มหาวิทยาลัยไทยเจ๊งหมดแน่ ถ้า…….?


มหาวิทยาลัยไทยเจ๊งหมดแน่  ถ้า……. ยังไม่รู้จักปรับตัว  เพื่อเผชิญหน้ากับโลกที่ต้องแข่งขัน  และผู้ที่อยู่ชนะเท่านั้น  จึงจะได้อยู่รอดต่อไปเพื่อแข่งขันในสนามใหม่   ผู้เขียนมีความเชื่อว่าภายในไม่เกิน  10 ปี    เราคงจะได้เห็นมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยในประเทศไทยไทยแข่งกัน ล้มละลาย เป็นแน่   
                เมื่อกล่าวถึงแหล่งที่มีสถาบันการศึกษาที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลกนี้    คงจะไม่พ้นที่ต้องกล่าวถึงประเทศออสเตรเลีย    เนื่องจากในแต่ละปีจะมีชนชาติต่าง ๆ  โดยเฉพาะชาวเอเชียไปร่ำเรียนศิลปวิทยาการจำนวนมาก  สร้างเงินตราและผลตอบแทนกลับเข้าประเทศนี้อย่างเป็นกอบเป็นกำ  แต่มีกี่ท่านที่จะทราบว่า  กว่าประเทศนี้จะก้าวมาสู่การเป็นมหาอำนาจการส่งออกการศึกษาของเอเชียทัดเทียมมหาวิทยาลัยดัง ๆ  แถบยุโรป หรือ อเมริกา ได้ ก็ต้องผ่านมรสุม และอุปสรรคมาไม่ใช่น้อย  และวัฎจักรเหล่านั้นก็กำลังเกิดในวงการอุดมศึกษาของไทยเช่นเดียวกัน   เพียงแต่เราจะสามารถ นำสิ่งดังกล่าวมาเป็นบทเรียนเพื่อพลิกวิกฤติการณ์เป็นโอกาส ได้ดังประเทศดังกล่าวหรือไม่
                วันนี้เมื่อ  15  ปีก่อน (ประมาณปี  2533- 2534) วงการอุดมศึกษาประเทศออสเตรเลียต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่  มหาวิทยาลัยและวิทยาลัยส่วนหนึ่งถูกควบรวม เข้าด้วยกัน   มีการนำมิติในการประเมินผลงานที่เน้นต้นทุนและผลลัพธ์ มาใช้ควบคู่กับการจัดสรรผลงานโดยเน้นผลงาน  ที่จับต้องได้เป็นรูปธรรม  นวัตกรรมทางการศึกษาใหม่ที่เกิดขึ้น คือ การส่งออกการศึกษา และการจัดการศึกษาสำหรับนักศึกษาต่างชาติ  ซึ่งสามารถสร้างรายได้อันดับต้น ๆ ให้กับประเทศจนถึงปัจจุบันนี้  นอกจากนั้นยังได้มีการให้ บริการวิชาการ  เพื่อนำรายได้ไปเสริมการดำเนินงานปกติอีกด้วย          
          มหาวิทยาลัยไทยส่วนใหญ่ที่ได้รับการอุดหนุนบางส่วน หรือ ทั้งหมดจากภาครัฐ  จะยอมรับหรือไม่ก็ตามว่า  หากมีการประเมินผลงาน  และประสิทธิภาพการบริหารจัดการ กันอย่างจริงจัง แล้ว   จะตรวจพบว่า  ผลขาดทุนสุทธิสะสมที่เกิดขึ้นจริงจากการดำเนินงานปกติ (ไม่นับรวมยอดการอุดหนุนงบประมาณจากภาครัฐ)  เพียงพอที่จะทำให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งพบกับวิกฤติทางการเงินในระยะยาวอย่างแน่นอน    และวิกฤติการณ์ดังกล่าวภาครัฐเองก็คงจะไม่สามารถช่วยเหลือเยียวยา ได้พร้อม ๆกัน  โดยเฉพาะในยามที่รัฐบาลไม่ได้ร่ำรวยที่จะจุนเจือได้  ด้วยเหตุผลนี้ย่อมส่งผลสำคัญต่อความมั่นใจในคุณภาพของบัณฑิตนักศึกษาด้วย
                มหาวิทยาลัยไทยปรับตัวให้อยู่รอดเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยในประเทศออสเตรเลียก็ได้ ?
          การลอกเลียนแบบของผู้ที่ประสบความสำเร็จแล้ว  อาจจะดูเป็นเรื่องง่ายที่จะทำตาม  แต่ยังไม่เคยมีใครในโลกนี้ที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน  จากการเลียนแบบผู้อื่น  อาจมีความสำเร็จแบบฉาบฉวยปรากฎให้เห็นบ้างในระยะสั้น   เพราะผู้ที่ลอกเลียนจะไม่สามารถเข้าใจถึง แก่นแท้หลัก (Core  competency) ของผู้ประสบความสำเร็จ   ที่มักจะไม่มีรูปรอย  ให้จับต้องสัมผัสได้  แต่สิ่งนี้เป็นพลังที่สนับสนุนอยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนอย่างมีพลวัตรให้องค์กรไปสู่ความสำเร็จ    เราอาจจะลอกเลียน แก่นแท้หลัก ดังกล่าวไม่ได้ก็จริง  แต่ก็ยังมีวิธีที่จะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับมหาวิทยาลัยไทยได้  ด้วยการพัฒนาจากปัจจัยพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ในแต่ละสถาบัน    โดยมีแนวทางการพัฒนาดังนี้
                1. ต้องฉุดตัวเองออกจากกับดับความคิดเก่า  มหาวิทยาลัยของรัฐส่วนใหญ่  ยังมีความคิดที่ให้ความสำคัญเฉพาะสายการเรียนการสอน   ละเลยความก้าวหน้าของสายงานสนับสนุน  เป็นเหตุให้บุคคลากรส่วนใหญ่ในสายงานดังกล่าว  ขาดขวัญและกำลังใจ  ถึง แม้ว่าจะมีความพยายามจะสร้างมหาวิทยาลัยต้นแบบเป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบ   ก็ยังหนีไม่พ้นกรอบความคิดเดิมที่แบ่งแยกและให้ความสำคัญไม่เท่าเทียมกันของสายงาน  เหมือนระดับชั้นของน้ำกับน้ำมัน   จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มหาวิทยาลัยรัฐทั้งใหม่ และเก่า จึงอยู่ในสถานะ เลี้ยงยังไงก็ไม่โตสักที  เพราะจะมีคนที่มีแรงเข็นต่อเพียงไม่กี่คนเท่านั้น
                2.ระสานความร่วมมือให้เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอก   เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้เกิดขึ้นแก่ทุกฝ่าย     เป็นเคล็ดลับสำคัญที่จะต้องบูรณาการทรัพยากรจากภายในและภายนอกเข้าด้วยกัน   ทรัพยากรภายในที่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มี คือ ทรัพยากรความรู้ในบุคคลทั้งหมด  เพราะมหาวิทยาลัยคือแหล่งรวมผู้มีการศึกษาระดับสูงใหญ่ที่สุดแล้ว   หากพยายามประสานให้บุคลากรทุกหมู่เหล่าได้มาร่วมด้วยช่วยกัน คิดค้น ค้นคว้า หารือ แลกเปลี่ยน  ร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวเหมือนน้ำและน้ำนม   ความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจดังกล่าว จะนำไปสู่การดึงดูดทรัพยากรภายนอกมาสู่ภายใน  ได้โดยไม่ยากเย็นนัก 
                3. การพัฒนาโครงสร้างและระบบองค์กรให้มีชีวิต  มีความยืดหยุ่น  มีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ  ตลอดเวลาสอดคล้องไปกับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป   เช่น การเปิดหลักสูตรใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อตอบสนองความจำเป็นของธุรกิจ  แต่เท่านั้นยังไม่เพียงพอ  มหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง  จะต้องสร้างสถานะที่โดดเด่นจากทรัพยากรหลักที่แอบแฝงอยู่ และยากที่จะลอกเลียนแบบ คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความรู้ที่หลากหลาย  สามารถยืดหยุ่นในการทำงานฝ่ายต่าง ๆ ได้  นั่นคือ จะต้องมีการปรับโครงสร้างการบริหารองค์กรขึ้นมาใหม่
                4. การให้สังคมได้มีส่วนร่วมในการประเมินผลการบริหารจัดการ  มหาวิทยาลัยต่าง ๆควรให้บุคลากรภายในและภาคประชาชน   ได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอ  และประเมินผลงานการบริหาร  ผู้บริหารทุกคนจะต้องมีการทำสัญญา  มีเงื่อนไขการจ้าง และเลิกจ้างที่ชัดเจน  มีตัวชี้วัดผลงานที่เข้าใจง่าย  ถ้าทำได้อย่างนี้ มหาวิทยาลัยก็จะได้ผู้บริหารที่มีฝีมือ มีความสามารถที่แท้จริง ไม่สามารถเล่นพรรค เล่นพวก ผ่านกลไกภายในได้อีกต่อไป เพราะสังคมได้คอยตรวจสอบติดตามอยู่เสมอ 

ถ้าทำได้อย่างนี้  รับรองว่า มหาวิทยาลัยไทยไม่มีเจ๊งแน่

 
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 14787เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2006 15:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 12:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท