THM


THM = Total Healthy Management
             แนวคิดการจัดการสร้างสุขภาพทั่วทั้งองค์กร (Total Healthy Management: THM) เพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิต (Quality of Life) โดยต้องสร้างสุขภาพหรือทำให้เกิดสุขภาวะทุกคน ทุกงาน ทุกที่และทุกเวลา เป็นลักษณะ Health for All, All for Health
             แนวคิดหลัก(Core concepts) ของการจัดการสร้างสุขภาพทั่วทั้งองค์กร อธิบายในรายละเอียด ดังนี้
1.       Focus on Health(มุ่งเน้นสุขภาวะ) เน้นด้านสุขภาพแบบองค์รวม(Holistic Approach)คือต้องมีสุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งด้านร่างกาย(Physical) จิตใจ(Mental) สังคม(Social)และเชาว์ปัญญาหรือจิตวิญญาณ (Spiritual) ในเรื่องมุ่งเน้นสุขภาพสำคัญมากเพราะต้นตอปัญหาสังคมไทยส่วนใหญ่มาจากวงจรโง่-จน-เจ็บ  โดยที่เรื่องเจ็บจะเป็นเรื่องของสุขภาพ  ถ้าเจ็บป่วยก็มีผลให้โง่หรือจนได้  การมองเรื่องสุขภาพไม่ควรมองที่เจ็บป่วยหรือทุกขภาวะ(illness)แต่ต้องมองที่สุขภาพหรือสุขภาวะ(Health) ต้องรู้จักคนไม่ใช่ไข้
2.       Strategic driven(นำพาด้วยกลยุทธ์) ต้องขับเคลื่อนเชิงกลยุทธ์ไม่ใช่ขับเคลื่อนด้วยโครงการเด่นหรือโครงการนำร่อง(Pilot project)เพราะจะยั่งยืนและไปได้ทั้งองคาพยพหรือทั้งองค์กร เนื่องจากทุกส่วนในองค์กรมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันเป็นระบบ(System Approach) เมื่อขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์จะสามารถเชื่อมโยงองค์ประกอบต่างๆเข้าด้วยกันได้ การขับเคลื่อนกลยุทธ์ที่ดีต้องมีผู้นำที่มองการณ์ไกล(Visionary Leadership) มีความคิดและมุมมองเชิงระบบ(System perspective)และเจ้าหน้าที่ที่มีความตื่นตัวสูงต่อการตอบสนองความต้องการของประชาชน(Agility) เรียกง่ายๆว่าทำเชิงยุทธศาสตร์ ไม่ใช่ยุทธวิธี
3.       Empowerment(ฉุดด้วยการเสริมพลัง) เป็นการเสริมพลังหรือให้อำนาจหน้าที่แก่บุคคลที่จะตัดสินใจและกระทำการอย่างเหมาะสมในสิ่งที่เขาเกี่ยวข้อง ซึ่งในการเสริมพลังด้านสุขภาพ(Health Empowerment) นั้น John Hubleyได้กล่าวไว้ว่าต้องทำให้บุคคลมีความเชื่อมั่นในตนเองหรือตระหนักในคุณค่าของตนเองว่าทำได้(Self efficacy)และมีความเข้าใจและทักษะชีวิต(Health Literacy)จึงจะสำเร็จ ในการเสริมพลังนี้ต้องให้แก่ชนทุกหมู่เหล่าเพราะสุขภาพดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องสร้างเอง  ทุกคนในสังคมต้องสร้างสุขภาพตัวเองโดยได้รับการเสริมพลังอย่างเหมาะสม
4.       Citizen and Community focus(มุ่งหวังประชาชนและชุมชน) มุ่งเน้นที่ชุมชนและประชาชนทุกกลุ่มที่รับผิดชอบ อาจแบ่งเป็นกลุ่มปกติ(Healthy) กลุ่มป่วย(Patient)  กลุ่มเสี่ยง/พิการ/ด้อยโอกาส(Risk) และอาจแยกกลุ่มเจ้าหน้าที่และญาติ(Staff)มาเป็นอีกกลุ่มหนึ่งก็ได้ มีความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม (Community &Social Responsibility)  มีข้อมูลข่าวสาร(Data &Information)ที่ครบถ้วนเกี่ยวกับประชาชนกลุ่มต่างๆเพื่อที่จะสามารถวางแผนที่จะดูแลแต่ละกลุ่มได้อย่างเหมาะสม  คือมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
5.       Service and Process Management(เปี่ยมล้นการจัดการ) มีการจัดการกระบวนการและบริการที่ดี ต้องเน้นการจัดการเพราะที่ใดก็ตามเมื่อมีคนอยู่หลายคนต้องมีการจัดการที่ดีด้วยโดยครอบคลุมหน้าที่หลักทางการจัดการ 4 ประการคือ Planning กำหนดสิ่งที่ต้องการบรรลุ กำหนดวัตถุประสงค์และขั้นตอนที่จะบรรลุผล  Organizing จัดสรรทรัพยากร จัดกิจกรรมของแต่ละคนและกลุ่มเพื่อปฏิบัติตามแผน Leading กระตุ้นความกระตือรือร้นของคนในองค์การให้ทำงานหนักเพื่อบรรลุแผนงานที่สำคัญ  Controlling ตรวจสอบ ควบคุม ติดตามผลงานกับเป้าหมายและปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องที่อาศัยทั้งการประเมินผล(Evaluation)และการติดตาม(Monitoring)  ในด้านของการจัดการกระบวนการนั้นจะต้องวิเคราะห์ถึงกระบวนการที่แท้จริง (Core process)ขององค์การที่ประกอบด้วย
-          การรับ  มีการระบุสิทธิ  การจัดทำทะเบียนประวัติ  การส่งไปยังจุดบริการต่างๆ 
-          การประเมิน  แยกกลุ่มว่าเป็นกลุ่มปกติหรือกลุ่มป่วย ที่มีความเร่งด่วนปกติ ฉุกเฉินหรือวิกฤติ 
-          การดูแล  ที่มีตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพ ควบคุมป้องกันโรค  รักษาพยาบาลและฟื้นฟูสภาพ 
-          การจำหน่าย  ในลักษณะของการให้กลับบ้านได้หรือต้องส่งไปรักษาที่สถานพยาบาลอื่น
-          การติดตาม มีทั้งการติดตามดูแลต่อเนื่องที่บ้านหรือชุมชน  การติดตามให้กลับมารักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาลหรือการติดตามในรายที่ส่งไปรักษาต่อที่อื่น
                ประเภทบริการ ในมุมกว้างโดยแบ่งบริการออกเป็น 3 ประเภทคือ
-          บริการรายบุคคล(Individual service) เป็นบริการที่เราให้แก่ผู้รับบริการเป็นรายบุคคลทั้งการรักษาโรคหรือการส่งเสริมป้องกันที่ให้เป็นรายบุคคล เป็นตัวคนที่สามารถบอกความต้องการ(Customer requirement) ของเขาต่อผู้ให้บริการได้  เช่นการรักษาโรครายบุคคล,การฝากครรภ์,การฉีดหรือให้วัคซีน
-          บริการรายกลุ่ม(Mass service) เป็นบริการที่เราจัดให้แก่ประชาชนเป็นรายกลุ่มได้รับพร้อมๆกันในการให้บริการครั้งเดียว มีตัวตน ไม่มีตัวแทนที่จะสามารถสื่อความต้องการให้เราทราบได้ เช่นการให้สุขศึกษารายกลุ่ม การให้คำปรึกษาเฉพาะโรครายกลุ่ม  การให้สุขศึกษาผ่านเสียงตามสายหรือผ่านสื่อมวลชนต่างๆ
-          บริการสังคม(Social service) เป็นบริการที่เราพึงต้องระลึกถึงและทำให้เกิดแก่ชุมชนหรือสังคม ที่ไม่มีตัวตนชัดเจน และไม่มีตัวแทนมาเจรจาความต้องการกับเราได้ แต่เราต้องทำให้ และผลดีอาจเกิดในอนาคตเช่นการไม่ปล่อยน้ำเสียลงสู่ชุมชน  การไม่ปล่อยให้ขยะติดเชื้อแพร่กระจายลงสู่ชุมชน  การให้วัคซีนโปลิโอ(เป็นการลดเชื้อโปลิโอในชุมชน)รวมทั้งการปฏิบัติตามจรรยาวิชาชีพ  มีความรับผิดชอบต่อวิชาชีพ (Professional Responsibility)และมีความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม(Community & Social  Responsibility)
                องค์ประกอบของบริการ โดยบริการทั้ง 3 ประเภทนั้นจะมีองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ
-          บริการซึ่งเกิดจากการปฏิบัติของบุคคลผู้ให้บริการ(Personalized Service) เป็นผลลัพธ์จากการปฏิบัติงาน(เทคนิคบริการและพฤติกรรมบริการ)ที่ผู้ให้บริการกระทำให้ผู้รับบริการ เช่นการทำหัตถการของแพทย์หรือกริยาท่าทางคำพูดสีหน้าในการให้บริการ
-          บริการที่เกิดจากเครื่องมือสถานที่ที่เตรียมไว้ให้บริการ(Mechanized Service หรือ Facility content in Service) เป็นผลลัพธ์ของบริการที่เตรียมไว้อำนวยความสะดวกหรือประกอบในการให้บริการแก่ผู้รับบริการ  เครื่องมือ อาคารสถานที่ สิ่งแวดล้อมหรือบรรยากาศ โดยที่เมื่อเสร็จสิ้นการให้บริการแล้วไม่ได้มอบให้ลูกค้าไปด้วย
-          ผลิตภัณฑ์ในบริการ(Product content in Service) เป็นสิ่งที่ประกอบในการให้บริการและได้ส่งมอบให้แก่ผู้รับบริการไปด้วยเช่นยา,อาหาร,น้ำดื่ม,วัสดุการแพทย์
                การบริการที่มีคุณภาพจึงเป็นการบริการที่มีเทคนิคบริการที่ถูกต้องและพฤติกรรมบริการที่สร้างสัมผัสที่เบิกบานนำไปสู่ประโยชน์และความสุขของผู้รับบริการจนเกิดเป็นความพึงพอใจ เพราะได้รับการตอบสนองความต้องการ(Needs) และความคาดหวัง (Expectations) โดยเป็นคุณลักษณะที่ทำให้ผู้รับบริการเกิดความรู้สึก 3 ประการในต่างวาระกันคือยอมรับ เมื่อยังไม่ป่วยก็รู้สึกว่าโรงพยาบาลแห่งนี้ดี  อยากได้ เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องการและเลือกมารักษาหรือมาใช้บริการ  ชื่นชม เมื่อมาใช้บริการแล้วก็รู้สึกว่าดีจริง ยกย่องชมเชยว่าดี มีความประทับใจ
6.       Creativity and Innovation (สร้างสรรค์นวัตกรรม)  มีการเรียนรู้ของตนเองและองค์กร (Individual & Organization Learning)   ซึ่งจะสามารสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovation)ให้เป็นสินทรัพย์ทางปัญญาขององค์กร(Intellectual capital =  Competency x Commitment)  ในเรื่องความคิดสร้างสรรค์นั้น การพัฒนาคุณภาพและการสร้างสุขภาพควรมีความคิดสร้างสรรค์ 4 แบบ คือ
o      คิดเชิงบูรณาการ(Integrated Thinking ,Big picture) มองภาพรวมให้ได้ มองเป้าหมายร่วม (Shared vision)ขององค์กร มองเห็นป่า อย่าเห็นแค่เพียงต้นไม้  จะได้ไม่หลงป่า
o      คิดเชิงระบบ(System Thinking) มองเห็นภาพใหญ่ ภาพรวมอย่างเดียวไม่พอต้องเห็นความเชื่อมโยงของส่วนต่างๆด้วย  มองให้ออกว่าแต่ละส่วนต้องอาศัยกันและกัน ต้องพึ่งพากัน มีผลกระทบต่อกันและกันอย่างไร  มองปัญหาอย่างรอบด้านและแก้ปัญหาที่ต้นตอของปัญหา(Root cause) เวลาจะแก้ปัญหาจะได้ไม่มองด้านเดียว มุมเดียว
o      คิดเชิงบวก(Positive Thinking) มองทุกอย่างในด้านดี  มองคนอื่นในแง่ดี ยอมรับตนเอง  ยอมรับคนอื่น ยอมรับเพื่อนร่วมงาน  เหมือนที่เวลาเรามองน้ำในแก้วที่มีครึ่งแก้ว ถ้าคิดเชิงลบก็จะคิดว่ามีน้ำคาครึ่งแก้วเอง  แต่ถ้าคิดเชิงบวกจะมองว่ามีน้ำอีกตั้งครึ่งแก้ว  ความคิดเชิงบวกจะทำให้เราเข้าใจคนอื่น ให้โอกาสตนเองและคนอื่น  ไม่ท้อง่าย  ยิ่งเมื่อต้องทำงานเป็นทีม ทำงานร่วมกับผู้อื่นยิ่งจะมีประโยชน์  เมื่อเราชวนคนอื่นทำงาน แล้วเขาไม่ทำ  ไม่ร่วมมือ  ไม่ช่วย  ถ้าคิดเชิงลบเราก็จะมองว่าคนๆนั้นเลว ไม่ให้ความร่วมมือ  ไม่มีน้ำใจ แต่ถ้าเราคิดเชิงบวกเราก็จะพยายามเข้าใจเขาว่าที่เขาไม่ทำ ไม่ร่วมมืออาจเป็นเพราะเขายังไม่รู้ ยังไม่เข้าใจหรือยังไม่พร้อม  การคิดแบบนี้จะทำให้เราเข้าใจคนอื่นมากขึ้นและบรรยากาศการทำงานในองค์กรจะดีขึ้น
o      คิดเชิงบุกหรือคิดนอกกรอบ(Provisional Thinking ,Lateral Thinking) เป็นการคิดในสิ่งที่ออกไปจากกรอบความคิดเดิมๆ วิธีแก้ปัญหาเดิมๆ ทำให้สามารถค้นพบสิ่งใหม่ๆหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ(นวัตกรรม)ได้  ช่วยให้สามารถแก้ปัญหาต่างๆได้มากขึ้น  หลากหลายขึ้น
7.       Teamwork and Commitment (ทำด้วยทีมที่มุ่งมั่น) สมาชิกทีมมีความมุ่งมั่น เน้นการทำงานเป็นทีมที่สมาชิกทีมมีความรู้ความเข้าใจ(Competency)และมีความมุ่งมั่น(Commitment)  ในการทำงานเป็นทีมปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้คือมองสิ่งเดียวกันแต่เห็นหรือรับรู้แตกต่างกัน จึงต้องมีการหาความเห็นร่วม (Concensus)ที่เหมาะสมในลักษณะของการแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง ซึ่งจะเกิดได้ถ้าสมาชิกเปิดใจเข้าหากัน(Opened mind) และมีเป้าหมายร่วมกัน(Shared vision) ต้องเปลี่ยนการทำงานจากฉัน(ME)เป็นเรา(WE) กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้(Individual Learning)ทั้งส่วนบุคคลและทีม(Team Learning)
8.       Participation (สานฝันอย่างมีส่วนร่วม) การมีส่วนร่วมของทุกคนที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ ประชาชนและชุมชนได้ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ ร่วมประเมินผลและร่วมรับผิดชอบ ร่วมเรียนรู้(Learning)ภายใต้บรรยากาศวัฒนธรรมประชาธิปไตย(Democratic culture)คือให้เขาได้รู้จากข้อมูลข่าวสาร(Information) ที่มีผ่านการสื่อสาร(Communication)ที่เหมาะสม ใช้ข้อมูลมาช่วยในการตัดสินใจ(Management by Fact)  เอาความรู้(Evidenced-basde Approach)ที่แต่ละคนมีมาวางรวมกันแล้วแก้ปัญหาภายใต้บริบทของสังคมตนเองเพื่อให้ปฏิบัติได้จริง เป็นการการลงขันทางปัญญา(Knowledge sharing)
9.       Sustainability(รวมพลังอย่างยั่งยืน) เน้นความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง การสร้างสุขภาพต้องอดทนนาน เพราะเปรียบเหมือนการปลูกไม้ยืนต้น ไม่ใช่ผักชี และเป็นการปลูก(เริ่มตั้งแต่ต้นเล็กๆมีรากแก้ว) ไม่ใช่ฝัง(ขุดต้นใหญ่มาปลูก)  เป็นการพัฒนาที่เห็นผลช้าแต่ว่ายั่งยืน  ต้องช่วยกันพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความที่เห็นผลช้าทำให้หลายคนท้อง่าย หมดแรงไปก่อนทั้งที่อาจจะอีกนิดเดียวก็จะถึงจุดหมายอยู่แล้ว การทำคุณภาพและสร้างสุขภาพจึงต้องมอง(คิด)ไกล แต่ทำใกล้  ในเส้นทางที่ยาวไกลอย่างนี้เราจะมีกำลังใจได้เราต้องมีความปิติสุขกับความสำเร็จเล็กๆของงานที่เรากระทำ(Focus on Result & Create value) สะสมความสุขเล็กๆนี้ไปเรื่อยๆมันจะเป็นพลัง  การที่ผลช้าเพราะเราต้องทำให้เกิด KAPหรือKSABในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่กว่าจะเห็นผลว่าสามารถสร้างสุขภาพหรือลดโรค ลดอัตราป่วยได้อาจเป็น 5-10 ปี กว่าจะทำให้รู้(Knowledge)มีทักษะ(Skill)มีทัศนคติเห็นคล้อยตาม(Attitude)จึงจะปฏิบัติได้เป็นพฤติกรรมสร้างสุขภาพ(Behavior) และเมื่อปฏิบัติกว่าจะเห็นผลก็ต้องใช้เวลา ระยะหนึ่ง
คำสำคัญ (Tags): #kmกับคุณภาพ
หมายเลขบันทึก: 14701เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2006 22:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 00:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท