ขอชื่นชม กรมส่งเสริมการเกษตร


     เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  ผมได้ไปร่วมการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การจัดการความรู้โครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและได้มาตรฐาน"   ณ ห้องประชุมกรมส่งเสริมการเกษตรชั้น 5 มีผู้มีร่วมงานจำนวนทั้งสิ้น 119 คน เป็นผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางและจาก 18 จังหวัดนำร่อง   ใน 18 จังหวัดนี้มี 9 จังหวัดที่ได้เริ่มกระบวนการ KM มาตั้งแต่ปีที่แล้ว  ส่วนอีก 9 จังหวัดเพิ่งจะมาเริ่มในปีนี้  ที่ผมชอบใจมากก็คือวิธีการของกรมฯ ที่ให้ 9 จังหวัดเดิมเป็นคนเลือก 9 จังหวัดใหม่ ที่เป็นจังหวัดใกล้เคียง เพื่อที่จะได้ทำการ Coaching กันได้   เรียกได้ว่าเป็นการใช้ระบบ "เพื่อนช่วยเพื่อน"  หรือ "Peer  Assist" เพื่อขบายผลในเรื่องนี้

 

     ในการสัมมนาวันนี้หลังจากที่ผมได้ให้แนวคิดและพูดถึง "แก่น" ของการจัดการความรู้แล้ว   ตัวแทนจากจังหวัดนำร่อง (เดิม) ก็ได้มาเล่าประสบการณ์การทำ KM ให้ที่ประชุมฟัง ประกอบด้วย คุณสายันห์  ปิกวงศ์  และ คุณวีรยุทธ  สมป่าสัก จากกำแพงเพชร คุณทวี มาสขาว จากนครพนม คุณเกรียงไกร เลขาพันธุ์ จากนครศรีธรรมราช คุณสุทธิรัตน์ ขัตจินะ และ คุณบุญมี   นรินทร์ จากน่าน คุณสรณพงษ์  บัวโรย จากสมุทรสงคราม และคุณสมชัย วิสารทพงศ์ จากสตูล    ทุกท่านเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของตนได้อย่างมีสีสันและมีพลังยิ่ง   นอกจากนั้นผู้ที่ดำเนินรายการ ซึ่งก็คือ คุณธุวนันท์  พานิชโยทัย และ คุณสำราญ สาราบรรณ์ ก็ทำหน้าที่ได้ยอดเยี่ยมจริงๆ

     ผมลองคิดดูว่าที่ KM ของกรมส่งเสริมก้าวหน้ามาได้ถึงเพียงนี้นั้น มีอะไรเป็นสาเหตุสำคัญ ลองสรุปจากการสังเกตของผมได้ดังนี้ (ถ้าทางกรมมีอะไรจะเสริมก็ Comment เพิ่มเติมกันมาได้นะครับ)

  1. เป็นเพราะได้รับการส่งเสริม สนับสนุน อย่างต่อเนื่องจากผู้บริหารระดับสูงของทางกรมฯ

  2. เป็นเพราะกระบวนการ KM ของ สคส. นั้น "ถูกจริต" กับการทำงานของทางกรมฯ  ที่ต้องมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นประจำในทุกระดับอยู่แล้ว เช่น ระดับอำเภอ มีการจัด DM    ระดับจังหวัดมีการจัด DW, PW  และระดับเขตมีการจัด RW  เป็นต้น

  3. เป็นเพราะวัฒนธรรมการทำงานของนักส่งเสริมการเกษตรส่วนใหญ่นั้น "ติดดิน"  มีการเชื่อมโยงกับชาวบ้าน (เกษตรกร) อยู่แล้ว  ถึงบางคนอาจจะติดบทบาทของการเป็น "ผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยี" อยู่บ้าง ไม่ค่อยได้รับฟังความรู้ที่อยู่ในตัวเกษตรกร  แต่ผมก็เชื่อว่ากระบวนการ KMสามารถปรับเปลี่ยนบทบาทของท่านเหล่านี้ได้ไม่ยากนัก เพราะท่านมี "หัวใจ" ให้กับประชาชนอยู่แล้ว

  4. ประเด็นหรือปัจจัยที่ผมว่าสำคัญที่สุด  ที่ทำให้กรมส่งเสริมฯ สามารถทำ KM ก้าวหน้ามาได้จนถึงจุดนี้ คงต้องให้เครดิตกับทีมแกนนำที่ทำหน้าที่ผลักดันในเรื่องนี้  เท่าที่ผมจะนึกชื่อได้ก็มี  1. คุณธุวนันท์   พานิชโยทัย   2. คุณอุดม   รัตนปราการ    3. คุณนันทา    ติงสมบัติยุทธ์   4. คุณสำราญ   สาราบรรณ์  และท่านอื่นๆ อีกที่อยู่ในทีมซึ่งผมไม่ได้เอ่ยนามไว้ในที่นี้ (ขออภัยด้วยครับ)

     ผมขอชื่นชมการทำงานเรื่อง KM ของกรมด้วยความจริงใจครับ..... อยากจะให้เป็นตัวอย่างแก่หน่วยราชการอื่นๆ  และขอขอบคุณทางกรมที่ได้ให้ผมเข้ามามีส่วนร่วมสัมมนาในครั้งนี้ เพราะเป็นการสัมมนาที่ทำให้กำลังใจในเรื่อง KM ของผมกลับคืนมาได้ หลังจากที่ถูก CKO ทำให้ "ช้ำใจ" (อ่าน blog ของเมื่อวานดูครับ)  เพราะมันทำให้ผมเห็นชัดว่า แม้ CKO จะเป็นปัจจัยสำคัญ แต่สิ่งที่ผมมองข้ามไป ซึ่งก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ "ทีมแกนนำ" ที่ดำเนินการเรื่องนี้อย่าง "เต็มใจ " ต่อเนื่อง และจริงจัง ...ขอตบมือให้อีกครั้งครับสำหรับทีมแกนนำของกรมส่งเสริม..... หน่วยงานใดสามารถทำได้เช่นนี้ .... สคส. รับปากว่าจะส่งเสริม สนับสนุนอย่างเต็มที่เลยครับ

คำสำคัญ (Tags): #competency
หมายเลขบันทึก: 14873เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2006 12:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ในนามของทีมงาน KM กรมส่งเสริมการเกษตร รู้สึกขอบคุณในคำชื่นชมของอาจารย์มากเลยคะ  ทำให้พวกเรามีพลังและกำลังใจในการผลักดัน KM ของกรมฯ ให้ก้าวหน้าต่อไป  ขอเติมเต็ม

ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้ KM กรมฯ ก้าวมาได้ถึงวันนี้ ก็เพราะว่าเราโชคดีได้ที่ปรึกษาฯ คือทาง สคส. ได้แก่ ท่าน อ.ประพนธ์ 

อ.หมอวิจารณ์ และทีมงาน ช่วยนำทางให้เราก้าวเดินมาถูกทาง

ตั้งแต่ ปี 2548 คะ  ขอกราบขอบพระคุณ  

 

  

เห็นด้วยกับคุณนันทา ไม่ได้พูดเฉยๆ นะคะ คิดและตรงกับใจจริงๆ อ้อยเป็นคนหนึ่งในทีมงาน... มีเรื่องอยากจะบอก...คือถ้าไม่มีอาจารย์...เราก็ไม่รู้จะเป็นแบบไหน...ต้องยอมรับว่าเราได้เรียนรู้จากอาจารย์อย่างมากๆ จนสามารถเข้าใจ KM ในระดับที่พอจะก้าวเดินไปกับจังหวัดนำร่องได้  ขอขอบพระคุณนะคะ

ผมสนใจบทเรียนของกรมส่งเสริมมากครับ ที่จริงก็รู้จักคุณเกรียงไกรดี   มีโอกาสร่วมงานกันแต่เสียดายยังไม่ลงลึกเท่าไร อยากเชื่อมโยงKMแนวดิ่งภายในหน่วยงานทั้งระบบของกรมส่งเสริมกับแนวราบคือร่วมกับหน่วยงานอื่นๆโดยใช้ฐานพื้นที่ระดับตำบลเป็นหลัก
ถ้าทีมงานของกรมส่งเสริมให้น้ำหนักในเรื่องนี้ด้วยก็จะเพิ่มพลังการเรียนรู้การจัดการได้มากยิ่งขึ้น

อยากชวนให้ขยายแนวทางการทำงานในโครงการจัดการความรู้แก้จนเมืองนครซึ่งท่านเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราชร่วมเป็นคณะกรรมการอำนวยการด้วย ซึ่งเป็นการทำงานเชิงบูรณาการเชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานเพื่อสนับสนุนชุมชนในภาพรวม เพื่อให้ผลสำเร็จเป็นของชุมชน

เกรงว่าแต่ละหน่วยงานจัดการความรู้สำเร็จ แต่ชุมชนล้มเหลว

ตัวอย่างของกรมส่งเสริมการเกษตรจะเข้ามาเป็นแกนเชื่อมโยงการเรียนรู้เพื่อบูรณาการคน/งบประมาณสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี

ถ้ากรมกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จจากหน่วยวัดที่เป็นชุมชนระดับตำบล ไม่เฉพาะกลุ่มเกษตรกรเป้าหมายเท่านั้น จะเป็นไปได้หรือไม่? ถือเอานครศรีธรรมราชเป็นพื้นที่นำร่องก็ได้ครับ

ถ้าสนใจเป้าหมายนี้ จะได้กำหนดพื้นที่ปฏิบัติการเป้าหมายเพื่อจัดการความรู้และประเมินผลกันได้ชัดเจนครับ

ผมเชียร์เต็มที่เลยครับ สำหรับจังหวัดนครศรีธรรมราช เพราะเท่าที่สัมผัส ไม่ว่าจะเป็นคุณภีม (จาก มวล.) หรือคุณเกรียงไกร (จากกรมส่งเสริม) ล้วนแต่ "ไฟแรง" ด้วยกันทั้งคู่ ยิ่งได้ผู้ว่า CEO ที่เข้าใจเรื่อง KM อย่างท่านผู้ว่าวิชม ทองสงค์ ด้วยแล้ว ผมเชื่อว่าเรื่องนี้ไปโลดแน่ๆ ครับ

ขอกราบขอบพระคุณอาจารย์มากนะคะ

      ในความคิดเห็นของตัวเองคิดว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้สามารถทำงานอย่างเข้มแข็งได้คือ(1)ทีมงาน เริ่มตั้งแต่การเสาะแสวงหา ถามความสมัครใจมาร่วมทีม ความพร้อม ความเสียสละทั้งในเรื่องเวลา สมอง ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ช่วยเหลือกันอยู่เสมอ แม้ว่าบางครั้งจะไม่ว่างมาร่วม ก็สนใจสอบถาม และใช้เวลาคุยกันนอกรอบอยู่เสมอ ทำให้ข้อมูลที่ทุกคนได้รับรู้ ใกล้เคียง และเสมอภาคกัน  เป็นพี่น้องกัน ซึ่งเป็นหัวใจการเรียนรู้ร่วมกัน(2)จังหวัดนำร่อง CKO (เกษตรจังหวัด)มีศักยภาพ มองการณ์ เปิดกว้างให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (3)บรรยากาศการเรียนรู้ ความสุขที่ได้มาทำงานร่วมกันเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่จะขาดไม่ได้เลย 

ปัจจัยสำคัญที่สุดคือทีมงาน สคส ทุกท่านที่เป็นกำลังใจและให้คำปรึกษาตลอดเวลา

เป็นกำลังใจให้อาจารย์นะครับ

ผมดีใจที่อาจารย์มีกำลังใจกลับมาครับ อาจารย์คือ Role Model ที่หลายคนเห็นและอยากทำตามนะครับ ถ้าอาจารย์ท้อแท้นี่คงมีคนเสียดายหลายคน ผมทราบข่าวเรื่องที่อาจารย์เขียน พอกันที CKO หน่วยงานราชการ !จาก BeeMan ครับ รู้สึกตกใจ เพราะวันนี้ที่เราเสวนากันเรื่อง KM ที่พิษณุโลก หลายๆ สิ่งหลายๆ อย่าง เริ่มมาจากอาจารย์ทั้งนั้นครับ ไม่ว่าจะเป็นโมเดลปลาทู สไลด์ และการบรรยายของอาจารย์ที่จุดประกายให้กับหลายๆ คนในมอนอ

อ้อ ลืมไป หลังจากที่ผมไปฟังอาจารย์ที่ กทม. เรื่อง KM สิ่งที่ผมได้กลับมาคือความสนใจเรื่อง ปิ๊งแว๊บ กับการให้อภัยและทำสมาธินะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท