สนุกกับภาษาไทย – ภาษาอัชฌาไศรย ๓๑. ชายคาภาษาไทย (๑๐)


กะเทย / บั๊ณเฑาะก์ / ขันที / นักเทษ

         เมื่อผู้เขียนเรียนหนังสือชั้นมัธยมศึกษานั้น มีเพื่อนอยู่คนหนึ่งซึ่งมีพฤติกรรมแสดงว่าอยากเป็นผู้หญิง พวกเราเลยเรียกเขาว่า กะเทย ความรับรู้ว่า กะเทยเป็นอย่างไรก็มีอยู่เพียงแค่นั้น แต่เดี๋ยวนี้คำว่า กะเทยไม่ค่อยพูดถึงกัน พฤติกรรมผิดปกติของชายหญิง ถูกแทนที่ด้วยคำอื่นๆ ทั้งที่เป็นคำไทยเฉพาะกลุ่ม เช่น แต๋ว ตุ๊ด เล่นเพื่อน หรือ คำอังกฤษ เช่น เกย์ ควีน ทอม ดี้ เป็นต้น ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากสังคมเปลี่ยนไปเป็นแบบเสรีนิยมมากขึ้น และทัศนะต่อพฤติกรรมข้ามเพศของชายและหญิงได้รับความเห็นอกเห็นใจมากขึ้น


         ใน พระไอยการลักษณะพยาน ของกฎหมายตราสามดวง ได้กล่าวถึงคนที่ในกรณีปกติแล้วไม่ควรให้เป็นพยานในศาลจำนวน 33 จำพวก สองจำพวกในนั้น คือ “กระเทย” และ “บันเดาะ” (เขียนตามต้นฉบับ) แสดงว่า กะเทยกับบัณเฑาะก์ เป็นคนละพวกกัน แล้วต่างกันอย่างไร คำสองคำนี้มีที่มาต่างกัน

         กะเทย เป็นคำที่ไทยยืมเขมรมาใช้ คำเดิมคือ “เขฺทีย” อ่านว่า เขฺตย (ขฺเตย) ดร. บรรจบ พันธุเมธา ท่านเขียนคำนี้เป็นภาษาไทยว่า กระเทย เหมือนไทยโบราณเขียนในกฎหมายตราสามดวง แต่ไฉน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525  และ 2542 จึงเก็บเฉพาะ กะเทย ไว้ก็ไม่ทราบ ตามพจนานุกรมดังกล่าว กะเทย หมายถึง “คนที่มีอวัยวะเพศทั้งชายและหญิง, คนที่มีจิตใจและกิริยาตรงข้ามกับเพศของตนเอง; ผลไม้ที่เมล็ดลีบ เช่น ลำไยกะเทย. (อะหม ว่า เทย)” ถ้ายึดถือคำนิยามของราชบัณฑิตยสถานอย่างเคร่งครัด คำว่า กะเทย หมายถึงทั้งชายและหญิงก็ได้ผู้ที่มีบุคลิกภาพตรงข้ามกับเพศของตน

         แต่ สารานุกรมภาษาอีสาน ไทย อังกฤษ ของปรีชา พิณทอง ให้ความหมายของ “กะเทย” ไว้อีกอย่างหนึ่งว่า “คนสองเพศ ข้างขึ้นเพศชายปรากฏ พอถึงข้างแรมเพศชายหายไปเพศหญิงปรากฏ เป็นอยู่อย่างนี้ตลอดชีวิต เรียก กะเทย คนเช่นนี้ทางพระศาสนาห้ามไม่ให้บวช ถ้าบวชจะเป็นอันตรายต่อพรหมจรรย์”

         ใน พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน ส่วนที่ว่าด้วยศักดิ์นาเจ้าและฝ่ายใน มีกล่าวถึงคนกลุ่มหนึ่ง คือ “เตี้ย ค่อม เทย เผือก” มีศักดิ์นา 50 เป็นคนรับใช้ในพระราชวังหลวง ทั้ง 4 พวกนี้เป็นพวกมีความผิดปกติทางร่างกาย หาใช่ทางจิตใจหรือพฤติกรรมไม่ ในที่นี้ใช้คำว่า เทย ไม่ใช่ กระเทย ทำให้เกิดปัญหาสองประการ ประการแรก คือ ร่างกายผิดปกติอย่างไร มีอวัยวะเพศของทั้งสองเพศ หรือ ไม่มีอวัยวะเพศ หรือมีแต่รูปัสสาวะ

         ในสมัยรัชกาลที่ 3 James Caswell ได้ทำพจนานุกรมคำไทยขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1846 หรือ พ.ศ. 2389 โดยที่มีครูสอนภาษาไทยเป็นคนให้ความรู้แก่ท่าน ท่านได้เก็บคำว่า กะเทย ไว้ด้วยว่า “กะเทยนั้น คือ บุทคลที่มีประเทษที่ลับเปนหญิงก็ใช่ เปนชายใช่นั้น เรียกว่า คนกะเทย”  แต่สำหรับหมอบรัดเลได้ให้คำนิยามไว้ในสมัยรัชกาลที่ใน อักขราภิธานศรับท์ ว่า “คนไม่เปนเภษชาย, ไม่เปนเภษหญิง, มีแต่ทางปัศสาวะ” เพราะฉะนั้น กะเทย ในความรู้สึกของคนไทยสมัยก่อนจึงหมายถึงพวกที่เกิดมามีอวัยวะเพศผิดปกติ ไม่ใช่พวกที่มีพฤติกรรมทางเพศเบี่ยงเบน

         ปัญหาประการที่สองคือ คำว่า เทย (ไม่ใช่ กะเทย / กระเทย) มีใช้อยู่ในกฎหมายตราสามดวง และ พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 บอกว่า มาจากคำอาหม คำนี้ก็ไม่น่ามาจากภาษาเขมร กลายเป็นว่า คำเขมรว่า เขฺตีย นั้นเขมรอาจรับไปจากไทย


         เรื่องราวของกะเทยอย่างที่คนโบราณเข้าใจนั้นไปเกี่ยวขัองกับคำว่า “บัณเฑาะก์” ซึ่งเป็นอีกจำพวกหนึ่งซึ่งถูกห้ามเป็นพยานในศาล คำนี้มีรายละเอียดเขียนถึงในคัมภีร์ สารัตถสังคหะ  ตอนว่า “ปณฺฑกานวิภาวนกถา” (ความว่าด้วยบัณเฑาะก์) คำว่า บัณเฑาะก์ มาจากภาษาสันสกฤตว่า ปณฺฑก หนังสือ ปทานุกรมบาลี ไทย อังกฤษ สันสกฤต ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทรบุรีนฤนาถให้อธิบายว่า “บัณเฑาะก์ กะเทย” และว่ามี 5 จำพวก ซึ่งก็ตรงกับ สารัตถสังคหะ แต่เรียงลำดับไม่เหมือนกัน ในที่นี้จะยึดตาม สารัตถสังคหะ ดังนี้
1. โอปักกมิปัณเฑาะก์ คือ ผู้ที่ถูกตอน
2. อาสิตตปัณเฑาะก์ คือ “บุคคลผู้ใดบังเกิดควมกำหนัดยินดี มีความกระวนกระวายขึ้นแล้วแลเอาปากคาบซึ่งนิมิตต์แห่งบุรุษทั้งหลายอื่น ดูดกินซึ่งอสุจิจึงระงับดับความกระวนกระวาย”
3. อุสุยยปัณเฑาะก์ คือ “บุคคลผู้ใดแล เห็นซึ่งการอัชฌาจารแห่งบุคคลทั้งหลายอื่นแล้ว บังเกิดมีความริษยาขึ้นมา ความกระวนกระวายของคนนั้น ก็พลอยระงับดับลงในกาลเมื่อแลเห็นนั้น“ สรุปง่ายๆ คือ “ผู้ที่ชอบดูการทำ (กรรมคู่ – เสพสังวาส) ของผู้อื่น
4. นปุสกปัณเฑาะก์ คือ “บุคคลผู้ใดหมอิตถีภาวรูปบ่มิได้ หาบุรุษภาวรูปบ่มิได้ ในปฏิสนธิกาลม บังเกิดมิได้เป็นหญิงเป็นชาย เพศหญิงชายนั้นหาปรากฎไม่” หรือ “ผู้ไม่มีเพศแต่กำเนิด
5. อุภโตพยัญชนกปัณเฑาะก์ คือ มีสองเพศ “จะเป็นหญิงก็ได้ จะเป็นชายก็ได้ มีด้วยกันทั้งสองเพศ” จะทำการรักกับชาย ปุริสนิมิตต์เพศชายก็หายไป จะทำการรักกับหญิง อิตถีนิมิตต์เพศก็หายไป

         อย่างไรก็ตาม ความเห็นในเรื่องจำพวกบัณเฑาะก์ในคัมภีร์ สมันตปาสาทิกา แตกต่างไปจาก สารัตถสังคหะ เล็กน้อย จำพวกที่ 5 ข้างต้น ถูกแทนที่ด้วย ปักขปัณเฑาะก์ คือ ผู้ที่เป็นบัณเฑาะก์เฉพาะปักข์ เมื่อถึงข้างขึ้นเป็นเพศชาย เมื่อถึงข้างแรมเป็นเพศหญิง


         เรื่องที่ว่า ไม่ให้กะเทยและบัณเฑาะก์เป็นพยานในศาลนั้น มาจากคติความเชื่อว่า คนที่จะเป็นพยานได้ต้องไม่ใช่คนบาป แต่ในทางพุทธศาสนาดังเช่นที่กล่าวไว้ใน ไตรภูมิพระร่วง คนที่เกิดเป็นกะเทยเนื่องจากผลกรรมที่ทำไว้ในชาติก่อนๆ คือ เป็นชายที่ผิดเมียผู้อื่น หลังจากไปตกนรกปีนต้นงิ้วแล้ว ยังต้องไปเกิดเป็นกะเทยอีก 1000 ชาติ จึงจะพ้นกรรม ดังนั้นจึงถือว่า เป็นผู้ไม่บริสุทธิ์และควรเชื่อถือ


         เมื่อเขียนถึงเรื่องกะเทยและบัณเฑาะก์แล้ว ก็ขอต่อด้วยเรื่อง ขันทีและนักเทษด้วยเสียพร้อมกัน พวกเราเคยได้ยินคำว่า ขันที คุ้นหูโดยเฉพาะผู้ที่ชอบเรื่องจีน แต่คำนี้มิใช่คำจีนซึ่งเรียกขันทีว่า ไท้ก่ำ สังคมก่อนสมัยใหม่หลายสังคมทั้งในยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และประเทศสุดบูรพาทิศ (จีน เกาหลี และเวียดนาม ยกเว้นญี่ปุ่น) ต่างใช้ขันทีในราชสำนักทั้งสิ้น เขาว่า หลักฐานเกี่ยวกับการตอนคนเป็นขันทีอยู่ที่เมืองลากาซในวัฒนธรรมสุเมเรียนย้อนหลังไปถึง 2000 ปีก่อนคริสต์กาล ในภาษาอังกฤษคำว่า Eunuch ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณ eune (bed) + ekhein (to keep) แปลว่า “เจ้าพนักงานกระลาบรรทม” มีคนเคยถามผู้เขียนว่า เมืองไทยในอดีตเคยมีขันทีหรือไม่ ผู้เขียนยืนยันว่า เคยมีมาจนถึงสมัยสิ้นกรุงศรีอยุธยา เพราะในพระราชพิธีบรมราชาภิเสกสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ในขบวนแห่ฝ่ายใน (พระสนมกำนัล) มีขันทีชื่อราขารและสังขสุรินทรเป็นผู้กำกับขบวนด้วย ผู้เขียนได้ตรวจดูพบว่า อาณาจักรเพื่อนบ้านเราสมัยโบราณก็ล้วนมีขันทีทั้งนั้นไม่ว่า อาระกัน (ยะไข่) พม่า อินเดีย และชวา แม้แต่มอญก็มีคำเรียกขันทีว่า กมฺนุย (อ่านว่า ก็อมนอย) แปลโดยศัพท์ว่า ขันทีที่ปราศจากความรู้สึกทางเพศ

         ผู้เขียนได้พยายามสอบหาว่า ขันที มีที่มาทางนิรุกติประวัติอย่างไร ตั้งแต่แปลหนังสือเรื่อง ขันทีจีน เมื่อหลายปีก่อน เคยคิดว่า น่าจะมาจากคำภาษาอาหรับว่า ขะซี (khaziiy) แต่ก็ยังไม่สนิทนัก เมื่อสองสามสัปดาห์ก่อน พลตรี หม่อมราชวงศ์ ศุภวัฒย์ เกษมศรี ขอให้พิจารณานามของ ศิขัณฑิน (นามที่ท่านให้) หนึ่งในตัวละครสำคัญในมหาภารตยุทธ (โปรดอ่านเรื่องมาณฑวยมุนี ข้างล่าง) เพราะเป็นเจ้าหญิงที่พระราชบิดาให้ทำตัวอย่างผู้ชาย จึงทำให้มีกริยาอ้อนแอ้นอย่างขันที ผู้เขียนก็เห็นเข้าท่าดี แต่ยังติดใจอยู่ว่า ราชสำนักไทยคงไม่เอาชื่อของวีรสตรี (ซึ่งตอนหลังเปลี่ยนเพศเป็นชายจึงกลายเป็นวีรบุรุษ) มาเป็นตำแหน่งข้าราชการในพระราชวังหลวง จึงได้ทำการค้นคว้าดูใหม่ พบว่า คำว่า ขณฺฑ แปลว่า ทำลาย ขณฺฑธารา แปลว่า มีด หรือ ดาบ ศาสตราจารย์ MacDonell ผู้แต่ง A Practical sanskrit Dictionary ซึ่งผู้เขียนมีอยู่ในขณะเขียนเรื่องนี้ ให้ความหมายของ khandฺa ว่า “incomplete, deficient, break or cut in pieces, destroy, cause to cease” ความหมายที่ให้นี้พอจะทำให้ลากไปได้ว่า “ไม่สมบูรณ์, ขาดหายไป, ทำลายหรือตัดออกเป็นชิ้น” ผู้เขียนเลยขอสันนิษฐานว่า ขันที เป็นการเขียนแบบไทยสะดวกสำหรับคำว่า ขณฺฑี ในภาษาสันสกฤต


         ขันทีในพม่าและอาระกันทำหน้าที่ดูแลรับใช้ฝ่ายในและจำทูล (ถือนำไป) พระราชสาสน์ ในกรณีของไทย ขุนนางกะเทยมีตำแหน่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเรียกว่า นักเทษ (นักเทศ) รับราชการฝ่ายขวา ขันทีรับราชการฝ่ายซ้าย ในทำเนียบพระไอยการลักษณะนาพลเรือน กฎมณเทียรบาล และในเอกสารอื่น มีข้อมูลกระเส็นกระสายเรื่องนักเทษขันที กฎมณเทียรบาล มีความกล่าวว่า
[1] ถ้าเสดจ์ขนานหน้าวังตำรวจในลง ถ้าเสดจ์ในสระแก้วหฤๅไทยราชภักดีลง ถ้าเสดจ์หนไนมกอกน้ำออกมา ขุนสนมแลกันยุบาดราชเสวก แลมหาดเลกนักเทษลง ถ้าเสดจ์หนเรือแลประเทียบฝ่ายในลงก็ดี แต่นักเทษขันทีแลทนายเรือลง  (อักขรวิธีต้นฉบับ)
 ข้อความใน [1] กำหนดหน้าที่นักเทษขันทีอยู่ในกลุ่มผู้อารักขาความปลอดภัยและรับใช้เจ้านายฝ่ายในขณะเมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จหนเรือ (ทางน้ำ)
[2] อนึ่ง พระราชกุมารพระราชบุตรี นักเทษขันทีจ่าในเรือนค่อมเตี้ย ออกไปนอกขนอนนอกด่านผิดอายการ (อักขรวิธีต้นฉบับ)
บทบัญญัติในวังหลวง ถือว่านักเทษขันทีเป็นข้าราชการฝ่ายใน จะออกไปเขตนอกเมือง (พ้นขนอนและด่าน) ไม่ได้ เหตุผลคือ การติดต่อระหว่างคนรับใช้ในวังกับบุคคลภายนอกอาจเป็นภัยต่อองค์พระมหากษัตริย์
[3] ฝ่ายเฉนียงนอก พระศรีมโนราช แลพระศรีอไภย ขุนราซาข่าน ขุนมโน บหลัดทัง 4 นักเทษแลขันที หมื่นศรีเสารักษหมื่นสรรเพช  นายจ่านายกำนัลมหาดเลกเตี้ยค่อม (อักขรวิธีต้นฉบับ)ความในข้อ 3 ระบุถึงกลุ่มข้าทูลละอองฝ่ายใน (ฝ่ายเฉลียงด้านนอก) ซึ่งประกอบไปด้วยนักเทษขันที หัวหน้ามหาดเล็กหลวง และข้ารับใช้ในวัง

         ในที่นี้ได้มีการระบุชื่อข้าราชการฝ่ายนักเทษขันทีคือ (1) พระศรีมโนราช หรือ ออกพระศรีมโนราชภักดีศรีปลัยวัลย์ เจ้ากรมขันที ศักดินา 1000, (2) พระศรีอไภย หรือ ออกพระศรีอภัย[ราชภักดีศรีปลัยวัลย์] เจ้ากรมนักเทษ ศักดินา 1000 (3) ขุนราซาข่าน ซึ่งในทำเนียบพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน กรมวัง เขียนเป็น [ออก]หลวงราชาชานภักดี” (ซึ่งน่าจะผิด ชาน ควรเป็น ข่าน) ศักดินา 500 ปลัดกรม และ (4) ขุนมโน ซึ่งในทำเนียบพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนตรงกับ “[ออก]หลวงศรีมโนราชภัคดีศรีองคเทพรักษาองค ขันที” ศักดินา 600 นามของท่านหลังนี้น่าจะคัดลอกมาผิด และการอ่านแบ่งวรรคตอนในฉบับพิมพ์ก็แยกคำผิด เพราะราชทินนามของท่านน่าจะคู่กันและสอดคล้องกับอีกท่านหนึ่งคือ “[ออก]หลวงเทพชำนาญภักดีศรีเพทรักษาองครักษ [นักเทษ]” ถ้าจะจำลองราชทินนามให้ถูกต้องน่าจะเป็นดังนี้
ออกหลวง ศรีมโนราชภักดี ศรีเทพรักษา              องครักษขันที
ออกหลวง เทพชำนาญภักดี ศรีเทพรักษา              องครักษขันที

         นักเทษขันทีน่าจะมีมากกว่าที่ปรากฏในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้ยกเลิกประเพณีใช้นักเทษขันทีในพระราชวังหลวงแล้ว ผู้ชำระกฎหมายจึงไม่ได้เอาใจใส่หรือเห็นความสำคัญ ในสมัยอยุธยาตอนปลายพบชื่อของขันทีราขารและสังขสุรินทรในกระบวนแห่บรมราชาภิเสกสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ชื่อแรก “ราขาร” นั้นจดผิดจาก “ราชาข่าน” ซึ่งเป็นนามที่ทำให้รำลึกถึงวัฒนธรรมขันทีในราชสำนักของสุลต่านในเปอร์เชียและตุรกี ส่วนสังขสุรินทร์ทำให้นึกถึงหน้าที่เป่าสังข์ในราชสำนักคู่กับนักเทษที่ทำหน้าที่ตีกรับ

         พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนยังให้ชื่อปลัดมรดกกรมขันทีสองท่านคือ ปลัดจ่านุชิตคู่กับปลัดพิพิท (สร้อยราชทินนามเต็มหายไป) เป็นที่น่าสังเกตว่า พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนเก็บรักษาทำเนียบกรมขันทีไว้ แต่ไม่มีทำเนียบเจ้ากรมนักเทษเลย เนื่องจากเราทราบว่า ออกพระศรีอภัยฯ ในกฎมณเทียรบาลมียศและฐานะเท่าเทียมกับออกพระศรีมโนราชฯ เพราะฉะนั้น ท่านจึงน่าที่จะเป็นเจ้ากรมนักเทษ ซึ่งเป็นกรมฝ่ายขวา
 [4] พระราชกุมารสมเดจ์พระอรรคมเหษีเจ้าขวา พระราชบุตรีซ้าย ลูกเธอหลานเธอแม่เจ้าพระสนม ออกเจ้ากำนัลซ้ายนักเทศขวาขันทีซ้าย ……. (อักขรวิธีต้นฉบับ)
ความในข้อ

[4] เกี่ยวข้องกับการพระราชพิธี ”ถวายบังคมสมโพธแม่ หยัวพระพี่” และบอกถึงตำแหน่งเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวของบรรดาฝ่ายใน ซึ่งรวมถึงการทำหน้าที่ของนักเทษและขันทีด้วย
[5] ถ้าขัดพระราชฎีกาสมเดจ์พระอรรคมเหษีใช้พระราชฎีกา สมเดจ์พระชายาแลสมเดจ์หน่อพระพุทธเจ้าใช้พระเสาวนี สมเดจ์พระเจ้าลูกเธอกินเมืองใช้พระสาศน ผู้ใดขัดพระสาศนไหมทวีคูน ถ้าแลมีพระราชฎีกาดำเนีรมีตราขุนจันทราทิตยนำ ถ้าพระราชเสาวนีดำเนีรตราขุนอินทราทิตยนำ ถ้าพระราชฎีกานักเทศ[จำ]ถือไป พระเสาวนี[ขันที] จำถือไป (อักขรวิธีต้นฉบับ)


         เรื่องที่ว่า นักเทษขันทีทำหน้าที่ผู้จำทูลพระราชศาสน์ของพระเจ้าแผ่นดินนั้นปรากฎอยู่ในทุกวัฒนธรรม ทั้งในจีนโบราณ จักรวรรดิไบแซนทีน รวมทั้งพม่าและเวียดนามเพื่อนบ้านของเราด้วย ในกรณีของราชสำนักไทย ความข้างต้นดูก็ทำหน้าที่จำถือคำสั่งเช่นเดียวกัน เพียงแต่เป็นผู้นำพระราชฎีกาของสมเด็จพระอัครมเหสี และพระเสาวนีย์ของพระชายาและสมเด็จพระหน่อพุทธเจ้า ถ้าข้อสันนิษฐานนี้เป็นจริง หมายความว่า พระมหากษัตริย์ไทยสมัยโบราณไม่ทรงเปิดโอกาสให้นักเทษขันทีเข้ายุ่งเกี่ยวกับราชาการฝ่ายหน้าเลย 
[6] งานเลี้ยงดอกไม้วงมงคล สมเดจ์พระอรรคมเหษีเจ้าแต่งกระแจะแป้งดอกไม้ พระภรรยาเจ้าแต่งหมาก พระราชกุมารพระราชนัดดาแม่หยัวเจ้าเมืองแต่หมาก ลูกขุนสนองพระโอษฐแต่งสำรับ พระราชกุมาร พิเศศแต่งสำรับนา 10000 นา 5000 ท้าวอินทกัลยาแต่งสำรับลูกขุน ท้าวยศมลเฑียรแต่งเข้าแผง พลเสนาแต่งเล่าสุรินสุราแต่ง ครั้นรุ่งแล้ว 2 นาลิกา แลเสดจ์สรงธรงพระสุคนธ 3 นาลิกา ธรงพระภูษาเสดจ์หอพระ พระราชกุมารพระราชนัดดาฝ่ายนอกฝ่ายใน ถวายบังคมในหอพระ พระราชกุมารพระราชบุตรีสมเดจ์พระภรรยาทัง 4 ทูลพระบาท 4 นาลิกา เสดจ์มังคลาภิเศกนักเทศตีกรับ (อักขรวิธีต้นฉบับ)
ความที่ยกมาข้างบนนี้แสดงให้เห็นว่า บทบาทของนักเทษและขันทีในราชสำนักไทยมีอยุ่จำกัดในฐานะผู้รับใช้ฝ่ายในและในการพิธีหลวงเท่านั้น ชื่อเรียกนักเทษขันที ยังบอกเป็นนัยว่า เป็นกลุ่มคนที่มาจากภายนอกโดยเฉพาะจากอินเดียมากกว่าทางจีน ทั้งนี้อาจขัดกับความรับรู้ของคนไทยสมัยใหม่ที่ทราบเรื่องราวขันทีผ่านเรื่องจีนซึ่งมาในรูปของสื่อต่างๆ ทั้งภาพยนตร์ และวรรณกรรม

 

 

หมายเลขบันทึก: 151017เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2007 09:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 20:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ไม่มีความคิดเห็น

บทความดีค่ะ มีประโยชน์ กำลังรายงานเอยู่พอดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท