Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๒๖)_๓


Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๒๖)_๓

         ผลการดำเนินงานการจัดการความรู้ดังกล่าวก่อให้เกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ทุกคนในองค์กรมีส่วนร่วมในการวางแผน คิดและตัดสินใจ  เกิดชุมชนนักปฏิบัติ (เช่น กลุ่มสิ่งแวดล้อม  โรคติดเชื้อ เป็นต้น)  บรรยากาศในการทำงานดีขึ้น ลดภาระงานประจำลง เกิดมีขุมความรู้ที่แสดงออกในหลายรูปแบบ (เช่น สิ่งประดิษฐ์  ระบบการบริหารงาน ระบบการดูแลผู้ป่วย เป็นต้น) ประชาชนได้รับบริการที่ดี มีความพอใจในบริการ มีสถานะสุขภาพดีขึ้น 
         การสังเกตปฏิกิริยาของผู้เยี่ยมชมนิทรรศการ พบว่า ส่วนใหญ่ให้ความสนใจอ่านป้ายนิทรรศการ จดบันทึก ขอเอกสารและถ่ายรูปเก็บไว้  มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างผู้เยี่ยมชมนิทรรศการกับหน่วยงานเล็กน้อย

3.5 โรงพยาบาลตาคลี : บูรณาการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพ
         โรงพยาบาลตาคลี เป็นหนึ่งในสมาชิกเครือข่ายจัดการความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลทั้งจังหวัดนครสวรรค์  มีการนำแนวทางจัดการความรู้หลากหลายทฤษฎีร่วมกับทฤษฎีองค์กรแห่งการเรียนรู้ (learning organization)มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาองค์กรและคุณภาพการรักษาพยาบาล
         ในการดำเนินการจัดการความรู้โรงพยาบาลตาคลีดำเนินการโดยใช้บันได 4 ขั้นสู่ knowledge management และ learning organizationตั้งแต่ขั้นที่ 1 เริ่มต้น ศึกษารวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการความรู้ กำหนดบุคคลรับผิดชอบในหน้าที่ต่าง ๆ ขั้นที่ 2 ติดตั้งระบบมีการกำหนดวิสัยทัศน์และพันธกิจของการจัดการความรู้ บรรจุการจัดการความรู้เข้าไปเป็นหนึ่งในแผนงาน จัดทำแผนปฏิบัติการ ประชาสัมพันธ์และรณรงค์การจัดการความรู้ในโรงพยาบาล สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้โดยการจัดทำมุมจัดการความรู้ (KM corner) และศูนย์กลางการจัดการความรู้(KM center) ใช้หลักการประเมินตนเองเป็นแนวทางการจัดการความรู้ของโรงพยาบาล และมีการตรวจสอบความรู้ การสกัดความรู้ สร้างเครือข่ายการจัดการความรู้ (KM network) ขั้นที่ 3 (ดำเนินการ) จัดทำคู่มือแนวทางการดำเนินงานการจัดการความรู้ในโรงพยาบาล  อบรมให้ความรู้ให้แก่บุคลากรในองค์กร กำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ (knowledge activities) แบบทางการ/ไม่เป็นทางการ  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (knowledge sharing) ระหว่างกันทั้งภายในและภายนอกองค์กร สร้างขุมความรู้ เช่น สมุดหน้าเหลือง เป็นแผนที่ความรู้ทั้งในและนอกองค์กร คู่มือการปฏิบัติ เป็นต้น และขั้นสุดท้ายขั้นที่ 4 ประเมินผล มีการกำหนดเครื่องชี้วัดและวัดผลการดำเนินงานการจัดการความรู้ในโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง นอกจากการพัฒนาคุณภาพภายในโรงพยาบาลของตนเองแล้วยังมีการเผยแพร่การขยายผลโดยการนำแนวทางการจัดการความรู้ลงสู่ศูนย์สุขภาพชุมชนในอำเภอตาคลีอีกด้วย
         ผลการดำเนินงานการจัดการความรู้เกิดองค์ความรู้ และแนวทางปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยในกรณีต่างๆ  เช่น การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน   การพัฒนาแนวทางปฏิบัติทางคลินิกเรื่องการดูแลผู้ป่วยเพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ เป็นต้น
         การสังเกตปฏิกิริยาของผู้เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการ พบว่า ส่วนใหญ่ให้ความสนใจอ่านป้ายนิทรรศการ จดบันทึก ขอเอกสาร ถ่ายรูป และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการในการจัดการความรู้ในองค์กร วิธีการดำเนินการแต่ละขั้นตอน และประสบการณ์ในการจัดการความรู้ระหว่างผู้เยี่ยมชมกับผู้จัดนิทรรศการ

3.6 การจัดการความรู้โรงพยาบาลเครือข่ายจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
         สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยานำกระบวนการจัดการความรู้เข้ามาประยุกต์ใช้ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างโรงพยาบาล เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล ของโรงพยาบาลทั้ง 16 อำเภอในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  โดยเน้นประเด็นการเรียนรู้ที่โรงพยาบาลมักจะไม่ผ่านการประเมิน HA (hospital/ healthcare accreditation ) จากสถาบันพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.)
         กระบวนการในการจัดการความรู้ของเครือข่ายโรงพยาบาลในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเน้นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และศึกษาของจริงของกลุ่มโรงพยาบาลที่คาดการณ์ว่าจะผ่านการรับรองคุณภาพโรงพยาบาลจากสถาบันพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.) ผ่านกิจกรรมที่เรียกว่า HA สัญจร โดยโรงพยาบาลเจ้าภาพเป็นผู้กำหนดประเด็นในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่โรงพยาบาล นั้นๆ ต้องการคำแนะนำและข้อเสนอแนะจากเพื่อนต่างโรงพยาบาล นำเครื่องมือธารปัญญามาเป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สำหรับวิธีการในการเผยแพร่ความรู้จะดำเนินการผ่านเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่าย ในการดำเนินการดังกล่าวเกิดผลทำให้คุณภาพการบริการได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น สำหรับแนวทางในระยะต่อไป  จะขยายผลไปสู่การจัดการเรียนรู้ในกลุ่มสถานีอนามัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการบริการ
         อนึ่ง การสังเกตปฏิกิริยาของผู้คนที่มีปฏิสัมพันธ์กับนิทรรศการ พบว่า ส่วนใหญ่สนใจอ่านป้ายนิทรรศการ จดบันทึก ขอเอกสาร  และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงานเกี่ยวกับกระบวนการในการจัดการความรู้ที่ดำเนินการอยู่ ปัญหา/อุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินการในแต่ละขั้นตอน และมีวิธีการแก้ไขปัญหานั้น ๆ อย่างไร เช่น ปัญหาที่พบในการเล่าเรื่อง เป็นต้น

3.7 เครือข่ายการจัดการความรู้ดูแลผู้ป่วยเบาหวาน    โรงพยาบาลเทพธารินทร์
         เครือข่ายการจัดการความรู้การดูแลผู้ป่วยเบาหวานเกิดขึ้นจากความต้องการพัฒนาศักยภาพด้านการดูแลผู้ป่วยเบาหวานของโรงพยาบาลที่เป็นสมาชิกในเครือข่าย(คือกลุ่มโรงพยาบาลที่มีการปฏิบัติด้านการดูแลผู้ป่วยเบาหวานเป็นเลิศ)  และใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาการปฏิบัติงานของพนักงานในการจัดการความรู้ จะใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนรู้จากประสบการณ์ความสำเร็จในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานของโรงพยาบาลที่เป็นสมาชิกเครือข่าย ผ่านตลาดนัดความรู้ โดยมีกระบวนการหลัก ๆ ได้แก่ การให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการความรู้แก่ “คุณอำนวย”เพื่อไปขยายผลการจัดการความรู้ต่อไปในโรงพยาบาลของตนเอง  การแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ได้รูปแบบการสร้าง “ขุมความรู้” ที่ได้จากการปฏิบัติร่วมกัน เกิดกลุ่มคุณอำนวย (CoPs) ในการสร้างเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน และมีกระบวนการในการติดตามความก้าวหน้าของสมาชิกเครือข่ายผ่านกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน
         สำหรับผลจากการดำเนินการดังกล่าว พบว่า โรงพยาบาลในเครือข่ายสามารถนำความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยเบาหวานไปดำเนินการจริงในโรงพยาบาลของตนเองได้ มีการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านทางจดหมายข่าว และบล็อก
         จากการสังเกตปฏิริยาของผู้เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการ พบว่า ส่วนใหญ่สนใจอ่านป้ายนิทรรศการ จดบันทึก ขอเอกสารเผยแพร่ และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงานบ้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับดูแลผู้ป่วยเบาหวาน เช่น รองเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

3.8 การจัดการความรู้ในคณะแพทย์ มอ.
          คณะแพทย์ศาสตร์ มอ.ใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือในการพัฒนางานและพัฒนาองค์กร  โดยนำกระบวนการจัดการความรู้ไปบูรณาการใช้ร่วมกับงานประจำและดำเนินการในทุกจุดย่อย  เน้นการทำงานเป็นทีม มีการจัดโครงการพยาธิ 1 ทีม 1 โครงการ เน้นการทำงานของทีมผู้ปฏิบัติโดยมีหัวหน้างานเป็นพี่เลี้ยง และมีระบบพี่เลี้ยง (peer assist) (ผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ในหน่วยงานอื่นมาเป็นที่ปรึกษา) จากนั้นจัดเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมกันสกัดความรู้ที่ได้ของแต่ละกลุ่ม รวมทั้งจัดรางวัลเสริมแรงจูงใจ
         สรุปได้ว่ากระบวนการจัดการความรู้ของคณะแพทย์ศาสตร์ มอ. เริ่มตั้งแต่การจัดตั้งคณะทำงาน ลงมือปฏิบัติ บันทึกผลจากการปฏิบัติ  นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันโดยการเล่าเรื่อง  สกัดความรู้ร่วมกันเกิดเป็นชุดความรู้ ร่วมกันวางแผน นำชุดความรู้ดังกล่าวไปปฏิบัติ
         ผลการดำเนินงานการจัดการความรู้ พบว่า บุคลากรระดับปฏิบัติสามารถจัดการความรู้ของตนเองได้ สามารถทราบได้ว่าตนเองมีความรู้ความชำนาญด้านใด และต้องการความรู้ด้านใดเพิ่มเติม และจะสามารถค้นหาความรู้ที่ต้องการนั้นได้อย่างไร   นอกจากบุคลากรได้รับการพัฒนาดังกล่าวแล้ว  ผลที่ได้อีกประการคือ การทำงานเป็นทีม และการพัฒนาทุกกระบวนการไปพร้อม ๆ กัน  เกิดเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามกลุ่ม ข้ามสายงาน  งานได้รับการพัฒนาขึ้น
         จากการสังเกตปฏิริยาของผู้เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการ พบว่า ส่วนใหญ่สนใจอ่านป้ายนิทรรศการ จดบันทึก ขอเอกสารเผยแพร่ และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงานไม่มากนัก

4. การจัดการความรู้ ภาคการศึกษา (จัดการความรู้ประยุกต์)
 4.1“รุ่งอรุณ” การจัดการความรู้โรงเรียนวิถีพุทธ
         โรงเรียนรุ่งอรุณถือเป็นโครงการนำร่องในการจัดการศึกษาที่มีกระบวนการบูรณาการองค์ความรู้อย่างหลากหลายให้กับผู้เรียนบนพื้นฐานของพุทธธรรม กล่าวได้ว่า โรงเรียนรุ่งอรุณใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือเพื่อพัฒนากระบวนการเรียนจัดการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนได้กระบวนการเรียนรู้ที่ครบถ้วนทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ  ก่อเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ  โดยเริ่มจากการที่คุณครูทุกคนในโรงเรียนรุ่งอรุณได้รับการฝึกอบรมเพื่อเข้าสู่การจัดการเรียนรู้แบบใหม่ เริ่มด้วย 1) การตั้งคำถาม (quest) ให้ระบุคุณค่าของเนื้อหาวิชาและผลที่จะเกิดขึ้นกับตัวผู้เรียนให้ชัดเจน 2) การเปิดโอกาส (opportunity) ให้ครูหาแนวทางถ่ายทอดวิชาที่หลากมิติแก่ผู้เรียน 3) ให้แบบแผนแนวทาง (guideline) คือ   แบบการสร้างหน่วยการเรียนรู้แบบบูรณาการ 4) สร้างทีมกัลยาณมิตร/ระบบพี่เลี้ยง 5) การสร้างเวทีประมวลประสบการณ์ (changeexperiences) โดยทีมครูแต่ละระดับชั้น มีครูใหญ่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์
         ผลการดำเนินงานดังกล่าวทำให้มีการออกแบบแผนการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับผู้เรียน ครูสามารถจัดสมดุลระหว่างเนื้อหาวิชา ภาวะการเรียนรู้ของเด็ก สถานการณ์และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม 
         อนึ่ง การสังเกตปฏิริยาของผู้เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการ พบว่า ส่วนใหญ่สนใจอ่านป้ายนิทรรศการ จดบันทึก ขอเอกสารเผยแพร่ และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงานไม่มากนัก

 4.2  “เพลินพัฒนา” ชุมชนแห่งการเรียนรู้ ผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรม
         โรงเรียนเพลินพัฒนาก่อตั้งขึ้นภายใต้แนวคิดที่จะให้โรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ มีการเชื่อมโยงเครือข่ายพ่อแม่เข้ามามีส่วนในการสร้างการเรียนรู้ให้ผู้เรียน จึงเป็นการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันทั้งผู้ปกครองและนักเรียน โรงเรียนเพลินพัฒนามีออกแบบการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมและบริบทของชุมชน เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ผ่านกระบวนการวัฒนธรรม
         โรงเรียนเพลินพัฒนาใช้การจัดการความรู้เพื่อพัฒนางาน พัฒนาคนและพัฒนาองค์กรไปสู่เป้าหมายการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้  เริ่มด้วยการบริหารจัดการตามแนวทางโรงเรียนเล็กในโรงเรียนใหญ่ มีการแบ่งกระจายอำนาจการบริหารไปสู่ครูในสายชั้นต่าง ๆ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามสายชั้น เรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้บริหาร ครูและผู้ปกครองเพื่อสะท้อนประสบการณ์การทำงานร่วมกัน
         นอกจากนี้ยังมีการสร้าง “ชุมชนแห่งการเรียนรู้ผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรม” ร่วมกันระหว่างครู ผู้ปกครองและนักเรียน ซึ่งมีกระบวนการดังนี้ ทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างครูและผู้ปกครองเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินงานของโรงเรียนและบทบาทของผู้ปกครองในการสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียน คัดเลือกนักเรียน ที่จะร่วมโครงการ ทำความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับกระบวนการเรียนการสอนของโรงเรียน โดยผู้ปกครองมีส่วนเข้าร่วมเรียนรู้และร่วมพัฒนากระบวนการสอน รวมทั้งมีส่วนร่วมในกิจกรรมพัฒนาการเรียนรู้ต่างๆ สอดแทรก กิจกรรมให้เด็กได้เรียนรู้และปฏิบัติ ในรูปแบบของการทำโครงงาน “ชื่นใจที่ได้เรียนรู้” โดยการนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาบรูณาการความรู้ที่ได้เรียน สังเคราะห์และประมวลเป็นความรู้ใหม่ขึ้นมา มีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน เรียนรู้จากการประสบการณ์จริงของปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ตามธรรมชาตินอกห้องเรียนร่วมกัน
         ผลการดำเนินงานการจัดการความรู้ พบว่า กระบวนการเรียนการสอนพัฒนาขึ้น เด็กได้เรียนรู้ว่า ความรู้ ผู้ที่ให้ความรู้ แหล่งรู้และวิธีการเรียนรู้มีความหลากหลาย ทุกคนสามารถเป็นผู้ให้ความรู้ได้ทั้งสิ้น เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างโรงเรียน เด็ก ผู้ปกครองชุมชน จากกระบวนการเรียนรู้ที่เด็กได้รับจากชุมชน เด็กนำความรู้ดังกล่าวไปถ่ายทอดสู่ผู้ปกครอง  เกิดความสนใจจัดตั้งกลุ่มที่มีความสนใจในประเด็นเดียวกันเข้าไปเรียนรู้เพิ่มเติมจากชุมชนอีกครั้ง เกิดเป็นขุมความรู้ที่หลากหลายระหว่างผู้ปกครองและชุมชน
         อนึ่ง การสังเกตปฏิริยาของผู้เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการ พบว่า ส่วนใหญ่สนใจอ่านป้ายนิทรรศการ จดบันทึก ขอเอกสารเผยแพร่ และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงานไม่มากนัก

4.3 จิระศาสตร์วิทยา การจัดการความรู้บนฐานการจัดการศึกษา “นอกกรอบกะลา”
         โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยาเป็นโรงเรียนที่มีการจัดการความรู้อยู่ภายในทั้งระบบโครงสร้างและฝังแน่นอยู่ในเนื้องาน และกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ทั้งครู และนักเรียน กล่าวได้ว่ากระบวนการจัดการความรู้ของจิระศาสตร์วิทยาเป็นไปอย่างเป็นอัตโนมัติ โดยมุ่งหวังเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรในโรงเรียนและคุณภาพของนักเรียน
         กระบวนการในการจัดการความรู้ของบุคลากรมีดังนี้  มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเพื่อพัฒนาคุณภาพบุคลากรในโรงเรียน โดยการจัดประชุมคณะครูเป็นประจำสม่ำเสมอทั้งในกลุ่มใหญ่และกลุ่มย่อย เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในประสบการณ์การแก้ไขปัญหา และการเพิ่มพูนความรู้กันและกันภายหลังจากที่โรงเรียนส่งไปร่วมอบรม สัมมนา และศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งร่วมกันออกแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับวัยของเด็กนักเรียน
          สำหรับกระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพนักเรียน  เริ่มด้วยการจัดการเรียนรู้นอกห้อง เรียน เรียนรู้จากสถานที่จริง มีการให้สาระความรู้ที่ได้จากตำราโดยครูผู้สอน  และในขณะที่เรียนรู้จากสถานที่จริง นักเรียนก็จะได้เรียนรู้จากภูมิปัญญาชาวบ้านหรือจากเจ้าหน้าที่ในแหล่งเรียนรู้นั้น ๆ จากนั้นจึงนำความรู้ทั้งสองส่วนที่ได้รับมาบูรณาการและสร้างขึ้นเป็นความรู้ใหม่ของตนเอง นำไปสู่การประยุกต์ใช้และสร้างผลงาน ให้ครูผู้สอนสามารถตรวจสอบความรู้ ความเข้าใจของนักเรียนได้ และเพิ่มเติมให้ถูกต้อง นอกจากนี้ยังมีการประเมินตนเองของนักเรียน ซึ่งมีครู และผู้ปกครองร่วมประเมินด้วย
         ในการดำเนินการจัดการความรู้ดังกล่าว พบผลที่น่าสนใจคือ ศิษย์ที่จบการศึกษาจากโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยามีคุณภาพ กล้าคิด กล้าทำ  ครูใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาการเรียนการสอนให้มีคุณภาพมากขึ้น
         อนึ่ง การสังเกตปฏิริยาของผู้เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการ พบว่า ส่วนใหญ่สนใจอ่านป้ายนิทรรศการ จดบันทึก ขอเอกสารเผยแพร่ และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงานไม่มากนัก

5.  การจัดการความรู้ ภาคเอกชน (จัดการความรู้มีรูปแบบ)
5.1 TRUE : KM IT เพื่อธุรกิจ
         TRUE คอร์ปอเรชั่น เป็นธุรกิจด้านการสื่อสาร เริ่มจัดการความรู้ในองค์กรโดยการเข้าร่วมเป็น 1 ใน 4 หน่วยงานที่เข้าร่วมในโครงการนำร่อง “การจัดการความรู้ในองค์กร” ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ  มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดการปรับปรุงคุณภาพบริการขององค์กรให้สะดวกและรวดเร็วขึ้น สามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่มีประสิทธิภาพให้ถึงมือลูกค้า และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน
         ทรู คอร์ปอเรชั่นใช้กระบวนการจัดการความรู้เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว โดยเริ่มโครงการบริหารจัดการความรู้ในส่วนของสายงานบริการลูกค้า (customer management) อย่างไรก็ตามในการจัดการความรู้ของทรู คอร์ปอเรชั่น จะดำเนินการตามแนวคิดของ RobertOsterhoff ที่นำเสนอรูปแบบการจัดการความรู้ดังนี้   (1) การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม   วิธีคิดและทัศนคติของคนในองค์กร  (transition andbehaviour   manangement)      เพื่อให้ตระหนักและก่อให้เกิดความพร้อมในการจัดการความรู้   (2) การติดต่อสื่อสาร (communication) เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีช่องทางที่ดี  มีประสิทธิภาพ พร้อมที่จะนำความรู้ต่างๆ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน (3) กระบวนการและเครื่องมือ(processand tool) มีการกำหนดขั้นตอนต่างๆ ตลอดจนเทคโนโลยีหรือเครื่องมือที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ (4) การอบรบและการเรียนรู้(training/learning)  (5) ตัวชี้วัด (measurement) มีการกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการที่เหมาะสม มีกระบวนการในการจัดทำตัวชี้วัดร่วมกันภายในองค์กร เพื่อให้ได้ตัวชี้วัดที่เหมาะสมแยกตามประเภทและสอดคล้องกับสถานการณ์จริงและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้  และ (6)การยอมรับและให้รางวัล (recognition and reward) เพื่อกระตุ้น ผลักดันและส่งเสริมการดำเนินโครงการให้ไปบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยเน้นที่การจัดทำ self – motivation และ self - rewarding โดยกระบวนการทั้งหมดจะยึดเป้าหมาย (goal) ขององค์กร( a livingcommunication) เป็นหลัก เมื่อเริ่มดำเนินการ มีการวางแผน จัดเตรียมระบบ จัดเตรียมทีมงานและสำรวจความพร้อมของบุคคลากร โดยการจัดประชุมชี้แจงวัตถุประสงค์ของการจัดการความรู้ในองค์กร จัดทำแผนงานทั้งในระดับ master plan, detail planและ implement plan จัดทำโครงสร้างความรู้ (knowledge organization) มีการจัดตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในแต่ละเรื่องของความรู้เพื่อให้ข้อมูลและคำปรึกษา โดยใช้เครื่องมือที่เน้นการสื่อสารแบบสองทาง(two way communication) คือ website (Intranet)
         การดำเนินงานการจัดการความรู้มีผลลัพธ์ที่สำคัญเกิดขึ้น คือ มีการรวบรวมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันภายในสายงาน แต่เป็นการดำเนินการภายในเฉพาะกลุ่มในแต่ละหน่วยงานย่อย แต่ยังขาดกระบวนการจัดการให้เป็นระบบ และขาดการแลกเปลี่ยนเรียนข้ามสายงาน (crossfunction) มีการเผยแพร่ความรู้ที่เกิดขึ้นผ่านทาง website ขององค์กร(intranet)  มีกระบวนการในการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ระหว่างกัน(share knowledge)
         แนวทางที่จะดำเนินการในระยะต่อไปคือ  (1)การจัดตั้งชุมชนนักปฏิบัติ (community of practice) (2) การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (learningorganization)  (3)การนำตัวอย่างปฏิบัติที่ดีทั้งภายในและภายนอกองค์กรมาเป็นตัวกระตุ้น เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานจนสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง เพื่อพัฒนาศักยภาพในการทำงานและให้บรรลุเป้าหมายขององค์กรต่อไป และ (4) การพัฒนาและปรับปรุงขีดความสามารถของเทคโนโลยี (technology enhancement) ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการความรู้อย่างต่อเนื่อง
         อนึ่ง การสังเกตปฏิกิริยาของผู้เยี่ยมชมนิทรรศการ พบว่า ส่วนใหญ่ให้ความสนใจอ่านป้ายนิทรรศการ จดบันทึก ขอเอกสารและถ่ายรูปเก็บไว้ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างผู้เยี่ยมชมนิทรรศการกับหน่วยงานเล็กน้อย

5.2 ปูนซิเมนต์ไทย  Knowledge Management จากประสบการณ์
         ปูนซิเมนต์ไทยเป็นองค์กรภาคธุรกิจที่ใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือ เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ในกระบวนการการจัดการความรู้ของปูนซิเมนต์ไทยเริ่มด้วยการจัดตั้งคณะทำงานที่เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ (best practice) มาทำหน้าที่แบ่งปันความรู้ให้กับหน่วยงานอื่น ๆ  ทำ knowledge sharing ผ่านทาง web board และ web site ของหน่วยงาน เพื่อเป็นฐานข้อมูลความรู้ขององค์กร (knowledge base) นอกจากนี้ยังมีกระบวนการประเมินทดสอบความสามารถของพนักงานเพื่อกระตุ้นให้พนักงานเข้ามาเรียนรู้ใน web site/web board ที่จัดทำขึ้นอีกด้วย มีการเผยแพร่ความรู้ผ่านนิทรรศการ (exhibition) เพื่อแนะนำและส่งเสริมให้พนักงานทุกคนเข้ามาเรียนรู้ผ่าน website ของหน่วยงาน
         อนึ่ง การสังเกตปฏิกิริยาของผู้เยี่ยมชมนิทรรศการ พบว่า ส่วนใหญ่ให้ความสนใจอ่านป้ายนิทรรศการ จดบันทึก ขอเอกสารและถ่ายรูปเก็บไว้ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างผู้เยี่ยมชมนิทรรศการกับหน่วยงานเล็กน้อย

5.3 สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
         สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่ผลักดันและส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพ และเป็นองค์กรบริหารจัดการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ และมีบทบาทในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่การจัดการความรู้ของประเทศไทยในหลายด้าน อาทิ เช่น จัดโครงการนำร่องการจัดการความรู้ใน 4 องค์กรระหว่างปี 2546-2547 นับเป็นกิจกรรมแรก ๆ ของการจัดการความรู้ในประเทศไทย ร่วมมือกับ กพร.(สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ)ในการขับเคลื่อนการจัดการความรู้ในหน่วยงานราชการ เป็นต้น โดยมุ่งหมายว่าการจัดการความรู้จะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการช่วยพัฒนาคุณภาพบุคลากร การทำงานและองค์กรให้สามารถดำเนินงานได้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้
         ในการจัดกระบวนการจัดการความรู้นั้นสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติใช้วงจรการจัดการความรู้แบบ 3 มิติ โดยการบูรณาการ KM กระบวนการความรู้และปัจจัยเอื้อเข้ามาไว้ด้วยกัน โดยในแต่ละประเด็นมีองค์ประกอบดังนี้      (1) ปัจจัยเอื้อ ประกอบด้วย ภาวะผู้นำและกลยุทธ์ วัฒนธรรมองค์กร เทคโนโลยีด้านการจัดการความรู้ การวัดผลและโครงสร้างพื้นฐาน (2) วงจร KM  ประกอบด้วย การวัด การเปลี่ยนแปลงและพฤติกรรม กระบวนการและเครื่องมือ การเรียนรู้ การวัดผล และการยกย่องชมเชย และ    (3)กระบวนการความรู้ ประกอบด้วย การค้นหาความรู้ การสร้างและแสวงหาความรู้ การจัดการความรู้ให้เป็นระบบ การประมวลและกลั่นกรองความรู้ การเข้าถึงความรู้ การแบ่งปัน แลกเปลี่ยนความรู้และการเรียนรู้
         อนึ่ง ในการสังเกตปฏิกิริยาของผู้เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการ พบว่า ส่วนใหญ่ให้ความสนใจอ่านป้ายนิทรรศการ จดบันทึก และถ่ายรูปเก็บไว้

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 14805เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2006 16:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท