Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๒๖)_๒


Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๒๖)_๒

         อนึ่ง ในการสังเกตปฏิกิริยาของผู้คนที่มีปฏิสัมพันธ์กับนิทรรศการ พบว่า ผู้เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการส่วนใหญ่ให้ความสนใจจดบันทึก ขอเอกสารและถ่ายรูปเก็บไว้ และมีบางส่วนที่ให้ความสนใจซักถามแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับองค์กรเกี่ยวกับกระบวนการจัดการเครือข่ายที่ดำเนินการอยู่
2.4 เครือข่ายชุมชนนักปฏิบัติการจัดการความรู้เพื่อพิจิตรเข้มแข็ง
พิจิตรประสบปัญหาที่สำคัญ 2 ด้านคือ ปัญหาด้านสุขภาพอันเนื่องมาจากการตกค้างของสารเคมีในเลือด และปัญหาด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากดินเสื่อมทำการเกษตรไม่ได้ผล มีภาระหนี้สินเพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลจากการใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรม ดังนั้นสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตรและมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตรร่วมกันผลักดันให้เกิดเครือข่ายเกษตรปลอดสาร โดยใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของเกษตรกรบนพื้นฐานชุมชนและองค์ความรู้ที่มีอยู่ เพื่อนำไปสู่การลด ละ เลิกการใช้สารเคมีอย่างสิ้นเชิง
         การดำเนินงานจัดการความรู้ของเครือข่ายเกษตรปลอดสารเริ่มด้วย การศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการจัดการความรู้  กำหนดตัวบุคคลในการทำหน้าที่ “คุณอำนวย”และ “คุณลิขิต” จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันจากประสบการณ์จริง ร่วมเรียนรู้และศึกษาดูงานจากแหล่งเรียนรู้ภายนอก  พัฒนาศักยภาพทีมงาน/กลไกการขับเคลื่อน มีทีมบริหารในการกำหนดทิศทางการทำงาน การขับเคลื่อนและการเรียนรู้ และนำเครื่องมือชุดธารปัญญามาใช้ในกระบวนการจัดการความรู้
การดำเนินการดังกล่าวเกิดผลลัพธ์ที่สำคัญ คือ มีการประยุกต์ใช้การจัดการความรู้เข้ากับงานประจำ ทั้งในกลุ่มของเกษตรกรและกลุ่มของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข  เกิดชุมชนนักปฏิบัติในประเด็นต่าง ๆ เกิดเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเครือข่ายเกษตรปลอดสารพิษเชื่อมโยงไปสู่เครือข่ายสุขภาพ  ทำให้สามารถนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการพัฒนาจังหวัดร่วมกัน
         อนึ่ง การสังเกตปฏิกิริยาของผู้เข้าร่วมประชุม พบว่า ส่วนใหญ่ให้ความสนใจอ่านป้ายนิทรรศการ จดบันทึก ขอเอกสาร และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างผู้เยี่ยมชมนิทรรศการกับหน่วยงานไม่มากนัก

2.5 “ไม้เรียง” ชุมชนนักจัดการความรู้
         ชุมชนตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นหนึ่งในไม่กี่ชุมชนที่มีแผนการพัฒนาชุมชนเป็นของตนเอง มีศูนย์การศึกษาและพัฒนาอาชีพชุมชนไม้เรียงที่ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ และมีกิจกรรมการเรียนรู้ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง  การจัดการความรู้เป็นสิ่งที่ชุมชนไม้เรียงปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง เป็นวิถี เป็นอัตโนมัติเพื่อมุ่งแก้ปัญหาในการดำเนินชีวิต(หนี้สิน)เป็นหลัก
         หากพิจารณากระบวนการในการจัดการความรู้ของชุมชนไม้เรียงจะเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์ปัญหาและค้นหาแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยใช้แผนชุมชนเป็นเครื่องมือในการกำหนดทิศทางในการพัฒนาชุมชน มีขบวนการรวมกลุ่มที่ยืดหยุ่น ใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มคนที่มีปัญหาเหมือนกัน เน้นการบริหารจัดการที่ง่ายสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนและประสานหน่วยงานภาครัฐเข้ามาหนุนเสริม ระดมความคิดเห็น ค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหา และนำไปลงมือปฏิบัติ
ผลการดำเนินงานดังกล่าว เกิดศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียง มีการพัฒนาหลักสูตรอาชีพที่หลากหลายให้แก่ชาวบ้าน มีหลักสูตรและตำราฝึกอาชีพต่าง ๆ มีการยกระดับจากการปฏิบัติการเรียนรู้โดยสมาชิก อีกทั้งยังมีการทบทวนและสรุปผลร่วมกันสม่ำเสมอ  เกิดเป็นคลังความรู้ของชุมชนคนไม้เรียง
         ในการสังเกตปฏิกิริยาของผู้เข้าร่วมประชุม พบว่า ส่วนใหญ่ให้ความสนใจอ่านป้ายนิทรรศการ จดบันทึก ขอเอกสาร และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างผู้เยี่ยมชมนิทรรศการกับหน่วยงานไม่มากนัก


2.6 การจัดการความรู้เพื่อพัฒนา “กุดขาคีม”อย่างยั่งยืน
         กุดขาคีมเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อกับลำน้ำมูล เป็นกุดที่มีน้ำขังตลอดทั้งปี  ในอดีตเป็นแหล่งน้ำสาธารณะชาวบ้านมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิต ทั้งในเรื่องการทำเกษตร เป็นที่เลี้ยงสัตว์ เป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นสถานที่ในการจัดกิจกรรมของชุมชนอีกด้วย แต่ปัจจุบันการดำรงชีวิตของชาวบ้านมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไป ทำให้รูปแบบการใช้ประโยชน์ในบริเวณกุดขาคีมเปลี่ยนแปลงไป  ระบบนิเวศน์รอบกุดขาคีมเปลี่ยนแปลงไป  รวมถึงผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดจากการพัฒนาภายใต้โครงการของหน่วยงานภาครัฐ ที่ส่งผลถึงวิถีชีวิตของชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจากการสร้างเขื่อนราษีไศล
         กระบวนการจัดการความรู้ของชุมชนรอบกุดขาคีมเริ่มจากการค้นพบปัญหาของนักพัฒนาจากภายนอกเข้ามาดำเนินการ โดยสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนผ่านเครื่องมือ  ”กระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น”  เพื่อนำข้อมูล/ผลการศึกษาดังกล่าวไปใช้ในกระบวนการแก้ปัญหาการจัดการแหล่งน้ำของชุมชน กระบวนการเริ่มด้วยการตั้งทีมวิจัยที่เกิดจากคนในชุมชนและแกนนำชุมชน ดำเนินการรวบรวมข้อมูลด้านกายภาพ สำรวจปัญหา เพื่อรู้จักสภาพสถานที่จริง จัดทำแผนที่กุดขาคีม เพื่อเป็นสื่อประกอบการจัดประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนและนำเสนอข้อมูล ศึกษาข้อมูลเชิงลึก ในกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดเวทีเพื่อเติมเต็มข้อมูล รวมถึงการศึกษาดูงาน
ในการดำเนินการดังกล่าว ทำให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการในการดูแลจัดการน้ำ  บังคับใช้กฎในการใช้น้ำร่วมกันระหว่างชุมชน มีการสร้างจิตสำนึก สร้างแนวร่วมในการอนุรักษ์ ดูแลการใช้ประโยชน์จากกุดขาคีมอย่างยั่งยืน มีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่อย่างเหมาะสมเพื่อสร้างอาชีพ มีการกำหนดแนวทางในการดำเนินงานร่วมกัน อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานภายนอกในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในกุดขาคีมอีกด้วย
         ในการสังเกตปฏิกิริยาของผู้เข้าร่วมประชุม พบว่า ส่วนใหญ่ให้ความสนใจอ่านป้ายนิทรรศการ จดบันทึก ขอเอกสาร และถ่ายรูปเก็บไว้

2.7 โครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาสถาบันการจัดการความรู้ท้องถิ่น
         ผลสืบเนื่องจากการดำเนินงานของโครงการเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.)ภาคกลาง ที่มีการสร้างและพัฒนานักจัดการความรู้ท้องถิ่นขึ้นมา   โดยมีเป้าหมายที่จะให้นักจัดการความรู้ดังกล่าวไปทำหน้าที่ในการจัดการความรู้ในท้องถิ่นของตนเอง       ทำหน้าที่ในการเชื่อมประสานพันธมิตรในชุมชน นอกชุมชน  และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อสร้าง  “คุณกิจ” และ “คุณอำนวย”   ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในมิติต่างๆ โดยใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสถาบันการศึกษา      เพื่อไปสู่การพัฒนาหลักสูตรของสถาบันการศึกษาที่เอื้อต่อการส่งเสริมความเข้มแข็งของการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา        และความเข้มแข็งของ “สถาบันการจัดการความรู้ของชุมชนท้องถิ่น”   พัฒนาคน   เสริมสร้างศักยภาพให้กับกลุ่มเป้าหมาย  อีกทั้งพัฒนาองค์ความรู้
ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ เริ่มด้วยการชี้แจงวัตถุประสงค์จากนั้นจึงวิเคราะห์ทุนทางสังคม โดยใช้กระบวนการถอดบทเรียน วิเคราะห์สถานการณ์พื้นที่ ทุนทางสังคม กำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมายและพัฒนาแนวทางโครงการร่วมกับนักจัดการความรู้ท้องถิ่นและภาคีที่เกี่ยวข้องในพื้นที่    ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของโครงการร่วมกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น  ดำเนินการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ (คุณเอื้อ, คุณอำนวย, คุณกิจ) พัฒนาหลักสูตรและแผนการดำเนินงานกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น  จัดทำหลักสูตรการพัฒนา "คุณอำนวย" เพื่อจัดการเรียนรู้ระดับพื้นที่   จัดการเรียนรู้ระดับเครือข่าย เปิดตลาดนัดความรู้  และลงนามความร่วมมือระหว่างสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม(สคส.) โครงการเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำแผนไปปฏิบัติ  ถอดบทเรียนและรายงานผลการดำเนินงานต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม(สคส.) และสาธารณชน เป็นระยะ ๆ ซึ่งในแต่ละขั้นตอนยังอยู่ในระหว่างดำเนินการจึงยังไม่ปรากฏผลที่ชัดเจนนัก
         อนึ่ง การสังเกตปฏิกิริยาของผู้เข้าร่วมประชุม พบว่า ส่วนใหญ่ให้ความสนใจอ่านป้ายนิทรรศการ จดบันทึก ขอเอกสาร และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างผู้เยี่ยมชมนิทรรศการกับหน่วยงานไม่มากนัก

2.8 การจัดการความรู้ ชุมชนอาคารสงเคราะห์ อยุธยา
         ชุมชนอาคารสงเคราะห์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นอีกชุมชนหนึ่งที่ดำรงสภาพการเป็นชุมชนแออัด มีปัญหาความยากจน เป็นหนึ่งในชุมชนเป้าหมายที่ต้องการถูกรื้อย้ายเมื่ออยุธยากลายเป็นเมืองมรดกโลก แต่อย่างไรก็ตามคนในชุมชนแออัดทุกคนอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้นชุมชนอาคารสงเคราะห์  จังหวัดพระนครศรีอยุธยาจึงใช้การจัดการความรู้สร้างความเข้มแข็งของชุมชนด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่ให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม    โดยมุ่งหวังเพื่อรวบรวมองค์ความรู้ของชุมชนเกี่ยวกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของคนทั้งชุมชน เกิดการส่งต่อองค์ความรู้และสร้างความสามัคคีของคนในชุมชน
         ในการดำเนินงานดังกล่าวชุมชนอาคารสงเคราะห์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เริ่มด้วยการจัดตั้งทีมวิจัย มีการกำหนดประเด็นในการศึกษาร่วมกัน และแบ่งหน้าที่รับผิดชอบตามประเด็นที่ต้องการศึกษา  จากนั้นจึงดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยนำเด็กและเยาวชนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูล   เด็กและเยาวชนในชุมชนทำแผนที่ชุมชน  และผังเครือญาติของคนใน มีการตรวจสอบข้อมูลร่วมกันระหว่างเด็กในชุมชน ผู้ใหญ่และนักวิชาการ เป็นการใช้ระบบพี่เลี้ยง (peer assist) และมีการให้รางวัลโดยการพาไปดูงาน นำข้อมูลมาสรุปร่วมกัน และจัดเก็บไว้ในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งบันทึก ภาพวาด แผนที่ ผังเครือญาติ ฯลฯ เกิดเป็นขุมความรู้ของชุมชน
ผลการดำเนินงานการจัดการความรู้ทำให้ชุมชนมีชุดความรู้ของตนเองเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชุมชน  แผนที่ชุมชนและผังเครือญาติ   นอกจากนี้เด็กและเยาวชนยังได้รับการพัฒนาระบบการทำงานเป็นกลุ่ม การคิด การเขียน เป็นกระบวนการเรียนรู้นอกโรงเรียน  ในขณะเดียวกันชุมชนอาคารสงเคราะห์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยายังเผยแพร่องค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ได้จากการจัดการความรู้ผ่านเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลางชุมชนและเสียงตามสายในชุมชนอีกด้วย
         อย่างไรก็ตามในการสังเกตปฏิกิริยาของผู้เข้าร่วมประชุม พบว่า ส่วนใหญ่ให้ความสนใจอ่านป้ายนิทรรศการ จดบันทึก และขอเอกสาร และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างผู้เยี่ยมชมนิทรรศการกับหน่วยงานไม่มากนัก


2.9 การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช
         ในการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาล เพื่อสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจการเงินฐานราก และเปิดโอกาสให้องค์กรประชาชนบริหารจัดการกันเองนั้น พบว่าในบางหมู่บ้านยังขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเงินกองทุน ด้วยเหตุนี้เองหน่วยจัดการความรู้ฯ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จึงได้จัดทำโครงการ “การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน จังหวัดนครศรีธรรมราช”ขึ้นโดยใช้แนวคิดการจัดการความรู้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน โดยมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาการบริหารจัดการเงินกองทุนของชุมชนให้มีประสิทธิภาพและสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรการเงินชุมชน และเกิดการบูรณาการการทำงานหน่วยงานราชการต่าง ๆ ในจังหวัดนครศรีธรรมราชโดยยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง  คนได้รับการพัฒนาทักษะด้านการจัดการความรู้สามารถนำไปใช้ถ่ายทอดและพัฒนาบุคคลอื่นๆ ให้มีคุณภาพขึ้น
กระบวนการในการจัดการความรู้ เริ่มด้วยการพัฒนาทักษะความรู้ด้านการจัดการความรู้ให้กับตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและแกนนำชาวบ้านโดยแบ่งกลุ่มการเรียนรู้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มคุณเอื้อเป็นกลุ่มของหัวหน้าหน่วยงานที่จะเอื้ออำนวยการมองวิสัยทัศน์ การจัดสรรงบประมาณ,กลุ่มคุณอำนวยจะมาจากหน่วยงานที่มาร่วมมือ และกลุ่มคุณกิจเป็นกลุ่มของชาวบ้านผู้ปฏิบัติ ใช้แบบจำลองปลาทูเป็นตัวขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งในกิจกรรมการเรียนรู้แต่ละครั้งมีการกำหนดเป้าหมาย วัตถุประสงค์และกระบวนการทุกครั้ง และมีการสรุปบทเรียนที่ได้จากการทำกิจกรรมในแต่ละครั้ง และจัดเก็บเป็นคลังความรู้ นอกจากนี้ยังมีเวทีแลกเปลี่ยนในแต่ละกลุ่มเรียนรู้  ได้ชุดความรู้เพื่อปรับปรุงบทบาทของแต่ละกลุ่มในการจัดกระบวนการเรียนรู้ในพื้นที่ที่รับผิดชอบให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย นำประสบการณ์การจัดกระบวนการเรียนรู้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันโดยใช้ตลาดนัดความรู้เป็นช่องทางให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน
          ในการดำเนินการดังกล่าวเกิดผลลัพธ์ที่สำคัญคือ การบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานราชการต่างๆ จำนวน 9 หน่วยงานภายในจังหวัดนครศรีธรรมราช  เกิดองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการความรู้ในวงราชการ ที่มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหลายๆ หน่วยงานทั้งแผนกิจกรรมและงบประมาณในการดำเนินการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับชุมชนเป้าหมาย และในแต่ละกลุ่มคุณเอื้อ คุณอำนวยหรือคุณกิจสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการจัดกระบวนการเรียนรู้มาปรับปรุงการทำหน้าที่ของตนเองให้ดีขึ้น 
         อนึ่ง การสังเกตปฏิกิริยาของผู้เข้าร่วมประชุม  พบว่า ส่วนใหญ่ให้ความสนใจอ่านป้ายนิทรรศการ จดบันทึก ขอเอกสาร และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างผู้เยี่ยมชมนิทรรศการกับหน่วยงานไม่มากนัก

3. การจัดการความรู้ภาคราชการไทย (จัดการความรู้มีรูปแบบ)
3.1 การจัดการความรู้ของกรมอนามัย ย่างก้าวสู่การพัฒนาองค์กร
         วิสัยทัศน์ของกรมอนามัยกำหนดไว้ว่า จะเป็นผู้นำในการสร้างเสริมสุขภาพของประเทศ โดยมีพันธกิจ คือ เป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันให้เกิดการสนับสนุนให้การส่งเสริมสุขภาพประชาชน โดยการผลิต ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี ตลอดจนสนับสนุนให้การส่งเสริมสุขภาพเป็นไปตามมาตรฐาน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาระบบบริการความรู้ของกรมอนามัยให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้  ดังนั้นกรมอนามัยจึงออกแบบการบริหารความรู้ออกเป็น 2 ส่วนคือ ระบบและกลไกการบริหารความรู้  และกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพ สมรรถนะบุคลากรด้านต่าง ๆ โดยใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือในการดำเนินการดังกล่าว
         ในการดำเนินงานจัดการความรู้  เริ่มด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อทำงานเรื่องการบริหารองค์ความรู้ในองค์กร จัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนบริหารจัดการความรู้ของหน่วยงาน  สร้างกิจกรรมจัดการความรู้ใน 3 ส่วน ได้แก่ การจัดการความรู้ของบุคคลในหน่วยงานย่อยจัดความรู้ในเรื่องการปฏิรูประบบราชการ จัดทำคลังความรู้ข้อมูล ซึ่งกิจกรรมจัดการความรู้ส่วนใหญ่ใช้การจัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน นอกจากนี้ยังมีระบบในการประเมินผลการบริหารจัดการความรู้ทั้งในระดับหน่วยงานและระดับกรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาการจัดการความรู้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย
         ในการดำเนินการดังกล่าวพบผลลัพธ์ที่สำคัญ กล่าวคือ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรในองค์กรดีขึ้น ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้อย่างเท่าเทียมกัน บุคลากรเกิดการพัฒนาตนเอง และหน่วยงานย่อยของกรมอนามัยสามารถใช้การจัดการความรู้มาพัฒนากระบวนการทำงานในหน่วยงานของตนเองได้มากขึ้น
         อนึ่ง การสังเกตปฏิกิริยาของผู้เข้าร่วมประชุม พบว่า ส่วนใหญ่ให้ความสนใจอ่านป้ายนิทรรศการ จดบันทึก ขอเอกสาร และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างผู้เยี่ยมชมนิทรรศการกับหน่วยงานไม่มากนัก

3.2 กรมส่งเสริมการเกษตรจัดการความรู้ ควบคู่การส่งเสริมการเกษตร
         กรมส่งเสริมการเกษตรใช้จัดการความรู้เป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมายใน 3 ด้าน คือ การพัฒนางาน การพัฒนาคนและการพัฒนาองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้  กระบวนการจัดการความรู้ของกรมส่งเสริมการเกษตรมี 3 ระดับ คือ ส่วนกลาง จังหวัดและพื้นที่ ซึ่งในแต่ละระดับมีกระบวนการในการจัดการความรู้ที่คล้ายคลึงกัน กล่าวคือ เริ่มต้นด้วยการสร้างความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินงานจัดการความรู้แก่บุคลากรขององค์กร กำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายในการจัดการความรู้ร่วมกัน จัดหาและรวบรวมความรู้ที่ต้องการใช้  จัดทำแผนการเรียนรู้ นำแผนการเรียนรู้ไปปฏิบัติ  ติดตามประเมินผลการปฏิบัติ  ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้
ในการจัดการความรู้จะมีการประยุกต์ใช้เทคนิคและวิธีการที่หลากหลาย เครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในกระบวน การจัดการความรู้คือ เครื่องมือชุดธารปัญญา  ในการจัดการความรู้พบผลลัพธ์ที่สำคัญคือ การประยุกต์ใช้การจัดการความรู้เข้ากับการส่งเสริมการเกษตร บุคลากรได้รับการพัฒนาเพิ่มขึ้น มีการปรับบทบาทจากการเป็นนักส่งเสริมและการส่งเสริมการเกษตรแบบเดิม ๆ มาเป็นนักวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เป็นต้น นอกจากการประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อพัฒนาบุคลากรและองค์กรของตนเองแล้ว ยังมีการเผยแพร่ความรู้ผ่านทาง web board และ KM webpage อีกด้วย
สำหรับแนวทางในการดำเนินงานในระยะต่อไปจะขยายพื้นที่ในการนำการจัดการความรู้ร่วมกับการส่งเสริมการเกษตรให้เพิ่มมากขึ้น
         อนึ่ง การสังเกตปฏิกิริยาของผู้เข้าร่วมประชุม พบว่า ส่วนใหญ่ให้ความสนใจอ่านป้ายนิทรรศการ จดบันทึก ขอเอกสาร และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างผู้เยี่ยมชมนิทรรศการกับหน่วยงานไม่มากนัก

3.3 การจัดการความรู้ในคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล
         คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาลเป็น 1 ใน 4 หน่วยงานนำร่องที่เข้าร่วมโครงการ “การจัดการความรู้ในองค์กร” ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ  มีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสนับสนุนให้คณะแพทย์ศาสตร์   ศิริราชพยาบาล สามารถบรรลุวิสัยทัศน์คือการเป็นสถาบันทางการแพทย์เป็นเลิศ และบุคลากรในคณะเป็น knowledge worker ที่สามารถสร้าง รวบรวม แสวงหาความรู้ และประยุกต์ใช้ในงานของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
         ในการดำเนินการดังกล่าวเริ่มด้วย   (1) สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการความรู้ในองค์กรโดยการประชาสัมพันธ์  (2) แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันผ่านระบบสารสนเทศ โดยใช้อินเตอร์เนตในการรวบรวมความรู้และจัดระบบความรู้  (3) สร้างชุมชนนักปฏิบัติการ(community of practice : CoP) เริ่มด้วยการกำหนดเป็นนโยบายของหน่วยงาน จัดตั้งทีมดำเนินการ  กำหนดแนวทางเน้นคนเป็นชุมชนนักปฏิบัติการ  แบ่งบทบาทและพัฒนาศักยภาพตามบทบาทโดยการอบรมทักษะที่จำเป็น จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้  กำหนดหัวข้อ (domain) รวมตัวกันเป็นชุมชน เกิดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน วิเคราะห์ความรู้ สะสมความรู้ แบ่งปันความรู้ผ่านทาง IT นำมาปรับปรุงการปฏิบัติและประเมินผลการปฏิบัติ เกิดเป็นองค์ความรู้ และ (4) จัดทำแผนปฏิบัติ 4 แผนงานได้แก่   การจัดเก็บ  รวบรวมความรู้การพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง CQI (continuous quality improvement) ที่ผ่านมาเพื่อให้เกิดขุมความรู้, ให้ความรู้ เป็นที่ปรึกษา ประสานงานและอำนวยความสะดวกให้เกิดเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้, ค้นหา พิจารณาการปฏิบัติที่เป็นตัวอย่างที่ดี (best practice) และเผยแพร่ขยายผลไปหน่วยงานอื่น  และสร้างเครือข่าย KM
         ผลจากการดำเนินการจัดการความรู้ดังกล่าว ทำให้ความสัมพันธ์ภายในองค์กรดีขึ้น มีการยกระดับการปฏิบัติงาน ทำให้คุณภาพการดูแลผู้ป่วยดีขึ้น  นอกจากนี้ยังพบว่ามีการเผยแพร่ผลลัพธ์ดังกล่าวผ่านทาง KM website ของคณะฯ โดยที่ทุกชุมชนนักปฏิบัติการ (CoP) มี subsite ของตนเองเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน
         อนึ่ง การสังเกตปฏิกิริยาของผู้เยี่ยมชมนิทรรศการ พบว่า ส่วนใหญ่ให้ความสนใจอ่านป้ายนิทรรศการ จดบันทึก ขอเอกสารและถ่ายรูปเก็บไว้ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างผู้เยี่ยมชมนิทรรศการกับหน่วยงานเล็กน้อย

3.4 การจัดการความรู้ในโรงพยาบาลบ้านตาก
         โรงพยาบาลบ้านตาก เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็กที่ประสบกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ต้องมีการปรับตัวเพื่อพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาลอย่างมากภายใต้ข้อจำกัดของทรัพยากรทั้งด้านคน เงิน เครื่องมือ และอาคารสถานที่ อย่างไรก็ตามทุนเดิมที่โรงพยาบาลบ้านตากมีอยู่คือ ศักยภาพของบุคคลากร และเมื่อโรงพยาบาลได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในโครงการพัฒนาการจัดการความรู้ในโรงพยาบาลภาคเหนือตอนล่าง  จึงมีการนำการจัดการความรู้มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล
หลักการในการจัดการความรู้ของโรงพยาบาลบ้านตาก คือ การสร้างเป้าหมายร่วมให้ชัดเจน ผสมผสานการจัดการความรู้เข้าไปในงานประจำและสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ องค์ประกอบในการจัดการความรู้ของโรงพยาบาลบ้านตากประกอบด้วย ทีมบริหารเป็น “คุณเอื้อ” ผู้คอยสนับสนุน มีหัวหน้างานและทีมงานคุณภาพเป็น “คุณอำนวย” โดยมีบุคคลากรทั้งโรงพยาบาลเป็น “คุณกิจ”

         โรงพยาบาลบ้านตากใช้ LKASA model เป็นรูปแบบในการจัดการความรู้ในโรงพยาบาล โดยเริ่มจากการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ (learning)การค้นหาและสร้างองค์ความรู้ที่จำเป็นในการพัฒนาองค์กรในการให้บริการประชาชน (knowledge organization) การนำความรู้นั้นไปปฏิบัติ    (knowledge acting) การนำสิ่งที่ไปปฏิบัติไม่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวมาแลกเปลี่ยนความรู้กัน (knowledge sharing) ทั้งภายในหน่วยงานและข้ามหน่วยงาน มี “ผู้ให้” และ “ผู้รับ” ซึ่งเปลี่ยนบทบาทกันในแต่ละเรื่อง และมี “คุณลิขิต”คอยจดบันทึก จากนั้นจึงมีการนำสิ่งที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมาเก็บไว้ในรูปของคู่มือต่างๆ  ระบบการทำงานและนวัตกรรมที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ (knowledge assets) และเผยแพร่องค์ความรู้ต่าง ๆ ผ่านทางเวทีจริงและเวทีเสมือน (website ของโรงพยาบาล)

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 14791เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2006 16:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท