วิถีชุมชนท้องถิ่น


ภูมิปัญญาท้องถิ่น
ชักเฮ่ วิถีประมงชาวท้องเนียนบาว_นาครวิถีชีวิตการเป็นอยู่และการทำมาหากินของชาวบ้านท้องเนียน อ.ขนอม จ. นครศรีธรรมราช เป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่าย พออยู่พอกิน ใช้ชีวิตแบบพอเพียง ทรัพยากรธรรมชาติ ทางด้านป่าไม้และทะเลยังคงอุดมสมบูรณ์อยู่มาก ซึ่งถ้าหากสังเกตได้จากการทำประมงด้วยวิธีการ ชักเฮ่* เป็นวิธีการหาปลากินแบบพอเพียง คือ ได้ปลามา พอกินพอแกง หากเหลือก็แบ่งปันกันไป หรือถ้าเหลือมากกว่านั้นจะนำไปขายที่ตลาดหรือในหมู่บ้านกันเอง เพราะไม่มีชาวบ้านคนไหนจะ ชักเฮ่ กันเป็นอาชีพ และวิธีการหาปลาแบบนี้ไม่สามารถทำได้เป็นประจำทุกวัน แต่จะทำได้เฉพาะช่วงที่ไม่มีคลื่นและเป็นช่วงหัวน้ำขึ้น ซึ่งชาวบ้านท้องเนียนจะถือว่าเป็นช่วงที่น้ำดีและน้ำเดิน ถือว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้านที่นี้ ผู้เขียนไม่ได้ทราบประวัติความเป็นมาที่ชัดเจนของ การชักเฮ่ แต่พอที่จะสันนิษฐานว่าได้มีมาหลายชั่วคนแล้ว ปราชญ์ชาวบ้านที่ท้องเนียนได้บอกถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นในเรื่อง การทำประมงแบบนี้ว่าจะต้องดูว่าเวลานี้ เป็นช่วงของน้ำเดินหรือไม่ ก็คือการขึ้นลงของกระแสน้ำที่มีการผลัดเปลี่ยนน้ำในแต่ละช่วง ซึ่งนับข้างขึ้น หรือข้างแรม กี่ค่ำ ซึ่งในระหว่างที่เกิดกระแสน้ำขึ้นน้ำลงนั้น จะเป็นช่วงที่สัตว์น้ำแต่ละประเภทได้เปลี่ยนน้ำใหม่ ดินทรายในน้ำก็จะมีการกระเพื่อมและจะเกิดห่วงโซ่อาหารตามธรรมชาติในท้องทะเล ทำให้มีกุ้ง หอย ปู ปลามีมากมาย ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้มากเป็นพิเศษ ถ้าวันไหนเป็นวันพระ 8 ค่ำ หรือ 15 ค่ำ ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็จะหยุดทำการชักเฮ่ ในวันนั้น  เพื่อไปทำบุญที่วัดจันทน์ธาตุทาราม หรือวัดท่าจันทน์ ซึ่งเป็นวัดโบราณที่มีพระธาตุเจดีย์ปะการัง ประดิษฐานอยู่บนภูเขา อ่าวท้องเนียน การ ชักเฮ่ สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียวสำหรับคนที่มีความชำนาญมากๆ แต่ที่นิยมกันคือ ลากอวนหรือ ชักเฮ่กัน 2 คน คนหนึ่งเป็นผู้ถืออวนด้านหนึ่ง อีกคนหนึ่งก็จะเป็นคนปล่อยอวนลากโดยใช้ไม้หลักไว้ดึงอวนลากเข้าสู่ชายฝั่ง โดยวิธีเริ่มต้นจะต้องมีคนที่ลาก เฮ่หรือ อวนลาก จากชายหาดลงไปปล่อยในทะเล และจะต้องมีคนบนฝั่งช่วยถือหัว เฮ่หรือ อวน คอยไว้ กลเม็ดเคล็ดลับก็คือ อย่าให้ เฮ่หรือ อวน ลอยจากพื้นทราย ดังนั้น คนที่อยู่ใกล้ฝั่งกว่าก็ต้องคอยจับหัวและท้าย เฮ่ ด้วยไม้หลักไว้ให้แนบกับผืนทราย เพื่อไม่ให้ปลาหนีออกไปได้จากด้านล่างของอวนที่ล้อมไว้ เมื่อล้อม เฮ่หรืออวน เสร็จ แล้วทั้งสองคนก็จะต้องช่วยกันลากขึ้นฝั่งอย่างชำนาญและระมัดระวังเพื่อไม่ให้ปลาที่ได้ล้อมไว้ในอวนหนีออกไปได้ และค่อยๆ เดิน ถอยหลัง โดยให้ไม้หลักเป็นที่ลากไปกับพื้นทรายเรื่อยๆ จนถึงฝั่งและช่วยกันจับปลา ปู หรือกุ้ง ที่ติดใน เฮ่ กันอย่างสนุกสนาน ความสำเร็จในการ ชักเฮ่ หรือลากอวนของคนท้องเนียน ไม่ได้อยู่ที่การได้ปลามากหรือน้อย แต่เป็นวิถีแห่งการเลี้ยงชีพอย่างพอเพียง และที่สำคัญความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันของกลุ่มคนที่ไปหาปลาด้วยกัน จะเห็นถึงความเอื้ออาทรต่อกัน เห็นความเป็นชุมชนแห่งความพอเพียง โดยการแสดงถึงมิตรไมตรีต่อกัน ในการช่วยเหลือกัน การให้ความเคารพต่อผู้ที่มาถึงชายหาดก่อน และมีการจัดระบบคิวในการลงไปหาปลาอย่างเอื้ออาทรกัน โดย มีการจัดระเบียบเพื่อที่จะลงไปชักเฮ่หรือลากอวนกันอย่างเป็นระบบ และอีกอย่างหนึ่งก็คือ การได้พบปะพูดคุยกัน ได้แลกเปลี่ยนเรื่องราววิถีชีวิตความเป็นอยู่ของแต่ละคน การถามถึงสาระทุกข์สุกดิบของกันและกัน ความเป็นชุมชนเกิดขึ้นบนชายหาดอ่าวท้องเนียนที่พวกเขาถือว่าเป็นวิถีชีวิตพอเพียงของพวกเขาอย่างแท้จริง   


* ชักเฮ่ หมายถึง การทำประมงชายฝั่งโดยวิธีการใช้อวนลากจับปลาริมชายหาด
หมายเลขบันทึก: 147492เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2007 21:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 20:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท