ประเมินวิทยฐานะอะไร อย่างไร


ครูทั่วประเทศตื่นตัวขอรับการประเมินวิทยฐานะ

การประชุม อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา

วันนี้เวลา 10.00 น. ผมในฐานะกรรมการคุรุสภาได้เข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1 ณ ห้องประชุมมงคลวราจารย์  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1  ซึ่งดูแลรับผิดชอบครู ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  8  อำเภอ ได้แก่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา อุทัย วังน้อย นครหลวง ภาชี บางปะหัน บ้านแพรก และท่าเรือ 

ในการประชุมครั้งนี้ผมรู้สึกชื่นชมที่คณะครู ผู้บริหาร และศึกษานิเทศก์มีความตื่นตัวยื่นความจำนงขอรับการประเมินวิทยฐานะ "ชำนาญการ" จำนวนมาก  จำแนกเป็น ครู 2386 คน รองผู้อำนวยการสถานศึกษา 42 คน ผู้อำนวยการสถานศึกษา 45 คน ศึกษานิเทศก์ 30 คน

สำหรับเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะ มี 3 ด้าน ดังนี้

ด้านที่ 1 วินัย คุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพ  มีแบบประเมิน ทั้งหมด 5 ตอน จำนวน 100 ข้อๆละ 1 คะแนน รวม 100 คะแนน ประกอบด้วย
ตอนที่ 1 พฤติกรรมการรักษาระเบียบวินัย
ตอนที่ 2 ความรักและศรัทธาในวิชาชีพ
ตอนที่ 3 ความรับผิดชอบในวิชาชีพ
ตอนที่ 4 การประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี
ตอนที่ 5 การดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม

ด้านที่ 2 คุณภาพการปฏิบัติงาน (สมรรถนะ) ประกอบด้วยสมรรถนะหลัก 4 สมรรถนะ และสมรรถนะประจำสายงาน 3 สมรรถนะ ดังนี้

ก. สมรรถนะหลัก ได้แก่
สมรรถนะที่ 1 การมุ่งผลสัมฤทธิ์ : ความมุ่งมั่นในการปฏิบัติงานในหน้าที่ให้มีคุณภาพ ถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และมีการพัฒนาผลงานให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง มีตัวบ่งชี้ คือ
1.1 คุณภาพของงานด้านความถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์
1.2 ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การนำนวัตกรรม/ทางเลือกใหม่ๆมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของงาน
1.3 ความมุ่งมั่นในการพัฒนาผลงานอย่างต่อเนื่อง
สมรรถนะที่ 2 การบริการที่ดี : ความตั้งใจในการปรับปรุงระบบบริการให้มีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการ มีตัวบ่งชี้ คือ
2.1 การปรับปรุงระบบบริการ
2.2 ความพึงพอใจของผู้รับบริการหรือผู้เกี่ยวข้อง
สมรรถนะที่ 3 การพัฒนาตนเอง : การศึกษา ค้นคว้า หาความรู้ ติดตามองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆในวงวิชาการและวิชาชีพเพื่อพัฒนาตนเองและพัฒนางาน มีตัวบ่งชี้ คือ
3.1 การศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยการเข้าประชุมทางวิชาการ อบรม สัมมนา หรือวิธีการอื่นๆ
3.2 การรวบรวมและประมวลความรู้ในการพัฒนาองค์กรและวิชาชีพ
3.3 การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านวิชาการในหมู่เพื่อนร่วมงาน
สมรรถนะที่ 4 การทำงานเป็นทีม : การให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือสนับสนุน เสริมแรง ให้กำลังใจแก่เพื่อนร่วมงาน การปรับตัวเข้ากับบุคคลอื่น หรือ แสดงบทบาทผู้นำ ผู้ตามได้อย่างเหมาะสม มีตัวบ่งชี้ คือ
4.1 การให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือ สนับสนุนเพื่อนร่วมงาน
4.2 การแสดงบทบาทผู้นำหรือผู้ตามได้อย่างเหมาะสม
4.3 การปรับตัวเข้ากับสถานการณ์และกลุ่มคนที่หลากหลาย
4.4 การเสริมแรง ให้กำลังใจ ส่งเสริม สนับสนุนเพื่อนร่วมงานในการปฏิบัติงาน

ข. สมรรถนะประจำสายงาน ได้แก่

5. การออกแบบการเรียนรู้ มีตัวบ่งชี้ คือ
5.1 ความรู้ ความเข้าใจเรื่องการออกแบบการเรียนรู้
5.2 ความสามารถในการออกแบบการเรียนรู้
5.3 การนำผลการออกแบบการเรียนรู้ไปใช้ในการจัดการเรียนรู้
6. การพัฒนาผู้เรียน มีตัวบ่งชี้ คือ
6.1 การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมให้แก่ผู้เรียน
6.2 การพัฒนาทักษะชีวิต สุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้เรียน
6.3 การปลูกฝังการเป็นประชาธิปไตยและความภาคภูมิใจในความเป็นไทยให้กับผู้เรียน
6.4 การจัดระบบดูแลช่วยเหลือผู้เรียน
7. การบริหารจัดการชั้นเรียน มีตัวบ่งชี้ คือ
7.1 การจัดบรรยากาศ การจัดการเรียนการสอน
7.2 การจัดทำข้อมูลสารสนเทศและเอกสารประจำชั้นเรียน/ประจำวิชา
7.3 การกำกับ ดูแลชั้นเรียน/ประจำวิชา

เกณฑ์การให้คะแนนระดับตัวบ่งชี้ ที่เป็นเกณฑ์ทั่วไปได้กำหนดความหมายคะแนน ดังนี้

4 - ดีมาก        หมายถึง ปรากฎคุณลักษณะเด่นชัดยิ่ง มีลักษณะหลากหลาย หรือสะท้อนคุณภาพในระดับเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง บรรลุผลสัมฤทธิ์เกือบทุกครั้งหรือตั้งแต่ร้อยละ 80 ขึ้นไปของเป้าหมายงานอย่างมีความต่อเนื่องในเชิงคุณภาพและเป็นแบบอย่างได้ โดยปรากฏร่องรอยคุณภาพจากแหล่งต่างๆอย่างชัดเจนที่สุด

3 - ดี              หมายถึง ปรากฎคุณลักษณะเด่นชัด มีลักษณะค่อนข้างหลากหลาย หรือสะท้อนคุณภาพในระดับเป็นที่ยอมรับเป็นส่วนใหญ่ หรือบรรลุผลสัมฤทธิ์ ร้อยละ 70-79 ของเป้าหมายงานอย่างมีความต่อเนื่องในเชิงคุณภาพค่อนข้างมากโดยปรากฏร่องรอยคุณภาพจากแหล่งต่างๆอย่างชัดเจน

2 - พอใช้        หมายถึง ปรากฎคุณลักษณะเด่นพอสมควร มีลักษณะค่อนข้างหลากหลาย หรือสะท้อนคุณภาพในระดับเป็นที่ยอมรับปานกลางหรือบรรลุผลสัมฤทธิ์ ร้อยละ 60-69 ของเป้าหมายงานโดยปรากฏร่องรอยคุณภาพบ้างพอสมควร

1 - ควรปรับปรุง       หมายถึง ปรากฎคุณลักษณะหรือปรากฏพฤติกรรมบ่งชี้ไม่ชัดเจน หรือเกิดขึ้นน้อยหรือบรรลุผลสัมฤทธิ์ ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของเป้าหมายที่กำหนด

หมายเหตุ   การประเมินวิทยฐานะ มีกรรมการประเมิน 3 คน ซึ่งมาจากผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ที่มีวิทยฐานะที่ไม่ต่ำกว่าผู้ถูกประเมิน  โดยมีเกณฑ์การผ่านดังนี้

1) กรณีขอให้มีวิทยฐานะชำนาญการ ต้องได้คะแนนเฉลี่ยจากกรรมการ 3 คน ไม่ต่ำกว่า 2.60 ในระบบคะแนนเต็ม 4.00 หรือไม่ต่ำกว่าร้อยละ 65 ของคะแนนเต็มจึงจะถือว่าผ่าน

2) กรณีขอให้มีวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ต้องได้คะแนนเฉลี่ยจากกรรมการ 3 คน ไม่ต่ำกว่า 2.80 ในระบบคะแนนเต็ม 4.00 หรือไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ของคะแนนเต็มจึงจะถือว่าผ่าน

3) กรณีขอให้มีวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ต้องได้คะแนนเฉลี่ยจากกรรมการ 3 คน ไม่ต่ำกว่า 3.00ในระบบคะแนนเต็ม 4.00 หรือไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 ของคะแนนเต็มจึงจะถือว่าผ่าน

4) กรณีขอให้มีวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ ต้องได้คะแนนเฉลี่ยจากกรรมการ 3 คน ไม่ต่ำกว่า 3.20ในระบบคะแนนเต็ม 4.00 หรือไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของคะแนนเต็มจึงจะถือว่าผ่าน

ด้านที่ 3 ผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่
  เช่น
- การประเมินผลการปฏิบัติงาน สายงานการสอน
- การประเมินผลการปฏิบัติงาน สายงานบริหารสถานศึกษา
- การประเมินผลการปฏิบัติงาน สายงานบริหารการศึกษา
- การประเมินผลการปฏิบัติงาน สายงานนิเทศการศึกษา
- การประเมินผลงานทางวิชาการ* ทุกวิทยฐานะ ทุกสายงาน

*ผลงานทางวิชาการ  หมายถึง เอกสารหรือหลักฐานที่จัดทำขึ้นจากความรู้ ความสามารถ ทักษะและประสบการณ์ของผู้จัดทำ โดยการศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ สังเคราะห์ วิจัย และได้นำไปใช้ในการแก้ปัญหาหรือพัฒนางานในหน้าที่จนเกิดผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาและเป็นประโยชน์ต่อความก้าวหน้าทางวิชาการ

ประเภทผลงานทางวิชาการ แบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้
1) ผลงาน งานแต่ง เรียบเรียง งานแปล หรือเขียนบทความทางวิชาการ ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่มาแล้ว และผลงานดังกล่าวสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
2) ผลงานวิจัย ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ได้รับการพิมพ์เผยแพร่มาแล้ว และผลงานดังกล่าวสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
3) ผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น เช่น
    3.1 การประเมินงานหรือการประเมินโครงการที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่
    3.2 สื่อ นวัตกรรมทางการศึกษา เช่น ผลงานด้านการจัดทำสื่อการเรียนการสอน ผลงานด้านการคิดพัฒนารูปแบบนวัตกรรมที่นำมาใช้ในการปฏิบัติงานทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งอาจจัดทำเป็นเอกสาร หรือ สื่ออิเล็คทรอนิกส์ หรือสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ รวมทั้งเทคนิควิธีการจัดการเรียนรู้อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
    3.3 เอกสารประกอบการปฏิบัติหน้าที่ เป็นเอกสารที่สามารถใช้ประกอบการปฏิบัติหน้าที่ทั้งด้านการเรียนการสอน การบริหารจัดการศึกษา การนิเทศการศึกษา ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานในหน้าที่ให้สูงขึ้น  สำหรับแผนการจัดการเรียนรู้ให้ใช้เป็นเอกสารประกอบการประเมินคุณภาพปฏิบัติงานเท่านั้น มิให้นำมาใช้เสนอเป็นผลงานทางวิชาการ
     ผลงานทางวิชาการที่ผู้ขอมิได้จัดทำแต่ผู้เดียว แต่ผลงานทางวิชาการได้ร่วมจัดทำกับผู้อื่นในรูปคณะทำงานหรือกลุ่ม ให้ชี้แจงให้ชัดเจนว่าผู้ขอมีส่วนร่วมในการจัดทำในส่วนใด ตอนใด หน้าใดบ้าง คิดเป็นร้อยละเท่าไรของผลงานวิชาการแต่ละเล่ม และให้ผู้ร่วมจัดทำทุกรายรับรองพร้อมทั้งระบุว่าผู้ร่วมจัดทำแต่ละรายได้จัดทำส่วนใดบ้าง
     ทั้งนี้ ผลงานทางวิชาการดังกล่าวต้องไม่เป็นผลงานทางวิชาการที่ใช้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อรับปริญญา หรือประกาศนียบัตรใดๆ หรือผลงานทางวิชาการที่เคยใช้เพื่อเลื่อนตำแหน่งหรือเพื่อให้มีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะมาแล้ว

     ท่านคุณครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษาและศึกษานิเทศก์ คงจะมองเห็นแนวทางในการประเมินและหลักเกณฑ์ วิธีการในการประเมินแล้ว  ต่อจากนี้ไปขอให้ท่านเตรียมตัว เตรียมใจให้พร้อมสำหรับการประเมินครั้งนี้  ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกๆท่าน และขอให้เชื่อมั่นในคณะกรรมการประเมินทุกท่าน ซึ่งจะทำหน้าที่ยืนยันผลการปฏิบัติงานของท่านตามสภาพจริง  ส่วนผมเองในฐานะกรรมการคุรุสภาและอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ไม่มีหน้าที่ลงไปประเมินท่านโดยตรง แต่จะดำรงความเป็นกลางทำหน้าที่พิทักษ์รักษาความเป็นธรรมให้กับทุกๆท่านและอนุมัติผลการประเมินเสนอ ก.ค.ศ.ต่อไป   ขอให้ประสบความสุข สำเร็จ สมหวังโดยทั่วหน้ากันครับ

    ปฐมพงศ์  ศุภเลิศ
        10 ก.พ.49




 

 
หมายเลขบันทึก: 15078เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2006 17:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 19:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
ครูมัวแต่ห่วงเรื่องการถ่ายโอนไม่มีเวลาเตรียมการจะผ่านการประเมินหรือเปล่าคะ
การประเมินวิทยฐานะเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้ข้าราชการครูมีการตื่นตัวพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องเพื่อศิษย์ ฉะนั้นในฐานะที่เป็นประชาชนไม่อยากเห็นความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยขอเรียกร้องให้ครูเอกชนได้รับสิทธิ์นี้บ้าง อย่างน้อยก็เป็นขวัญกำลังใจและเป็นหลักประกันในการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพให้กับเด็กไทยทั้งประเทศไม่ใช่หรือครับ
ครูมัวทำผลงานเพื่อเลื่อนวิทยฐานะของคนเอง ทำให้หลายๆคนละทิ้งห้องเรียน หรือสั่งชิ้นงานนักเรียนเพื่อนำมาเป็นผลงานที่ใช้สนับสนุนการเสนอผลงานของตนเองโดยที่นักเรียนต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง บางรายค่าใช้จ่ายเพื่อทำงานตามคำสั่งครูค่อนข้างสูง  ครูส่วนหนึ่งใช้กระดาษ และหมึกพิมพ์ของโรงเรียนจำนวนมาก ทั้งprintเอกสารสีและscanภาพสีเป็นร้อยๆหน้า เพื่อประกอบผลงานด้านต่างๆ เป็นการถูกต้องแล้วหรือ รัฐบาลน่าจะให้ขยับเงินเดือนได้โดยไม่ต้องทำผลงาน จะเป็นการประหยัดเงินวิทยฐานะและครูจะได้สนใจการเรียนการสอนมากกว่านี้
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท