ไปฟังปาฐกถาของนักปราชญ์ว่าด้วยชุมชนไทย


ไปฟังปาฐกถาของนักปราชญ์ว่าด้วยชุมชนไทย


           วันที่ ๑๐ ก.พ. ๔๙ ผมรีบบึ่งกลับมาจากสุพรรณบุรี     เพื่อไปฟังปาฐกถาชุด “สิรินธร” ครั้งที่ ๒๑   เรื่อง “ประวัติศาสตร์ สังคม กลุ่มชนที่พูดภาษาตระกูลไท”  โดย ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา   นักปราชญ์ด้าน เศรษฐกิจสังคมชุมชนหมู่บ้านไทย   
           ผมจะไม่สรุปประเด็นที่ท่านบรรยาย    แต่จะบันทึกส่วนที่ผมประทับใจ และเห็นลู่ทางทำงานวิจัยเพื่อขับเคลื่อนการจัดการความรู้ในชุมชน    อันจะเป็นพลังเสริมชาวบ้านที่รวมตัวกันเรียนรู้เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ในรูปแบบต่างๆ เช่น โรงเรียนชาวนา  แผนแม่บทชุมชน  ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน    อันจะเป็นการรวมพลังของการวิจัย กับการจัดการความรู้เข้าด้วยกันเพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยทั้งสังคมไปสู่สังคมอุดมปัญญา (Knowledge-based Society)    คำบรรยายส่วนที่ “โดนใจ” ผมอย่างแรง คือ
         “ในอดีตกาลนักปราชญ์ราชบัณฑิตไม่ได้ศึกษาและทำความเข้าใจชาวบ้านสามัญ    ไม่เห็นพลังของพวกเขา   ไม่รับรู้   และไม่เห็นค่าว่าพวกเขามีวัฒนธรรม   ศึกษาและชื่นชมแต่สถาบันและวัฒนธรรมของอินเดียและจีน    ต่อมาเมื่อตะวันตกแพร่อิทธิพลมาถึงหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อ ๑๕๐ ปีมานี้    ปัญญาชนไทยจำนวนมากก็หันไปศึกษาและชื่นชมตะวันตกอย่างสุดโต่ง     ต้องการทำให้ประเทศเปลี่ยนทุกอย่างให้ทันสมัยแบบตะวันตก (modernization)    มีนัยว่าสังคมและวัฒนธรรมไทยล้าหลัง  หรือแรงหน่อยก็คือป่าเถื่อน    เชื่อว่าการทันสมัย  (modernity) มีแบบเดียว คือการเป็นตะวันตก    ชนชั้นนำไทยจำนวนมากพยายามแปลงตัวเองเป็นตะวันตก    และพยายามผลักดันลากจูงชาวบ้านสามัญไปในวิถีทางนั้นด้วย    โดยเฉพาะคือให้กลายเป็นนายทุนและคิดแบบปัจเจกชนนิยม    การแข่งขันถูกนำมาแทนที่การช่วยเหลือซึ่งกันและกันและน้ำใจ    เป็นการพัฒนาแบบให้ชาวไทยปฏิเสธสถาบันและวัฒนธรรมชุมชน  ให้ปฏิเสธตัวเอง
           เส้นทางประเทศไทย อนาคตแบบสังคมและวัฒนธรรมชุมชน หมายความถึงการสามารถก้าวข้ามการทันสมัยแบบตะวันตก    ประดิษฐานการทันสมัยแบบไทย    ขณะนี้ประชาชนหลายชาติในโลก  ต่างก็คิดหาแนวทางทันสมัยแบบของตัวเอง   เช่นจีน  อินเดีย  รัสเซีย  ญี่ปุ่น  หรือชาวศาสนาอิสลาม    การทันสมัยแบบของไทยเราเองจะเป็นจริงได้  ก็ต่อเมื่อมีการปฏิสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างปัญญาชนกับประชาชนพื้นเมือง    ต้องมีการค้นหา  ฟูมฟัก  พัฒนา  และถักทอสานซ้ำวัฒนธรรมและจิตวิญญาณชุมชน    ยืนยันความเป็นตัวของเราเอง    พัฒนาจากศักยภาพของเราเอง    รวมทั้งเลือกสรรนำเทคโนโลยีและส่วนดีของวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาเติมผสม    กระบวนการนี้ต้องการนักวิชาการและปัญญาชนที่จะสืบค้น  ศึกษา  และซึมซับกระบวนการที่เป็นจริงของประชาชนในประวัติศาสตร์ และในปัจจุบัน    นำกลับมาเผยแพร่และอธิบายถึงความชอบธรรม   และจินตนาการถึงระบบที่จะสมบูรณ์แน่นแฟ้นขึ้น    ที่จะเกิดและควรเกิดขึ้นในภายหน้า     ประกอบเขตเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมขึ้นเป็นภูมิภาคและเป็นประเทศชาติ    เป็นการทันสมัยแบบไทย   แบบของเราเอง” 
          ผมได้เรียนเสนอ ศ. ฉัตรทิพย์ เป็นการส่วนตัวว่า สคส. อยากขอให้ท่านประกอบคณะวิจัย “เศรษฐกิจชุมชนไทย"    อีกครั้งหนึ่ง    เพื่อศึกษาเศรษฐกิจชุมชนไทยจากปัจจุบันสู่อนาคต    โดยเน้นการศึกษาเก็บข้อมูลภาคสนาม    เน้นการทำความเข้าใจพลวัตสังคมในปัจจุบัน ที่ถนนทุกสายมุ่งสู่ชุมชน   ทั้งโดยภาครัฐ (กองทุนหมู่บ้าน  เอสเอ็มแอล   ศูนย์แก้ปัญหาความยากจน  ฯลฯ)  ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง    ขบวนการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน (เครือข่ายแผนแม่บทชุมชน  ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน   โครงการชุมชนเป็นสุข ฯลฯ)    การวิจัยท้องถิ่น   และขบวนการจัดการความรู้ชุมชน - ท้องถิ่น    เพื่อทำความเข้าใจว่าชุมชนท้องถิ่นกำลังมีปฏิสัมพันธ์กับกระแสจากภายนอกอย่างไร    จะใช้จุดแข็งของการเป็นสังคมวัฒนธรรมชุมชน ผสมผสานกับความรู้สมัยใหม่จากภายนอก  และกระบวนการเรียนรู้ภายในชุมชนที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ในปัจจุบัน   “เพื่อประดิษฐานการทันสมัยแบบไทย”    หรือที่ผมเรียกว่า เพื่อสร้างสรรค์สังคมอุดมปัญญา ที่สถาปนาขึ้นจากฐานชุมชนของเราเอง


วิจารณ์ พานิช
๑๐ กพ. ๔๙

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15314เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2006 10:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดิฉันก็เป็นคนรุ่นกลางที่เป็นห่วงเป็นใยคนรุ่นใหม่กับวิถีชีวิตของพวกเขาจริงๆ--พร้อมๆ กับความเห็นใจในคนรุ่นกลางและรุ่นแรกๆ อย่างเราๆ ว่าจะละเหี่ยใจและห่วงใยลูกหลานของเราเพียงใด(ลูกหลานที่มีใจนิยมชมชื่นกับคนชาติตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ--ที่จริงความเป็นตะวันตกก็ดีงามหลายเรื่องอยู่นะคะ)

ความชื่นชมตะวันตกแสดงโจ่งแจ้งอยู่ในรายการวิทยุหรือโทรทัศน์รายการต่างๆ ที่จัดสร้างและดำเนินรายการโดยคนไทย (ไม่รวมการนำสารคดีจากต่างประเทศเข้ามา) แม้พิธีกรจะเป็นคนไทย ชื่อไทย แต่พวกเขาต้องเขียนชื่อตัวเองเป็นภาษาอังกฤษ ชื่อรายการก็ต้องภาษาอังกฤษ . สารพัดจะภาษาอังกฤษ และกำกับด้วยภาษาไทยตัวเล็กๆ ข้างใต้

แค่เพลงประกอบรายการทำขนม เดินป่า ตกปลา จ่ายตลาด ก็เป็นเพลงภาษาอังกฤษ ทั้งที่ผู้ดำเนินรายการก็มีใบหน้าไท้ย..ไทย หรือผสมกันหลายชาติอยู่ พิธีกรวัยรุ่นส่วนใหญ่ ต้องพูดภาษาไทยสำเนียงฝรั่ง 

รายการเหล่านี้ เป็นตัวอย่างของ "ปัญญาชนไทยจำนวนมากก็หันไปศึกษาและชื่นชมตะวันตกอย่างสุดโต่ง     ต้องการทำให้ประเทศเปลี่ยนทุกอย่างให้ทันสมัยแบบตะวันตก (modernization)    มีนัยว่าสังคมและวัฒนธรรมไทยล้าหลัง  หรือแรงหน่อยก็คือป่าเถื่อน    เชื่อว่าการทันสมัย  (modernity) มีแบบเดียว คือการเป็นตะวันตก" หรือไม่คะ

เราต้านกระแสแบบนี้ ไหวไหมคะ? รายการแบบนี้rattingจะดีมาก  อยู่กับพวกเขาวัยรุ่น มากกว่าพ่อแม่ชะอีก (ยิ่งพ่อแม่บางคนก็พูดภาษาไทยอย่างนักจัดรายการเหล่านั้นเข้าไปอีก..ไปกันใหญ่) ทึ่จริงรายการแบบนี้อยู่กับคนไทยทุกเพศทุกวัยด้วยซ้ำ

ดิฉันขอสนับสนุนตามที่อาจารย์เขียน  

"เพื่อการฟื้นฟูสังคมไทยให้อุดมปัญญาด้วยภาษาไทยและแนวคิด กับการพัฒนาวิชาการอย่างไทย และการ"มีการค้นหา  ฟูมฟัก  พัฒนา  และถักทอสานซ้ำวัฒนธรรมและจิตวิญญาณชุมชน" 

นอกจากนี้เราต้องมีกลยุทธ์ รุกหน้าอีกหลายเรื่อง และเรื่องง่ายที่ทำได้ก็คือ

การรณรงค์รายการทางวิทยุและโทรทัศน์บางรายการให้ลดความเป็นลูกครึ่ง เพิ่มความเป็นไทย โดยลดพฤติกรรมและวิธีการอย่างที่กล่าวมาข้างต้น--

และ 2. เพิ่มรายการใหม่ ที่อำนวยการสร้างโดยรัฐบาล จัดรายการโดยพิธีการรุ่นใหม่ที่สร้างขึ้นมาให้งามอย่างไทย ทันสมัยอย่างไทยเรียบร้อยแล้ว  

เนื้อหาควรมาจากนักวิชาการและปัญญาชน ("ผู้ที่จะสืบค้น  ศึกษา  และซึมซับกระบวนการที่เป็นจริงของประชาชนในประวัติศาสตร์ และในปัจจุบัน")

รูปแบบของรายการคือการนำความรู้ที่วิจัยได้ "นำกลับมาเผยแพร่และอธิบายถึงความชอบธรรม "ควรลดภาษาวิชาการลงไปบ้าง เพื่อการเข้าถึงทุกระดับ(ตั้งแต่ระดับ"ยอดหญ้า" จนถึง"รากหญ้า")

ดิฉันคิดว่ารายการโทรทัศน์สามารถเข้าถึงสังคมไทยได้ง่ายที่สุด (แต่ต้องอยู่ในช่วงเวลาดี ที่คนส่วนใหญ่ยังตื่นนอนอยู่และสามารถจะรับชมได้)

ดิฉันขอเสนอให้นักวิชาการ นักพูด นักเขียนที่มีสมรรถนะ และฐานะที่สามารถดึงความสนใจจากรัฐบาลและนักจัดรายการทั้งหลายให้สนใจเปลี่ยนแปลง

 

ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ได้มีจดหมายลงวันที่ ๒๖ เมย. ๔๙ แจ้งว่าไม่สามารถทำโครงการวิจัยหมู่บ้านไทยต่อได้เพราะติดภารกิจ ๒ อย่าง    ดังนั้นเรื่องนี้จึงพับไป   และ สคส. ไม่คิดจะชวนคนอื่นทำเรื่องนี้    เพราะ สคส. ไม่ใช่แหล่งทุนวิจัย

วิจารณ์ พานิช

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท