เล่าสู่กันฟัง 2


ล้อมวงกินข้าว 2

 ล้อมวงกินข้าว 9 กันยายน 2548 ที่บ้านลุงสนั่น สนธิพงษ์ ต.ท่าเสา อ.โพทะเล
                       
        วันนี้ทีมงานออกเดินทางกันตั้งแต่บ่ายสามโมง ด้วยรถตู้สีขาวคันเก่ง แล่นออกจากมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร พร้อมทีมงาน 5 คน คุณสุรเดช ตั้ว คุณลำพอง น้องเพ็ญ น้องหนุ่ม  วันนี้คุณสุรเดชแจ้งว่าต้องออกเดินทางเร็วนิดนึง เพราะอยากแวะไปเยี่ยมคุณพ่อของพี่พิชิต ซึ่งเป็นแกนนำเกษตรกร   ต.ไผ่ท่าโพ อ.โพธิ์ประทับช้าง คุณพ่อเค้าป่วยเป็นโรคหัวใจ ไปรักษาที่กทม.เพิ่งกลับมาพักฟื้นที่บ้าน
          พวกเราถึงบ้านพี่พิชิตแบบหลง ๆ หลังจากทักทายเยี่ยมเยียนแล้ว คุณสุรเดชเข้าไปคุยต่อในบ้าน ส่วนพวกเราก็สาละวนอยู่กับการขนกิ่งพันธุ์ผักหวาน ซึ่งเป็นผักเศรษฐกิจตัวเอกที่พี่พิชิตชำไว้  เราขอแบ่งซื้อจำนวน 200 กิ่ง ๆ ละ 5 บาท ไปปลูกไว้กินที่บ้านตามแนวคิดการพึ่งพาตนเอง…
 ชีวิตและครอบครัว
          ถึงบ้านลุงสนั่นประมาณ 17.30 น.หลังจากขนสัมภาระลงจากรถแล้ว ทุกคนก็ไม่รอช้า ชวนกันไปเดินชมสวนลุงสนั่น นำโดยคุณสุรเดช พร้อมกองถ่ายทำมือกล้องจำเป็น คุณสุรเดชพูดคุยไปกับลุงสนั่นอย่างเป็นกันเอง ลุงสนั่นก็พูดคุยด้วยสีหน้ายิ้มแย้มระคนดีใจ ปลื้มใจที่ได้พบหมอสุรเดชอีกครั้ง
ไร่นาสวนผสมของลุงสนั่นมีเนื้อที่ 27 ไร่ แบ่งเป็นที่นา 20 ไร่ สวนผสม 7 ไร่ มีปลาในบ่อ และปลาในนา ในสวนปลูกพืชที่หลากหลาย มะละกอ มะม่วง มะพร้าว ผักสวนครัว มีบ่อเลี้ยงปลาที่ขุดเองกับมือ 1 ลูก รอบ ๆ สวนมีร่องน้ำเลี้ยงปลา ปลานิล ปลาสวายลอยคอกันให้เห็นสลอน  เพกาที่เรียงรายริมถนนหน้าบ้านออกฝักเต็มต้นก็ฝีมือลุงสนั่นทั้งนั้น
          ปัจจุบันลุงสนั่นอาศัยอยู่ในบ้านที่ปลูกอยู่ในพื้นที่สวนกับลูก  ๆ 2  คน อีก 3 คน อยู่กรุงเทพฯ เรียนจบปริญญาตรีแล้ว 1 คน อีก 2 คนกำลังเรียนอยู่ ลุงสนั่นส่งเสียให้เรียนทุกคน ส่วนภรรยาลุงสนั่นเสียชีวิตแล้ว    
แนวคิดการทำเกษตรผสมผสาน : สร้างไว้ให้ลูก และไว้ยามแก่เฒ่า
อาหารมื้อเย็นเกือบค่ำของพวกเรา นั่งล้อมวงกันบนแคร่หน้าบ้านของครูสะอาด กะปุระ ซึ่งเป็นครูในรร.วัดท่ามะไฟ ก่อนหน้านี้ได้พาเด็ก ๆ ไปเรียนรู้การทำเกษตรปลอดสารพิษที่สวนลุงสนั่นแล้ว เกิดแนวคิดต่อยอดด้วยการปรับเข้าสู่หลักสูตรการเรียนการสอนเป็นหลักสูตรท้องถิ่นที่ต่อเนื่อง
กับข้าวฝีมือภรรยาครูสะอาดและทีมแม่บ้าน มีเมนูเด็ดที่ทุกคนใฝ่หา คือปลาร้าสับ กับผักสดหวานกรอบจากสวน กินไปคุยไป ทุกคนคุยกันอย่างออกรส โดยมีคุณสุรเดชคอยยิงคำถามเป็นระยะ ทำให้ทุกคนได้ฟังเกร็ดชีวิตของลุงสนั่นที่น่าสนใจ และประทับใจกับการเรียนรู้และพัฒนาตนเองของเกษตรกรธรรมดา ๆ คนหนึ่ง จนกลายเป็นตัวอย่างที่ดีของคนในชุมชนได้
ด้วยความขยัน ไม่อยู่นิ่ง ไม่ดูถูกเงินน้อย ทำให้ลุงสนั่นมีกินมีใช้ แหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ มีรายได้ไม่ขาดมือ บางครั้งมาก บางครั้งน้อย แต่ไม่สุลุ่ยสุร่าย ทำให้มีเหลือเก็บไว้ส่งลูกเรียนได้
“ลูก ๆ ไปเรียน เค้าคงไม่ทำนา เราก็คิดจะทำอย่างไรจึงจะ แปรสภาพเป็นสวน มีทุกอย่าง เหลือไว้กิน ลูกเรียนจบกลับมาก็มีทุกอย่าง ถ้าไม่มาก็ปล่อยเค้า ผมจะสร้างทุกอย่างไว้ให้ลูก ตกงานมาก็มีฐานอยู่แล้ว ถ้าลูกไปไม่รอด เค้ากลับมามีแต่นาโล้น ๆ จะทำอะไรกิน อีก 45 ปี คนไทยจะยิ่งแย่กว่านี้นักวิจัยเค้าทำนายไว้ ก็ต้องรีบทำไว้ เตรียมไว้พร้อม ยังไงก็ไม่อดตาย เรื่องกินเรื่องใหญ่…ทุกวันนี้อยู่เฉย ๆ ไม่เป็น มันนั่งอยู่เฉย  ๆ หงุดหงิด มีเมล็ดอะไรก็เพาะ ต่อกิ่ง ตอนกิ่ง ถ้าจะไปประชุมก็ปลูกพริกซัก 5 ต้นแล้วถึงไป”
          สถานการณ์เศรษฐกิจผันผวน น้ำมันแพงขึ้นเรื่อย ๆ ลุงสนั่นบอกว่าาทำแบบนี้ก็อยู่รอด มันมีบทแก้ไขเยอะ ตื่นเช้ามาก็มีกิน ไม่เดือนร้อน ในช่วงนี้เองลุงสมบุญแห่งต.ท้ายน้ำก็เสริมอย่างหนักแน่นว่า “เกษตรกรมันต้องกลับนะ ต้องเลี้ยวกลับกันแล้ว ใครเลี้ยวก่อนก็สบาย ขึ้นไปสุดยอดลงยาก ไอ้พวกหลง ลงยาก ตะแบงไปเรื่อย”
          ลุงจวนปราชญ์ชาวบ้านเซียนพื้นที่น้อยก็ช่วยเสริมว่า “เราต้องรู้สถานการณ์ ถ้าไม่รู้อยู่ยาก ไปไม่รอด ผมมีแค่ 6 งาน แต่ต้องเอาลูกกลับมาเพราะอะไร?… ก็เวลามันกลับมาทีให้เราสองพัน ตอนกลับมันบอก พ่อขอตังค์ค่ารถ ลุงสนั่นก็ว่า “เจอแล้ว มาให้1,000 กลับขอ 1,500 !!?“
อยากได้...แต่ไม่ทำจริง
          ลุงสนั่นบอกว่าไม่เคยห่วงเรื่องตลาด แกถือคติว่าของทุกอย่างถ้าทำจริงตลาดมีรออยู่แล้ว แต่คนมักจะยังไม่ทำแล้วกลัว “ข่า ตะใคร้  บดน้ำพริก ตลาดท่าเสา หนองประทุม หนองดง อาทิตย์ละ 7 กิโล ไม่ทัน… โอ้โห!! เค้าต้องการอยู่แล้ว ขอให้ไปปลูกไปทำเถอะ
          ที่ว่าตลาดไม่ต้องห่วงนั้น คงต้องเพิ่มความขยัน เอาใจใส่ด้วย ไม่ใช่อยู่เฉย  ๆ จะมีคนวิ่งมาหา ก่อนอื่นต้องดูแลในบ้านให้พอกินก่อน แล้วไม่นิ่งนอนใจ ไม่อยู่นิ่ง … “เราอยู่ใกล้ตลาด เราเดินไปถามเค้า รับผักมาจากไหน? เอามาจากบางมูลนาก… ถ้าเราปลูกเค้าก็ต้องมาเอาที่เรา เค้าจะไปทำไมที่บางมูลนาก มันไกล!”
          ทุกวันนี้เวลาลุงหนั่นแนะนำให้คนโน้นคนนี้ปลูกโน่นปลูกนี่จะมีแต่คนถาม“ลุงหนั่นปลูกแล้วไปส่งไหนเล่า?”ลุงหนั่นก็ถามกลับว่า“มึงมีของแล้วหรือยังล่ะ…?!!”
การให้...เป็นการสร้างความสุขในชุมชน
          บ้านใกล้เรือนเคียง และชาวบ้านแถวนี้แวะเวียนมาเก็บผักที่สวนลุงหนั่นเสมอ โดยเฉพาะต้นที่ปลูกไว้หน้าบ้านริมถนน อาจจะเป็นเพราะอุปนิสัยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่ลุงสนั่นมี ทำให้ทุกคนถ้อยทีถ้อยอาศัยกันเหมือนพี่เหมือนน้อง “ขี้เหล็กผมถ้าชาวบ้านจะแกงหม้อครึ่งหม้อก็เอาไป แม่ค้ามาบางทีผมไม่อยู่บ้านเค้าก็เอาเงินไว้กับเด็กแถวนี้ ผมก็ให้  ตอนนี้สลิดก็ยังกินกันไม่เป็นเท่าไร โลเป็นร้อย แต่บ้านผมขอกันกินได้ “
บางทีให้เค้าปลูก เค้าก็ไม่ปลูก กลับมาบอกว่า ขอลุงหนั่นกินง่ายกว่า เป็นซะงั้น เดินเลาะรั้วไปมีหมดทุกอย่างบ้านผมอย่างน้อยเค้าขอยังดีกว่าเค้าลัก ขโมยไม่มีหรอกบ้านผม  ปลาในร่องยังไม่มีใครลักของผมเลย  ผมอยู่ท่าเสา ผมคงไม่ไปลักของที่ท้ายน้ำหรอก นอกจากมีคนบอกให้ผมไป คนรอบ ๆ เราต้องเลี้ยงกันไว้ พยายามแบ่งปันกัน รู้รักกันไว้ สู่กันกิน ทุกอย่างอยู่สบาย มีเพื่อนฝูงมากดีกว่ามีเงินมากซะอีก
          นับว่าเป็นการเปิดประเด็นธรรมะ “การให้”ที่เป็นคุณสมบัติที่สำคัญของแกนนำ ทางฝ่ายลุงจวนก็แลกเปลี่ยนประสบการณ์จริงที่น่าสนใจ “การให้ สร้างความสามัคคีได้ในชุมชน และยังเป็นรั้วป้องกันตนเองได้ด้วย ฟาร์มไก่ ที่เคยมาสร้างใกล้บ้านผม ดุร้าย แม้แต่ชะอม กอไผ่ย้อยลงไปเค้าก็ฟันทิ้ง ผมก็คิดจะทำยังไงดี การให้เค้าบ่อย ๆ จะสร้างความสามัคคี หน่อไม้เราแบ่งให้เค้า 2-3 ครั้ง ปีที่แล้วภัยแล้ง ไม่รู้เค้าคิดยังไง ขับรถมาจอดหน้าบ้าน แล้วบอกว่า ตาผมจะวิดน้ำให้ ให้ลากสายยางไปที่บ่อเค้า สวมเข้ากับปั๊มติดเครื่องให้ น้ำเยอะเลย ผมสูบจนจะท่วมสวน ปิดเครื่องแล้ว เค้าก็มาเก็บสายยางไว้ที่บ้านผม  มันเกิดจากการให้ และเราไม่ได้ก้าวร้าว เค้าอยากใหญ่ก็ให้เค้าใหญ่ เค้าจะช่วยจัดการหลาย  ๆอย่าง เค้าสูงเราก็ต่ำซะ สบายมาก
ทางฝ่ายลุงบุญก็ว่า “ ไก่ อีโก้ง ผมจอดทิ้งไว้เป็นเดือน  ๆ ไม่มีหาย ผมก็ให้เค้าทั้งนั้น ผมก็บอก เวลากูไม่มีจะขอคืนนะ เราดีเค้าไม่ลักของเราหรอก
          คุณมนูญ ทิ้งคำถามว่า ทำอย่างไรเราจะขยายผลให้ผู้นำของเรามีแนวคิดแบบนี้ ให้เกิดภาพความเอื้อเฟื้อแบ่งปันกัน สิ่งที่ลุงหนั่นทำมันคือความมั่นคงทางอาหาร ทำให้ความแบ่งปันเกิดขึ้น เป็นเหมือนเกราะป้องกันโดยที่ไม่ต้องไปมองที่อาวุธ  แต่กลับเป็นผัก ปลา อาหารที่อยู่ในแปลง แบ่งปันกัน เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากกว่าหลายเท่านัก
วปอ ครูดี กัลยาณมิตร ลูกกลุ่ม
          ลุงสนั่นเป็นนักเรียนวปอ.รุ่น 11 ซึ่งเป็นรุ่นล่าสุด แกเล่าถึงบรรยากาศด้วยสีหน้าตื่นเต้น และภาคภูมิใจ ” ไปวปอ.ได้เจอลุงสืบ ลุงพงษ์ ลุงจวน คุณผดุง คนเหล่านี้เคยเจอกันมานานแล้ว  พวกนี้ระดับอินเตอร์ คือเค้าทำมาจริง มีผลงานออกมาชัดเจน  ไม่หวงวิชา มีอะไรให้หมด ไม่ปิดบัง  ได้เยอะมาก ได้ผลดี ถามตัวเองว่าทำไมบ้านเราไม่ทำอย่างเค้าบ้าง…  ลุงจวนน้ำใจดี มีปัญญา สวนขนาดเล็กมีทุกอย่าง แต่ขาดน้ำ ถ้าน้ำดีจะเลิศกว่านี้มาก ลุงยังอยู่ได้ เรามีที่ตั้งเยอะ ทำไมจะอยู่ไม่ได้ ไป วปอ.แล้วคุ้มค่ามาก“
วปอ.11 เป็นรุ่นแรกที่มีพิธีรับน้องใหม่ ที่สนุกสนาน แฝงความเคารพและศรัทธาต่อแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง “…ทั้งบรเพ็ด แป้ง… เอ้า!ทนเอาวะ ยังไงก็หลวมตัวมาแล้ว กลับมาน้ำหนักหายไป 5 กิโล ต้องไปให้หมอไก่จัดยาบำรุงให้ ก็อยากนอนแต่คนข้าง ๆมันไม่ให้นอน อยากคุย ลุกขึ้นมาจับกลุ่มคุยกัน เล่านิทานบ้าง วันไปผมต้องจ้างเค้ามาเฝ้าบ้าน ไม่รู้เพ็ญหรือหนุ่ม มาหลอกไป ผมก็ว่าทำไมต้องเป็นผม ช่วงนั้นเทศบาลเค้าจะพาไปเที่ยวบางแสน ไม่ไปกับเค้า ไปวปอ.ดีกว่า แต่ก่อนผมเรียนทางวิทยุ แต่วปอ.ได้เจอคนจริง “
          ทุกวันนี้ลุงหนั่นพยายามส่งเสริมให้สมาชิกปลูก ข่าตะไคร้ ผักสวนครัวไว้กินเอง สมาชิก10 คน ไปด้วยกันได้ อีก 8 คน อยากสมัครเข้ากลุ่ม แต่ลุงแกบอกรอดูก่อน ต้องไปดูที่บ้าน ถ้ายังซื้อกะเพรา ผักบุ้งตลาดกินก็ยังใช้ไม่ได้ ต้องเริ่มจากผักสวนครัวที่บ้านตนเองก่อน “ถ้าไม่ทำผมก็ไม่รับ… คนที่จะเข้ามาต้องมีฐานการทำจริง ไม่ใช่เข้ามาเพื่อกู้เงินเอาไช้อย่างอื่นหมด แต่ถ้ากู้หมื่น เอาไปซื้อกิ่งพันธุ์ห้าพันก็ยังดี”
          ลุงหนั่นยังติดตามสมาชิกอย่างต่อเนื่อง ขี่รถไปดูประจำ สมาชิกชื่อสุจิตราปรึกษาลุงว่าจะปลูกอะไรแซมมะนาวดี เพราะมีช่วงห่างกันตั้ง 3 เมตร ลุงหนั่นไม่บอกเอง แต่ไปพาลุงจวนมาตระเวนดู ลุงจวนแนะนำให้ปลูกกล้วยน้ำว้าแซมมะนาว สมาชิกก็รีบทำตาม ได้ผลดี มีกล้วยขาย อยู่ได้ “ผมให้ลุงจวนพูด ปราชญ์พูดจะดีกว่าผม ไหน ๆ ก็รู้จักกันแล้วนี่ ลูกกลุ่มชอบใจมาก ๆ เลย เค้าถามว่าลุงหนั่นเอามาได้ยังไง ผมโชคดีที่ได้เจอ
          ช่วงนี้คุณมนูญ ได้เสนอแนะข้อคิดเห็นเป็นการแลกเปลี่ยนกันว่า ถ้าเราต้องการแนวร่วมแนวเดียวกัน แล้วเราตั้งกำแพงไว้สูง จะต้องใช้พลังมาก แต่ถ้าเรามีประตูหลัง ให้เค้าเข้ามา เค้าก็จะมาอยู่ในกำแพงเรานั่นแหละ ถ้าคนจะมาเอาประโยชน์ก็จะได้นิดหน่อย แล้วก็ไปเอง เหมือนฟังธรรมแล้วปฎิบัติก็จะได้ประโยชน์จริง  ถ้าไม่เปิดจะต้องใช้พลังมาก
          ทางลุงจวนก็ว่าเห็นด้วย คนที่เข้ามากลุ่ม อาจจะมาตอนแรก แล้วหาย ไป แล้วก็อาจจะกลับมาใหม่อีก  เรารับเค้าไว้ ถ้าเค้าไม่ไหวกับแนวปฏิบัติของเราเค้าก็จะหลุดไปเอง  ถ้ากลับมาใหม่ก็ให้โอกาสเขา “ยังไม่สายหรอกลูก พวกเอ็งยังหนุ่มอยู่ ลุงเองเริ่มเมื่อแก่แล้ว” นอกจากนี้ลุงจวนยังบอกว่า ต้องมีการติดตาม พัฒนาศักยภาพของสมาชิกอย่างต่อเนื่อง ลุงจวนหุงข้าวเลี้ยงโดยไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายอะไรเลย  ต้องไม่ยกตนข่มท่าน น้ำใจจะกลับคืนมามีค่ามากกว่าเงินทอง “ผมไปพูดให้กลุ่มสมาชิกฟัง เค้าก็ให้ปลาร้าผมมา เค้าว่าเอาปลามาจากนา ไม่ได้ฉีดยา… ปลาเลยไม่ตาย “
ขยายแนวคิดสู่เด็กรุ่นหลัง
          ลุงสนั่นได้สะท้อนแนวคิดที่ต้องการถ่ายทอด และปลูกฝังให้กับเด็กรุ่นหลังได้ซึมซับแนวคิดการพึ่งพาตนเองเป็นทักษะติดตัวไป เอาตัวรอดได้ในยามวิกฤต…”อยากให้เกิดแนวคิดกับรร.  เกิดกับเด็ก ตอนนี้สอนคนโตลำบาก ปั้นประถมขึ้นมาดีกว่า ปฏิบัติจริง อาจจะเชิญผู้ปกครองมาดู ช่วยทำ ช่วยซื้อ “
          ขณะเดียวกันน้องสุวินัย นร.ชั้นป.6 รร.วัดท่ามะไฟ ซึ่งเป็นรร.ที่อยู่ในชุมชนใกล้บ้านลุงสนั่นบอกว่า “ชอบทำปุ๋ยหมัก เรียนรู้สามารถนำไปใช้จริงได้  ตอนนี้ที่บ้านเริ่มลดสารเคมีแล้ว แต่ยังผสมผสานกันอยู่ เพื่อน  ๆ  6-7 คน เรียนรู้สนใจมาก ในสวนลุงหนั่นมีทุกอย่างครบ มีความสุขดี
          คุณมนูญก็เสริมแนวคิดว่า “มันเป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรมเกษตร อาชีพเกษตรกร ซึ่งมีมานานเป็นพันปี เราขายนาส่งลูกเรียนป.ตรี เค้าก็ไปมีอาชีพ ได้ดิบได้ดี กับฐานพ่อแม่ ชุมชน มันต่างกัน เกษตรเป็นทางเลือกสุดท้าย ทำอย่างไรเราจะทำให้เด็กรู้สึกว่าอาชีพเกษตรกรเป็นความมั่นคงอันดับหนึ่ง มั่นคง อยู่ได้ เท่ห์ มีศักดิ์ศรี เราไม่ปฏิเสธความพอเพียง แต่เราต้องอยู่ได้
          ท้ายสุด กมลทิพย์ แกนนำเกษตรกรรุ่นหลานที่อยู่ในกลุ่มได้พูดถึงลุงสนั่นว่า “ปู่เนี่ยทุกรูปแบบ แนะนำทุกอย่าง อะไรที่ขายได้ทำได้ก็บอกทุกอย่างไม่คยปิดบัง เกษตรกรทั่วไปก็มองว่าเป็นผู้นำที่ดี ช่วยเหลือ มีอะไรปรึกษาได้ เป็นหัวหน้ากลุ่มที่แนะนำทุกคน เป็นตัวอย่างได้ ทุกอย่างสมบูรณ์แบบที่บ้านเค้า
          ลุงสนันตื้นตันใจและภูมิใจที่มีคนมาชื่นชมผลงาน ได้พบแกนนำผู้อาวุโสชั้นครู “วันนี้ดีใจมาก เซอร์ไพรส์ ไม่นึกว่าหมอจะมาจริง  ไม่ได้เป็นการรบกวนอะไร แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน มาเยี่ยมเยียนดูผม ผมทำได้แค่นี้ เท่าที่ผมทำได้ ถ้าจะยังไงก็แนะนำกัน พร้อมจะเป็นฐานการเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างต่อเนื่อง” พวกเราก็หวังว่า วปอ.รุ่นต่อไปน่าจะได้มาเรียนกับเกษตรกรคนขยัน แห่งต.ท่าเสา คนนี้ ลุงสนั่น สนธิพงษ์ 
                                                                                      <p>หนุ่ม : 21: 02 / 2549</p>

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15104เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2006 21:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท