BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

บริจาค


บริจาค

คำนี้ มีใช้ทั่วไปในสังคมไทย และคนไทยทั่วไปก็คงจะเข้าใจว่าคำนี้มีความหมายทำนอง สละ ช่วยเหลือ ทำบุญ....

บริจาค บาลีเขียนว่า ปริจาโค (บางครั้งก็ซ้อนจ.จาน เข้ามาเป็น ปริจฺจาโค) ... คำนี้มาจากรากศัพท์ว่า จช ในความหมายว่า สละ ... โดยมี ปริ เป็นอุปสัคนำหน้ารากศัพท์ในความหมายว่า รอบ .... และ ลง ณ. ปัจจัย ดังนี้

  • ปริ + จช + ณ = ปริจาโค (แปลง ช.ช้าง เป็น ค.ควาย)
  • ปริ (รอบ) + จช (สละ) = สละรอบ (เฉพาะความหมาย)

ดังนั้น ปริจาคะ, ปริจจาคะ หรือ บริจาค มีความหมายตรงตัวจึงแปลว่า สละรอบ หมายถึง การเสียสละความสุขส่วนตัวโดยประการทั้งปวง...

ปริจจาคะ ศัพท์นี้ จัดเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งใน ทสพิธราชธรรม ซึ่งเป็นคุณธรรมสำหรับพระราชา ผู้นำ หรือนักปกครอง (ผู้สนใจดู http://84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=326 )

...............

ส่วนในหมวดธรรมอื่นๆ บางครั้งใช้เฉพาะคำว่า จาคะ ซึ่งแปลว่า ความเสียสละ นั้น... ผู้เขียนจะยกมาให้พิจารณา ๒ หมวด คือ ฆราวาสธรรม และสัมปรายิกัตถธรรม...

ฆราวาสธรรม คือ หลักดำเนินชีวิตสำหรับชาวบ้าน มี ๔ ข้อ ได้แก่

  • ขันติ ความอดทน
  • ทมะ ความข่มใจ
  • สัจจะ ความจริงใจ
  • จาคะ ความเสียสละ 

 จาคะ ในที่นี้ หมายความว่า คู่ชีวิตทั้งสองจะต้องเสียสละซึ่งกันและกัน เมื่อมาอยู่ร่วมกัน ถ้าไม่มีการเสียสละแล้ว ครอบครัวก็ไม่อาจดำเนินชีวิตไปได้โดยตลอด....

................

สัมปรายิกัตถธรรม คือ หลักประโยชน์ที่จะพึงหวังได้ในชาติหน้าหรืออนาคต มี ๔ ข้อ ได้แก่ 

  • ศรัทธา ความเชื่อถือในแนวทางที่ถูกต้อง
  • ศีล ความมีระเบียบทางกายและวาจา
  • จาคะ ความเสียสละ
  • ปัญญา ความรอบรู้ 

จาคะ ในที่นี้ หมายความว่า เสียสละอารมณ์ที่เป็นข้าศึกซึ่งมากระทบใจ  เช่น เมื่อสูงอายุขึ้น ร่างกายไม่ได้ดังใจ ก็ต้องเสียสละอารมณ์เช่นนั้นไป... 

...............

อนึ่ง ตามควาเห็นส่วนตัว บริจาค ตามความหมายในคำไทย ค่อนข้างจะต่างไปจากคำบาลี... กล่าวคือ บริจาค (จาคะ) ในบาลี เน้นที่การเสียสละความรู้สึกบางอย่างที่เกิดขึ้นทางด้านจิตใจ... ส่วน บริจาค ในคำไทย เน้นที่การเสียสละสิ่งของต่างๆ เพื่อช่วยเหลือใครบางคนเท่านั้น...

แต่ ถ้าถือเอาว่า การบริจาคสิ่งของเพื่อช่วยเหลือใครบางคนนั้น ก็คือการเสียสละความรู้สึกตระหนี่ถี่เหนียว ซึ่งทำให้ความเห็นแก่ตัวของเราลดน้อยถอยลงไป... ตามนัยนี้ ผู้เขียนก็เห็นด้วย...

อย่างไรก็ตาม การขอรับบริจาคใน Gotoknow รู้สึกว่าเริ่มจะมีหลากหลายขึ้น ซึ่งผู้สนใจจะบริจาคก็อาจเลือกได้ตามอัธยาศัย.... 

หมายเลขบันทึก: 146973เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2007 21:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 11:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

นมัสการค่ะพระคุณเจ้า

เรื่องการบริจาคนี้ ส่วนตัวคิดว่า อยากจะบริจาค ตราบเท่าที่เราไม่เดือดร้อน และบริจาคไปให้หลายๆส่วน นับตั้งแต่ คนในบ้าน เราให้โน่นนี่แก่เขา ให้เขามีความสุขที่อยู่กับเรา นอกเหนือจากเงินเดือน ไปจนทำบุญที่วัด ที่ไม่เคยขาด

เมื่อได้เห็นพวกมหาเศรษฐีอเมริกันเขาบริจาคกันคนละมากๆๆ ก็อด อนุโมทนาไปกับเขาไม่ได้ มันเหมือนกับ ความฝันของพวกเขา ที่ฝันว่า วันหนึ่ง จะมีเงินเยอะๆ และมาบริจาคให้องค์กรโน้นองค์กรนี้

ทีนี้ เข้าประเด็นเสียทีค่ะ....

การที่พวกเศรษฐีใหญ่ๆเขาบริจาคนี้  น่าจะมีการหวังผลประโยชน์ตอบแทนเสมอ นั่นคือ ความสุข ของการให้  เพียงแต่เป็นผลตอบแทนที่น่าชื่นชม

สิ่งที่ฝรั่งเรียกว่า Altruism หรือการคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนอื่นมากกว่าของตน หรือความตั้งใจทำประโยชน์ให้แก่คนอื่นถึงแม้ตัวเองจะต้องเสียประโยชน์ก็ตาม เป็นคำสอนอยู่ในทุกศาสนา และเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการบริจาคขึ้น

กลไกภาษีอากรเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้คนคิดบริจาค ถึงแม้ว่าจะเป็นการบริจาคที่น่าชื่นชมน้อยกว่ากรณีของ Altruism แต่ก็ยังเป็นการบริจาคซึ่งทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นอยู่ดี

ไม่ทราบถูกต้องไหม อยากให้ท่านสั่งสอนหน่อยค่ะ

พรุ่งนี้ ก็จะต้องไปบริจาคอีกแล้วด้วยความเต็มใจ   อยากให้เกิดปีติมากๆค่ะ

กราบ 3 หนค่ะ

P

sasinanda

การบริจาค หรืี้อ การทำบุญทำทาน ตามสำนวนไทยนี้ ถ้าจะให้ได้ผลมากก็ควรจะถึงพร้อมด้วยองค์ ๔ กล่าวคือ

  • กาลสมบัติ บริจาคให้เหมาะสมกับเวลา
  • คติสมบัติ บริจาคให้เหมาะสมกับสถานที่
  • อุปธิสมบัติ บริจาคให้เหมาะสมกับบุคล (หรือองค์กร)
  • ปโยคสมบัติ มีวิธีการเหมาะสมในการบริจาค

..........

เคยอ่านงานที่วิเคราะห์เรื่องการบริจาคของชนชาติต่างๆ นานแล้ว  จำไม่ได้... จำได้แต่ข้อสรุปเกี่ยวกับนิสัยคนไทย...

โดยสรุปว่า คนไทยโดยมากชอบที่จะสร้างโบสถ์ สร้างวัด มากกว่าที่จะบริจาคกับองค์การสาธารณกุศลอื่นๆ...

...........

คำว่า Altruism ภาษาไทยบัญญัติศัพท์ว่า ปรัตถนิยม หมายถึงการเห็นแก่บุคลอื่นมากกว่าตัวเอง... เป็นประเด็นหนึ่งที่ศึกษาในจริยปรัชญาว่าเป็นจริงหรือไม่ ?

ก็ขออนุโมทนาในจาคเจตนาของคุณโยมในพรุ่งนี้ด้วย...

เจริญพร 

 อีกนิดค่ะท่านคะ

คนไทย ไม่ค่อยชอบบริจาคกับองค์กรการกุศลเท่าใด เพราะ ผู้บริจาคนำไปหักภาษีได้น้อย หรือไม่ได้เลย แล้วยังมีเพดานกำหนดด้วยค่ะท่าน

ทุกวันนี้มีกลุ่มหรือองค์กรที่ทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์ เพื่อปกป้องชุมชน สิ่งแวดล้อม ผู้อ่อนแอ รวมทั้งบุคคลจำนวนมากที่ทำงานด้านส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ส่งเสริมเด็กและเยาวชน ส่งเสริมภูมิปัญญาชาวบ้าน

จึงขาดเงินทุน และไม่อาจจะทำงานอย่างมืออาชีพได้ค่ะ

ถ้าเป็นองค์กรต่างประเทศที่เขาทำประโยชน์จริงๆ ไม่ค่อยมีปัญหาขาดแคลนเท่าใด

กระทรวงการคลังแทนที่จะสนับสนุน แต่กลับคิดกลัวว่า   คนจะใช้ช่องทางนี้เพื่อเลี่ยงภาษี แต่ไม่ได้ชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบกับด้านดีที่รัฐบาลหรือสังคมจะได้

ในต่างประเทศบางประเทศ 

เขาจะมีกฎหมายอำนวยความสะดวกให้ผู้บริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์ และการกุศลสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อย่างง่ายดาย เช่น การบริจาคเสื้อผ้า หรือ ของใช้แล้วก็ยังให้ตีเป็นมูลค่าแล้วนำไปลดหย่อนภาษีได้ โดยไม่มีระเบียบหรือขั้นตอนที่ซับซ้อน

ในบ้านเราก็เห็นมีแต่วัดสวนแก้วของพระพยอมที่ได้ริเริ่มโครงการส่งรถไปรับบริจาคของใช้แล้วทุกชนิดถึงบ้าน

 เพื่อนำมาขายในราคาถูกเพื่อช่วยเหลือคนจนที่ไม่มีปัญญาซื้อของใหม่ หรือ เป็นรายได้เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป

นมัสการลาค่ะ

กราบ 3 หนค่ะ

..... และน่าเป็นการสละให้โดยไม่เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่นด้วยครับ คือเมื่อสละให้ไปแล้ว ไม่มีใคร (รู้สึก) แย่ลง

การบริจาคโดยเบียดเบียนตัวเองอาจเกิดขึ้นได้ เช่นการทำเพื่อหวังจะได้รับสิ่งตอบแทนที่มีค่าสูงกว่าสิ่งที่เสียไป (ไม่ได้บริสุทธิ์ใจตั้งแต่แรก)

ส่วนการบริจาคที่เบียดเบียนผู้อื่น ก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน เช่นให้ไปแล้วเป็นภาระแก่ผู้รับ หรือผู้รับใช้ประโยชน์ไม่ได้ (ไม่ได้ตั้งใจเลือกให้ผู้รับ เช่นของจับฉลาก แต่อันนี้ไม่เหมือนกับถวายสังฆทาน เนื่องจากสังฆทานถวายแก่สงฆ์โดยไม่เจาะจงจะถวายแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง)

P

Conductor

 

การบริจาค หรือการทำทานนี้ มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งในคำสอนทางพระพุทธศาสนา (ไม่แน่ใจว่าเคยเล่าไว้ที่ Gotoknow นี้หรือไม่ ?)

ในบารมี ๑๐ ทัศนั้น ทานบารมี ขึ้นก่อน นั่นคือ เป็นคุณธรรมเบื้องต้น ที่ทุกคนควรจะมี....

แต่ในทศชาตินั้น พระชาติสุดท้ายคือ พระเวสสันดร เน้นที่ ทานปรมัตถบารมี ....

ตามนัยนี้ อาจคาดเดาได้ว่า การบริจาคหรือทาน นั้น แม้จะเป็นคุณธรรมเบื้องต้นที่ทุกคนควรจะมี แต่การที่จะเสียสละอย่างสูงสุดแบบไม่เห็นแก่ตัวจริงๆ นั้น กลับเป็นสิ่งที่ทำได้ยากที่สุด....

เจริญพร 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท