ถึงเวลาถ่ายทอดประสบการณ์ KM ของพวกเรา....วลัยลักษณ์


นี่อาจจะเป็นความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่เป็นความสำเร็จที่เกิดจากความร่วมมือของพวกเราในการทำงานด้วยใจ ไม่ใช่การทำตามหน้าที่

วันนี้ผมได้ใช้เวลาตั้งแต่ 14.00 น จึงถึงเกือบ 6 โมงเย็น ปรึกษาหารือกับหัวหน้าส่วนงานและเพื่อนร่วมงานในส่วนงานที่ผมกำกับดูแล วันนี้เราคุยกันหลายเรื่องมากที่เดียวครับ ผมคิดว่าทุกเรื่องเป็นเรื่องที่มีประโยชน์มาก เพราะมีทั้งเรื่องความก้าวหน้าในการทำงานของแต่ละส่วนงาน รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงาน แต่ที่ดีกว่าการเกิดปัญหา ก็คือ เมื่อหน่วยงานใดเล่าถึงปัญหาในการทำงานที่ประสบมา เพื่อนพนักงานในส่วนงานอื่น ๆ ก็จะช่วยกันระดมความคิดเห็นเพื่อเสนอแนะแนวทางแก้ไข นี่ซิครับถือว่าเป็นบรรยากาศที่ดีในการทำงานร่วมกัน และในบางเรื่องก็ทำให้เกิดความร่วมมือกันที่ปรับปรุงและพัฒนาระบบการทำงานอย่างเต็มใจร่วมกันที่จะทำ ผมขอยกตัวอย่างเช่น เรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งโดยปกติจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันอยู่ 3 หน่วยงาน คือ ส่วนพัสดุ ส่วนการเงิน ส่วนสารบรรณฯ(งานนิติการ) ปรากฏว่าทั้ง 3 หน่วยงานเห็นความสำคัญร่วมกันที่จะจัดระบบควบคุมการปฏิบัติงานข้ามหน่วยงาน เพื่อทำให้สามารถให้บริการบุคคลภายนอก หรือผู้ประกอบการที่เข้ามาจำหน่ายสินค้าหรือบริการให้วลัยลักษณ์ ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนว่า กระบวนการจัดซื้อจนถึงการได้รับเงินจะใช้เวลาเท่าไรในกรณีนั้น และทราบได้ทันทีว่า ณ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการอย่างไร ซึ่งจะช่วยสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้รับบริการ และนี่ผมคิดว่าเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ดีมาก ของการทำงานร่วมกันภายใต้ปรัชญาของวลัยลักษณ์เราที่ว่า รวมบริการ ประสานภารกิจ ซึ่งมีเป้าหมายที่สำคัญคือ บริการที่มีคุณภาพร่วมกัน โดยเน้นที่ความพึงพอใจของผู้รับบริการเป็นหลัก ผมขอชื่นชมนะครับในความคิดริเริ่มดี ๆ อย่างนี้

นอกจากนี้วันนี้ผมยังได้รับข้อมูลจากเพื่อนร่วมงานของผมในส่วน OD ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ถือว่าเป็นหัวข้อหลักของบันทึกในวันนี้ ก็คือ ทางสำนักงานจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ติดต่อมายังงาน OD ของวลัยลักษณ์ ที่ต้องการให้วลัยลักษณ์ช่วยนำเสนอโครงการจัดกิจกรรมKMให้กับข้าราชการของจังหวัด เพราะทราบว่าทางวลัยลักษณ์เรามีประสบการณ์ในเรื่องนี้ ผมเองบอกตรง ๆ รู้ยินดีเป็นอย่างยิ่งครับ เพราะผมถือว่าทางจังหวัดได้เห็นคุณค่าในประสบการณ์การทำ KM ของพวกเราชาววลัยลักษณ์ และยิ่งรู้สึกยินดีมากขึ้นไปอีกที่การนำประสบการณ์ของวลัยลักษณ์ไปถ่ายทอดให้ผู้อื่น จะช่วยสร้างทักษะ ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญให้แก่ทีมหัวหน้าส่วนของวลัยลักษณ์เราที่จะต้องทำหน้าที่เป็นคุณอำนวย และนำประสบการณ์กลับมาพัฒนาการจัดกิจกรรม KM ของพวกเราชาววลัยลักษณ์ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ผมจึงอยากจะบอกว่า การที่บุคคลภายนอกหรือในที่นี้ผมหมายถึง ทางจังหวัดได้เห็นถึงประสบการณ์ที่มีคุณค่าในการทำ KM ของพวกเราชาววลัยลักษณ์ ไม่ใช่เพราะคนใดคนหนึ่ง แต่เกิดจากความร่วมมือ ร่วมใจในการทำงานร่วมกันของพวกเรา โดยเฉพาะทีมหัวหน้าส่วนทุกคน และเพื่อนร่วมงานที่ได้ผ่านโครงการ KM ของวลัยลักษณ์ และคนอื่นที่คอยให้การสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานธุรการหรือกระทั่งพนักงานขับรถ นี่อาจจะเป็นความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ  แต่ผมอยากจะบอกว่า ความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดจากความร่วมมือของพวกเราในการทำงานด้วยใจ ไม่ใช่แค่เพียงหน้าที่ ถือเป็นสิ่งที่วิเศษที่สุดครับสำหรับองค์กร เพราะคนทั่วไปที่ทำงานตามหน้าที่มักจะต้องคำนึงถึงผลตอบแทน(โดยเฉพาะวัตถุครับ) แต่คนที่ทำงานด้วยใจจะไม่คำนึงถึงผลตอบแทน นอกจากความภูมิใจที่ได้ทำเพื่อสิ่งที่เรารัก  ด้วยเหตุนี่ผมจึงอยากจะบอกว่าการทำ  KM ไม่ใช่การทำตามหน้าที่ครับ แต่เป็นการทำด้วยใจของพวกเราที่รักในองค์กร ผมหมายถึง......  วลัยลักษณ์ของพวกเรา ครับ

คำสำคัญ (Tags): #ประสบการณ์
หมายเลขบันทึก: 14829เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2006 19:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
บรรจงวิทย์ ยิ่งยงค์

 

เจ้าหน้าที่ของสำนักงานจังหวัดนครฯ ได้ติดต่อประสานงานมายัง มวล.เพื่อจัดทำ(ร่าง)โครงการการจัดการความรู้  ให้กับข้าราชการ/ส่วนราชการต่างๆ ในจังหวัดฯ   เพื่อจะได้นำเสนอต่อท่านผู้ว่าราชการจังหวัดฯ พิจารณาอนุมัติโครงการต่อไป  (ทั้งนี้ผมคิดว่าท่านผู้ว่าฯ วิชม  ทองสงค์   คงจะให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าวเป็นอย่างดี   เพราะท่านเป็นคนที่มีความสนใจและให้ความสำคัญกับเรื่องการจัดการความรู้มาโดยตลอด  ท่านเคยเดินทางไปเป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องเครือข่ายการจัดการความรู้ในจังหวัดฯ ในงานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ  ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 1-2 /12/48    

หลังจากนั้น  ผมในฐานะผู้ประสานงานของหน่วยพัฒนาองค์กรได้พิจารณาแล้วเห็นว่า  แนวทาง/รูปแบบการจัดโครงการฯที่จังหวัดคาดหวังไว้อาจจะมีส่วนที่แตกต่างไปจากที่ มวล.เคยดำเนินการมาแล้ว   เช่น ระยะเวลาในการจัดโครงการฯ  เป็นต้น  ดังนั้นจึงได้นำเรื่องนี้ปรึกษาหารือกับท่านรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร(รศ.สมนึก) เพื่อคิดรูปแบบ/แนวทางในการทำโครงการฯ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่จังหวัดฯ ให้มากที่สุด โดยได้กำหนดรูปแบบ/แนวทางไว้ในระดับหนึ่งแล้ว  รวมถึงได้ปรึกษาหารือไปยังคุณธวัช  และท่านคุณหมอวิจารณ์  จาก สคส.ในฐานะต้นตำรับ KM ตัวจริง  เพื่อจะได้ให้คำแนะนำถึงแนวทางการดำเนินการที่ดี  ( ขณะนี้อยู่ระหว่างรอคำแนะนำอยู่ครับ) เพื่อเพิ่มความมั่นใจมากขึ้น อันจะเกิดประโยชน์ต่อส่วนราชการต่างๆ ในจังหวัด  และผลสุดท้ายคงจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนต่อไป   

ทาง สคส. อยากขอเชิญ อ. สมนึกเขียนบทความเล่าเรื่องการทำ KM ใน มวล. สัก ๓ - ๔ หน้า A4  เพื่อนำมาลงจดหมายข่าว ถักทอสายใยฯ ฉบับ มีค. - เมย. ๔๙ ครับ  อยากได้ต้นฉบับภายในวันที่ ๒๐ กพ. ครับ    เขียนแบบเล่าสบายๆ เล่าความคิด ความเชื่อ  การดำเนินการ / กิจกรรม  ผลที่เห็นในขณะนี้  แผนที่จะทำต่อ   คำแนะนำสำหรับหน่วยงานที่จะเริ่มต้นทำ KM  ฯลฯ

วิจารณ์ พานิช

ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ มากครับ ที่กรุณาให้ การสนับสนุนช่วยเหลือชาววลัยลักษณ์
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท