เครื่องมือจับปูทะเล


ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2490 เครื่องมือที่นิยมใช้จับปูทะเลในประเทศไทยเป็นเครื่องมือประมงพื้นบ้าน ที่พัฒนาขึ้นโดยภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำด้วยวัสดุพื้นบ้าน ที่สำคัญได้แก่ แร้ว จั่น ไซนอน ไซหนู เชงเลงราว และ ขอเกี่ยวปู เป็นเครื่องมือจับปูที่มีประสิทธิภาพในการจับปูไม่สูงนัก การนำอวนลอยปลามาดัดแปลงใช้จับปูทะเลในช่วงปี 2500-2510 นับว่าเป็นความก้าวหน้าทางด้านเครื่องมือจับปูทะเลในระดับหนึ่ง ทำให้ชาวประมงมีเครื่องมือประมงชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพ

 
 
 

การประมงปูทะเล

ปูทะเลพบมีทั่วไปในจังหวัดชายทะเลของไทย ในปี 2539 ปูที่จับได้ทั่วประเทศมีประมาณ 4,400 เมตริกตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 679.7 ล้านบาท ปูที่จับได้ประมาณร้อยละ 59.90 เป็นปูที่จับได้ทางฝั่งทะเลอันดามันในจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรังและสตูล ประมาณร้อยละ 19.51 เป็นปูที่จับได้ทางภาคใต้ฝั่งตะวันออกในจังหวัดชุมพร สุราษฏร์ธานี และนครศรีธรรม ส่วนปูที่จับได้ในบริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันออกจากจังหวัดตราด จันทบุรี และระยองมีประมาณร้อยละ 18.76 สำหรับจังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส มีปริมาณปูที่จับได้น้อยมาก รวมกันแล้วมีจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 2 ของปริมาณปูทั้งหมดที่จับได้ทั่วประเทศ

ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2490 เครื่องมือที่นิยมใช้จับปูทะเลในประเทศไทยเป็นเครื่องมือประมงพื้นบ้าน ที่พัฒนาขึ้นโดยภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำด้วยวัสดุพื้นบ้าน ที่สำคัญได้แก่ แร้ว จั่น ไซนอน ไซหนู เชงเลงราว และ ขอเกี่ยวปู เป็นเครื่องมือจับปูที่มีประสิทธิภาพในการจับปูไม่สูงนัก การนำอวนลอยปลามาดัดแปลงใช้จับปูทะเลในช่วงปี 2500-2510 นับว่าเป็นความก้าวหน้าทางด้านเครื่องมือจับปูทะเลในระดับหนึ่ง ทำให้ชาวประมงมีเครื่องมือประมงชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องมือจับปูพื้นบ้าน ต่าง ๆ ที่เคยใช้ อวนลอยปูนี้ ในระยะหลังนิยม อวนจมปู ตามลักษณะการทำงานของเครื่องมือ ในปี 2523 ศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ได้นำเครื่องมือลอบพับมาใช้จับปูม้าในบริเวณหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดสุราษฏร์ธานีและจังหวัดชลบุรี ต่อมาได้มีผู้นำไปใช้จับปูทะเลในที่ตื้นบริเวณป่าชายเลนปรากฏว่าได้ผลดี มีประสิทธิภาพสูงกว่าอวนจมปู ราคาถูกเพราะชาวประมงสามารถทำได้เองโดยไม่ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ ลอบพับจึงเป็นเครื่องมือจับปูทะเลที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ จะเห็นได้ว่าปูทะเลที่จับได้ในช่วงปี 2538-2540 ร้อยละ 80 เป็นปูที่จับด้วยลอบพับ ส่วนที่จับด้วยอวนลอยมีจำนวนเพียงร้อยละ 11 สำหรับปูที่จับด้วยเครื่องมือพื้นบ้านต่าง ๆ เช่น แร้ว จั่น ไซ และตะขอเกี่ยวปู นั้นมีเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น
เครื่องมือประมงที่ใช้จับปูทะเล
เครื่องมือที่ชาวประมงใช้นิยมใช้จับปูตามสภาพของแหล่งประมงต่าง ๆ ในประเทศมีอยู่ประมาณ 9 ชนิดแร้ว (Crab lift net)

แร้วเป็นเครื่องมือจับปูที่โครงสร้างอาจทำด้วยไม้ไผ่ หวาย และเหล็กเส้น ถักด้วยอวนด้ายหรือเอนไนลอนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 ม.ม. เป็นข่ายขนาดตากว้างประมาณ 8-0 ซ.ม.รอบโครงเหล็กหรือโครงไม้ไผ่เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 30-50 ซ.ม. เว้นตรงกลางให้เป็นรูขนาด 5 ซ.ม สำหรับสอดคันแร้วที่ทำด้วยไม้ไผ่หรือไม้แสมโกงกางขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.0 ซ.ม.ยาวประมาณ 2.0-3.0 ม. โคนเสี้ยมแหลมเพื่อสะดวกในการปัก ที่ขอบแร้วผูกเชือกขนาด 3 ม.ม. ยาว 1 ม. สามจุด ปลายเชือกที่เหลือนำมาผูกรวมกัน แล้วต่อเข้ากับเชือกอีกเส้นหนึ่งขนาดเดียวกัน ยาวประมาณ 1.0-1.5 ม. เชือกเส้นนี้ทำหน้าที่พับและกางแร้ว โดยสามารถปรับให้ตึงหรือหย่อนได้ตามต้องการ แร้วเมื่อกางออกจะอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 30 ซ.ม. ตรงจุดศูนย์กลางแร้ว มีไม้ไผ่ปลายแหลมหรือลวดสำหรับเสียบเหยื่อ แร้วเหมาะสำหรับใช้จับปูทะเลบริเวณทะเลชายฝั่ง ปากแม่น้ำ ลำคลอง หรือร่องน้ำ ในบริเวณป่าชายเลนที่ระดับลึกน้ำประมาณ 0.50-3.0 ม. นิยมใช้จับปูในช่วงน้ำเกิด ตั้งแต่น้ำเริ่มขึ้นจนกระทั่งน้ำลง ชาวประมงจะปักแร้วแต่ละอันห่างประมาณ 5-6 ม. ชาวประมง 1 คนจะมีแร้วประมาณ 20-100 อัน ที่จังหวัดสตูล แร้วจำนวน30 คัน ใช้เวลาจับปูประมาณ 5-7 ช.ม. สามารถจับปูขนาดกระดองกว้างประมาณ 5.3-12.1 ซ.ม. น้ำหนักประมาณ 40-310 ก. จำนวน 3-5 กก./วัน (โสภณและคณะ, 2530) เรือที่ใช้กับแร้วเป็นเรือขนาดยาวประมาณ 3-5 ม. เครื่องยนต์ประมาณ 1-3 แรงม้า แร้วนิยมใช้ในจังหวัดตราด จันทบุรี ชลบุรี สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช สตูล และระนอง (กรมประมง, 2540)

จั่น (Crab lift net)

จั่น หรือที่ทางภาคใต้เรียกว่าหยอง หย่อง หรือยอนั้น มีลักษณะคล้ายกับยอขนาดเล็ก โครงสร้างทำด้วยไม้ไผ่ หรือลวด สองอันโค้งเข้าหากัน ที่ปลายยึดด้วยเชือกหรือลวด เป็นรูปวงกลม หรือ สี่เหลี่ยมจัตุรัส ถ้าเป็นทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสแต่ละด้านจะยาวประมาณ 30-45 ซ.ม. สูงประมาณ 15 ซ.ม. พื้นยอบุด้วยอวนไนลอนหรือโพลีเอทธีลีนขนาดตาประมาณ 5-6 ซ.ม. ที่จังหวัดสตูลชาวประมงใช้อวนขนาดตาประมาณ 1.0-2.5 ซ.ม. (โสภณและคณะ, 2530) ตรงมุมมีตะกั่ว หรือหิน มีเหยื่อผูกตรงกลาง มีทุ่นที่ทำด้วยโพลีเอทธีลีน หรือ กระบอกไม้ไผ่ จั่นนิยมใช้จับปูตามทะเลชายฝั่ง ปากแม่น้ำ ลำคลอง หรือตามร่องน้ำ ในบริเวณป่าชายเลน ที่ระดับน้ำลึกประมาณ 1.50- 3.00 ม. การจับปูด้วยจั่น ชาวประมงจะวางยอให้ห่างกันประมาณ 10-15 ม. มีทุ่นที่ทำด้วยโพลีเอทธีลีน หรือ กระบอกไม้ไผ่ สำหรับบอกตำแหน่งของจั่น จั่นนิยมใช้จับปูทะเลในช่วงน้ำเกิด ตั้งแต่น้ำเริ่มขึ้นจนกระทั่งน้ำลง ที่จังหวัดสตูล ชาวประมง 1 คนจะมีจั่นประมาณ 10-30 คัน ใช้เวลาจับปูวันละ 6 ชั่วโมง ปูทะเลที่จับได้มีขนาดเดียวกันกับที่จับด้วยแล้ว เรือที่ใช้กับจั่นเป็นเรือขนาดยาวประมาณ 3-5 ม. เครื่องยนต์ประมาณ 1-3 แรงม้า (เครื่องเรือหางยาว) จังหวัดที่นิยมใช้จั่นจับปูทะเลได้แก่ตราด จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ พังงา และสตูล

ลอบพับ (Collapsible trap)

ลอบพับมีลักษณะ เป็นรูปสี่เหลี่ยมกว้างประมาณ 30-40 ซ.ม. ยาว 50-60 ซ.ม. สูง 20-30 ซ.ม. โครงทำด้วยเหล็กเส้นขนาด 2-3 หุน ตัวลอบคลุมด้วยอวนโพลีเอทธีลีน ขนาดตาอวน 2.5-4 ซ.ม. มีทางเข้า สองทาง คือทางตอนหัวและตอนท้าย เรียกว่า "งาแซง" ลักษณะพิเศษของลอบพับได้ คือสามารถพับเก็บได้ และมีงาที่ปูเข้าไปแล้วไม่สามารถกลับออกได้ (ภาพที่ 3.2 ค.) ลอบพับเป็นเครื่องมือที่นิยมใช้จับปูตามทะเลชายฝั่ง ปากแม่น้ำ ลำคลอง หรือตามร่องน้ำ บริเวณป่าชายเลน ที่ระดับน้ำลึกประมาณ 0.50- 3.0 ม. การจับปูด้วยลอบ ชาวประมง 1 คนจะมีลอบประมาณ 20-50 ลูก ลอบแต่ละลูกจะวางห่างกันประมาณ 10-15 ม. มีทุ่นโพลีเอทธีลีน หรือกระบอกไม้ไผ่เป็นเครื่องหมาย นิยมใช้จับปูในช่วงน้ำเกิด ตั้งแต่น้ำเริ่มขึ้นจนกระทั่งน้ำลง ลอบพับเป็นเครื่องมือจับปูที่สามารถพับเก็บได้ สะดวกในการขนย้ายไม่กินเนื้อที่ มีประสิทธิภาพในการจับสูง เช่นสามารถจับปูได้เฉลี่ยประมาณ 0.5 กก./วัน เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องมือจับปูประเภทแร้วจับปูได้เพียง0.2 ก.ก./วัน หรือสูงกว่าเครื่องมือพื้นบ้านที่เคยใช้อยู่ประมาณ 2-3 เท่า ลอบพับเป็นเครื่องมือที่สามารถจับปูได้ตั้งแต่ขนาด 3 ซ.ม.ขึ้นไป (ความกว้างกระดอง) จังหวัดที่นิยมใช้ลอบพับจับปูทะเลได้แก่ตราด จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ชุมพร สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และ สตูล

ลอบฝาชี (Bamboo trap)

ลอบฝาชีเป็นเครื่องมือจับปูที่ดัดแปลงจากลอบจับปลาของชาวญี่ปุ่น มีลักษณะเป็นรูปคล้ายฝาชี โครงทำด้วยเหล็ก ขนาด 2.5 หุน นำมาเชื่อมประกอบเป็นรูปฝาชี ด้านนอกคลุมด้วยอวนโพลีเอทธีลีน ขนาดตา 2.5-5.0 ซ.ม. ส่วนบนใช้ตะกร้าพลาสติกก้นเปิดเพื่อเป็นทางให้ปูเข้า ลอบฝาชีสามารถใช้จับปูทะเลได้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน ตามชายฝั่ง แม่น้ำ ลำคลอง หรือร่องน้ำ ในบริเวณป่าชายเลน ที่ระดับน้ำลึกประมาณ 0.50-2.50 ซ.ม. ลอบแต่ละลูกมีทุ่นลอยสำหรับใช้บอกตำแหน่ง เมื่อปูไต่ขึ้นไปบนตัวลอบ เข้าไปกินเหยื่อแล้วไม่สามารถออกได้ ชาวประมงจะปลดปูออกทางด้านล่าง

เชงเลงราว

เชงเลงราวเป็นเครื่องมือรูปทรงกระบอกปลายเรียว โครงสร้างทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีก ถักด้วยหวายหรือเชือกเป็นเปลาะ ๆ ความยาวจากปากถึงก้นประมาณ 50-75 ซ.ม. ความถี่-ห่างของซี่ไม้ไผ่ที่บุโดยรอบประมาณ 2-3 ซ.ม. ส่วนปากมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 25-30 ซ.ม. ส่วนก้นมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 9 ซ.ม. ทางเข้ามีงาแซงรูปทรงกรวย 1-2 งา เชงเลงราวเป็นเครื่องมือที่สามารถจับปูทะเลได้ทั้งกลางวันและกลางคืน แต่นิยมใช้จับปูในช่วงน้ำเกิด ตั้งแต่ระยะน้ำเริ่มขึ้นจนกระทั่งน้ำเริ่มน้ำลง ตามทะเลบริเวณชายฝั่ง ปากแม่น้ำ ลำคลอง หรือร่องน้ำ บริเวณป่าชายเลนที่ระดับน้ำลึกประมาณ 1.0- 3.0 ม. โดยผูกเชงเลงกับเชือกคร่าวห่างกันประมาณ 5 ม. ชาวประมงคนหนึ่งจะมีเชงเลงราวประมาณ 350 ลูก มีทุ่นโพลีเอทธีลีนหรือกระบอกไม้ไผ่เป็นเครื่องหมาย ที่จังหวัดสตูลชาวประมงคนหนึ่งจะมีเชงเลงราวประมาณ 5-10 ลูก ใช้เวลาจับปูประมาณวันละ 5-7 ชั่วโมง กู้ปู 2 ครั้งได้ปูขนาด 7.4-10.1 ซ.ม.(ความกว้างของกระดอง) น้ำหนัก 100-200 ก.ประมาณวันละ 0.5-1.5 ก.ก. เป็นเครื่องมือจับปูทะเลที่นิยมใช้ในจังหวัดสมุทรปราการ สตูลและระนอง

ไซหนู

ไซหนูเป็นเครื่องมือจับปูทะเลอีกชนิดหนึ่งที่นิยมใช้กันในภาคใต้ของประเทศไทย มีลักษณะคล้ายรูปปิรามิด ยอดสูง ทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีก ถักด้วยหวายหรือเชือกเป็นเปลาะ ๆ ห่างกันประมาณ 1-3 ซ.ม. ปากทางเข้าเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้ายด้านละ 25 ซ.ม. ความยาวจากปากถึงก้นประมาณ 40 ซ.ม. มีหินถ่วง มีฝาปิด-เปิดได้ มีห่วงทำด้วยลวดหรือพลาสติกผูกตรงสี่มุมของฝา ห่วงทั้งสี่จะร้อยอยู่กับรางไม้เลื่อนขึ้นลงได้ มีกระเดื่องสองอัน อันหนึ่งสำหรับใช้ปิด-เปิด อีกอันหนึ่งใช้เสียบเหยื่อ กระเดื่องทั้งสองอันจะติดกันตรงปลายที่เจาะรูไว้ มียางยึดคอยดึงที่ฝาปิดเปิด ขณะที่ปูเข้าไปกินเหยื่อ ไซหนูคลายคลึงกับเชงเลงราว เป็นเครื่องมือที่สามารถใช้จับปูทะเลได้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน เป็นเครื่องมือที่นิยมใช้จับปูทะเลในช่วงน้ำเกิด ตั้งแต่น้ำเริ่มขึ้นจนกระทั่งน้ำลง ตามชายฝั่งบริเวณป่าชายเลน ปากแม่น้ำ ลำคลอง หรือร่องน้ำ ที่ระดับน้ำลึกประมาณ 1.0- 3.0 ม. ไซหนูมีประสิทธิภาพในการจับปูคล้ายคลึงเชงเลงราว ขนาดของปูที่จับได้ก็ใกล้เคียงกัน ไซหนูนิยมใช้กับเรือขนาดยาวประมาณ 6 ม. เครื่องยนต์ประมาณ 4 แรงม้า

ไซนอน

ไซนอนมีลักษณะรูปทรงกระบอก ทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีกถักด้วยหวายหรือเชือกเป็นเปลาะ ๆ ห่างกันประมาณ 1-3 ซ.ม. ที่หัวมีช่องทางเข้าเรียกว่างาแซง มีสองชั้น ชั้นที่สองทำหน้าที่กันปูที่เข้าแล้วไม่ให้หนีออก ตอนท้ายปิดเปิดได้สำหรับเอาปูออก ไซนอนก็เช่นเดียวกับเชงเลงราว หรือไซหนู เป็นเครื่องมือที่สามารถจับปูทะเลได้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน ตามชายฝั่ง ปากแม่น้ำ ลำคลอง และตามร่องน้ำในบริเวณป่าชายเลน การวางไซเพื่อจับปูจะมีไม้ค้ำยึดไซแต่ละลูกไม่ให้เคลื่อนที่ มีเหยื่อเพื่อล่อปูให้เข้าไซ เหยื่อที่ใช้ได้แก่ชิ้นส่วนของปลากระเบน หรือปลาฉลาม เพราะเหนียวอยู่ได้นาน ที่จังหวัดสตูล ชาวประมง 1 คนจะมีไซประมาณ 10-30 ลูก ใช้เวลาจับปูวันละ 6 ชั่วโมง ปูทะเลที่จับได้มีขนาดกระดองกว้างระหว่าง 8.5-12.1 ซ.ม. หนักประมาณ100-310 ก. จำนวนปูที่จับได้ประมาณ 1-1.5 กก.

อวนจมปู (Bottom gill net)

อวนจมปูทะเลมีลักษณะคล้ายกับอวนลอยปลาทั่ว ๆ ไป แต่มีความยาวน้อยกว่า เพราะความจำกัดในเนื้อที่ ๆ ทำการประมง อวนจมปูมีมีความยาวประมาณ 20-200 ม. เนื้ออวนทำด้วยโพลีเอทธีลิน อวนจมปูเป็นเครื่องมือประมงที่นิยมใช้จับปูตามชายฝั่งทะเล ที่ติดต่อกับป่าชายเลน ที่ระดับน้ำลึกประมาณ 2-40 ม. สามารถจับปูได้ทั้งกลางคืนกลางวัน การวางอวนต้องวางขวางกระแสน้ำ ที่ปลายอวนทั้งสองข้างมีตุ้ม หรือหินถ่วง มีทุ่นหรือธงผูกไว้เป็นที่สังเกต ในเวลากลางคืนจะมีตะเกียงน้ำมันผูกติดทุ่นธงไว้ เพื่อให้ทราบตำแหน่งของอวน ที่จังหวัดสตูล ชาวประมงใช้อวนลอยขนาดตาประมาณ 3-5 ซ.ม. ความยาวประมาณ 20 ม. ทำการจับปูทะเลตามทะเลชายฝั่ง ห่างจากฝั่งประมาณ 15-30 ม. สามารถจับปูได้ทั้งกลางคืนกลางวัน ในระยะเวลา เวลา 12 ชั่วโมง อวนหนึ่งผืนสามารถจับปูได้ประมาณ 0.5-2.0 ก.ก. ปูทะเลที่จับได้มีขนาดกระดองกว้างระหว่าง 8.9-14.3 ซ.ม. หนักประมาณ110-500 ก. อวนจมปูทะเลนิยมใช้ในจังหวัด ตราด จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ชุมพร สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และ สตูล

ขอเกี่ยวปู (Hook)

ขอเกี่ยวปูเป็นเครื่องมือประมงพื้นบ้านที่นิยมใช้จับปูที่อาศัยอยู่ในรู ในบริเวณป่าชายเลนในช่วงน้ำลง ขอเกี่ยวปูทำด้วยเหล็กขนาด 10 ม.ม. ยาวประมาณ 80 ซ.ม. ปลายข้างหนึ่งดัดให้งอ แบบขอเกี่ยวทั่ว ๆ ไป อีกปลายหนึ่งยึดติดกับไม้ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 ซ.ม. ยาวประมาณ 30 ซ.ม. (ภาพที่3.2 ฌ.) ปูที่จับได้ด้วยขอเกี่ยวปูเป็นปูขนาด 8.5 ซ.ม.ขึ้นไป จังหวัดที่นิยมใช้ขอจับปูทะเลได้แก่จันทบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ชุมพร สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส



http://www.crab-trf.com/fishry_crab.php
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15332เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2006 11:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท