เก็บตก..จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้


พยายามทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย
เก็บตก..จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ปัจจุบันหัวใจของการดำเนินงานในทุกองค์กรทุกหน่วยงาน คือ การเกิดประสิทธิภาพที่ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงสุด และเกิดประสิทธิผลในด้านใช้ทรัพยากรที่ประหยัดสุดทั้งในด้านเวลาและเงินลงทุนต่ำสุด ดังนั้น การเรียนลัดหรือการเรียนจากประสบการณ์ผู้อื่น(Tacit Knowledge)จึงเป็นแนวทางที่จะสามารถไปสู่ความสำเร็จที่เร็วขึ้นได้เช่นกัน หรือทางภาษาวิชาการ คือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Management=KM) นั่นเอง ซึ่งจะเป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้กับสังคม สอดคล้องกับแนวคิดตาม KM ของ ดร.ประพนธ์ ผาสุกยืด ที่กล่าวว่า “ความรู้ยิ่งให้ ยิ่งได้ ยิ่งมีมากขึ้น” ต่างกับอดีตที่มีแนวคิด“หวงวิชาความรู้” จึงเป็นการสร้างมิติใหม่ในการแข่งขันที่สูงขึ้น เพราะการเรียนรู้ที่เร็วขึ้นย่อมเกิดการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
                “ระบบการประกันคุณภาพในสถานศึกษา” เป็นเรื่องหนึ่งที่ไม่มีการสอนในสถานศึกษามาก่อน ดังนั้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันจึงเป็นหนทางที่ช่วยกันพัฒนาได้อย่างรวดเร็วและไปให้ถึงคุณภาพตามที่ตั้งไว้  โดยอยู่บนพื้นฐานการแข่งขันตนเอง(สถาบัน)ให้ได้คุณภาพที่สูงขึ้นทัดเทียมมาตรฐานสากล นั่นเอง   
                สำนักประกันคุณภาพมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับความกรุณาจากมหาวิทยาลัยนเรศวรภายใต้ความดูแลของ ผศ.ดร.วิบูลย์   วัฒนาธร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพ ให้ศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประกันคุณภาพ ซึ่งได้จากประสบการณ์และการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนทำให้ได้เห็นถึงแนวปฏิบัติที่ดีและการจัดการระบบฐานข้อมูลเมื่อวันที่  20 มกราคม 2549 ทำให้ได้ความรู้ฝังลึก(Tacit Knowledge)และ ความรู้ชัดแจ้ง(Explicit  Knowledge) ที่เป็นประโยชน์สรุปได้ดังนี้
1.       ผู้บริหารให้ความสำคัญกับการประกันคุณภาพ โดยรองอธิการฝ่ายวิจัยและการประกันคุณภาพเป็นผู้กำกับดูแลและอธิการบดีให้การสนับสนุน ซึ่งได้นำการจัดการความรู้(KM) มาใช้ในการพัฒนาคุณภาพของหน่วยงาน  หลักการดำเนินงานคือ พยายามทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ใช้การจัดการความรู้(KM)ทำความเข้าใจให้กับประชาคม  
2.       มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ปฏิบัติงาน เป็นประจำ เพื่อทำความเข้าใจที่ตรงกันและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีด้วยระบบเครือข่ายของผู้ปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์ในการประสานงานที่ดี 
3.       ผู้บริหารให้ระบบการประกันคุณภาพเป็นของทุกหน่วยงาน โดยทุกหน่วยงานมีส่วนร่วมในการร่วมคิดร่วมทำ  ให้กำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานและให้ทุกหน่วยงานเห็นความสำคัญของการประกันคุณภาพซึ่งเป็นเครื่องมือในการพัฒนาองค์กร 
4.       มีการพัฒนาความรู้ในการจัดทำระบบฐานข้อมูลเพื่อการประกันคุณภาพ ส่วนกลาง เพื่อให้หน่วยงานจัดเก็บข้อมูลดิบส่งส่วนกลาง โดยส่วนกลางจะทำหน้าที่ประมวลข้อมูลเพื่อจัดทำรายงานประจำปีต่อไป 
ปัจจัยที่มีส่วนให้เกิดของความสำเร็จในการประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่เห็น 
ได้ชัด คือ 
1.       ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ วัยที่ไม่แตกต่างกันมาก สามารถรับความรู้ใหม่ๆและนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างรวดเร็ว 
2.       ขนาดของสถาบันที่ไม่ใหญ่มากนัก ยังสามารถบริหารจัดการได้ง่ายทั้งจำนวนบุคลากรและข้อมูล 
3.       บุคลากรมีทุ่มเทในการทำงานประกอบกับสถานที่ทำงาน อยู่ใกล้กับที่พักของบุคลากร  คือบุคลากรพักอาศัยในมหาวิทยาลัย  จึงสามารถทำงานได้ถึงช่วงค่ำ โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติงานเป็นวัยหนุ่มสาวจึงไม่มีภาระทางครอบครัวมาก 
การศึกษาดูงานครั้งนี้นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ในหลายประเด็นดังบทความความของฝ่าย 
ต่างๆ ซึ่งต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นอย่างสูง ณ ที่นี้ และขอชื่นชมมหาวิมยาลัยนเรศวรในความทุ่มเทเพื่อการพัฒนางานประกันคุณภาพได้ดียิ่ง สำนักประกันคุณภาพจะได้นำความรู้ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งที่เป็น Tacit Knowledge และ Explicit  Knowledge มาปรับใช้ภายใต้เงื่อนไขของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งบางประเด็นมีปัจัยที่เหมือนและแตกต่าง เพื่อการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด(Surgery for Jumping)ไปสู่คุณภาพที่สามารถเทียบเคียงมาตรฐานสากลได้ในระยะเวลาอันใกล้ 
                                                                              น.ส.วิไลรัตน์  วิริยะวิบูลย์กิ 
                                                                           เลขานุการสำนักประกันคุณภาพ
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15301เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2006 09:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท