เล่าเรื่อง "วิชากรมส่งสริมการเกษตร"


"การวิจัยชุมชน" "วิชากรมส่งสริมการเกษตร" "การทำงานกับชาวบ้าน" "การสอนงาน" "นักจัดกระบวนการเรียนรู้"

เล่าเรื่อง "วิชากรมส่งสริมการเกษตร"

 

   ได้มีโอกาสสนทนากับผู้บริหารของหน่วยงานท่านหนึ่ง  ซึ่งปัจจุบันท่านเป็นผู้อำนวยการสำนัก  (ระดับ 9) ของหน่วยงานส่งเสริมการเกษตรที่เป็นทั้งนักปฏิบัติ  นักวิชาการ และนักบริหาร เป็นบุคลากรของหน่วยงานที่เติบโตและมีชื่อเสียงจากผลงาน "PM"  (Performance  M.)

   โดยเริ่มแรกได้เปิดประเด็นการสนทนากึ่งสัมภาษณ์ว่า "จากการทำงานและประสบการณ์ที่ผ่านมาที่เริ่มตั้งแต่ท่านบรรจุเป็นข้าราชการจนถึงปัจจุบันนั้น  ในความคิดเห็นของท่าน...ท่านคิดว่า...ตกลงแล้ว...วิชากรมส่งเสริมการเกษตร ควรจะมีเรื่องอะไรบ้างที่เราควรจะต้องเรียนรู้เพื่อใช้ในการทำงานกับองค์กรแห่งนี้ให้บรรลุผล"

   ซึ่งผลสรุปของข้อมูลที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับ "การทำงานส่งเสริมการเกษตรกับชุมชน" ในปัจจุบันนั้นการเรียนรู้ของเจ้าหน้าที่และบุคลากรจะประกอบด้วยเนื้อหาสาระ  8 เรื่อง คือ

    เรื่องที่ 1  หลักการส่งเสริมการเกษตร  ซึ่งเป็นเนื้อหาเรื่องแรกที่เจ้าหน้าที่ทุกคนในหน่วยงานแห่งนี้จำเป็นจะต้องเรียนรู้และเข้าใจเพราะเป็น "อาชีพหลัก" โดยเฉพาะ  "ต้องเรียนรู้การทำงานกับชาวบ้าน  การประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ และวิธีการที่จะทำให้หน่วยงานอื่น ๆ รับรู้การทำงานของเรา"  โดยพัฒนาตนเองทางด้านวิธีคิด (การวิเคราะห์ชุมชน)  การทำงานที่ทำให้ชาวบ้านเกิดความศรัทธา  และการเป็นนักส่งเสริมฯที่ดี  ในปัจจุบันท่านลองเปรียบเทียบดูซิว่า "ท่านทำหน้าที่ของนักส่งเสริมฯ น้อยไปหรือเปล่า...จึงทำให้ชาวบ้านเขาขาดความรู้สึกที่ดี ๆ กับท่าน"

     เรื่องที่ 2  เรียนรู้เกี่ยวกับการทำแผน  เป็นเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการทำแผนระดับต่าง ๆ เช่น   การทำแผนชุมชน  การทำแผนปฏิบัติงาน  และการทำแผนงานโครงการ เป็นต้น หรือกล่าวได้ว่าเป็น "องค์รวมของความรู้ทางด้านแผน" ทั้งหมด ที่ท่านจะต้องรู้ เข้าใจ และทำเป็น  โดยเฉพาะ "การจัดทำเวที" ซึ่งเราอ่อนในเรื่องนี้กันมาก จึงต้องฝึกฝนตนเองให้มีประสบการณ์กันอย่างจริง ๆ จัง ๆ เพราะเมื่อลองประเมินผลดูแล้วในตอนนี้พบว่า  คนที่ทำแผนชุมชนเป็นมีน้อยที่สุด (ประมาณ 2-3 คน/จังหวัด) คนที่สักแต่ทำแผนได้มีในระดับมากที่สุด  และคนที่ทำแผนไม่เป็นมีค่อนข้างมาก  หรือ ถ้าจะแบ่งคนในการทำงานในเรื่องดังกล่าวก็จะแบ่งเป็นคน 3 กลุ่ม คือ     กลุ่มที่ 1 คนที่สนใจทำและโน้มน้าวเป็น มีประมาณ 10 %  กลุ่มที่ 2 คนที่สนใจทำแต่โน้มน้าว  ไม่เป็น มีประมาณ 50 %  และ กลุ่มที่ 3 โดดร่มหรือทำไม่เป็น มีประมาณ 40 %  ตัวอย่างเช่น การทำงานกับชาวบ้านโดยใช้วิธีการ "โรงเรียนเกษตรกร" จะต้องใช้กระบวนการดังกล่าวกัน อย่างจริง ๆ ทำกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ชั่วครั้งชั่วคราว  เป็นนักปฏิบัติในชีวิตจริงที่มีการพัฒนาและ ปรับปรุง  ดังนั้น วิธีการพัฒนาหรือฝึกอบรมจะต้องทำกันอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นเรื่องที่ยากมาก  และที่ผ่านมาเราอยู่กับชาวบ้านได้เพราะอาศัย "ความใกล้ชิด...มีโครงการไปให้...คุ้นเคยกัน" ซึ่งจะขัดกับหลักการและวิธีคิดที่ต้องการให้ "เกษตรกรพึ่งตนเองได้"

     เรื่องที่ 3  กระบวนการเรียนรู้  การฝึกตนเองให้เป็น "นักจัดกระบวนการเรียนรู้" ควรจะทำเป็นปกติวิสัย ทำอย่างต่อเนื่อง และทำเป็นประจำ ไม่ต้องรอให้ใครสั่ง ที่เห็นการทำงานส่งเสริมในปัจจุบันมักจะเป็นลักษณะของการทำงานเป็นโครงการและยังคิดงานกันเป็นโครงการ  ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ก็ถือว่า "ยังไม่เข้าใจงาน....กระบวนการเรียนรู้" ที่ชัดเจนนั่นเอง

     เรื่องที่ 4  การเป็นนักวิจัย  ปัจจุบันโลกทัศน์ได้เกิดการปรับเปลี่ยน สภาพแวดล้อมระหว่างอดีตกับปัจจุบันในการเป็นนักส่งเสริมกับชาวบ้านก็เลยต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย โดยเฉพาะ การทำบทบาทนักพัฒนากับเกษตรกรที่เจ้าหน้าที่จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับ "การวิจัยชุมชน" เพราะองค์กรจะอยู่รอดได้ถ้าเรา (เจ้าหน้าที่) ทำงานส่งเสริมโดยใช้วิธีวิจัย 

       โดยเริ่มแรกต้องฝึกตนเองให้ลองทำวิจัยแบบง่าย ๆ ฝึกเขียนทีละบท ๆ ทำงานเป็นตัวอย่างหรือให้อยู่ในเนื้องานของตนเองจึงจะทำให้งานส่งเสริมการเกษตรมีคุณค่าและมีประโยชน์  เพราะที่ผ่านมาจากการทำผลงานวิชาการเพื่อปรับซี จะเห็นได้ว่า "เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ยังเขียนกัน   ไม่เป็น"  นอกจากนี้องค์กรก็ยังใช้ผลงานวิจัยไม่ค่อยเป็น "ทำอย่างไรให้นำผลงานวิจัยด้าน      ส่งเสริมการเกษตรมาตีแผ่ให้สาธารณชนรับรู้และรับทราบได้" เช่น วิจัยทางสังคม และ การจัดหมวดหมู่มีอะไรบ้าง เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้กรมส่งเสริมการเกษตรมีผลงานวิจัยมากมายที่เป็นของ    ตัวเอง  ถ้าได้มีการจัดการในเรื่องดังกล่าวขึ้นมาก็จะทำให้เกิดการเรียนรู้หรือเกิดกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นของกรม "เป็นองค์ความรู้ ที่เป็นทางลัด" เพื่อการพัฒนาบุคลากรและการทำงานได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม 

       ในบางครั้งบุคลากรที่เกษียณอายุต่างมีองค์ความรู้ที่สั่งสมมาเกือบทุกคน  จึงเป็นไปได้มั้ย..ที่จะดึงรุ่นพี่เหล่านั้นมา "เล่าประสบการณ์ในการทำงานให้รุ่นน้องฟัง" เพื่อเป็นตัวอย่างและเป็นการถ่ายทอดความรู้จากพี่สู่น้องหรือให้รุ่นหลังได้ศึกษา เรียกว่า "การสอนงาน"  จากประสบการณ์และการปฏิบัติจริง เช่น การแก้ไขปัญหาในเรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้ประสพมาในตอนนั้น  วิธีการบริหารสำนักงาน  และ วิธีการเข้าไปทำงานกับชาวบ้าน เป็นต้น เป็นเรื่องที่ตนเองได้ปฏิบัติหรือได้ไปสังเกตการณ์แล้วนำมาเล่าให้ฟังก็ได้  ซึ่งจะทำให้ย่นระยะเวลาในการพัฒนาคนได้มาก และเป็นการสร้างความตื่นตัวได้ด้วย 

       ถ้าจะมองไปที่จุดอ่อนของหน่วยงานจะเห็นได้ว่า ในตอนนี้ "คน" ต่างมีความต้องการไม่   สิ้นสุดและไม่ทำงาน  เช่น เมื่อได้ซี 6 แล้วก็ยังไม่ค่อยทำงานโดยอ้างว่า "ไม่มีกำลังใจทำงานจะเอาซี 7"  แล้วค่อยทำงานกัน เป็นต้น

     เรื่องที่ 5  เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านส่งเสริมการเกษตร โดยพัฒนาตนเองให้เป็นผู้เชี่ยวชาญหรือชำนาญการในงานที่เป็นภารกิจหน้าที่ขององค์กรให้ได้  ติดอาวุธให้ทำงานมีประสิทธิภาพขึ้น เช่น นำ Computer เข้ามาใช้จัดการงาน เป็นต้น จึงจะต้องมีการปรับเปลี่ยนที่นำ "คนเก่ามาถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับคนใหม่" ดังนั้น คนจะต้องมีคุณภาพเพิ่มขึ้น และทำงานเป็นนักประสาน

     เรื่องที่ 6  การเพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตร   ถ้านักส่งเสริมฯ มีความสามารถในการคิดและทำงานได้หลายชั้นหรือหลายขั้นงานก็จะทำให้เกษตรกรมีความมั่นคงทางด้านรายได้  ทั้งนี้ถ้าเราทำไม่เป็นก็จะต้องรู้จักไขว่คว้าและขวนขวายเพื่อพัฒนาตนเองทำให้เป็นให้ได้

     เรื่องที่ 7  การสรุปรายงานและผลงาน  โดยเจ้าหน้าที่จะต้องฝึกทำในเรื่องนี้ให้มาก   เพราะเป็นจุดอ่อน  เช่น ให้เอกสารไปอ่านแล้วลองสรุปมาให้ได้....ที่สรุปอย่างได้เรื่องได้ราว   โดยเฉพาะ 1) รู้จักการจัดลำดับเรื่อง เพราะส่วนใหญ่มองแบบภาพกว้าง ๆ จัดลำดับเรื่องราว     ไม่เป็น  2)  ให้รู้จักจับประเด็นของเนื้อหาให้เป็น โดยเฉพาะ  highly ของเนื้อเรื่องทั้งหมดคืออะไร?  หรือ ที่ประชุมต้องการอะไร? หรือ ตกลงแล้วให้ทำอะไรบ้าง?

     เรื่องที่ 8  การตลาด  เป็นเรื่องที่ยากแต่นักส่งเสริมก็ต้องเรียนรู้ในเรื่องนี้เช่นกัน เพราะภาวะปัจจุบันกำลังบีบเร้าให้เราต้องรู้และเราต้องทำ  โดยให้ศึกษาและดูจากคนที่ทำสำเร็จ  หรือถ้าทำเรื่องตลาดอยู่แล้วก็ให้คนมาเล่าหรือมาพูดให้ฟังให้รู้จัก "การประสาน" กับงานที่เราต้องรับผิดชอบ  ซึ่งสิ่งนี้มาจากการเรียนรู้จากปัญหาที่เกิดขึ้นกับกรมส่งเสริมการเกษตรในการทำงานส่งเสริมกับชาวบ้านว่า "ส่งเสริมแล้วจะเอาไปขายที่ไหน...."  ดังนั้น เราจึงต้องทำงานให้ครบวงจร

     จากการสนทนาที่เกิดขึ้นทำไห้เกิดข้อสรุปได้ว่า "วิชากรมส่งเสริมการเกษตร" ที่ควรนำ    มาใช้ในการพัฒนาเจ้าหน้าที่ที่เป็น "กระบวนการฝึกคน จนถึง กระบวนการทำงานส่งเสริมการเกษตร" ให้ลื่นไหลนั้น เจ้าหน้าที่ควรจะมีความรอบรู้ในเนื้อหาสาระ จำนวน  8  เรื่อง คือ       1)  หลักการส่งเสริมการเกษตร  2)  เรียนรู้เกี่ยวกับการทำแผน  3)  กระบวนการเรียนรู้   4)  การเป็นนักวิจัย   5)  เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านส่งเสริมการเกษตร  6)  การเพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตร  7)  การสรุปรายงานและผลงาน  และ  8)  การตลาด 

     ส่วนข้อเสนอแนะที่พบจากประสบการณ์ในการปฏิบัติงานส่งเสริมการเกษตร คือ

       1.  สนใจงานในหน้าที่อย่างจริงจัง  เป็นสิ่งแรกที่เจ้าหน้าที่ควรเอาใจใส่และทำงานส่งเสริม กับชาวบ้านที่เรียกว่า "จับให้ติด" มิใช่ทำงานแบบผ่าน ๆ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรเกิดความศรัทธาได้ ดังนั้น เราจะต้องเกาะติดชุมชน

       2.  ให้รู้จักใช้งานวิจัยมาทำงานในการส่งเสริมอาชีพกับชาวบ้าน  จึงจะทำให้งานลื่นไหลและอยู่รอดได้

       3.  ให้รู้จักการประนีประนอมและประสานงาน  โดยอย่าคิดและมองแต่แง่เสียของคนอื่น ให้เอาจุดดีหรือจุดเด่นของเขามาใช้ในการทำงานด้วยกัน

       4.  การบริหารงบประมาณทุกระดับควรจริงจังและใช้หรือปฏิบัติตามแผนที่วางไว้  โดยทำอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย  เพราะปัจจุบันชาวบ้านเขารู้ และสืบเสาะข้อมูลเหล่านี้ได้  ดังนั้น  การบริหารงบประมาณควรทำอย่างจริงจัง และเกาะจับชาวบ้านให้ติด แล้วเราจะเป็นที่ต้องการและพึ่งพาของเกษตรกรได้อย่างแท้จริง.

                ศิริวรรณ  หวังดี ..... สัมภาษณ์ / เรียบเรียง

                ปรีชา  สมบูรณ์ประเสริฐ ..... ข้อมูล

                      14  กุมภาพันธ์  2549

หมายเลขบันทึก: 14923เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2006 11:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
       เป็นเรื่องเล่าที่ดีและมีประโยชน์มากครับ พวกเราต้องนำมาวิเคราะห์และพัฒนากระบวนการทำงานกันต่อไป โดยมองผ่านแว่น KM เพราะสามารถทำให้สำเร็จได้ในจุดเล็กๆ ที่ออกมาจากข้างในได้

เรียนถามคุณจือครับ...

ผู้บริหารที่ว่านี้ ชื่อ นามสกุล อะไรครับ และอยู่ในสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร หรือเปล่า

อยากทราบเพราะว่า อ่านจากที่คุณจือได้พูดคุยกึ่งสัมภาษณ์แล้ว คิดว่า ผู้บริหารแนวคิดเรื่องส่งเสริมการเกษตรดีมาก และดูท่านมองงานได้รอบด้านจริงๆ น่าสนใจว่าเมื่อมีผู้บริหารดีๆ สนับสนุนการทำงานแล้ว น่าจะมีการขับเคลื่อน KM ในหน่วยงานกันได้ดีทีเดียว

และขอชื่นชมคุณจือครับ เขียน บล็อกได้ดีมาก อ่านเข้าใจกระชับ ได้ใจความ ผมคงต้องเรียนรู้เรื่องการเขียน และวิธีการพูดคุยกึ่งสัมภาษณ์จากคุณจือบ้างแล้ว จะได้นำมาพัฒนาตัวเอง

อย่าลืมเรื่องที่ผมฝากคำถามนะครับ ขอบคุณครับ

                                                     แขก ปชส.สคส.

                                                     14 ก.พ. 2548

  ท่านผู้นั้นคือ ผู้ที่ให้ข้อมูล ตามชื่อและนามสกุลที่ปรากฎในส่วนท้ายของเนื้อหาค่ะ  ท่านอยู่ที่กรมส่งเสริมการเกษตร (ส่วนกลาง) แล้วดิฉันจะค่อย ๆ ทะยอยถอดบทเรียนและประสบการณ์จริงของนักบริหาร+วิชาการ+ปฏิบัติมาให้อ่านเรื่อย ๆ นะค่ะ ในมุมมองที่ใกล้เคียงและต่างกันบ้าง

  การทำงานในบางครั้ง "สิ่งที่เราคิด" ก็ต้องรอให้ได้ ฉะนั้นหลักการทำงานคือ ต้องอดทน ค่ะ.

กรมส่งเสริมการเกษตรเรา มีผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานที่มีความรู้ ประสบการณ์ในการทำงานส่งเสริมการเกษตร (Tacit Knowledge) อยู่มากมาย แต่จะทำอย่างไรที่จะดึงหรือถอดประสบการณ์เหล่านั้น ให้เป็น Explicit Knowledge และถ่ายทอดต่อรุ่นหลังต่อไป บทสัมภาษณ์ผู้บริหารที่คุณจือ ได้นำเสนอเป็นตัวอย่างที่ดีมาก เป็นวิธีการหนึ่งในการจัดการความรู้ด้านส่งเสริมการเกษตร เป็นการจุดประกายให้เราน่าจะมีการค้นหาวิธีการอื่นๆ ที่จะตักตวงความรู้ประสบการณ์จากท่านผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานท่านอื่นๆ เพื่อนำมาถ่ายทอดและจัดเก็บเป็นคลังความรู้ด้านส่งเสริมการเกษตรต่อไป  คณะทำงาน KM กรมฯ คงจะได้นำมาสานต่อ เพื่อให้เป็นรูปธรรมต่อไป

 

 

ไพโรจน์ ลิ้มจำรูญ

ผอ.นันทา ต้องเข้าไป อย่ากลัว ผมดูแล้วผู้บริหาร กสก.ไม่มีใครหวงวิฃาหรอก แต่วิธีการต่างหากที่คนต้องการต้องหาโอกาส จังหวะ  มีเวลามาคุยกัน จะแนะให้ครับ

น่าจะมีอะไรทีดีและใหม่ๆจากกรมส่งเสริมบางนะ เพราะหาอะไรไม่ค่อยเจอเลย เคยอยากได้เอกสารที่เป็นวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมในตจวใ แต่ไม่เจออะไรที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นแนวทาง หรือวิธีการปฏิบัติได้เลย หรือว่าจะหาไม่ถูกที่ก็ไม่รู้นะ แต่น่าจะหาดและมีมากกว่านี้เพราะกรมส่ง เป็นด่านหน้าที่คนทั่วๆไปน่าจะเข้าถึงได้ง่ยกว่าที่อื่น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท