สายลม แสงแดด : พลังงานเอื้ออาทร


อย่าเพิ่งไปคิดถึงการใช้พลังงานทางเลือกแทนการใช้ไฟฟ้าปกติทั้งหมด ถ้าคิดแบบนั้นแล้วจะไม่ได้ทำ ขอให้คิดว่าเราจะช่วยกันลดการใช้ไฟฟ้าปกติ ซึ่งผลิตจากน้ำมัน และถ่านหิน หรือเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดมลภาวะอื่นๆ โดยเริ่มจากปริมาณน้อยๆก่อน "

พลังงานเอื้ออาทร ที่ไม่ไกลเกินเอื้อมขอเพียงแต่ตั้งใจจริง 

บันทึกการเดินทางนี้ เป็นบันทึกที่ได้จากการตามไปดูการปฏิบัติงานของอาสาสมัครกลุ่มกรีนพีซไปติดตั้งแผงรับแสงอาทิตย์ และกังหันลม  เพื่อผลิตไฟฟ้า  ที่โรงเรียนปะทิววิทยา อ.ปะทิว จ.ชุมพร

ผู้ร่วมเดินทาง : ครูปาด ครูใหม่ และครูส้ม

เรื่องและภาพ : ครูส้ม  (การแสดงผลอาจเว้นว่างจากตรงนี้มาก  กรุณาเลื่อนลงไปอ่านข้างล่างค่ะ)

บริเวณหน้าที่พัก ยามเช้าตรู่

เราออกเดินทางจากโรงเรียนเพลินพัฒนา
เวลา ๑๔.๐๐ น. ของวันศุกร์ที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
มุ่งหน้าสู่จังหวัดชุมพร
โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา อ.ปะทิว

เมื่อย่างเข้าเขตจังหวัดชุมพร ฟ้าได้มืดไปนานแล้ว
อากาศที่ชุมพรเย็นเหมือนหน้าหนาวที่กรุงเทพฯ
คณะฯได้เดินทางมาถึงบางสะพานน้อยเมื่อ ๒๐.๓๐ น.
แวะที่ปั๊มน้ำมันบางจากที่ได้รับรางวัลสถานีบริการน้ำมันสวยงาม
รางวัลห้องน้ำสะอาดที่สุดในประเทศไทย
และรางวัลสถานีบริการน้ำมันอนุรักษ์ธรรมชาติดีเด่น

ที่นี่ เราพักรับประทานอาหารเย็นกัน
อันได้แก่อาหารที่เหลือจากมื้อกลางวันของป้าๆฝ่ายพัฒนาการศึกษานั่นเอง

ชายหาดหน้าที่พัก เต็มไปด้วยขยะที่มาจากที่อื่น

ทิวสนนี้ทำหน้าที่หลักคือช่วยบังลมฝนยามพัดกระหน่ำใส่ที่พัก

เมื่อถึงเวลา ๒๑.๓๐ น.
หลังจากเปลี่ยนเส้นทางออกกจากถนนเพชรเกษม
เข้าสู่ถนนสายรองขนาดเล็กที่มืดมากมาได้ระยะหนึ่ง
คณะฯ เริ่มสงสัยว่าเส้นทางที่เราใช้อยู่นี้นั้นถูกต้องหรือไม่


จึงได้แวะสอบถามทางจากชาวบ้าน
ซึ่งนอกจากจะยินดีสละเวลามาอธิบายทางให้อย่างชัดเจนและอารมณ์ดีแล้ว
ยังได้ให้หมายเลขโทรศัพท์กับคณะฯเผื่อว่ายังไปไม่ถูก ก็ให้โทรมาถามได้ด้วย
น้ำใจช่างงามและมองการณ์ไกลจริงๆ

ในที่สุด คณะฯ มาถึงที่พักเวลาประมาณ ๒๒.๐๐ น.
ณ บังกาโลชื่อ "หาดสวรรค์ " บ้านบ่อเมา
โดยมีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครของกรีนพีช คือ คุณธงชัย อมรศรีจิรทร และคณะรออยู่ก่อนแล้ว

หลังจากที่ได้แนะนำตัวกัน ครูปาดก็ร่วมวงสนทนาใต้ทิวสน
ริมทะเลอันสงบแต่ไม่เงียบเนื่องจากมีลมพัดตลอดเวลา
ส่วนครูใหม่และครูส้มก็แยกย้ายกันเข้าห้องพักที่อยู่ใกล้ร่มแนวสนเดียวกันนั่นเอง

นับเป็นที่พักที่ขนาดกระทัดรัด อยู่ใกล้ชิดติดหาด
ทำให้คิดถึงพี่ น้อง มิตรสหายที่โรงเรียนเป็นอย่างยิ่ง
อยากให้พี่น้องผองเพื่อนมาเห็นเหลือเกิน

บริเวณร้านอาหารเช้า "Coffee Beach" บ้านบ่อเมา

แหลมแท่น : ที่นี้อาจเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอนาคต

 

หากประชาชนไม่เข้มแข็ง ไม่ช่วยกันปกป้องรักษา อาจไม่ได้เห็นภาพนี้อีก

 

ภาพข้างทางระหว่างที่พักไปศูนย์ศึกษาสิ่งแวดล้อม ฯ

เช้าวันเสาร์ที่ ๔ ก.พ. อากาศร้อน อบอ้าว ต่างกับเมื่อคืนนี้
คณะฯ ก็เก็บข้าวของออกจากที่พักมาที่โรงเรียนปะทิววิทยา


อันเป็นที่ตั้งของศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา จังหวัดชุมพร
และเป็นที่ติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ และ กังหันลม
ที่เราตั้งใจมาดูงานกันในคราวนี้

 

เราได้พบกับอาจารย์สุภาพ ศรีทรัพย์
รองผู้อำนายการโรงเรียน และเป็นเลขานุการของศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา
ซึ่งยินดีต้อนรับคณะของเราด้วยไมตรีที่ดีเยี่ยม

ห้องน้ำของโรงเรียนปะทิววิทยา สร้างโดยกลุ่มนักเรียนที่ไม่ชอบมาเรียน
ซึ่ง อ.สุภาพ ขอว่าไม่เรียนก็ได้แต่ให้มาโรงเรียน จากนั้นก็ชวนให้มาสร้างสิ่งนี้
โดยความเห็นชอบของผู้ปกครองที่อยู่ในชุมชนนั่นเอง

สวนนี้อยู่ตรงข้ามกับสนามกีฬาของโรงเรียน

สนามกีฬา กว้างขวางจริงๆ

แผงรับแสงอาทิตย์ ที่กลุ่มกรีนพีซมาติดตั้งให้กับศูนย์ฯ

ฐานสำหรับติดตั้งกังหันลม

 

คณะฯ ได้ดูการประกอบกังหันลม
และการต่อไฟจากแผงพลังแสงอาทิตย์

คุณธงชัย หรือ หัวหน้าธงของน้องๆชาวกรีนพีซ ได้อธิบายว่า

แหล่งกำเนิดไฟฟ้าทั้งสองนี้จะส่งไฟฟ้ากระแสตรงออกมา

เราจะต้องเก็บกระแสไฟฟ้าที่ได้นี้ไว้ในแบตเตอรี่ (แบบที่ใช้ในรถยนต์)
ซึ่งเปรียบเสมือนแทงค์เก็บน้ำ

เมื่อสะสมได้ปริมาณพอเหมาะจึงจะนำไฟฟ้ามาใช้ได้

โดยการผ่านตัวแปลงไฟฟ้ากระแสตรงให้เป็นไฟฟ้ากระแสสลับ
(เหมือนไฟฟ้าที่เราใช้จากการไฟฟ้าฯ)
และตัวแปลงนี้จะควบคุมให้การปล่อยกระแสไฟฟ้าเป็นไปอย่างคงที่ด้วย

หัวหน้าธง กำลังอธิบายการทำงานของระบบฯ

คุณหนุ่ม-อาสาสมัครที่เพิ่งสิ้นสุดภารกิจจากเรือนักรบสายรุ้ง กำลังต่อระบบกังหันลม

การติดตั้งชุดผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงและลมนี้
คุณธงชัยยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ระดับ ปวช.หรือ ปวส.
รวมกับนักเรียนมัธยมส่วนหนึ่ง
ก็สามารถดำเนินโครงการลักษณะนี้ได้

ใบพัดที่เห็นนี้ อันที่จริงเหมาะกับติดตั้งในทะเลมากกว่า

ตัวเสื้อบรรจุไดนาโม ตัวจ่ายไฟ และเป็นหางเสือในตัว

จานแม่เหล็กกับขดลวดทองแดง คือไดนาโมนั่นเอง

แกนแผ่นแม่เหล็กจะต่อกับใบพัดที่เห็นด้านบน

ชุดผลิตไฟฟ้าที่ชาวกรีนพีชนำมาติดตั้งที่โรงเรียนปะทิววิทยานี้
สามารถผลิตไฟฟ้าส่งให้กับห้องประชุม และปั๊มน้ำของโรงเรียนได้


และหากไฟในแบตเตอรี่อ่อน ซึ่งเกิดจากการเก็บประจุไฟฟ้าไม่ทัน

เมื่อปริมาณไฟฟ้าเหลือน้อย
ก็จะมีลักษณะคล้ายกับน้ำที่ใกล้จะหมดแท้งค์
กระแสน้ำที่ไหลผ่านก็อกก็จะไหลออกมาไม่สม่ำเสมอ

ระบบจะทำการสลับไปใช้ไฟฟ้าปกติจากการไฟฟ้าฯ
เมื่อประจุเต็มก็จะตัดสลับไปใช้ไฟในแบตเตอรี่โดยอัตโนมัติ

หมายเหตุ : การติดตั้งแผงรับแสงอาทิตย์ต้องเอียงรับแสงให้มากที่สุด (แนวเหนือ-ใต้ ดีกว่าหันทางตะวันตก หรือตะวันออก)
และต้องระวังอย่าให้มีเงายาวพาดผ่านแผงรับแสง เพราะจะทำให้วงจรผลิตไฟฟ้าขาดตอน
คุณธงชัยได้เล่าแนวคิดว่า
" อย่าเพิ่งไปคิดถึงการใช้พลังงานทางเลือกแทนการใช้ไฟฟ้าปกติทั้งหมด
ถ้าคิดแบบนั้นแล้วจะไม่ได้ทำ

ขอให้คิดว่าเราจะช่วยกันลดการใช้ไฟฟ้าปกติ
ซึ่งผลิตจากน้ำมัน และถ่านหิน
หรือเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดมลภาวะอื่นๆ
โดยเริ่มจากปริมาณน้อยๆก่อน "

ด้านหลังของแผงรับแสงอาทิตย์

ต้นทุนในการติดตั้งชุดผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดเล็ก
อันประกอบไปด้วย
แผง Solar Cell ๑ แผง
แบตเตอรี่ ๑ ลูก
ระบบรับ-จ่าย-แปลงไฟ

รวมแล้วประมาณ ๒๐,๐๐๐ ถึง ๓๐,๐๐๐ บาท
จะผลิตไฟได้ ๗๕ วัตต์
ในวันที่แดดดีๆ ใช้เวลาเก็บประจุ ๑ วัน
ก็จะสามารถใช้เปิดโทรทัศน์ ๑๔ นิ้ว
พร้อมเปิดหลอดฟลูโอไรเซ่นขนาดเล็ก
ได้ประมาณ ๔ ชั่วโมง
นอกจากคณะของเราจะได้ดูการติดตั้งชุดผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมแล้ว

เรายังได้รับฟังการบรรยาย
จากอาจารย์สุภาพ ศรีทรัพย์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนปะทิววิทยา

พร้อมกับคณะผู้เข้าเยี่ยมชมศูนย์ที่เดินทางมาจากศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา จังหวัดตรัง

เรื่องการสานเครือข่ายจนเกิดเป็นพลังชุมชนอันเข้มแข็ง
ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในอำเภอปะทิว

โดยเริ่มจากชุมนุมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในโรงเรียน
หลังจากนั้นขยายสู่ชุมชนและกลุ่มองค์กรต่างๆ มากขึ้น

ห้องประชุมของโรงเรียนปะทิววิทยา

เป้าหมายของศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา คือ

  • เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น
  • เพื่อปลูกจิตสำนึกเยาวชนในการรักษ์ธรรมชาติ
  • เกิดการรวมตัวเป็นเครือข่าย

กิจกรรมของศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา

  • ทำค่ายสิ่งแวดล้อมทุกปีโดยให้เด็กนักเรียนชั้นประถมในอำเภอปะทิวเข้าร่วม
  • ทำงานเกี่ยวกับส่งแวดล้อมทุกๆ ด้าน
  • เป็นวิทยากรพี่เลี้ยงในการให้ความรู้
  • ทำงานร่วมกับชุมชน
  • เป็นศูนย์ประสานงาน
อาจารย์สุภาพยังได้บอกเล่าว่า

ชาวปะทิวร้อยละ ๙๐ ผ่านการอบรมและรักสิ่งแวดล้อม
และได้รวมกันกลุ่มรักษาสิ่งแวดล้อมกระจายอยู่ตามจุดต่างๆในอำเภอ

เมื่อมีการพบเห็นการกระทำใดๆที่มีผลกระทบโดยตรงกับสิ่งแวดล้อมโดยตรง
ก็จะไปแจ้งเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจสั่งการทราบ

แม้แต่หอยมือเสือแค่ตัวเดียวที่นักท่องเที่ยวนำขึ้นจากทะเล
ชาวบ้านที่พบเห็นก็ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการจับกุมทันที

อ.สุภาพ อ.สุชาติ คุณธงชัย และเจ้าหน้าที่กลุ่มกรีนพีซ

สำหรับการทำให้นักเรียนหันมาสนใจในสิ่งแวดล้อมนั้น
มักจะจัดในรูปแบบของการออกค่ายสิ่งแวดล้อม
รวมทั้งการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์โดยชมรมอนุรักษ์ฯ ต่างๆในอำเภอ

การได้มาสัมผัสกับกลุ่มกรีนพีชก็ทำให้มีโอกาสนำเด็กเข้าไปสัมผัสกับเรื่องสิ่งแวดล้อม
และทำกิจกรรมได้มากขึ้น

และเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
เรือนักรบสายรุ้ง (Rainbow Warrior) ได้มาแวะทอดสมอที่ปะทิว
เป็นที่สนใจของนักเรียนในอำเภอปะทิว
และชาวบ้านที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงมาก
แม้แต่โรงเรียนนานาชาติที่ภูเก็ต
ก็ยังพานักเรียนเดินทางมาเยี่ยมชมและพูดคุยกับลูกเรือด้วย
หลังการบรรยาย
อาจารย์ยังบอกอีกว่าว่าการทำงานแบบนี้ต้องมีเพื่อนเยอะ
หากมีงานที่ไหนก็จะไปเข้าร่วมเสมอ
หากไม่ว่างก็จะส่งตัวแทนไป

เร็วๆนี้อาจารย์จะไปบันทึกเทปรายการค้นคนดีศรีแผ่นดิน

และ เสาร์หน้าไปอบรมเกี่ยวกับเด็กติดเกมที่ทวินทาวเวอร์
มีการนำนักเรียนที่เป็นนักวิจัยน้อยไปสองคน
เพื่อขยายเครือข่ายและให้นักเรียนมีประสบการณ์นอกโรงเรียนและชุมชนของตนเอง

เตรียมนำกังหันขึ้น

เจ้าหน้าที่กรีนพีซ อาสาสมัคร และนักเรียนโรงเรียนปะทิววิทยา

การเดินทางของคณะเราในครั้งนี้
นับเป็นการมาพบเพื่อนใหม่ในเส้นทางของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ทุกคนที่เราได้รู้จักล้วนน่ารัก
น่านับถือในความตั้งใจและเป็นนักปฏิบัติตัวจริง

คณะของเราได้ความรู้ในระบบผลิตไฟฟ้า
จากพลังแสงอาทิตย์และพลังงานลม
และยังได้เห็นตัวอย่างจากการสร้างเครือข่ายโดยเริ่มจากโรงเรียน
จนเกิดเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง โดยมีโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง

และคณะของเราก็ได้แนะนำเพื่อนใหม่ให้รู้จักกับเครื่องมือที่ใช้สานเครือข่าย
ของสถาบันจัดการความรู้เพื่อสังคม
คือ gotoknow.org
เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการประสานความคิด
และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ได้ง่ายขึ้น
ทั้งหมดนี้จะเกิดเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในวงที่กว้างขึ้น
จากคนหนึ่ง สู่ชุมชนหนึ่ง
และจะสานกันเป็นเครือข่ายครอบคลุมทั้งประเทศไทยได้ในที่สุด
   
ข้อมูลเบื้องต้น
ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา
จังหวัดชุมพร โรงเรียนปะทิววิทยา
อ.ปะทิว จ.ชุมพร 86160
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชุมพร เขต 1
โทรศัพท์ : 077 - 591176
โทรสาร : 077 - 591043
ทรัพยากรบุคคล

อ.สุชาติ ชูชีพ
ผู้อำนวยการโรงเรียนปะทิววิทยา
ประธานศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา จังหวัดชุมพร

อ.สุภาพ ศรีทรัพย์
รองผู้อำนายการโรงเรียนปะทิววิทยา
เลขานุการศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา จังหวัดชุมพร

เราคงมีโอกาสได้พบกันอีก

 
เป้าหมายต่อไปของคณะฯ คือ
บ้านกรูด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ซึ่งเป็นเป้าหมาย
ในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งต่อไป

หมายเลขบันทึก: 14827เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2006 22:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท