บันไดสี่ขั้นที่ปิดกั้นการพัฒนา


            เมื่อวันที่ 18-19 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ผมและทีมงาน สคส. ได้มีส่วนช่วยจัด Workshop KM ให้กับกลุ่มนักพัฒนารุ่นใหม่ โครงการชุมชนเป็นสุขภาคตะวันออก ที่ เขาชะเมา ชาเลย์ จังหวัดจันทบุรี  มีช่วงหนึ่งผมได้พูดถึงสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา  โดยสรุปให้เห็นว่าเปรียบเหมือนกับการเดินขึ้นบันได 4 ขั้น บางที่ไปไม่ถึงไหนเพราะยืนหยุดอยู่แค่ขั้นที่ 1 คือ คนในชุมชน หรือคนในองค์กร ไม่ยอมพูดคุยกัน  ไม่มีการแบ่งปันความรู้  ต่างคนต่างอยู่ ตัวใครตัวมัน  สิ่งที่นักพัฒนา หรือ คุณอำนวย (Facilitator) จะต้องทำให้ได้ ก็คือ จะต้องพยายามสร้างบรรยากาศ จัดกระบวนการ หรือเตรียมเวที (ตั้งวง) ให้คนเหล่านี้ได้มีโอกาส พูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันบ้าง หากทำได้ก็เท่ากับว่าได้ก้าวข้ามบันไดขั้นที่ 1 นี้ได้

              สิ่งที่ต้องระวังต่อมา ก็คือ อย่ามัวแต่หลงดีใจกับการพูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่เกิดขึ้น เพราะจากประสบการณ์ของผมพบว่า หลายๆ ครั้ง สิ่งเหล่านี้เป็น ของปลอม เพราะลึกๆ แล้วภายในตัวคนเหล่านั้น ไม่ได้ เปิดรับ ซึ่งกันและกัน กระบวนการพูดคุยที่อุตส่าห์ทำกันจึงเป็นการเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ เมื่อทุกคนไม่เปิดรับ ทุกคนก็กลับไปพร้อมกับสิ่งเดิมๆ ที่ติดตัวมาเท่านั้นนเอง  นักพัฒนาจะต้องหากุศโลบายเพื่อทำให้สิ่งเหล่านี้คลี่คลาย เกิดการรับฟังซึ่งกันและกัน ทำให้คนเปิด ใจกว้าง พอ ที่จะรับฟังสิ่งที่แตกต่างได้อย่างสบายใจหากทำได้  ก็เท่ากับว่าได้ก้าวข้ามบันไดขั้นที่สองไปได้

                อุปสรรคหรือสิ่งที่ขวางกั้นในขั้นที่ 3  ก็คือการที่รับไปแล้ว แต่ไม่ยอมนำไปปรับ นำไปดัดแปลงประยุกต์ใช้ ให้เข้ากับบริบทของตน  หลายครั้งหลายหนเรามักจะโทษไปที่ระบบการศึกษาของเราว่าสอนให้คนไม่กล้าคิด ไม่กล้าดัดแปลง ไม่กล้าปรับเปลี่ยน เรียนอะไรมาก็พยายามแต่จะจำและคิดแต่จะทำตามนั้นเป็นหลัก นักพัฒนาจึงต้องเป็นผู้ที่ ยุ เป็นผู้ที่ กระตุ้น ให้คนกล้าที่จะปรับเปลี่ยน เรียนรู้ อยู่เสมอ ไม่ใช่แค่เพียง จำ และ ทำตามคำบอก แต่เพียงอย่างเดียว  หากจะเลียนแบบจะต้องเป็นการเลียนแบบที่เรียกว่า C&D คือ Copy และ Develop พัฒนาต่อยอด จึงจะถือว่าก้าวข้ามบันไดขั้นที่ 3

                หลายครั้ง เราจะพบว่าคนส่วนใหญ่มักจะหยุดอยู่แค่ขั้นที่ 3 ไม่สามารถก้าวข้ามไปขั้นที่ 4 ได้ เพราะขั้นที่ 4 นี้ เป็นเรื่องที่ต้องใช้ วิริยะ  อุตสาหะ  ใช้ความเพียร ความพยายาม ทำให้สิ่งที่คิดที่ฝันไว้นี้เกิดขึ้นจริงๆ เรียกได้ว่าต้องใช้ทั้ง ฉันทะ วิริยะ จิตตะ (ใจที่จดจ่อ) และ วิมังสา (ปัญญาไตร่ตรอง) เลยทีเดียว
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 1538เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2005 16:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 เมษายน 2012 17:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีค่ะ...ดีมากเลย ถ้าหน่วยงานนำมาใช้และปรับเปลี่ยนได้ และเปิดใจเช่นที่กล่าวไว้ จะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับหน่วยงานนั้นมากเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท