beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

มาฆบูชา : วันแห่งความรัก


ขอให้ชาวไทย รัก "ชาติ ศาสน์ กษัตริย์" และบุพการี เหนือกว่าสิ่งอื่นใดนะครับ

     วันนี้ (13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2549) ผมได้มีโอกาสไปร่วมทำบุญ ที่วัดคุ้งวารี ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จังหวัดพิษณุโลก มีผู้ไปร่วมทำบุญเต็มศาลาวัด ประมาณ 300 คนได้ ครึ่งหนึ่งเป็นนิสิตของมหาวิยาลัยนเรศวร นับว่า "การทำบุญตามประเพณี" ยังอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทย และเนื่องจากวันพรุ่งนี้เป็นวัน "แห่งความรัก" ก็ขอให้ชาวไทย รัก "ชาติ ศาสน์ กษัตริย์" และบุพการี เหนือกว่าสิ่งอื่นใดนะครับ ถึงโอกาสดีๆ อย่างนี้ผมเลยค้นคว้าเรื่อง "วันมาฆบูชา" มาฝากครับ  

    ในปีหนึ่งๆ นอกเหนือไปจากวันพระตามปกติแล้ว พุทธศาสนิกชนจะมีวันพระ (ใหญ่) ที่จัดเป็นวันสำคัญพิเศษอยู่อีก 3 วัน คือ วันมาฆบูชา, วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา ทั้งสามวันนี้ได้มีผู้เปรียบเทียบว่า วันวิสาขบูชา อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ถือได้ว่าเป็น วันพระพุทธ ส่วน วันอาสาฬหบูชา อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนาครั้งแรก เป็น วันพระธรรม และวันมาฆบูชา วันที่พระสงฆ์มาประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน เพื่อรับฟังหลักการ อุดมการณ์ ตลอดจนวิธีปฏิบัติในการเผยแพร่พุทธศาสนาเป็น วันพระสงฆ์  {หมายเหตุ : คืนวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2549 หลังเที่ยงคืน ผมได้ดูเทปโทรทัศน์ที่ท่าน "พระธรรมโกศาจารย์"  อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย กล่าวว่า "วันพระสงฆ์นั้นคือ วันอาสาฬหบูชา เพราะถือเอาว่าในวันนั้นนอกจากมีปฐมเทศนาแล้ว พระสงฆ์รูปแรกได้อุบัติขึ้นในศาสนาของพระสมณโคดม คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ส่วนวันพระธรรมนั้นหมายเอาวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งก็คือวันมาฆบูชานั้นเอง" ซึ่งดูเหมือนว่า วันพระธรรมกับวันพระสงฆ์อย่างหลังนี้จะมีผู้ใช้มากกว่า อย่างไรก็ตามในหลักการของความเชื่อที่ว่า "ความรู้มีอยู่ในตัวคนทุกคน" ความรู้หรือความเชื่อบางอย่างไม่มีถูกไม่มีผิด แต่อยู่ที่ว่าเหตุผลหรือคำตอบของใครมีเหตุผลน่าเชื่อถือมากกว่ากันครับ...}
    “วันมาฆบูชา” หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญ เดือนมาฆะคือเดือน ๓ (หรือเดือน ๔ ในปีที่มีอธิกมาส หรือเดือน ๘ สองหน) เนื่องในโอกาสคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 (นับเหตุการณ์นี้ย้อนหลังไป 2593 ปี)
    ในสมัยโบราณก่อนที่จะมีพุทธศาสนานั้น การบูชาในวันเพ็ญเดือนมาฆะเป็นพิธีดั้งเดิมของศาสนาพราหมณ์ เรียกว่า ศิวาราตรี” คือ เป็นการทำพิธีลอยบาปในแม่น้ำคงคา และประกอบพิธีสักการบูชาพระเป็นเจ้าของพราหมณ์ ซึ่งเป็นพิธีใหญ่ในเทวสถานต่างๆ เมื่อพุทธศาสนาได้กำเนิดขึ้น พระภิกษุพุทธสาวกซึ่งมาจากวรรณะต่างๆ มีทั้งวรรณะกษัตริย์ วรรณะพราหมณ์ และวรรณะอื่นๆ แต่ส่วนใหญ่ก็เคยนับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อนทั้งสิ้น
   เมื่อถึงวันเพ็ญมาฆบูชาได้เห็นพวกพราหมณ์ทำพิธีใหญ่ ซึ่งตนเคยทำมาก่อน ก็คงคิดว่าน่าจะทำอะไรทำนองนั้นบ้าง จึงได้พากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย และนี้เอง จึงได้ก่อให้เกิดเหตุที่ถือว่าอัศจรรย์ขึ้นในเวลาต่อมา กล่าวคือนับตั้งแต่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เป็นเวลา 9 เดือน (ตั้งแต่วันเพ็ญ เดือน 6 ถึง วันเพ็ญเดือน 3 ของอีกปี) และเริ่มออกสั่งสอนประชาชนเป็นเวลา 7 เดือน (สอนครั้งแรกคือไปโปรดปัญจวัคคีย์ เมื่อวันอาสาฬหบูชา คือวันเพ็ญเดือน 8 ในปีเดียวกับที่ตรัสรู้ ) พระพุทธเจ้าได้ลูกศิษย์ คือพระภิกษุที่เป็นพระสาวกขณะนั้นกว่า 1,300 องค์ ซึ่งพระสาวกเหล่านี้ พระพุทธองค์ได้ทรงส่งออกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่ทรงค้นพบใหม่ไปยังเมืองต่างๆ ส่วนพระองค์ประทับอยู่ ณ วัดเวฬุวัน (ป่าไผ่) กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ที่พระเจ้าพิมพิสารถวาย และถือเป็นวัดแห่งแรกในพุทธศาสนา
    ปรากฏว่าพระสาวกที่เดินทางมาเฝ้าโดยมิได้นัดหมายกันนี้มีถึง 1,250 องค์ ซึ่งถือว่าเป็นเหตุอัศจรรย์ยิ่ง เพราะเหตุการณ์เช่นนี้ ตลอดพระชนมชีพของพระพุทธองค์มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ดังนั้น จึงได้กำหนดเรียกวันนี้ว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต” คือวันประชุมใหญ่ครั้งแรกและเป็นครั้งพิเศษด้วย 
    จาตุรงคสันนิบาต คือ การประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔ คือ
     ๑. วันนั้น เป็นวันมาฆปูรณมี คือวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำกลางเดือนมาฆะ จึงเรียกว่า มาฆบูชา (เวลากลางคืนเป็นเวลาที่ดีที่สุด อากาศไม่ร้อนและท้องฟ้าแจ่มใส)
     ๒. พระภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมกันพรอมกันโดยมิได้นัดหมาย
     ๓. พระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็น เอหิภิกฺขุอุปสมฺปทา คือพระพุทธเจ้าทรงประทานอุปสมบทด้วยพระองค์เองทั้งสิ้น
     ๔. พระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ผู้ได้ อภิญญา ๖  (ฉฬภิญญา)  อันได้แก่ แสดงฤทธิ์ได้, ระลึกชาติได้, ตาทิพย์, หูทิพย์, กำหนดรู้ใจคนอื่นได้ และบรรลุอาสวักขยญาณคือญาณหยั่งรู้ธรรมที่เป็นที่สิ้นแห่งอาสวะหรือกิเลสทั้งหลาย


     ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงเห็นเป็นโอกาสเหมาะ ที่จะให้การมาครั้งนี้ของพุทธสาวก เป็นการประชุมพิเศษในการแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ (เขียนเป็นโอวาทปาติโมกข์ก็ได้ไม่ผิด) เพื่อประกาศจุดหมาย หลักการและวิธีการปฏิบัติ ในการเผยแพร่พุทธศาสนาให้นำไปใช้ได้ในทุกสังคม ซึ่งเปรียบเสมือนธรรมนูญแห่งพุทธศาสนา ที่ชาวพุทธทั้งหลายจะได้ยึดถือเป็นแม่บทสำหรับประพฤติปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ และยังเป็นแม่บทในการเผยแพร่พระพุทธศาสนามาจนทุกวันนี้
     โอวาทปาติโมกข์ที่ว่านี้ เป็นคนละอย่างกับพระปาฏิโมกข์หรือศีล 227 ข้ออันเป็นพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ และพระภิกษุต้องลงโบสถ์ฟังทุกวันพระกึ่งเดือน ซึ่งโอวาทปาติโมกข์ที่พระบรมศาสดาแสดงในวันนั้น ถือเป็นหลักธรรมคำสอนที่สำคัญ หรือเป็น หัวใจของพระพุทธศาสนา เลยทีเดียว

    โอวาทปาฏิโมกข์ หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา หรือคำสอนอันเป็นหัวใจของ
พระพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธพจน์ ๓ คาถากึ่ง

คาถาโอวาทปาฏิโมกข์ มีดังนี้

สพฺพปาปสฺส อกรณํกุสลสฺสูปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทธาน สาสนํฯ
  (แปล : การไม่ทำความชั่วทั้งปวง ๑, การบำเพ็ญแต่ความดี ๑, การทำจิตของตนให้ผ่องใส ๑,     นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย)

ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา
นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี
สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโตฯ
       (แปล : ขันติ คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง, พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่านิพพาน   เป็นบรมธรรม, ผู้ทำร้ายคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต,ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ)

อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สํวโร
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ

(การไม่กล่าวร้าย ๑, การไม่ทำร้าย ๑, ความสำรวมในปาฏิโมกข์ ๑, ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ๑, ที่นั่งนอนอันสงัด ๑, ความเพียรในอธิจิต ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย)

     โอวาทปาฏิโมกข์ เป็นหลักคำสอนที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้กล่าวถึง จุดหมาย หลักการ และวิธีการ ของพระพุทธศาสนาไว้อย่างครบถ้วน
     ๑. จุดหมายของพระพุทธศาสนา คือ พระนิพพาน (นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา)
     ๒. หลักการของพระพุทธศาสนา คือ ต้องมีความอดทน ในการฝึกตนเอง เพื่อบรรลุจุดหมาย (ขนฺติ ปรมํ ตโป ตีติกฺขา) ต้องประกอบด้วย
     ก. ไม่ทำความชั่วโดยประการทั้งปวง ทั้งทางกาย วาจา และทางใจ (สพฺพปาปสฺส อรกณํ)
     ข. ทำความดีทั้งทางกาย วาจา และใจ (กุสลสฺสูปสมฺปทา) การไม่ทำความชั่วนั้น จะเรียกว่า เป็นคนดียังไม่ได้ การเป็นคนดี จะต้องทำความดี ทั้งทางกาย วาจา ใจ มิฉะนั้นแล้ว คนปัญญาอ่อน คนเป็นอัมพาต เป็นต้น ก็จะเป็นคนดีไปหมด
     ค. การชำระจิตใจให้สะอาด ผ่องใส สงบ (สจิตฺตปริโยทปนํ)
     ๓. วิธีการที่จะบรรลุจุดหมาย คือ ต้องฝึกอบรมตนแบบต่อเนื่อง ให้เกิดมรรคสามัคคี คือ อริยมรรคมีองค์ ๘  รวมพลังกัน เหมือนเชือก ๘ เกลียว หรือให้มี ศีล สมาธิ และปัญญา รวมพลังกัน เหมือนเชือก ๓ เกลียว พัฒนากาย วาจา ใจ ให้พูดดี ทำดี คิดดี ไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ  และไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งกิเลส ตัณหา เป็นต้น โดยอาศัยวิธีการ ดังต่อไปนี้. 
     ก. ฝึกวาจา ระวังเสมอ มิให้กล่าวคำเท็จ คำหยาบ คำส่อเสียด คำเพ้อเจ้อ (อนูปวาโท)
     ข. ฝึกกาย ระวังเสมอมิให้มีการฆ่า ทำลายชีวิต ตลอดจนถึงการเบียดเบียนทางกาย (อนูปฆาโต)
     ค. ละเว้นข้อที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสห้ามไว้ และทำตามข้อที่พระพุทธองค์อนุญาต (ปาฎิโมกฺเข จ สํวโร)
     ง. รู้จักประมาณในการบริโภค อาหาร ตลอดจน รู้จักประมาณในการใช้สอยปัจจัย ๔ (มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺสมึ)
     จ. ฝึกตนอย่างจริงจัง ในที่ที่สงัดจากสิ่งรบกวน (ปนฺตนฺ จ สยนาสนํ)
     ฉ. ภาวนาอยู่เสมอ คือ พัฒนาตนเองให้พ้นจากอำนาจของกิเลสตัณหา การภาวนา หมายถึง การใช้ทั้งสมาธิ และวิปัสสนา แก้ปัญหา หรือจัดการกับกิเลส (อธิจิตฺเต จ อาโยโค) เป็นการตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอ มิให้จิตใจเศร้าหมอง ให้จิตใจผ่องใสอยู่เสมอ (สจิตฺตปริโยทปนํ)
 

     จุดหมาย หลักการ และวิธีการ ที่พระพุทธเจ้าได้ประกาศไว้ จะเป็นไปด้วยดีและบรรลุวัตถุประสงค์ ที่พระพุทธเจ้าทรงมุ่งหมายไว้นั้น พระองค์ได้ย้ำเตือนไว้ว่า จะต้องปฏิบัติตนให้เป็นอย่างบรรพชิต และเป็นอย่างสมณะ คือ เว้นจากความชั่วทุกประการ และเป็นผู้ปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่าง เพื่อระงับบาปอกุศล ได้แก่ ผู้ปฏิบัติธรรม เพื่อเป็นอริยบุคคล ทั้งไม่เบียดเบียนและไม่ก่อให้เกิดความเดือนร้อนแก่คนที่ประพฤติดี ปฏิบัติชอบทั้งหลาย (น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต)
     สำหรับหลักการ 3 ที่กล่าวข้างต้น ถือได้ว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เป็นการสอนหลักในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องแก่พุทธศาสนิกชน คือ ความในคาถาแรกที่ว่า ไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส.....

หมายเลขบันทึก: 15263เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2006 21:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2013 15:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
คงเป็นเรื่องดีนะครับที่ยังมีเยวชน รุ่นใหม่ยังคงรักษาและธนุบำรุงศาสนาเอาไว้ ผมเป็นคนหนึ่งที่ไปวัดมาเมื่อวันอาทิตย์ ไปแล้วรู้สึกดี ผมมีเรื่องจะปรึกษาอาจารย์ผมสมัครบล็อคตามที่คุยกับอาจารย์ที่คณะวิทย์จัดแต่บล็อคผมไม่เข้ามาในชุมชน ยังรบกวนให้แนะนำด้วยนะครับ 3553  อ สมชาย

ได้รับความรู้อย่างดี และมีประโยชน์มากเลยทีเดียวครับ ขอบพระคุณนะครับอาจารย์ ที่นำความรู้ดีๆ แบบนี้ มาลงในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เพื่อเป็นการช่วยจรรโลงพระพุทธศาสนา ให้ดำรงต่อไป

เพราะความรู้ที่อาจารย์นำมาลงให้นั่นเอง ช่วยให้ผมเองมีความรู้เพิ่มขึ้นก่อนที่จะสอบว่า เพราะเหตุใด วันมาฆบูชา จึงเป็นวันแห่งความรักในพระพุทธศาสนา

ขอบพระคุณมากครับ ^^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท