สิทธิชุมชน


รัฐธรรมนูญ 2550
  สิทธิชุมชนใน รธน. 50ประชาชนได้ประโยชน์จริงหรือ ?บาว_นาคร คำว่า สิทธิชุมชน บางคนฟังแล้วก็ยังสงสัยหรือ ไม่เข้าใจในความหมายของคำๆนี้ และอยากทราบว่ามีพัฒนาการเป็นมาอย่างไร ? สิทธิชุมชนนั้นได้ถือกำเนิดขึ้นมาจากฐานปรัชญาชุมชนนิยม อันเป็นนวัตกรรมทางสังคมจากภาคประชาชนซึ่งแนวคิดดังกล่าวมีพลวัต มีการลื่นไหลไปตามขบวนการต่อสู้ที่ประชาชนสร้างวัฒนธรรมสิทธิชุมชนขึ้นมาในบริบทเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ซึ่งมีการศึกษาจากนักวิชาการหลากหลายสาขา ใน 2 ระดับสำคัญ คือ  สิทธิชุมชนในฐานะอุดมการณ์การเคลื่อนไหวภาคประชาชน ภายใต้ความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง ที่รัฐและทุนได้กันชุมชนออกไปสู่ชายขอบในเชิงอำนาจ แต่ก็ผนวกกลืนกลายวัฒนธรรมให้มาสู่กระแสหลักอุดมการณ์สิทธิชุมชนจึงเกิดขึ้นเพื่อการปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจกับรัฐ ทุน สังคม และชุมชน ให้เกิดความเท่าเทียม และทลายระบบการผูกขาดทั้งด้านนโยบาย ความรู้ การจัดการที่มีอยู่ ให้เกิดความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม ที่ชุมชนสามารถกำหนดตัวตน ตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม ได้อย่างมีศักดิ์ศรี สิทธิชุมชนในฐานกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและวัฒนธรรมดังกล่าว จึงมีความหลากหลายตามเงื่อนไข บริบทของชุมชน เช่น สิทธิชุมชนต่อทรัพยากร วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การปกครองตนเอง โดยทั้งนี้ชุมชนได้ใช้ยุทธศาสตร์หลายแบบ ทั้งการผลักดันเชิงนโยบายโดยตรง การสู้ทางวาทกรรม การใช้อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรม เป็นตัวขยายพื้นที่ทางสังคม เพื่อปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจ ดังนั้นสิทธิชุมชนในแนวคิดดังกล่าว จึงมีความสำคัญที่จะใช้ศึกษาทั้งรูปแบบการละเมิดสิทธิ กระบวนการนิยามสิทธิ ของชุมชน การใช้ยุทธศาสตร์สิทธิชุมชนในการต่อสู้             ในบริบทของสังคมไทย ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก เห็นว่า การพิจารณาถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนในยุคนี้จำเป็นต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย สองประเด็นสำคัญ คือ            - ประการแรก สภาวะเปลี่ยนแปลงขั้นมูลฐานในทางสังคมและเศรษฐกิจ บังเกิดผลทำให้สังคมไทยผ่านพ้นจากสภาวะของความสัมพันธ์ทางสังคมที่เคยกลมกลืนสมานฉันท์ มาสู่สภาวะของสังคมที่เกิดความลักลั่นแตกแยกและปัญหาขัดแย้ง            - ประการที่สอง หลักการทางสังคม กล่าวคือ หลักการความสัมพันธ์เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมไทย ยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสภาวะเปลี่ยนแปลงได้ และเป็นปัญหาวิกฤตของการเปลี่ยนแปลงซึ่งกำลังเผชิญ หลักการทางสังคมที่เคยกำกับชีวิตความเป็นอยู่ของเรามาแต่อดีต ระบบโครงสร้างอำนาจที่มีการแบ่งแยกกัน แน่ชัดระหว่างชนชั้นผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้การปกครอง เป็นระบบการปกครองแบบเจ้าคนนายคน ระบบการทำปกครองทำนองนี้สนองความต้องการของสังคมไทย ตามสภาวะทางเศรษฐกิจ สังคมสมัยก่อน แต่มาถึงสมัยปัจจุบัน เศรษฐกิจและสังคมได้เปลี่ยนแปลงไป มีการสร้างอุตสาหกรรม การขยายตัวทางการค้า การขนส่ง การคมนาคม ฯลฯ ก่อให้เกิดชนชั้นอาชีพสาขาและกลุ่มชนต่างๆ มากหลาย ปัจจัยเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นบ่อเกิดของปัญหาความขัดแย้งแตกต่าง ซึ่งนับวันจะทวีขึ้นในสังคมปัจจุบัน แต่ในขณะเดียวกันอำนาจและหลักความสัมพันธ์ในสังคมไทยยังคงยึดติดอยู่กับระบบราชการเดิม โดยไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนอะไร แม้แต่ภายหลังการปฏิวัติ 2475 ระบอบเผด็จการทหารซึ่งตั้งต้นมาแต่รัฐประหารปี 2490 ใช้ความพยายามอย่างหนักแน่นที่จะขจัดและลบล้างปัญหาของการเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งเช่นว่านี้ด้วยกำลังอำนาจ แต่แล้วก็ล้มเหลว            สถานการณ์สิทธิที่สำคัญในบริบททางสังคม-การเมืองยุคแห่งการพัฒนาก็คือ การปฏิวัติเดือนตุลาคม พ.ศ.  2516 เป็นขบวนการปฏิวัติที่ไม่ได้มุ่งต่อสู้เพื่อแสวงและเสวยอำนาจ แต่เป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมมุ่งที่ประท้วงโจมตีหลักการปกครองและความสัมพันธ์แบบเจ้าคนนายคน "หลักการอภิสิทธิ์" ซึ่งเป็นหลักการที่ไม่สามารถตอบสนองปัญหาการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบันได้ และเป็นการเรียกร้องต้องการหลักการทางสังคมใหม่ เพื่อการอยู่ร่วมกันโดยสันติ และเพื่อร่วมกันเผชิญปัญหาวิกฤตการเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งของสังคมสมัยใหม่             หลักการเช่นนี้ คือหลักการของสิทธิเสรีภาพ เป็นความหมายของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมซึ่งสะท้อนถึงการเรียกร้องต้องการ ของมวลชนเพื่อให้รับรู้และรับรองฐานะ ความเสมอภาคทัดเทียมและสิทธิเสรีภาพ ตลอดจนเป็นเรื่องเกี่ยวโยงโดยตรงต่อปัญหาปากท้อง ทุกข์สุข และศักดิ์ศรีของมหาชนส่วนใหญ่              การทำความเข้าใจและพัฒนาระบบสิทธิชุมชน ยังได้ถูกคาดหวังถึงทิศทางข้างหน้า ดังที่ศาสตราจารย์เสน่ห์ กล่าวว่า สิทธิชุมชนมิใช่เป็นสิทธิที่ชุมชนใช้ปกปักรักษา ทรัพยากร หรือตัวตนของตนเองเท่านั้น แต่ยังเป็นสิทธิที่ชุมชนจะสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมไม่ว่าจะเป็นการจัดการทรัพยากร ภูมิปัญญาท้องถิ่น และอื่น ๆ อันสอดคล้อง กับหลักการของการสร้างสิทธิที่ว่า สิทธิที่เจ้าของจะอ้างความชอบธรรมของตนเองได้ หาใช่เป็นสิ่งที่เจ้าตัวกำหนดฝ่ายเดียว แต่ต้องเป็นการยอมรับจากสังคมไปพร้อมกัน การสร้างการยอมรับโดยขบวนการเคลื่อนไหว ผลักดันเชิงนโยบาย การต่อสู้ทางวาทกรรมก็เป็นหนทางที่สำคัญ ซึ่งหากขบวนการสิทธิชุมชนได้ทำให้สังคมเห็นถึงผลประโยชน์ ที่จะได้รับ หรือผนวก (Inclusion) สังคมได้ร่วมรับผลประโยชน์จากชุมชนบนพื้นฐานที่ไม่ไปละเมิดสิทธิชุมชน ขณะเดียวกันสังคมก็มีหน้าที่ที่จะสนับสนุนความเข้มแข็งชุมชนด้วย ก็จะทำให้สิทธิชุมชนจะมีความยั่งยืน อันจะเป็นหลักประกันสำคัญของสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยในท้ายที่สุด การปรับโครงสร้างเพื่อความทันสมัยรุนแรงมากขึ้นเมื่อประเทศตะวันตกเข้ามาวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ (แผนฯ1 เริ่มปี พ.ศ. 2504) ให้ก้าวไปสู่ระบบเศรษฐกิจส่งออกภายใต้ลัทธิทุนนิยมในสมัย จอมพล สฤษดิ์ มีการปรับโครงสร้างของการจัดการทรัพยากรเป็นลำดับขั้น ตั้งแต่การสถาปนาอำนาจรัฐเหนือทรัพยากรที่เป็นของท้องถิ่นหรือชุมชนมาก่อน โดยการควบคุมดินแดน (Territorialization) เช่น ออกกฎหมายนิยามกรรมสิทธิ์ของรัฐเหนือทรัพยากรทั้งหมด หรือการจัดทำแผนที่อ้างเขตแดนอำนาจรัฐ ตามมาด้วยการจัดตั้งกลไกของรัฐเข้าควบคุมทรัพยากร และถ่ายโอนหรือเปิดช่องให้เอกชนเข้าใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่รัฐช่วงชิงมาจากท้องถิ่น โดยการสร้างระบบกรรมสิทธิ์เอกชน (Private property rights) เหนือทรัพยากร เช่น เอกสารสิทธิ์ที่ดิน หรือการให้เอกชนเช่าทรัพยากร ส่งผลให้เกิดบริโภคทรัพยากรอย่างล้างผลาญ และมีความรุนแรงมาก ตั้งแต่รัฐบาลเปรมที่ดำเนินนโยบายเร่งรัดการเติบโตเศรษฐกิจส่งออก (Export-led growth ) ปรากฏการณ์ความล้มละลายของชนบทเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง สวนทางกับการเติบโตของเมืองและอุตสาหกรรมที่ดูดทรัพยากรจากชนบท ฐานทรัพยากรอันเปรียบเสมือนทุนชีวิตของชุมชนท้องถิ่นเสื่อมสูญ ติดตามด้วยระบบเศรษฐกิจพึ่งตนเองของท้องถิ่นพังทลาย เปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจพึ่งพิงกับภาคเมือง กลไกรัฐได้เข้าควบคุมจัดการกับวิถีชีวิตของผู้คนในนามของ "นโยบายรัฐ" วัฒนธรรมหลักได้ปรับเปลี่ยนวิถีคุณค่า วิธีคิด และทำลายกระบวนการเรียนรู้ในท้องถิ่น ทำลายอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ (Ethnic Identity) อย่างรุนแรง จากการพัฒนาประเทศภายใต้ยุคกระแสโลกาภิวัฒน์นั้น ทำให้เราได้มองเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นมากมายในสังคม ปัญหาความยากจน และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลมาจากการที่รัฐบริหารประเทศโดยเน้นแต่การเติบโตของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเป็นหลัก เหนือภาคเศรษฐกิจสังคมอื่นๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเกษตรและชนบท และการที่รัฐเป็นผู้คุมอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องนโยบายการพัฒนาประเทศอยู่ฝ่ายเดียว สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการทำลายต้นทุนทางสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม การที่รัฐบริหารประเทศโดยมุ่งเน้นแต่เศรษฐกิจเป็นหลักอย่างเดียวนั้น ย่อมไม่ก่อให้เกิดผลดีแน่ ดังนั้นรัฐควรที่จะมุ่งเน้นการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เป็นไปอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมด้วย เพราะการจัดการทรัพยากรนั้น คงจะไม่มีใครที่จะทำได้ดีเท่ากับชุมชน ซึ่งพวกเขาได้ดูแล รักษาและจัดการทรัพยากรของเขามาตั้งแต่แรกปัจจุบันในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติไว้ในหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ส่วนที่ 12 ว่าด้วยสิทธิชุมชน มาตรา 66 67 ซึ่งให้ความสำคัญกับชุมชนท้องถิ่นในการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร อนุรักษ์ บำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และสิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการคุ้มครอง รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นต้น การดำเนินโครงการต่างๆที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง จะดำเนินการไม่ได้ นอกจาก ได้มีการศึกษาและผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน ดังนั้น สิทธิชุมชน จึงเป็นทางออกให้กับสังคม เพราะสิทธิชุมชนนั้นเป็นความคิดที่เอื้อหนุนให้ประชาชน ชุมชน มีสิทธิ มีเสียง มีส่วนร่วม ในการชี้ชะตาอนาคตของตนเอง ทำให้พวกเขาเข้าใจปัญหา รู้เท่าทันและมีสติ และเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน โดยชุมชนเอง มิใช่เป็นการใช้อำนาจจากเบื้องบนสู่เบื้องล่าง การพัฒนาประเทศจากจุดเล็กๆ ในระดับรากหญ้าไปสู่ระดับประเทศ และการที่รัฐให้ความสำคัญ และให้อำนาจกับสิทธิชุมชนอย่างจริงจัง ก็จะทำให้การพัฒนาประเทศเป็นไปในทางที่ดี นอกจากนี้การที่รัฐให้อำนาจสิทธิชุมชนอย่างเต็มที่ในการจัดการทรัพยากรก็จะทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่ได้รับการจัดการอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนที่สุดด้วย  
หมายเลขบันทึก: 147494เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2007 21:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้วขอบคุณมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท