หญ้าทะเล


แหล่งอาหารของสัตว์น้ำต่างๆ ที่มีคุณค่าทางวิตามินสูง

หญ้าทะเล (Seagrasses)

หญ้าทะเลคืออะไร?

ตามชายฝั่งทะเลทีมีคลื่นลมค่อนข้างสงบ หรือตามอ่าวที่มีลักษณะกึ่งปิด เราจะพบระบบนิเวศน์ แบบหนึ่งที่มีคุณค่ามหาศาล นั้นคือระบบนิเวศน์หญ้าทะเลที่มีวิวัฒนาการจากพืชบกที่ค่อยๆ ปรับตัวลงสู่ทะเล โดยมีการปรับตัวที่ทำให้หญ้าทะเลสามารถดำรงชีวิตอยู่ใต้น้ำได้อย่างสมบูรณ์ เริ่มต้นจากการปรับตัวให้อยู่ในน้ำเค็มได้ จากนั้นก็สามารถเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ มีรูปร่างและโครงสร้างที่สามารถยึดต้นไว้กับพื้นทะเลได้ โดยจะต้องทนทานต่อความเค็มของน้ำทะเล แรงคลื่น และกระแสน้ำและ ท้ายที่สุดก็สามารถออกดอกผสมเกสรในน้ำ แพร่ขยายพันธุ์ต่อไปได้อีกด้วย

หญ้าทะเลและสาหร่ายทะเลแตกต่างอย่างไร

หญ้าทะเลเป็นพืชชั้นสูงที่มีลำต้นใต้ดินฝังอยู่ในพื้นส่วนของลำต้นและใบตั้งตรงขึ้นมาจากพื้น สีของใบก็เป็นสีเขียว ลำต้น ราก และใบของหญ้าทะเลมีสารประกอบของลิกนิน มีเส้นใบและช่องอากาศ นอกจากนี้แล้ว หญ้าทะเลยังเป็นพืชมีดอกอย่างสมบูรณ์ โดยสามารถผลิดอก เมล็ดและผลได้ หญ้าทะเลจัดอยู่ในกลุ่มพืชใต้น้ำที่มีการปรับตัวและวิวัฒนาการอย่างสมบูรณ์ ในกลุ่มของพืชใบเลี้ยงเดี่ยว เป็นพืชชั้นสูงซึ่งมีดอก มีระบบท่อ ลำเลียงอย่างแท้จริง โดยทั่วๆไปแล้วมีลักษณะโครงสร้างคล้ายคลึงกับหญ้าบก หญ้าทะเลมีใบ ลำต้น ราก และระบบสืบพันธุ์ใต้น้ำอย่างสมบูรณ์ สิ่งที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งสำหรับหญ้าทะเลคือ มีลำต้นใต้ดิน (Rhizome) ที่ทอดขนานในแนวราบอยู่ตามพื้น มีข้อต่อ (Node) แบ่งส่วนของลำต้นใต้ดินออกเป็นช่วงๆ
ลักษณะรูปร่างของใบหญ้าทะเล

แบ่งออกอย่างง่ายๆเป็น 2 พวกคือ

1. พวกที่มีใบยาวรี พบได้ในหญ้าทะเลหลายๆชนิด โดยจะมีความแตกต่างกันในเรื่องความยาวของใบเพียงไม่กี่เซนติเมตร จนถึงพวกที่มีขนาดใหญ่ ที่มีความยาวของใบถึง 1 เมตร

2. พวกที่มีใบกลมรี คล้ายใบมะกรูดพวกนี้พบได้ในหญ้าทะเลชนิดที่ค่อนข้างเล็ก ความยาวของใบไม่มากนัก คือ 1-5 เซนติเมตร
สาหร่ายเป็นพืชชั้นต่ำ ไม่มีส่วนที่เป็นราก ลำต้น และใบอย่างแท้จริง มีขนาดตั้งแต่เล็กมาก ประกอบด้วยเซลเพียงเซลเดียว ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตา เปล่า ต้องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ไปจนถึงขนาดใหญ่ประกอบด้วยเซล จำนวนมาก บางครั้งมีส่วนที่คล้ายกับใบแต่ก็ไม่มีสารพวกลิกนิน ช่องอากาศ เช่นเดียวกับหญ้าทะเล นอกจากนี้แล้วสาหร่ายยังมีหลายสี ทั้งสีเขียว สีน้ำตาล สีแดง และที่สำคัญสาหร่ายเป็นพืชไม่มีดอก เมล็ด และผล

สภาพแวดล้อมบริเวณแนวหญ้าทะเล

ชีวิตการเจริญเติบโตของหญ้าทะเลนั้นพบได้ตามท้องทะเล ตั้งแต่พื้นที่เป็นโคลนละเอียดถึงทรายหยาบที่มีปริมาณแสงส่องถึงเพียงพอ ในระดับความลึกไม่เกิน 30 เมตร พบได้ตั้งแต่บริเวณน้ำกร่อยไปจนถึงเขตแนวปะการัง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้องอีก คือ เรื่องความเร็วของกระแสน้ำ ความรุนแรงของคลื่น ปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำ และอุณหภูมิเป็นต้น

ลักษณะพื้นทรายที่พบหญ้าทะเล

บริเวณเกาะพงัน จ. สุราษฎร์ธานี

สิ่งมีชีวิตในบริเวณแหล่งหญ้าทะเล

สิ่งมีชีวิตในแหล่งหญ้าทะเล นอกจากจะประกอบด้วยหญ้าทะเลหลายชนิดแล้วยังมีสิ่งมีชีวิตกลุ่มอื่นๆทั้งพืชและสัตว์ที่สามารถพบได้ในแหล่งหญ้าทะเล ตั้งแต่พืชชั้นต่ำหรือพืชที่มีขนาดเล็กเช่น

แพลงก์ตอน สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังไปจนถึงสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังชั้นสูง จำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเช่น พะยูน ซึ่งสัตว์ทะเลบางชนิดก็อาศัยอยู่ตามบริเวณส่วนต่างๆของหญ้าทะเล เช่น บริเวณใบ หรือแม้กระทั้งรากและเหง้าที่อยู่ใต้ดิน บางชนิดฝังตัวอยู่ตามพื้น บางชนิดเคลื่อนที่อยู่ตามพื้น และบางชนิดก็ว่ายน้ำหรือเคลื่อนที่ไปมาในแหล่งหญ้าทะเล สิ่งมีชีวิตกลุ่มต่างๆเหล่านี้ ปลา กุ้ง และปู จะเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างมีความสำคัญเนื่องจากเป็นกลุ่มสัตว์ทะเลที่มีบทบาทในทางเศรษฐกิจการประมง

ซึ่งเป็นแหล่งรายได้และแหล่งอาหารของชาวประมงพื้นบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นสิ่งมีชีวิตที่พบในแหล่งหญ้าทะเลบางชนิดอาศัยอยู่อย่างถาวร แต่บางชนิดอาศัยอยู่เพียงชั่วคราวในระยะเวลาสั้นๆ เพื่อใช้แหล่งหญ้าทะเลเป็นแหล่งอาหาร หรือ อาศัยอยู่เพียงบางฤดูกาลเพื่อใช้แหล่งหญ้าทะเลเป็นแหล่งผสมพันธุ์วางไข่ในฤดูผสมพันธุ์และเป็นแหล่งอนุบาลตัวอ่อนหลังจากที่ไข่ฝักออกมาเป็นตัว ยกตัวอย่างเช่น ปูม้า ปลาเก๋า หรือปลากะรัง และปลากระพงจะใช้แหล่งหญ้าทะเลเป็นแหล่งผสมพันธุ์ วางไข่ เลี้ยงดูตัวอ่อน ซึ่งในพื้นที่มีการประมงอวนรุนจับลูกปลาเก๋า หรือใช้ลอบและไซดักลูกปลาเก๋าเพื่อนำมาเลี้ยงในกระชัง เช่น ที่อ่าวคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี และอ่าวบ้านทุ่ง แหลมไทร จังหวัดตรัง เป็นต้น

พืช

พืชที่พบในบริเวณแหล่งหญ้าทะเลนอกจากจะประกอบไปด้วยหญ้าทะเลแล้วยังประกอบไปด้วยสาหร่ายทะเล ซึ่งมักเป็นสาหร่ายขนาดเล็ก ขึ้นอยู่ตามพื้นและบนใบของหญ้าทะเล แม้ว่าสาหร่ายทะเลจะมีความสำคัญไม่มากนักในระบบนิเวศน์แหล่งหญ้าทะเล แต่สาหร่ายทะเลก็จัดเป็นผู้เพิ่มผลผลิตขั้นต้นให้กับแหล่งหญ้าทะเล ซึ่งอาจถูกบริโภคโดยสัตว์อื่นที่อาศัยอยู่ในแหล่งหญ้าทะเล และสาหร่ายที่มีขนาดใหญ่บางชนิดอาจนำมาใช้บริโภคเป็นอาหารได้ เช่น สาหร่ายวุ้น (Gracillaria sp.)
และบางชนิดอาจนำมาสกัดสารเคมีบางประเภทได้ อย่างไรก็ตามในบ้านเรายังไม่เห็นประโยชน์ด้านนี้มากนัก

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 14838เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2006 19:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 07:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท