บริการเชิงรุกของโรงพยาบาลคำตากล้า ตอนที่ ๑


ทีมงานที่ออกให้บริการไม่มีค่าตอบแทนในการออกแต่ละครั้ง แต่เราก็มีความตั้งใจจริงในการออกให้บริการ

โรงพยาบาลคำตากล้า เป็นโรงพยาบาลอำเภอขนาด ๓๐ เตียงแห่งหนึ่งในจังหวัดสกลนคร รับผิดชอบ ๔ ตำบล PCU ๔ แห่ง และสถานีอนามัย ๓ แห่ง มีผู้ป่วยเบาหวานรวมทั้งหมด ๗๘๖ คน คุณกนิษฐา จันทร์แจ่มศรี พยาบาลวิชาชีพ ๗ ได้เล่าเรื่องการพัฒนาการบริการสำหรับผู้ป่วยเบาหวานได้อย่างน่าสนใจ ดิฉันแบ่งลงเป็น ๓ ตอน ตอนที่ ๑ บอกความเป็นมาและภาพรวม ตอนที่ ๒ และ ๓ เป็นรายละเอียดของการให้บริการ สมาชิกติดตามอ่านแล้วมีความคิดเห็นอย่างไร ช่วยเขียนมาให้ทราบด้วยนะคะ

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘

"บริการเชิงรุกของโรงพยาบาลคำตากล้า ตอนที่ ๑"

แต่เดิมการรับบริการของผู้ป่วยเบาหวาน จะต้องมาที่โรงพยาบาลทุกวันศุกร์ ซึ่งจำนวนผู้มารับบริการประมาณ ๑๒๐-๑๕๐ คนต่อสัปดาห์ การมารับบริการแต่ละครั้ง ผู้ป่วยจะต้องมารอรับบริการตั้งแต่เช้ามืดประมาณตี ๒ จะเริ่มมายื่นบัตรรับบริการ เพราะผู้ป่วยที่อยู่ตำบลอื่นจะต้องเข้ามากับรถโดยสารที่เข้าอำเภอเพื่อมาจ่ายตลาดเช้าพร้อมแม่ค้า เนื่องจากมีรถมาเที่ยวเดียว ถ้าไม่มาเที่ยวนี้ก็ต้องเหมารถเข้ามาเอง บางรายก็จะมาประมาณตี ๕ เพื่อหวังว่าจะได้บัตรคิวเบอร์ต้นๆ ซึ่งการให้บริการผู้ป่วยเช่นนี้ ทำให้ผู้ป่วยเสียเวลามารับบริการครั้งหนึ่งๆ เกือบทั้งวัน และต้องเสียค่ารถโดยสารไป-กลับคนละ ๓๐-๖๐ บาท ถ้าเหมารถต้องเสียค่ารถประมาณ ๑๒๐-๒๐๐ บาท และเสียค่าอาหารมื้อเที่ยงคนละ ๓๐ บาท รวมค่าใช้จ่ายในการมารับบริการคนละประมาณ ๖๐-๒๓๐ บาท บางคนต้องขอยืมเงินจากเพื่อนบ้านเพื่อมาตามที่หมอนัด

ปี ๒๕๔๖ รัฐบาลได้มีโครงการ ๓๐ บาท เข้ามาใช้ในการบริการประชาชน โดยเน้นการให้บริการเชิงรุก "สถานบริการใกล้บ้านใกล้ใจ" ทีมงาน คปสอ. คำตากล้าได้วิเคราะห์ปัญหาการให้บริการจากแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้รับบริการ พบว่าปัญหาสำคัญคือความแออัดที่ตึกผู้ป่วยนอกในวันที่มีคลินิกเบาหวาน ผู้ป่วยต้องรอนาน การให้บริการไม่ครอบคลุมและไม่ได้คุณภาพเท่าที่ควร ผู้ป่วยยังขาดนัด และเกิดโรคแทรกซ้อนมากขึ้น จึงได้ประชุมปรึกษาหารือในทีมงานเพื่อพัฒนาระบบบริการให้มีคุณภาพและให้ผู้รับบริการมีความพึงพอใจ มีความเห็นว่าควรให้บริการเชิงรุกมากขึ้น จึงได้ตั้งทีมงานจากสหสาขาวิชาชีพคือแพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากตำบลขึ้นมาดูแลผู้ป่วยในพื้นที่

ด้านการรักษาพยาบาล : ในโรงพยาบาลปรับวันให้บริการจากสัปดาห์ละ ๑ วัน เป็น ๒ วัน จัดทีมสหวิชาชีพ ทีมละ ๘-๑๐ คน ออกไปให้บริการผู้ป่วยเบาหวานใน PCU/สถานีอนามัยทุกแห่งเดือนละ ๑ ครั้ง โดยทีมงานที่ออกให้บริการไม่มีค่าตอบแทนในการออกแต่ละครั้ง แต่เราก็มีความตั้งใจจริงในการออกให้บริการ

ผลลัพธ์ : ลดความแออัดของผู้รับบริการที่ตึกผู้ป่วยนอกในวันคลินิกเบาหวานจากวันละ ๑๒๐-๑๕๐ คน เหลือวันละ ๓๐-๔๐ คน ลดระยะเวลาการรอคอยของผู้ป่วย ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเสียเวลามารับบริการตั้งแต่เช้ามืด จากที่ต้องเสียเวลาวันละ ๖-๘ ชั่วโมง ลดลงเหลือ ๓-๔ ชั่วโมง อัตราการขาดนัดลดลงจากร้อยละ ๒๓.๖๘ เหลือร้อยละ ๑๓.๓๑ ผู้รับบริการมีความพึงพอใจมากขึ้นร้อยละ ๙๕.๐๐ ลดค่าใช้จ่ายในการมารับบริการ จากที่ต้องเสียเงิน ๕๐-๙๐ บาท ลดลงเหลือ ๒๐ บาท เป็นค่ารถมาสถานีอนามัย บางคนอาจไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย เพราะสถานีอนามัยอยู่ใกล้บ้าน มารับบริการแล้วกลับไปกินข้าวที่บ้าน

ด้านการป้องกันและควบคุม : ให้ความรู้กลุ่มประชาชนทั่วไป ทั้งในสถานพยาบาลและในชุมชน เสียงตามสายในหมู่บ้าน คัดกรองกลุ่มประชาชนที่มีอายุ ๔๐ ปี และกลุ่มเสี่ยง ร้อยละ ๑๐๐ ติดตามเยี่ยมบ้านในผู้ป่วยที่ขาดนัด ผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อน ร้อยละ ๑๐๐

ผลลัพธ์ : มีการคัดกรองกลุ่มประชากรที่มีอายุ ๔๐ ปี ขึ้นไป ได้ร้อยละ ๘๓.๐๔ และกลุ่มเสี่ยงได้ร้อยละ ๘๕.๒๒ ได้ติดตามเยี่ยมผู้ป่วยเบาหวานทุกรายอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง และติดตามเยี่ยมผู้ป่วยรายที่ขาดนัดหรือมีภาวะแทรกซ้อนที่ไม่สามารถมารับบริการได้ร้อยละ ๑๐๐

ผู้เล่าเรื่อง คุณกนิษฐา จันทร์แจ่มศรี พยาบาลวิชาชีพ ๗ โรงพยาบาลคำตากล้า อ.คำตากล้า จ.สกลนคร ๔๗๐๐๐ โทร. ๐๔๒-๗๙๖-๐๔๖           

หมายเลขบันทึก: 1533เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2005 16:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 11:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

น่าสนใจว่า ระบบการดูแลผป.เบาหวาน ที่ดี มีมาตรฐาน  มีค่าใช้จ่าย ของระบบไม่สูงเกินไป  ควรเป็นอย่างไร

   เราคาดหวังอะไร จากการพัฒนา ระบบบริการเบาหวาน ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ    สุดท้าย ตัวชี้วัดเชิงกระบวนการ ที่สำคัญ  คือ อะไร    ตัวชี้วัดเชิงผลลัพธ์  คืออะไร    ในความเห็นผม ตัวชี้วัดเชิงกระบวนการ เชิงปริมาณ(ค่อนข้างหยาบ )คือ  มีการส่งเสริมกระบวนการกลุ่ม self help group อย่างน้อย ปีละ 4 ครั้ง ในศูนย์บริการ   ( ทำได้ ทะครั้ง ที่มีลคินิคบริการ ยิ่งดี )

ตัวชี้วัด กระบวนการ เชิงคุณภาพ น่าจะควรกันคิด ผมลองเสนอ เช่น สัดส่วนสมาชิก สมัครใจเข้าร่วมกิจกรรม self help gr. ไม่ตำกว่า 1/3  หมายความว่า มีคนมารับยาเบาหวาน แล้ว ไม่รีบกลับบ้าน อยู่ร่วมกิจกรรมด้วยความสมัครใจมากกว่า 1/ 3  ของคนที่รับยา   แสดงว่า กิจกรรมที่จัดกันมีคุณภาพ มีประโยชน์ รับรู้ได้ โดยผป.และญาติ     ทั้งนี้ เป้าหมายตัวชี้วัดแต่ละ PCU ไม่ต้องเหมือนกัน แต่ควรมีการตั้งเพื่อสะท้อนเป้าหมายคุณภาพ ของแต่ละแห่ง  ที่มีทุนทางสังคม องค์กร ไม่เท่ากัน จึงไม่ควรมีเป้าเดียวกันทั้งประเทศ

ตัวชี้วัด ปัจจัยนำเข้า ก็น่าจะช่วยกันคิด เช่น เราพัฒนาระบบดูแล ผป.เบาหวาน   หากดูแลตนเอง มีศักยภาพ สูงขึ้น (empower )   น่าจะใช้ยามูลค่าลดลง  คู่ไปกับผลลัพธ์การรักษา ดีขึ้น   ตัวชี้วัดผลกระทบ ควรเริ่มจาก ปัญหาแทรกซ้อนก่อนวัยอันควร  เช่น สัดส่วนผป เบาหวาน ที่อายุน้อยกว่า 60 ปี( อาจจะ 70 ปี ) ถูกตัดอวัยวะ แต่ละปี   ควรลดลง     สัดส่วนผป.เบาหวาน ที่ประสาทตาเสื่อมก่อนวัย ลดลง ( ถามผู้เชี่ยวชาญต่อนะครับว่า นิยามที่เหมาะสม ของ ประสาทตาเสื่อมจากเบาหวาน หมายถึงอะไรที่ติดตามประเมินระบบได้ง่าย )  ทั้งนี้ ควรจะมีระบบตรวจสุขภาพตา รองรับด้วย ทุก 1 หรือ ทุก 2ปี ในชุมชน คล้ายกับว่า เรานัดจักษุแพทย์ จาก รพท รพศ ลงชุมชน ตรวจคัดกรอง ครั้งละ 50-60 คน  เหมือนกับที่เรานัดแพทย์พยาบาล ลงไปตรวจแนะนำที่ PCU  3-4 เดือนต่อครั้ง  นัดจักษุแพทย์พร้อมเครื่องมือ ก็ห่างไปตามความเหมาะสม

แนวคิดอย่างนี้ไม่รุ้ว่า  พอคาดหวังกัน  พอเป็นไปได้มั้ยได้

   

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท