AAR การประชุมวิชาการจัดการความรู้ ครั้งที่ 20 (2)


ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการมีความภาคภูมิใจในความรู้ของตนเองมากขึ้น ชาวบ้านได้เรียนรู้ในสิ่งที่อยากเรียนและเป็นอยู่จริงในวิถีชีวิตและวิถีอาชีพของเขาเอง
     เมื่อผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดแนะนำตัวกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ทาง สคส.  จึงได้เชิญวิทยากรนำเสนอประสบการณ์ความสำเร็จในการทำหน้าที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชน  โดยเริ่มแรกเป็นการนำเสนอของ กศน.ชุมพร  โดยคุณสุรีย์  นาคนิยม  (หัวหน้าทีม KM  ของ  กศน. ชุมพร)  ซึ่งอาจารย์สุรีย์  ได้นำเสนอประสบการณ์ความสำเร็จในการยกระดับคุณภาพการปฏิบัติงานของบุคลากรใน กศน. มาเล่าให้ที่ประชุมฟังว่า  บุคลากรของ กศน. ชุมพร มีจำนวนน้อย  และในจำนวนน้อยนี้ก็เป็นลูกจ้างเยอะกว่า   ทำให้เกิดปัญหาความไม่ต่อเนื่องในการทำงาน ได้มีการพูดคุยกันภายในว่า  ทำไมไม่พยายามดึงประสบการณ์ของคนทำงานเหล่านั้นเอาไว้กับองค์กร  ไม่ว่าใครจะต้องลาออกไป  ประสบการณ์หรือความรู้จากการปฏิบัติงานของคนเหล่านั้นก็จะยังอยู่กับองค์กร  ซึ่งจะทำให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงานด้วย  ดังนั้น  ความต้องการร่วมกันหรืออาจจะเรียกว่าเป็นความฝันของ กศน. ชุมพร เลย คือ  การที่เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (LO)  จึงเริ่มที่จะมีการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการความรู้ก่อน  โดยหาความรู้เองจากแหล่งข้อมูลต่างๆ  และจากที่จังหวัดจัดให้  เพราะการจัดการความรู้เป็นตัวชี้วัดหนึ่งของจังหวัด  กศน. ชุมพรก็จะส่งบุคลากรเข้าร่วมกับทางจังหวัดทุกครั้ง   และต่อมาได้นำเครื่องมือการจัดการความรู้มาใช้ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และดึงความรู้ในตัวคนทำงาน  ซึ่งก็คือ  ครู กศน.  มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนและบันทึกเรื่องเล่าประสบการณ์และความรู้จากการทำงานของครู กศน. อยู่ตลอดเวลา  โดยในระยะแรกให้ครู กศน. ลงไปทำงานกับชุมชนในเรื่องของการพัฒนาอาชีพ  ให้ ครู กศน. ไปค้นหาว่าคนไหนหรือชุมชนใดที่มีศักยภาพอะไรและอย่างไรบ้าง  ทำอะไรได้สำเร็จหรือล้มเหลว  เป็นการพยายามให้ครู กศน. ค้นหา How  และ  Why  พร้อมทั้งจดบันทึกการลงชุมชนทุกครั้ง  แรกๆ  ครู กศน.  ก็บ่นว่าทำไมต้องจดบันทึกด้วย  และบันทึกไม่ค่อยดีนัก  จึงมีการตั้งเป็น CoP  หรือชุมชนนักปฏิบัติ “คุณลิขิต”  ขึ้นมา  เพื่อให้ครู กศน. แต่ละคนที่ลงชุมชน ได้เขียนเล่าประสบการณ์การทำงานของตนเอง  มีการฝึกปฏิบัติการเขียนบันทึกเรื่องเล่า ระยะหลังทุกคนเริ่มเข้าใจและสนุกกับการจดบันทึกมากขึ้น  จึงเขียนได้ดีมากขึ้น  ทางจังหวัดมีการประกวดการเขียนเรื่องเล่าจากการทำงานยอดเยี่ยม  กศน.  ก็จะได้รางวัลทุกเดือน  นอกจากนั้น ทาง กศน. มีการทำการประกันคุณภาพด้วย  ข้อมูลหรือประสบการณ์ที่ครู กศน. จดบันทึกไว้ ก็จะนำมาใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี 
     ต่อมาเป็นการนำเสนอของ กศน. แม่ฮ่องสอน  โดย ผอ.สุรพงษ์  ไชยวงศ์  ได้เล่าเรื่องการจัดการศึกษาชุมชนบ้านห้วยปูแกง (ชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาว)  ต.ผาบ่อง  อำเภอเมือง  จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยใช้กระบวนการจัดการความรู้แบบไม่รู้ตัว  ซึ่ง ผอ.สุรพงษ์  เล่าให้ฟังว่า   เมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา  กศน. แม่ฮ่องสอน  ได้เข้าไปจัดศูนย์การเรียน กศน. ที่บ้านห้วยปูแกง  แต่ชาวบ้านไม่ค่อยนำลูกหลานมาเรียน   มีชาวบ้านบางคนส่งลูกหลานเล็กๆ  มาเรียนที่ศูนย์ฯ  บ้าง  เพราะศูนย์ฯ มีการแจกจ่ายนมสดให้กับเด็กเล็ก  แต่เมื่อพ้นช่วงวัย  ชาวบ้านก็ไม่นำเด็กมาที่ศูนย์ฯ อีก  ทำให้การทำงานระหว่างครู กศน. กับชาวบ้านห้วยปูแกงไม่ค่อยราบรื่นและประสบผลตามที่ กศน. คาดหวัง  (โดยระยะเวลา 5-6 ปีที่ไปตั้งศูนย์การเรียน กศน.  ที่ชุมชนบ้านห้วยปูแกง  กศน. แม่ฮ่องสอนใช้ครู กศน. ไป 6 คน)  จึงมีการปรึกษาหารือกันว่า การจัดการศึกษาหรือการจัดการเรียนรู้ให้กับชาวบ้านห้วยปูแกงจะต้องเป็นแบบไหน  หลังจากนั้น จึงมีการตั้งทีมทำงาน เพื่อทำหน้าที่วางแผนในเรื่องนี้  มีการคัดเลือกครูที่เข้าใจภาษาและวัฒนธรรมของชนเผ่าเข้าไปอยู่ในพื้นที่เลย  เพื่อศึกษาสภาพของชาวบ้านและชุมชน  รวมทั้งค้นหาทีมงานที่เป็นคนของชุมชนเข้ามาร่วมทำงานกับครู  กศน.  จึงพบว่า ชาวบ้านของชุมชนบ้านห้วยปูแกง เป็นกลุ่มผู้อพยพที่ด้อยโอกาสทางสังคม มีรายได้ไม่พอเพียง คุณภาพชีวิตค่อนข้างต่ำ ต้องพึ่งพิงสังคมภายนอก และยังมีปัญหาการใช้ทรัพยากรไม่คุ้มค่าอีกด้วย ทั้งๆ ที่สภาพโดยทั่วไปในบริเวณที่ตั้งของชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดที่มีความสวยงาม  เป็นธรรมชาติ การเดินทางก็สะดวก  อีกทั้งยังมีความเป็นเอกลักษณ์ด้านชนเผ่า  ที่สำคัญชุมชนมีพลังผลักดันที่จะพัฒนาชุมชนของตนเองได้ 
เมื่อได้ทราบถึงสภาพโดยรวมของชุมชน  ปัญหา  ข้อจำกัด ข้อเด่นของชุมชน  รวมทั้งมีทีมทำงานที่ประกอบไปด้วย ครู กศน. และตัวแทนชาวบ้าน  จึงได้เริ่มจัดการเรียนรู้ของชุมชนนี้ใหม่  โดยเน้นสร้างกระบวนการ “คิดเป็น”  แก่ชุมชน  มีการจัดเวทีประชาคมเพื่อวิเคราะห์ ปัญหาชุมชน  จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชุมชน  จึงสรุปได้ว่า ชุมชนจะทำการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  หรือ  หมู่บ้าน Home Stay  และได้มีการตั้งคณะกรรมการ (ประมาณ 20 คน) แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบกันไป  เช่น  กลุ่มบริหาร,  กลุ่มบริการที่พัก, กลุ่มบริการอาหารและเครื่องดื่ม, กลุ่มพัฒนาสิ่งแวดล้อม, กลุ่มวัฒนธรรมและการแสดง  และกลุ่มรักษาความปลอดภัย
     โดยครู กศน. ทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน  ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ นอกจากมีการให้ความรู้และทักษะบางอย่างแล้ว  ยังมีการพาไปศึกษาดูงานที่ชุมชนอื่นๆ  ด้วย  มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนในชุมชนด้วยกันเอง  มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของสมาชิกกลุ่มต่างๆ  มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อหาแนวทางการบริหารจัดการกิจกรรมของชุมชนเอง จนปัจจุบันหมู่บ้าน Home Stay ที่บ้านห้วยปูแกง  ได้เริ่มเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวบ้างแล้ว 
     หลังจากนั้น  กศน. นครศรีธรรมราช  โดย อาจารย์จำนง  หนูนิล  นำเสนอประสบการณ์การนำ KM มาใช้ในการพัฒนาและส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้อาชีพชาวบ้าน อ.จำนง  เล่าว่า เริ่มแรกไม่รู้ว่า KM  คืออะไร  แต่ต้องทำ KM  เพราะทางจังหวัดแจ้งว่าต้องมีการทำ KM  ก็มานั่งคิดว่า ในฐานะครู กศน. เราจะนำ KM  มาช่วยในงานของเราได้อย่างไร  จะมายึดโยงกับอาชีพจริงๆ ของชาวบ้านได้อย่างไร  ซึ่งปัญหาในการส่งเสริมการเรียนรู้อาชีพชาวบ้านมีมากมาย  เช่น  เนื้อหาหลักสูตร ไม่หลากหลาย ไม่ตรงกับความต้องการ, วิธีเรียนไม่หลากหลาย ไม่เร้าใจให้อยากเรียน, ตอบสนองความต้องการชาวบ้านได้ช้า ไม่ตรงกับช่วงระยะเวลาที่ต้องการ, ชาวบ้านซึ่งเป็นผู้เรียนในหลักสูตรไม่มีส่วนร่วม ไม่มีส่วนกำหนดมากนัก, มีการใช้งบประมาณอย่างไม่มีประสิทธิภาพ สิ้นเปลือง, ชาวบ้านพึ่งพาตนเอง สร้างชุมชนเข้มแข็งได้น้อย, ชาวบ้านไม่ได้มีโอกาสสร้างองค์ความรู้ที่ตนเองต้องการและจำเป็นต้องใช้, ไม่มีร่องรอยผลการเรียนรู้เชิงประจักษ์ปรากฏให้เห็น และปัญหาที่สำคัญที่สุด คือ เมื่อจบโครงการต่างคนต่างแยกย้ายไปคนละทาง  ครูไปทาง ผู้เรียนไปทาง  ทำให้การอบรมนั้น ไม่ได้นำไปใช้จริงในวิถีอาชีพของชาวบ้าน  เป็นต้น 
     เมื่อได้รับรู้ถึงปัญหาดังกล่าวแล้ว  อ.จำนง  จึงได้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้อาชีพของชาวบ้านด้วยการทำ “โครงงานการเรียนรู้กลุ่มอาชีพ”  มาใช้  โดยให้แต่ละกลุ่มมีการตั้งวงการเรียนรู้ของตนเองตามความสนใจของกลุ่ม  ค้นหาสำรวจทุนความรู้เดิมที่แต่ละคนในกลุ่มหรือในชุมชนมี  นำมาพูดคุยแลกเปลี่ยนร่วมกันในกลุ่ม  และให้แต่ละกลุ่มหรือแต่ละคนมีการบันทึกผลการเรียนรู้ของผู้เรียนไว้ด้วย  ซึ่งเป็นการใช้กระบวนการกลุ่มเป็นตัวขับเคลื่อนกิจกรรมของการฝึกอบรมอาชีพ โดยครู กศน. ทำหน้าที่ส่งเสริมกระบวนการนำความรู้ไปใช้, ร่วมกับผู้เรียนออกแบบกิจกรรม วิธีการเรียนรู้, ร่วมเรียนรู้และปฏิบัติกิจกรรม ปรับปรุงการเรียนรู้, บันทึกหลักฐานร่องรอยการเรียนรู้, สังเคราะห์ความรู้ และถอดบทเรียน
     จนในที่สุดจึงเกิดเป็น กลุ่มพัฒนาอาชีพ ขึ้นมากมายหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มปลูกหญ้าพืชอาหารสัตว์, กลุ่มทำเครื่องแกง, กลุ่มทำชาสมุนไพร, การทำเครื่องเงิน, กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์มันเทศ, กลุ่มปุ๋ยหมัก, กลุ่มทำผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก, กลุ่มทำผลิตภัณฑ์น้ำยาทำความสะอาด, กลุ่มทำดอกไม้ประดิษฐ์, กลุ่มเลี้ยงโคขุน, กลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ, กลุ่มทำกะปิ, กลุ่มปลูกขิงและทำน้ำขิง, กลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  เป็นต้น
โดยทาง ครู กศน.  ได้ดำเนินการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้อาชีพแก่กลุ่มพัฒนาอาชีพดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง  และมีผลักดันให้เกิดเป็นเครือข่ายกลุ่มพัฒนาอาชีพ 4 เครือข่าย  คือ
1.      เครือข่ายกลุ่มทำปุ๋ยหมักและการเพาะปลูก
2.      เครือข่ายการเลี้ยงโคและการปศุสัตว์
3.      เครือข่ายการทำผลิตภัณฑ์ผ้าและศิลปะประดิษฐ์
4.      เครือข่ายการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร
     ผลจากการดำเนินงานตามแนวทางเช่นนี้ของ  กศน. นครศรีธรรมราช พบว่า  ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการมีความภาคภูมิใจในความรู้ของตนเองมากขึ้น  ชาวบ้านได้เรียนรู้ในสิ่งที่อยากเรียนและเป็นอยู่จริงในวิถีชีวิตและวิถีอาชีพของเขาเอง 
 
     และสุดท้าย คือ กศน. อุบลราชธานี นำเสนอโดย  ผอ.นิคม  ทองพิทักษ์  ได้เล่ากิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตในรูปแบบต่างๆ เช่น  การทำห้องเรียนคอมพิวเตอร์เคลื่อนที่, ห้องสมุดประชาชนที่เปิดทำการ 365 วัน ตั้งแต่เวลา 07.00-20.00  น.  มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของห้องสมุดให้ทันสมัย  พัฒนาคุณภาพการให้บริการของเจ้าหน้าที่ที่คอยอำนวยความสะดวกให้การศึกษาเรียนรู้อย่างเต็มใจ, กิจกรรมห้องสมุดสุดเขตประเทศไทย    โดยเป็นกิจกรรมที่มีความหลากหลายรูปแบบหลากหลายวิธีการและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญเป็นการบริการเชิงรุก  คือ ไม่ได้รอให้ประชาชนมาเข้าห้องสมุด  แต่เป็นการนำห้องสมุดออกไปให้สถานที่ต่างๆ  เพื่อให้ประชาชนมีความสะดวกมากขึ้น  คือ ห้องสมุดล้อเหล็ก  จัดให้มีชั้นวางเพื่อบริการเอกสาร หนังสือ วารสาร และหนังสือพิมพ์ต่างๆ  ในบริเวณสถานีรถไฟและบนโบกี้รถไฟ  และ ครูเดี๋ยวเดียว  เป็นกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อเสริมอาชีพและทักษะชีวิตต่างๆ  บริเวณสถานีรถไฟ  ให้กับประชาชนหรือผู้โดยสารที่มาใช้บริการที่สถานีรถไฟ  เป็นต้น 
หมายเลขบันทึก: 15045เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2006 14:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012 17:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท