ภาษาถิ่น


เชียงของยังคอย

คิดถึง.....เชียงของ...เมืองปลาบึก.....นับได้ว่าเป็นโชคดีของชีวิตที่ครั้งหนึ่งเคยใช้ชีวิตช่วงวัย 20 เศษ ๆที่บ้านโจ้โก้ ( ที่ตั้งโรงเรียนเชียงของวิทยาคม ) จีงได้มีโอกาสสัมผัสบรรยากาศเมืองเชียงของ ปี พศ.2528 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กำลังขยายพันธุ์ปลาบึก จึงได้พบเห็นปลาบึกตัวใหญ่เท่าๆม้ามัสแตง  ผูกติดกับหลักไม้ริมหาดห้วยไคร้ก่อนจะส่งขาย  ทุุกครั้งที่ปลาบึกดิ้นรนพลิกตัวเพื่อให้หลุดจากเครื่องพันธนาการ  น้ำโขงแผ่คลื่นเป็นวงกว้างเพราะแรงปลาบึก  ครั้งนั้นเคยแอบคิดในใจว่าถ้าสามารถปล่อยปลาบึกให้เป็นอิสระได้  คงได้บุญอักโข  แต่คงได้รับผลบุญชาติหน้าเป็นแน่ เพราะถ้าปล่อยปลาให้รอดชีวิตไป คนปล่อยก็คงถูกจับไปมัดกับหลักที่ปักอยู่กลางน้ำแทนปลาบึกเป็นแน่แท้

        ต่อจากบ้านหาดไคร้เลยไปถึงท่าเรือบั๊ค  ชมทิวทัศน์แม่นำ้โขงฝั่งตรงข้ามจะเห็นความงามของเมืองห้วยทราย  แขวงบ่อแก้วประเทศลาวมีอาจารย์ชาวลาวที่ข้ามฝั่งมาสอนภาษาฝรั่งเศสให้ชาวไทย และยังช่วยสอนภาษาถิ่นลาวให้อีกด้วย จึงสังเกตได้ว่ามีบางคำที่ออกเสียงแปลกไปแต่ก็พอจะเดาๆได้  มีคำบางคำที่ชาวลาวเมืองห้วยทรายใช้เหมือนกับภาษาถิ่นเหนือของไทย เช่น แม่คะนิ้ง หมายถึง น้ำค้าง ดอกคำปู้จู้ ( ดาวเรือง ) , ดอกตะล่อม (บานไม่รู้โรย ) ,ถั่วดิน ( ถั่วลิสง )     ปุ๊ดตื๋น ( ขาดทุน )  และภาษาถิ่นลาวก็มีบางคำที่แต่ละแขวงออกเสียงและสำเนียงไม่เหมือนกัน ก็เหมือนภาษาไทยที่มีทั้งภาษาถิ่นไทยภาคกลาง ภาษาถิ่นอิสาน ภาษาถิ่นเหนือ ภาษาถิ่นไต้  แต่ความหมายของภาษาถิ่นคืออะไร  บางคนก็คิดนาน วันนี้เลยถือโอกาสสรุปให้ว่า ภาษาถิ่น คือ คำที่ใช้เรียกภาษาที่ใช้พูดกันในหมู่ผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ต่างๆ กัน โดยมียังคงมีลักษณะเฉพาะที่สำคัญของภาษานั้น เช่น ภาษาไทย มีภาษาถิ่นหลายภาษา ได้แก่ ภาษาถิ่นอีสาน ภาษาถิ่นใต้ ภาษาถิ่นเหนือ และภาษาไทยกลาง หรือถิ่นกลาง เป็นต้น โดยทุกภาษาถิ่นยังคงใช้คำศัพท์ ไวยากรณ์ ที่สอดคล้องกัน แต่มักจะแตกต่างกันในเรื่องของวรรณยุกต์ เป็นต้น หากพื้นที่ของผู้ใช้ภาษานั้นกว้าง ก็จะมีภาษาถิ่นที่หลากหลาย และมีภาษาถิ่นย่อยๆ ลงไปอีก ทั้งนี้ภาษาถิ่นแต่ละถิ่น จะมีเอกลักษณ์ทางภาษาของตนด้วย ภาษาถิ่นนั้นมักเป็นเรื่องของภาษาพูด หรือภาษาท่าทาง มากกว่า

หมายเลขบันทึก: 151890เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2007 21:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 19:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

อยากให้เขียนเรื่องแม่น้ำโขงอีก..อยากรู้เรื่องราวของคนที่นี่..ขอบคุณมากครับ

กิติยา เตชะวรรณวุฒิ

ขอบคุณที่สนใจค่ะ ดิฉันมีข้อมูลเมื่อ 20 ปีที่แล้วซึ่งเป็นวิถีคนเชียงของที่แตกต่างจากปัจจุบันมาก บ้านเมืองและผู้คนเปลี่ยนไปจนดิฉันไม่อยากจะเชื่อว่าเป็นเมืองที่ดิฉันเคยอยู่ ( อาจเป็นเพราะจากเชียงของไป19 ปีถึงได้กลับไปอีกครั้ง ) ตอนที่ดิฉันอยู่ท่าเรือบั๊คเป็นเพียงสถานที่พักผ่อนหย่อนใจเท่านั้น มีเรื่องราวมากมายของชีวิตริมฝั่งโขง  คุณต้องการรู้เรื่องอะไรลองถามมานะคะถ้ารู้จะเขียนให้อ่านค่ะ

สวัสดีครับ

เคยแวะไปเชียงของ แล้วต่อไปเชียงแสน ถนนเลียบแม่น้ำโขงสวยสบายตา มองข้ามฝั่งไปเห็นประเทศลาวเพื่อนบ้าน

แวะไปวัดพระแก้วริมน้ำโขง แล้วไปดูเขาทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ

จะแวะมาอ่านอีกครับ

สวัสดีค่ะ.......เชียงของมีที่เที่ยวหลายแห่งค่ะ ถ้าคุณได้ไปเที่ยวผาตั้งคุณจะได้เห็นทิวทัศน์สองข้างทางสวยงามมากเพราะการขับรถเลาะเลี้ยวไปตามไหล่เขาตลอดเส้นทางจนถึงเขตประเทศลาวจะพบหมู่บ้านชาวลาวตรงเขตแบ่งแดน    ถ้าคุณมุ่งหน้าไปทางเชียงแสนเลยเชียงของไปไม่กี่กิโลเลี้ยวซ้ายเลาะหุบเขาไปจะพบสวนส้มห้วยเม็งที่มีรสชาติดีมาก

นอกจากนั้นยังมีผ้าทอของชาวไทยลื้อเป็นผ้าฝ้ายที่สวยงามและมีเอกลักษณ์ ถ้าได้ผ่านไปอีกลองแวะที่บ้านสถาน  ลองขอชมผ้าของชาวไทยลื้อดู ผู้คนที่นี่ส่วนใหญ่นามสกุลวงศ์ชัยทั้งที่มิใช่สายเลือดเดียวกัน  ดิฉันเคยได้รับบัตรเชิญงานแต่งงานของชาวบ้านสถาน รู้สึกงงคิดว่าใครคงเล่นตลก เพราะในบัตรเชิญนั้นพ่อแม่บ่าว-สาว และคู่บ่าวสาวนามสกุลเดียวกันทั้งหมด คือ วงศ์ชัย แต่คนที่นั่นบอกว่าไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะแรกๆที่เริ่มเป็นหมู่บ้านใช้นามสกุลวงศ์ชัยเกือบทั้งหมู่บ้าน นี่เป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำเท่านั้นค่ะ แปลกดีนะคะ

อยากให้มีตัวอย่างคำที่เป็นภาษาถิ่นกลางด้วย

คำว่าเที่ยวภาษาอีสานกับภาษาใต้พูดยังไงค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท