แรมซาร์ไซต์กับการอนุรักษ์ของไทย(1) อันเนื่องมาจากวันพื้นที่ชุมน้ำโลก


อนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ

แรมซาร์ไซต์กับการอนุรักษ์ของไทย(1) อันเนื่องมาจากวันพื้นที่ชุมน้ำโลก

          วันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปีถูกกำหนดให้เป็นวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก นับตั้งแต่อนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติถูกจัดทำขึ้น ณ เมืองแรมซาร์ ประเทศอิหร่านเมื่อปี พ.ศ. 2514
         โดยประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างทยอยเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาฉบับนี้ และประเทศไทยเองก็เข้าร่วมเป็นภาคีในลำดับที่ 110 ซึ่งการเข้าร่วมในครั้งนี้ทำให้ไทยจะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุ สัญญาฯ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย. 2541
         พื้นที่ชุ่มน้ำตามอนุสัญญาแรมซาร์ หมายถึง พื้นที่ลุ่ม พื้นที่ราบลุ่ม พื้นที่ลุ่มชื้นแฉะ พื้นที่ฉ่ำน้ำ มีน้ำท่วมขัง พื้นที่พรุ พื้นที่แหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งที่มีน้ำขังหรือท่วมอยู่ถาวรและชั่วครั้งชั่วคราว ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล ทั้งที่เป็นน้ำจืดน้ำกร่อยและน้ำเค็ม รวมไป ถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเล และพื้นที่ของทะเลในบริเวณซึ่งเมื่อน้ำลดลงต่ำสุดมีความลึกของระดับน้ำไม่เกิน 6 เมตร
         นับตั้งแต่นั้นเพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ พื้นที่ชุ่มน้ำควนขี้เสียน เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จ.พัทลุง จึงถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศเป็นแห่งแรก  ก่อนจะประกาศแรมซาร์ไซต์ตามมาอีก 5 แห่ง เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2544 ได้แก่ พื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง จ.หนองคาย ดอนหอยหลอด จ.สมุทรสง คราม ปากแม่น้ำกระบี่ จ.กระบี่ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย จ.เชียงราย และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเฉลิมกระเกียรติสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พรุโต๊ะแดง) จ.นราธิวาส  และเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2545 ประกาศพื้นที่แรมซาร์อีก 4 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง-ปากแม่น้ำตรัง จ.ตรัง อุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากแม่น้ำกระบุรี-ปากคลองกะเปอร์ จ.ระนอง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี และอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จ.พังงา
         ขณะที่การสำรวจพื้นที่ชุ่มน้ำของไทยโดยสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมในขณะนั้นพบว่า พื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศไทยซึ่งประกอบด้วยป่าชายเลน ป่าพรุ หนอง บึง สนุ่น ทุ่งนา ทะเลสาบ และแม่น้ำ กระจายอยู่ทั่วประเทศมีเนื้อที่รวมทั้งหมดประมาณ 21.36 ล้านไร่ หรือประมาณร้อยละ 6.75 ของพื้นที่ประเทศไทย
         สาเหตุที่ไทยเข้าร่วมเป็นภาคีของอนุสัญญาฉบับนี้ เป็นเพราะพื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านั้นไม่เพียงมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของชุมชนในท้องถิ่นนั้น ๆ เท่านั้น ในระดับประเทศการคงอยู่ของพื้นที่ชุ่มน้ำยังมีผลต่อสภาวะสิ่งแวดล้อมโดยรวมของประเทศอีกด้วย  เป็นทั้งแหล่งน้ำ กักเก็บน้ำ มีบทบาทในการช่วยป้องกันน้ำเค็ม รักษาชายฝั่งทะเล ชะลอการไหลของน้ำ ดักจับตะกอนและธาตุอาหาร อุดมไปด้วยทรัพยากรที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ และเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ  ทว่าพื้นที่เหล่านั้นไม่เพียงกำลังประสบปัญหาทั้งเรื่องการบุกรุกแล้ว พื้นที่ชุ่มน้ำทั้งที่ถูกประกาศให้เป็นแรมซาร์ไซต์ เรื่อยไปจนถึงพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ ระดับประเทศ จนถึงระดับท้องถิ่นกลับไม่มีระบบจัดการที่ถูกต้องและเหมาะสมสำหรับแต่ละพื้นที่ จึงทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีอยู่ลดจำนวนลงเรื่อย ๆ  เพื่อแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมและการสูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวด ล้อม จึงเสนอมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้รับการพิจารณาเห็นชอบเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2543  แต่ปัญหาการบุกรุกและการใช้พื้นที่อย่างผิดวิธีก็ยังมีอยู่ นอกจากขาดความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการร่วมกันอนุรักษ์อย่างแท้จริงแล้ว การที่ไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับการปฏิบัติตามภาคีของอนุสัญญาฯ ฉบับนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้การจัดการกับปัญหาไม่เข้มแข็งพอ  “ปัจจุบันนี้เรามีแต่นโยบายการจัดการแต่ไม่มีกฎหมายรองรับ เราต้องใช้กฎหมายป่าไม้หรือกฎหมายที่ดินเข้ามาบังคับใช้แทน โดยอาศัยหลักการของอนุสัญญาแรมซาร์มาช่วยเท่านั้น ซึ่งจริง ๆ ควรจะมียุทธศาสตร์ของประเทศโดยเฉพาะ” ดร.นวรัตน์ ไกรพานนท์ ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนในพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำโขง ระบุ  กฎหมายที่จะมารองรับการเข้าร่วมเป็นภาคีที่ว่ายังอยู่ในขั้นตอนของการนำเสนอ ขณะที่ประเทศไทยกลับได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำในภูมิภาคนี้ จากการประชุมสมัชชาภาคีครั้งที่ 9 ณ กรุงคัมพารา ประเทศยูกันดาเมื่อ 8-15 พ.ย. 2548

         ที่มา:หนังสือพมพ์เดลินวส์  ฉบับวันที่  7  กุมภาพันธ์  2549

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15068เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2006 16:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 17:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท