่มีเสียงดัง  ถ้าชอบส่งเสียงไปกินอาหารญี่ปุ่นโน่น

     การเคี้ยว จะปิดปาก  ไม่เคี้ยวอาหารให้มีเสียงดังแจ็บๆ หรือพูดขณะอาหารอยู่ในปาก หรือเปิดปากเคี้ยวจนผู้อื่นมองเห็นอาหารในปาก  การคายก้างหรือเศษอาหารในปาก จะคายลงช้อนก่อน แล้ววางไว้ขอบจาน  หากมีเศษอาหารที่ไม่ต้องการกินหลงเหลืออยู่ในจานเมื่อกินเสร็จแล้ว    จะใช้ช้อนส้อมกวาดมากองรวมกันไว้   ไม่ใช่ทิ้งกระจัดกระจายเต็มจาน 

     ปิดท้ายด้วยการรวบช้อนและส้อมเข้าหากัน  วางคู่กันในจานคล้ายเลขสิบเอ็ด  นี่จะเป็นสัญญาณบอกว่าการกินสิ้นสุดแล้ว  ถ้าไปงานเลี้ยงแล้วพนักงานเสริฟคอยแต่จะตักข้าวเติมให้อยู่เรื่อย ทั้งๆที่อิ่มแล้ว  ก็มองดูในจานหน่อยว่าช้อนส้อมวางไว้ยังไง  

     ช่วยรักษามารยาทดีวิถีไทยแบบนี้กันหน่อยและเผื่อแผ่ไปถึงคนต่างชาติด้วยถ้ามีโอกาส

คำสำคัญ (Tags): #มารยาท
หมายเลขบันทึก: 15406เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 10:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
เป็นบทความที่น่าสนใจมากเลยค่ะ คนไทยน่าจะมีการจัดอบรมมารยาทบนโต๊ะอาหารไทยให้คนต่างชาติบ้าง แล้วก็จากบทความนี้เลยรู้ข้อบกพร่องของตัวเองแล้วว่าการเอาข้อศอกขึ้นมาวางบนโต๊ะเป็นการเสียมารยาท ต่อไปจะปรับปรุงให้ดีขึ้นเพื่อพัฒนาบุคลิกภาพให้ดี (^-^)
  •  ธุ ป้าเจี๊ยบค่ะ..

ขอบคุณค่ะ   เดี๋ยวจะลองพิจารณาตัวเองว่าเวลาทานข้าวนั้นมีท่าทางหรือเป็นอย่างไรบ้าง  ^^

ขอบคุณครับที่ช่วยรักษามารยาทของการทานบนโต๊ะอาหารไทยและข้อมูลที่ช่วยไปอ้างอิงกับการเรียนของผมได้คับ

ขอบคุณสำหรับคำแนะนำดีๆๆครับ ป้าเจี๊ยบ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท