เครื่องมือหาปลา ภูมิปัญญาชาวแม่มูน


เอกสาร เรื่องราวข่าวสารจากชาวบ้านนั้น จะได้รับการเผยแพร่ในวงจำกัด แต่เรื่องราวที่สะท้อนออกมานี้ มีมิติหลายอย่างที่น่าสนใจไม่แพ้บทความ และเอกสารที่นักวิชาการได้จัดทำออกมาเผยแพร่เป็นจำนวนมาก

นี่คือข้อมูลส่วนหนึ่งที่ถูกเผยแพร่ในรูปแบบของแผ่นพับ จัดทำโดย ศูนย์ภูมิปัญญาชาวบ้านปากมูน ซึ่งสนับสนุนโดย AEON Environmental Foundation และถูกนำมาเผยแพร่ในงานมหกรรมสร้างสุขภาคอีสาน ครั้งที่ ๒ ในระหว่าง ๑๖-๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

เครื่องมือหาปลา ภูมิปัญญาชาวแม่มูน

ผลกระทบจากการปิด-เปิดประตูเขื่อนมีผลกระทบต่อกับคนหาปลาอย่างไรบ้างโดยม องผ่าน "เครื่องมือหาปลา" เป็น "ปฏิบัติการ" ทาง "ความรู้" ของ "คนหาปลา" เครื่องมือหาปลาที่ใช้กันในลุ่มน้ำมูนตอนล่างอย่างน้อย ๗๕ ชนิดเครื่องมือหาปลา" ของคนหาปลา ภายหลังการสร้างเขื่อนเครื่องมืออย่างน้อย ๓๐ ชนิด ไม่ได้ถูกนาใช้ในบริเวณอ่างเก็บน้ำของเขื่อนปากมูล ทว่าภายหลังที่มีการเปิดประตูเขื่อนเครื่องมือได้ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง ลักษณะความรู้ของชุมชนคนหาปลาเป็นเรื่องของวิถีชีวิตที่เกี่ยวพันกับความสัม พันธ์หลายชุดอย่างเชื่อมโยง เครื่องมือหาปลาได้สะท้อนความรู้ที่หลากหลายและซับซ้อนเกี่ยวกับการทำเครื่อ งมือ เหยื่อปลา ลวง สิทธิวัฒนธรรม เครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งทำให้ความรู้นั้นถูกควบคุมด้วยศีลธรรมและจริยธรรม ก่อให้เกิดความช่วยเหลือกันและกัน เอื้อเฟื้อต่อกันและกัน และสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนและคน ซึ่งถือได้ว่าเป็น วิถีชีวิต มิใช่เพียงอาชีพประมง

เครื่องมือหาปลาของชาวแม่มูน

เครื่องมือชิ้นแรกที่ใช้ในการหาปลา คือ สะดุ้ง ต่อมาก็ใช้กวด แต่ชาวบ้านในลุ่มน้ำมูนเองใช้เครื่องมือที่มีความหลากหลายเนื่องจากพื้นที่ห าปลามีระบบนิเวศที่ต่างกัน รวมทั้งฤดูกาลที่เปลี่ยนไปก็จะเปลี่ยนเครื่องมือหาปลาไปด้วย

ความเชี่ยวชาญในการใช้เครื่องมือจึงเกิดจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มาโดยตลอด อย่างวิธีการหาปลา โดยการใส่มอง ซึ่งได้เรียนรู้จากพวกญวนสอน ทำมองเองป่านเอาเชือก เอาลูกแหมาล่อ อย่างแหก็สานจากป่านเหมือนกัน อาชีพหาปลาในช่วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาจึงสัมพันธ์กับชาวญวน ตลาดจะอยู่ท่าน้ำอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี แต่พอมาระยะหลังคนไทยเริ่มค้าขายด้วย ซึ่งสินค้าที่นำมาขายจะเน้นปลา และปลาร้าเป็นหลัก โดยเฉพาะหมู่บ้านที่อยู่ติดแม่น้ำมูน ในขณะที่บ้านวังสะแบงใต้ อ.โขงเจียมก็เป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่มีชาวญวนมาอาศัย

งานวิจัยไทบ้านพบว่า คนหาปลาในลุ่มน้ำมูนตอนปลายใช้เครื่องมือหาปลาอย่างน้อย ๗๕ ชนิด โดยจำแนกเครื่องมือหาปลาออกได้ ๕ ลักษณะตามวิธีการหาปลา

- เครื่องมือที่ใช้ดักปลา คือ วางเครื่องมือไว้ ดักปลาที่ว่ายเข้ามาติด เช่น มอง จั่น ลอบ กะบั้งปลาแข้วไก้อีหลง เป็นต้น พบ ๑๘ ชนิด
- เครื่องมือที่ใช้ล่อปลา เครื่องมือชนิดนี้จะใช้เหยื่อล่อปลา หรือสร้างเครื่องมือให้มีลักษณะคล้ายที่อยู่ของปลา เช่น ตุ้มต่างๆ เบ็ด บัด ขา กองเยาะ เป็นต้น พบ ๒๙ ชนิด
- เครื่องมือที่ใช้ล่าปลา เครื่องมือชนิดนี้มักทำให้ปลาได้รับบาดเจ็บ หรือ เสียชีวิต เช่น หน้าธนู เหล็กแทงเอี่ยน ฉมวก พุ เป็นต้น พบ ๔ ชนิด
- เครื่องมือที่ใช้จับปลา เช่น แห สุ่ม ช้อน แหย่งสวิง สะนาง จอวอ เป็นต้น พบ ๑๕ ชนิด
- เครื่องมือช่วยหาปลา เช่น เรือ ดางต่อง ขดถก ข้อง กะชัง เป็นต้น พบ ๑๒ ชนิด

ทั้งนี้พบเครื่องมือที่ใช้ทั้งล่อและจับปลา คือ แน้บ และเครื่องมือที่ใช้ได้ทั้งดักและหาปลาคือ มอง ส่วนแงบเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ทั้งล่อและดักปลา

การมีเครื่องมือหาปลาและเหยื่อที่ดีก็ไม่ได้หมายความว่าจะหาปลาได้เยอะ ฉะนั้นคนหาปลาต้องแสวงหาลวงที่ดีสำหรับการวางเครื่องมือ เพราะการได้ลวงดี หมายถึง การรับรองว่า วันนั้นจะได้ปลาอย่างแน่นอน
อาทิ "ลวงจั่น" คนหาปลาจะไม่วางจั่นไปเรื่อยๆ โดยไม่เลือกพื้นที่ จะต้องวางบริเวณที่มีรากไม้ ตอไม้ หรือ ต้นไม้อยู่ เพราะปลาใหญ่โดยเฉพาะปลาเคิงชอบหากินบริเวณนั้น หากรู้เส้นทางของปลาแล้วก็จะหาบริเวณที่วางจั่นปลาเพื่อดักปลา ตรงนั้นคือลวงจั่น

ข้อคำนึง

ความรู้เรื่องพื้นที่ - ที่เกี่ยวข้องกับลวง สัมพันธ์กับพื้นที่ ในความหมายของระบบนิเวศน์ของแม่น้ำมูน เช่น แก่ง คัน วัง เวิน ป่าบุ่งป่าทาม ที่นา ริมฝั่ง ห้วย น้ำสาขา หนอง คลอง หรือ บึง เช่น จิบ ลวงที่ดีจะอยู่บริเวณแก่ง
ความรู้เกี่ยวกับปลา - ต้องรู้จักถึงพฤติกรรมของปลา ฤดูกาลอพยพของปลา แหล่งที่อยู่ของปลา อาหารของปลา รู้ว่าปลากินเหยื่ออะไรบ้าง ชอบอยู่ตรงไหนตามผิวน้ำ อยู่กลางน้ำ หรือใต้ท้องน้ำ ในรอบวันหนึ่งๆปลาออกหากินเมื่อไร จึงจะสามารถจับปลานั้นได้ ปลาแต่ละชนิดมีลักษณะนิสัย พฤติกรรมที่แตกต่างกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้ "เครื่องมือ" ที่ใช้จับปลามีความหลากหลายแตกต่างกันไป และเครื่องมือถูกสร้างขึ้นมาให้มีความเฉพาะเจาะจงในการจับปลาแต่ละชนิด

ลวง คือ อะไร..
พ่อคำฟอง ชาวบ้านคันไร่ใต้ ให้ความหมาย "ลวง" ว่า "ที่จับปลาได้" คนหาปลาคนอื่นก็ให้ความหมายที่ ใกล้เคียงเช่น ป่องปลาเทียว เส้นทางของปลา เป็นต้น

- ความรู้เกี่ยวกับฤดูกาล ฤดูกาลสัมพันธ์กับการอพยพของปลา การเลือกใช้เครื่องมือจะสัมพันธ์กับชนิดปลาที่อพยพมา คนหาปลาจะแบ่งฤดูกาลการอพยพโยกย้ายของปลาออกเป็น ๓ ฤดูกาล กล่าวคือ
+ - ฤดูปลาขึ้น ซึ่งจะตรงกับช่วงเดือนสามหรือเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกันยายน
+ - ฤดูปลาล่อง ตรงกับเดือนตุลาคม ถึงเดือนธันวาคม
+ - ฤดูปลาค้าง ช่วงที่น้ำหลากเต็มตลิ่ง เครื่องมือเกือบทุกชนิดไม่สามารถใช้ในลำน้ำมูนได้ เนื่องจากพื้นที่ในการจับปลาถูกน้ำท่วมหายไปหมด คนหาปลาจะไปหาปลาตามห้วย ลำน้ำสาขา หรือ ป่าบุ่งป่าทามแทน

ความเปลี่ยนแปลงมาเยือน

ภายหลังที่มีการสร้างเขื่อน แก่งถูกน้ำท่วม บุ่งทามหายไป ผลไม้ลำน้ำมูนไม่มี สัตว์ตัวเล็กตัวน้อยหายากเต็มที่ หน้าเขื่อนน้ำเต็มตลิ่ง พื้นน้ำกว้างมากขึ้น น้ำนิ่งและลึก คนหาปลาหลายคนพูดตรงกันว่า น้ำสกปรกลงไปก็คัน และอันตราย หลายคนไม่กล้าให้เด็กลงมาเล่นน้ำ
ภายหลังปิดเขื่อน คนหาปลาหลายคนขายเครื่องมือหาปลา เพราะลำน้ำมูนหาปลาไม่ได้แล้ว มีคนมาขอซื้อเรือ ซื้อตุ้ม เครื่องมือทำมาหากินจากการหาปลา ตอนแรกก็ไม่ขายกัน แต่หลังๆก็ยังจับปลา ไม่ได้ขายเอาเงินมาซื้อข้าวกิน
การที่ไม่สามารถใช้เครื่องมือหาปลา จึงไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการไม่มีปลากิน หรือไม่มีปลาขาย แต่ส่งผลกระทบต่อ "ตัวตน" ของคนหาปลาด้วย กล่าวคือ เมื่อคนหาปลาไม่สามารถใช้ความรู้และเครื่องมือทำมาหากินของตนเองในอดีตได้ ก็เท่ากับทำลายชีวิตส่วนที่มีความผูกพัน ส่วนที่ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจ หรือ ส่วนที่เป็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไปจนหมด

"การเปิดประตูเขื่อนปากมูน เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างปลาลาวกับปลาไทยอีกครั้งถึงไม่แน่นแฟ้นดังเดิม"

จัดทำข้อมูลโดย ศูนย์ภูมิปัญญาชาวบ้านปากมูน สนับสนุนโดย AEON Environmental Foundation

ถูกนำมาเผยแพร่ในงานมหกรรมสร้างสุขภาคอีสาน ครั้งที่ ๒ ในระหว่าง ๑๖-๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 147592เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2007 12:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

hi 555555555555555555555555555555555555555555555555555555555+

เขียนดีจังงงงงงงงงงงงงงงงงงงง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท