ตามไปดู "ชาวบ้านสรุปผลการวิจัยชุมชนโดยใช้วิธีเล่าให้ฟัง"


วิจัยด้วยตนเอง จัดกระบวนการเรียนรู้ พัฒนาบุคลากร

      ตามไปดู "ชาวบ้านสรุปผลการวิจัยชุมชนโดยใช้วิธี...เล่าให้ฟัง"

 

   ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมงานโครงการบ่มเพาะนวัตกรรมการเกษตร ที่ใช้ระยะเวลา 1 ปี โดยมี    เป้าหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวบ้านทำวิจัยด้วยตนเอง  ซึ่งรับผิดชอบร่วมทีมงาน    (ตนเองได้เรียนรู้ด้วย) ในพื้นที่ภาคกลาง จำนวน 6 กลุ่ม 5 จังหวัด คือ 1) จังหวัดสิงห์บุรี     ( กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรโพธิ์หอม) 2) จังหวัดชัยนาท (กลุ่มโรงสีข้าวเที่ยงแท้ และกลุ่มแม่บ้าน   ท่าทราย) 3) จังหวัดสุพรรณบุรี (กลุ่มเกษตรกรปลูกหน่อไม้ฝรั่งตำบลวังยาว) 4) จังหวัดปราจีนบุรี (กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทับลาน) และ 5) จังหวัดลพบุรี (กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรลำสนธิ)

    การทำงานที่เกิดขึ้นเป็นช่วงสุดท้ายของการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ของชุมชนจากการทำวิจัย โดยจะเก็บองค์ความรู้ต่าง ๆ ในรูปแบบสื่อการเรียนรู้ (เทปภาพ) ที่มาจากการสรุปผลของชาวบ้านโดยการเล่าให้ฟัง ซึ่งผลจากการสังเกตุการทำงานและวิธีการเล่าสรุปข้อมูลนั้นเริ่มต้นจาก 

      ขั้นที่ 1  เล่าภาพรวมของกลุ่ม  ได้แก่  ความเป็นมา ปัญหาที่เกิดขึ้น  วัตถุประสงค์ และ สรุปประเด็นที่จะทำวิจัยนั้นมีกี่เรื่อง (โจทย์วิจัย)

      ขั้นที่ 2  เล่าสรุปผลการทำวิจัยของแต่ละเรื่อง  ได้แก่  ประเด็นปัญหาที่ทำวิจัย  วัตถุประสงค์  จำนวนสมาชิกที่ทำ  ทรัพยากร  การวางแผนและออกแบบ  การเก็บรวบรวมข้อมูล  เครื่องมือ   การอ่านและเปรียบเทียบและวิเคราะห์ข้อมูล  และการสรุปผลที่เกิดขึ้น (ข้อค้นพบ)

      ขั้นที่ 3  เล่าสรุปผลภาพรวมของกลุ่มที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัยชุมชน  ได้แก่  ประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มและชุมชน  การเรียนรู้ของตนเอง  การพัฒนาอาชีพโดยการทำวิจัย  และข้อเสนอแนะ

   เมื่อฟังชาวบ้านเล่าเนื้อหาสาระที่ค้นพบจากการบ่มเพาะภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น ความภาคภูมิใจที่ได้ลงมือทำในสิ่งที่ตนเองหรือกลุ่มต้องการ  ได้แก้ปัญหาอาชีพด้วยตนเอง และได้ค้นพบสิ่งใหม่ที่เป็นนวัตกรรมให้กับชุมชน เป็นต้น  โดยเฉพาะกับคำพูดของชาวบ้านที่ว่า.....

   "ตอนแรกเจ้าหน้าที่มาชวนให้ทำวิจัย พวกเราก็บอกว่ามันเป็นเรื่องยาก...พวกเราไม่มีความรู้หรอก...ขอไม่ทำ"  หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ใช้เทคนิคการเชิญชวนทำงานกับชุมชน จนชาวบ้าน ใจอ่อน (ตามติดข้อมูล/ไม่ทิ้งพื้นที่) ยอมเป็นนักวิจัยชุมชน และทดลองแก้ปัญหาโดยใช้วิธีการ วิจัย

   ซึ่งเมื่อจบสิ้นการทำงาน ชาวบ้านก็บอกว่า "อ๋อ....การทำวิจัยนั้นเหรอ...ไม่ใช่เรื่องยากเลย.....ถ้าไมเชื่อก็ลองทำกันดู...และตอนนี้นะ...กลุ่มเรามีโจทย์ที่ต้องมาค้นหาคำตอบกันต่อ...มีอีกหลายเรื่องที่พวกเราสงสัย...ดู ๆ แล้วมีงานให้ทำได้ตลอดเลย...ไม่จบสิ้น...และตอนนี้เรามี...นักวิจัยน้อยเกิดขึ้นด้วย"

   บทบาทของนักส่งเสริมจึงเริ่มปรับเปลี่ยน โดยเรียนรู้เกี่ยวกับการเป็น "นักวิจัย" เพื่อนำมาใช้  เป็นทางลัดและเป็นวิธีการใหม่ในการทำงานกับชาวบ้าน เพราะจากผลการประมวลข้อมูลนั้นพบว่า  การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR) เป็นวิธีการทำงานที่สามารถทำให้ชุมชนคิดเป็น     ทำเป็น และยั่งยืนได้  อันจะส่งผลให้ งานส่งเสริมจะไม่ตาย....

   เรื่องราวดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ข้าพเจ้าได้ตามไปดูเขาถ่ายทำเทปภาพจาก 6 กลุ่ม 5 จังหวัด      ในครั้งที่ 1 วันที่ 9 -11 มกราคม 2549 และครั้งที่ 2 วันที่ 17-19 มกราคม 2549  ซึ่งเป็นความสุขของการทำงานพัฒนาบุคลากรที่ว่า "ทำอย่างไรให้คนอื่นเขาเรียนรู้ตามสิ่งที่เขาต้องการได้บรรลุผล"  โดยเฉพาะการทำงานกับพื้นที่และชุมชนเกษตร

                                                                   ศิริวรรณ หวังดี (9 ก.พ. 49)

คำสำคัญ (Tags): #พัฒนาคน
หมายเลขบันทึก: 14890เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2006 15:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  เราได้ทำงานส่งเสริมการเกษตรยุคใหม่กันแล้ว คือ การทำงานแบบมีส่วนร่วมกับชาวบ้านอย่างแท้จริง

ดีจังเลยครับ เห็นบทบาทนักส่งเสริมการเกษตรเปลี่ยนบทบาท ทำงานแบบให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม

 ให้ชาวบ้านเป็นผู้คิดว่าต้องการรู้เรื่องอะไร ขณะเดียวกันนักส่งเสริมการเกษตร ก็หันมาเป็นผู้ส่งเสริมมากขึ้น เพราะที่ผ่านๆมา ชาวบ้านบอกว่าได้ความรู้แต่ไม่ยั่งยืน (เป็นลักษะของการสอนมากกว่าส่งเสริม)

ไพโรจน์ ลิ้มจำรูญ
ที่ชาวบ้านบอกว่าได้ความรู้แต่ไม่ยั่งยืน เราต้องวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะอะไร จากประสบการณ์พบว่าเรารู้ แต้รู้ไม่ลึกถึงแก่น เลยไม่ยั่งยืนใช่ไหม การส่งเสริมมองด้าน supply ด้านเดียวหรือเปล่า demand เคยดูไหม needs เป็นอย่างไร ชาวบ้านเขาทำได้ไหม เคยไปติดตามหลังที่ส่งเสริมเขาถี่ห่างอย่างไร มีปัญหาไหม แล้วเราทำอะไร อย่างไร บางทีเราคิดว่าควรส่งเสริม แต่ต้องถามว่าได้ศึกษาดีแล้วยังก่อนที่ไปส่งเสริม เป็นเพียงแนวคิดเท่านั้นทึ่อยากให้คิดก่อนทำ ทำแล้วคิด คิดแล้วพูด พูดแล้วทำ ทำแล้วพูด ก็จะเห็นว่าเราได้ทั้ง kv, ks, ka ต่อไปก็นำไป manage ได้
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท