ศ. ดร. สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ถก KM กับ สมศ. (1)


ศ. ดร. สมหวัง  พิธิยานุวัฒน์ถก KM กับ สมศ. (1)

        วารสารวงการครู  ฉบับเดือนมกราคม 2549   นำเรื่องนี้มาลงเป็นเรื่องเด่นของฉบับ  คือเรื่องจากปก   สคส. จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อเป็นตอน ๆ ดังต่อไปนี้  ตอนที่ 1

"จุดเริ่มต้นของความรู้  คือการยอมรับว่าเราไม่รู้" 
อมเรศ ศิลาอ่อน  อดีตประธาน สมศ.


        หลังจากที่ทราบว่า ศ. ดร. สมหวัง  พิธิยานุวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. และคณะผู้บริหารของ สมศ. เข้าหารือเรื่องการวางแผนภาพใหญ่ของ Knowledge Management (KM) สมศ. กับสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)  โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิด KM ในหน่วยงานภายในสำนักงานฯ และในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น  ทาง “วงการครู” มีความสนใจในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง
        ประกอบกับผู้บริหารทางการศึกษา ครู คณาจารย์ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นสมาชิกส่วนใหญ่ของวารสารก็กำลังให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่อง “การรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา” เป็นอย่างมากด้วย  โดยเฉพาะกับบทบาทที่ของ สมศ. ในการพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพภายนอก, พัฒนามาตรฐานและเกณฑ์สำหรับการประเมิน, ให้การรับรองผู้ประเมินภายนอก, กำกับดูแล กำหนดมาตรฐานและให้การรับรองมาตรฐานการประเมินคุณภาพภายนอก รวมไปถึงการพัฒนาและฝึกอบรมผู้ประเมินภายนอก จัดทำหลักสูตรฝึกอบรม และสนับสนุนให้องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพหรือวิชาการเข้ามามีส่วนร่วม  โดยเรื่องทั้งหมด ศ. ดร. สมหวัง ได้อธิบายไว้ในฉบับนี้แล้ว  โดยเฉพาะกับเรื่อง KM ที่ครู อาจารย์ และแต่ละหน่วยงานด้านการศึกษากำลังเริ่มศึกษา และปฏิบัติ

ที่มาของการตัดสินใจเริ่ม KM
         ขณะนี้ สมศ. มีเจ้าหน้าที่อยู่ 49 อัตรา มีลูกจ้างประมาณ 68 คน  โดยทั้งหมดจะเป็นประสานบริหารจัดการ  โดยมีการบริหารคนทำงานแบบระบบ Outsourcing คือมีคนมารับงาน ถ้าเป็นพื้นฐานก็จะมีหน่วยงานประเมินประมาณ 200 หน่วย เป็นระดับอุดมศึกษา ปริญญา กับอาชีวะ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิประมาณ 800 คนที่จะทำหน้าที่ประเมินจริง ซึ่งในเรื่องความกดดัน เราทราบอยู่ว่า ต้องโดนว่า ว่าเราจะประกันคุณภาพอย่างไร เราจะพัฒนาคนของเราอย่างไร
        ผมเองสอนเรื่องการประเมินมากว่า 20-30 ปี สอนแต่ไม่ค่อยได้ทำ เพราะเวลาทำจริง ๆ มีเงื่อนไขที่ เราเป็นข้าราชการ ทำไม่ได้ เงินไม่มี ซึ่งพอมาอยู่ที่ สมศ. ผมก็สามารถทำได้ทุกเรื่องที่ผมคิด และสามารถใช้ทุกทฤษฏีที่มีอยู่  ฉะนั้น เราก็พยายามจัดส่งไปอบรมหัวข้อต่าง ๆ มากมาย  แต่เรามองว่า เราดูแล้วไม่ค่อยได้ผลในประเด็นที่เราประเมิน
        ด้วยระยะเวลา 4 ปี ที่ผมบริหาร ก็มาพิจารณาว่า การพัฒนาบุคลากรในเรื่องคุณภาพ ยังเหมือนเดิม ทั้ง ๆ ที่เราทุ่มเงินไปมาก จึงมาคิด มาสงสัยว่าที่ผ่านมาคงต้องหาทางเลือกใหม่  ซึ่งผมเองในเรื่องของการวิจัย ท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ทราบดี ในเรื่องการวิจัย เรื่องการหาความรู้ ใช้ความรู้ อะไรทำนองนั้น พอมาดูว่า หมอวิจารณ์มาจาก สกว. เรื่องวิจัย ก็มาทำ KM ผมก็ติดตามดู จริง ๆ แล้วเรื่อง KM กับงานวิจัยนั้น เป็นเรื่องของความรู้ทั้งคู่  แต่เรื่องการวิจัยเป็นความรู้โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ไปเปิดเผย หาความรู้  แต่เป็น KM คือ ความรู้จากคนที่ปฏิบัติมาแล้วได้ผล  ผมก็ได้ความคิดมาแบบนี้ เลยจับ 2 เรื่องมารวมกัน  เราก็รู้สึกว่า เป็นวิธีการที่ดี คือ เป็นการดึงพลังของคนทำงาน ซึ่งคนทำงานของเราเป็นคนรุ่นหนุ่มสาว ยังมีประสบการณ์ไม่มาก และก็ยังมีแนวโน้มที่เขาจะไม่ค่อยพูดอะไร เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่ค่อยพูด  ฉะนั้น สมศ. เอง มีนโยบายที่ต้องการที่จะลดลงเรื่องศักดินา เพราะว่า สิ่งนี้เป็นทางเลือกที่ผมไม่ชอบมากในระบบราชการ  ที่มีเรื่องของระบบศักดินาที่ค่อนข้างสูง
        ผมเคยทำงานที่ต่างประเทศ ผมเองก็ชอบวิธีการทำงานที่โน่น คือ ของต่างประเทศนั้น ไม่ว่าจะเป็นไดเร็กเตอร์หรือใคร ก็สามารถที่จะพูดคุยกันได้ แลกเปลี่ยนกันได้  โดยไดเร็กเตอร์ก็สามารถผิดได้ ถูกลูกน้องสามารถที่จะบอกได้ สอนได้ เป็น Teaching Organization ไม่ใช่ Learning Organization เพราะ Learning Organization มันยังเก่ากว่า Teaching Organization เสียอีก
        Teaching Organization นั้น หมายความว่า องค์กรที่ทุกคนเป็นครูของคนอื่นได้ และหน้าที่ของลูกน้องต้องสอนเจ้านาย ผมเองชอบในความคิดแบบนี้ แต่ว่า ลูกน้องเองก็ยังไม่ค่อยกล้า เขากลัวตาย ซึ่งตรงนี้ เป็นเรื่องธรรมดาใช่ไหม  ฉะนั้น เลยไม่ค่อยได้ผล และเราเองก็พยายามคิดที่จะทำใช้วิธี 360 องศา ทุกคนเป็นคนประเมินและผู้ประเมิน
        ลูกน้องสามารถประเมินเจ้านายได้ และผมก็ให้โรงเรียนสามารถที่จะประเมินผู้ประเมินภายนอกได้  แต่โรงเรียนก็ไม่ค่อยกล้าประเมินเท่าไหร่ คล้าย ๆ กลัวจะมีผลกระทบ กรณีนี้ก็ทำนองเดียวกัน เราก็คิดว่า เรื่องการบริหารบุคคล โดยท่านอมเรศ ศิลาอ่อน เป็นประธาน ท่านได้แนะนำ  แล้วเราก็ได้อะไรจากท่านมาก โดยเฉพาะเรื่องการประสานแนวราบ ลดการประสานแนวดิ่ง ซึ่งระบบ CEO (Chief Executive Officer) นั้น แนวดิ่งมีมาก เราต้องการจะให้ประสานแนวราบ เป็นการประสานกันแบบกัลยาณมิตร ทำงานกันอย่างกัลยาณมิตร
         ที่ผ่านมา เราให้เขาได้มีการประชุมกัน ก็ไม่ค่อยได้ผลดีเท่าที่ควร จากการที่ได้อ่านรายงานการประชุมของพวกเขาในขณะที่ผมไม่อยู่ ซึ่งดูแล้ว  ค่อนข้างที่จะไม่ค่อยมีส่วนร่วมเท่าที่ควร

หมายความว่า สภาพเช่นนี้ใน สมศ. มีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ
         ความเป็นจริงแล้ว  ถ้าผมไม่อยู่แล้ว รองเป็นประธานก็จะมีบทบาท รองไม่อยู่หัวหน้างานก็จะมีบทบาท มันเป็นการไล่กันไปตามลำดับงาน ซึ่งก็ไม่ตรงอย่างที่เราอยากเห็น และอยากให้เป็นอะไรแบบนี้ ในที่สุด ก็มาดูว่า เราจะทำอย่างไรที่จะทำให้ทุกคนกล้าแสดงออก ผมเชื่ออย่างที่สุดว่า ทุกคนจะต้องมีอะไรดีอยู่ในตัวของเขา และจริง ๆ มันก็มีอย่างนั้น
เราเองเพิ่งมีการจัดประชุม KM ไปเมื่อเช้า (7.30 น. /22 ธันวาคม 2548) ที่สภาชุมชน สมศ. ก็มานั่งรับประทานโจ๊กด้วยกัน และเราก็มาหาคนเล่าว่า เราจะทำอย่างไรให้เราสามารถที่จะประสานงานได้ดี ประสบการณ์เขาเคยทำอย่างนั้นอย่างนี้แล้วสามารถที่จะประสบความสำเร็จ เป็นรูปแบบไหน อย่างไร ก็มาแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งอย่างนี้ดีมาก ก็เป็นตัวอย่างอันหนึ่งว่า เรื่อง KM มันสามารถที่จะทำให้คนเป็นพระเอกและนางเอกได้ทุกคน เพราะสิ่งต่าง ๆ มันเป็นประสบการณ์ของเขา แล้วเขาก็เล่าเรื่องเฉพาะที่เขาประสบความสำเร็จ เรื่องที่ไม่ประสบความสำเร็จไม่ต้องเล่า มันเป็นการทำให้ทุกคนคิดทางบวก ซึ่งก็สะท้อนภาพมาที่ตัวเรา ทำให้ทุกคนกลับมามองดูตัวเราเองว่า เราน่าจะเอาอันนั้น อันนี้มาใช้ ซึ่งเท่ากับว่า เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เราเป็นคนเลือกสรร และก็มีแต่สิ่งที่ดี ๆ ที่มันเป็น Best Practise ของแต่ละคน ซึ่งจุดทำให้เราได้คิดว่า KM จะสามารถช่วยทำให้เราพัฒนาบุคลากรได้ดีกว่าการที่เราส่งบุคลากรไปอบรม

คำสำคัญ (Tags): #สมศ.
หมายเลขบันทึก: 14908เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2006 15:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เรียน อ. สมหวัง

ขอถามว่าเกณฑ์การประเมินคุณภาพมีเกณฑ์อะไรบ้าง รู้สึกสลดใจและสงสารประเทสชาติมากที่ สมศประเมินแต่ละโรงเรียนแล้วมักจะผ่านทั้งๆที่การประเมินวัดผล nt ที่ผ่านมา ผลการเรียนของนักเรียนตกต่ำลงทุกปี ซึ่งสวนทางกับครู ปรากฏว่าทุกวันนี้ครูที่ทำผลงาน คศ๓ ผ่านกันเป็นว่าเล่นแต่คุณภาพเด็กตกต่ำ ช่วยกันล้างผลายเงินภาษีประชาชนอย่างน่าสังเวช และลามปรามไปถึง รร แข่งกันรับประเมินเป็น รร พระราชทาน เสียเงินเสียทองผู้บริหารเกณฑ์แรงงานครูไปจัดฉาก สร้างเอกสาร ไม่ต้องสอนหนังสือกันแล้ว เอาเปรียบเด็กมากเกินไป

ขอเสนอแนะว่า

๑ ให้มาตรวจประเมินการเรียนการสอนของครู ไม่ใช่เอกสาร

๒ กรรมการ สมศควรมาพูดคุยกับครูถึงเรื่องการทำงานว่ามีความสุขหรือไม่ ถูกข่มเหงรังเกหรือไม่ ช่วยสร้างหลักฐานเท็จให้ รร หรือไม่ ครูถูกบังคับปล่อยเกรดให้เด็กบางคนที่ผู้ปกครองมีบุญคุรกับ รร หรือไม่ ฯลน

๓ มีการเตี้ยมข้อมูลกันหรือไม่ เท่าที่ผ่านมา รร แอบนัดแนะกับเด็กทำว่ามา รร แต่ เช้า กรรมการมาสุ่ม นักเรียนแบ่งกันว่าเด็กคนนี้ตอบคำถามไหน เด็กยังดูถูก รร ต่อไปครูจะสอนหนังสือเด็กได้อย่างไร ในเมื่อ รร จัดฉากให้เด็กตอบคำถาม

เป็นครูมา จนจะเกษียนแล้วจึงกล้าเขียนความคับแค้นใจในอาชีพครุ สงสารประเทสชาติ

หวังว่าอ. สมหวังในฐานะที่เป็นประธานคงมีจิตกุศลสงสารเด็ก หรืออย่างน้อยเห็นแก่ประเทสชาติ เราแก่ๆกันแล้วอีกไม่นานก็จะตายจากโลกไป ควรหาทางให้ครูสอนนักเรียนให้มีวิชาความรู้ มีคุณธรรม ให้เด้กมีอนาคตที่ดี

เรียน อาจารย์สมหวัง

ดิฉันนางสาวธนิตฐา สันโดษ ผู้จัดการศูนย์สถิติและวิจัยซึ่งมีหน้าที่รวบรวมวิทยากรที่มีหน้าที่สำคัญในการเผยแพร่ความรู้วิชาสถิตและวิจัยให้กับ นักวิชาการ นักวิจัยและครู อาจารย์ นักศึกษา ที่ต้องการทำวิจัย หรือมีหน้าที่เกี่ยวกับงานสถิติและวิจัย

มึความประสงค์จะจัดโครงการฝึกอบรม"การพัฒนาคุณภาพงานวิจัยให้ได้มาตรฐาน" ซึ่งได้ทราบว่าอาจารย์เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในการตรวจคุณภาพงานวิจัยและผลงานวิชาการต่าง ๆ ของหลายหน่วยงาน จึงใคร่ขอเรียนเชิญอาจารย์เป็นวิยากร หลักสูตรดังกล่าว ในวันที่ 29-30 มิถุนายน 2552 ณ ห้องประชุมบอลรูม บี โรงแรมมารวยการ์เด้น จตุจักร กรุงเทพฯ 10900 ในเวลา 9.00-16.30 น. เพื่อเป็นการให้ความรู้แก่นักวิชาการ ครูอาจารย์ ตลอดจนนักศึกษาที่เข้าร่วมฝึหอบรมกับศูนย์สถิตและวิจัย

จึงเรียนมาเพื่อพิจารณา และขอความกรุณาอาจารย์ช่วยส่งโครงการให้ทางอีเมล์หรือ แฟกซ์ 02-579-8745 จักขอบพระคุณยิ่ง

ขอแสดงความนับถือ

นางสาวธนิตฐา สันโดษ

08-6549-9941,0-2579-8343

นางละเอียด เอี่ยมศรี

เรียน อาจารย์สมหวัง ที่เครารพอย่างสูง

ดิฉันนางละเอียด เอี่ยมศรี ลูกศิษย์ป.เอก สาขาวิจัยและประเมินผลการศึกษา มรภ.ชัยภูมิ ขอความอนุเคราะห์ปรึกษา หัวข้อวิทยานิพนธ์ ค่ะ

การพัฒนารูปแบบกลไกการส่งเสริมการบริหารจัดการศึกษาโรงเรียนประชารัฐ : กรณีศึกษาโรงเรียนบ้านโนนสำราญ อำเภอแก้งสนามนาง จังหวัดนครราชสีมา

จึงเรียนมาเพื่อพิจารณา และขอขอบพระคุณยิ่ง

ขอแสดงความนับถือ

นางละเอียด เอี่ยมศรี

08-33458918


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท