พิธีอุปสมบท


ประเพณีวัฒนธรรมของไทย

ความสำคัญของพิธีอุปสมบท                 ประเพณีเป็นแบบแผนพฤติกรรมที่เป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ   เป็นสิ่งที่ดีงาม  แสดงถึงวิถีชีวิตและจิตใจของคนทั้งในอดีตและปัจจุบัน   ปฏิบัติสืบต่อกันมาทำให้เกิดการสืบทอดจนกลายเป็นประเพณี                การอุปสมบทเป็นประเพณีที่ต้องการให้ผู้บวชได้ศึกษาพระธรรมวินัย   เป็นบุคคลที่มีสติสัมปชัญญะ  และเป็นการช่วยสืบทอดพุทธศาสนา   นอกจากนั้นยังมีความเชื่อกันว่า  การทำบุญด้วยการอุปสมบทของบุตรหลาน  เป็นการสร้างกุศลที่ยิ่งใหญ่   ผู้อุปสมบทเองก็ได้ชื่อว่า   ได้สร้างกุศลทดแทนบุญคุณบิดามารดา ประวัติความเป็นมาของการอุปสมบท                 การบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา   เริ่มแรกจริงๆ  ก็บวชเป็นพระเลย  โดยพระพุทธเจ้าทรงประทานการบวชให้  ดังปัญจวัคคีย์ภิกษุรุ่นแรก   พระองค์ตรัสว่า  เอหิ  ภิกขุ  จงมาเป็นภิกษุด้วยกันเถิด  เท่านั้น  ท่านเหล่านั้นก็กลายเป็นภิกษุในทันที                   ต่อมาเมื่อผู้มาขอบวชมีมากขึ้น  พระพุทธเจ้าทางประทานอำนาจการบวชแก่พระสงฆ์   การบวชมีพิธีรีตองขึ้น  เช่น  มีกำหนดคุณสมบัติผู้มาขอบวช   และมีพระอุปัชฌาย์ผู้เป็นประธานในการบวช   ความหมายของการอุปสมบท                 อุปสมบท  คือ  การบวชเป็นพระภิกษุ  ใช้สำหรับผู้บวชเป็นชายที่มีอายุตั้งแต่  20  ปีขึ้นไป   และต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามลักษณะมาตรา 15 แห่งสังฆาณัติระเบียบ  พระอุปัชฌาย์  พุทธศักราช 2479 ประเภทและรูปแบบของพิธีอุปสมบท                 การออกบรรพชาหรืออุปสมบท  ในพระพุทธศาสนานี้  เท่าที่พระพุทธองค์ทรงใช้และทรงอนุญาตให้กระทำกันมีอยู่  3 วิธีคือ                1.  เอหิภิกขุอุปสัมปทา    วิธีการออกบวชของพระในพระพุทธศาสนานี้  เริ่มแรกคือพระสงฆ์ในเบื้องแรกแห่งศาสนานี้  จะใช้วิธีการอุปสมบทวิธีนี้ในการออกบวช  ซึ่งเป็นวิธีที่พระพุทธองค์ทรงให้การอุปสมบทด้วยพระองค์เอง  วิธีการออกบวชด้วยวิธีนี้ไม่มีอะไรยุ่งยาก  คือ  เพียงแค่มีผู้ที่เลื่อมใสอยากจะอุปสมบท  ออกบวชในบวรพุทธศาสนา  ก็เข้าไปทูลขอบวชแด่องค์พระผู้มีพระภาค  เมื่อพระองค์ทรงอนุญาตในการอุปสมบท  ก็จะทรงตรัสว่า  ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด  ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว  ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์  เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด  เมื่อพระองค์ทรงตรัสเสร็จ  ผู้ที่มาขอรับการบวชนั้นก็จะสำเร็จเป็นพระภิกษุทันที                2.  ติสรณคมนูปสัมปทา   วิธีการอุปสมบทวิธีนี้  เป็นวิธีที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานอนุญาตให้เหล่าพระสาวก  สามารถให้การอุปสมบทแก่ผู้ที่มีศรัทธาได้เอง  โดยไม่ต้องนำพามาให้พระองค์บวชให้  ทั้งนี้เนื่องจาก  เมื่อเหล่าบรรดาพระสาวกเมื่อได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธองค์แล้ว  ก็ออกเผยแผ่ธรรมไปตามที่ต่างๆ  เมื่อทำการเผยแผ่มากเข้าก็มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสในพระธรรมคำสอนเป็นอันมาก  อยากที่จะออกบวชในพระพุทธศาสนานี้  แต่ก็เป็นการยากลำบาก  เนื่องจากพระสาวกเหล่านั้นต้องนำมาผู้ที่ศรัทธาเหล่านั้นกลับมา  เพื่อให้พระพุทธองค์ทรงบวชให้  พระผู้มีพระภาคเจ้าเห็นความยากลำบากอันนี้  ต่อมาพระองค์จึงทรงประทานอนุญาตให้พระสาวกเหล่านั้นให้การอุปสมบทแก่ผู้ที่ศรัทธาได้เลย  โดยไม่ต้องนำพากลับมาเพื่อให้พระองค์ทรงบวชให้  ซึ่งการอุปสมบทวิธีนี้ก็เพียงแค่  ผู้ที่มีศรัทธาเข้าไปกราบภิกษุผู้ที่จะบวชให้นั้น  แล้วผู้ที่จะบวชกล่าวคำขอถึงพระไตรสรณคมณ์  3  ครั้ง  เมื่อกล่าวเสร็จสิ้น  ก็เป็นพระภิกษุโดยสมบูรณ์                3.  ญัตติจตุตถกรรมวาจา   วิธีการอุปสมบทวิธีนี้เป็นการให้การอุปสมบทโดยคณะสงฆ์  มิใช่ให้โดยพระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง  เป็นวิธีที่มีใช้ในการอุปสมบทในปัจจุบัน  วิธีการขอเข้ารับการอุปสมบทในวิธีนี้ก็โดย  ให้ผู้ที่ศรัทธาปรารถนาที่จะบวชเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์   เมื่อพระอุปัชฌาย์รับผู้ที่จะบวชนั้นแล้ว  ต่อมาพระอุปัชฌาย์จึงพาเข้าไปรับการอุปสมบทต่อคณะสงฆ์   นั้นอีกทีหนึ่ง  เมื่อไปถึงพระสงฆ์จึงสวดประกาศเพื่อรับหรือไม่รับผู้ที่จะบวชนั้น  ถ้าสงฆ์มีมติเป็นเอกฉันท์  คือ  ไม่มีพระภิกษุรูปใดคัดค้าน  ผู้ที่จะบวชนั้นก็ได้สำเร็จเป็นพระภิกษุโดยสมบูรณ์  ผู้ที่จะบวชต้องมีคุณสมบัติ  ดังนี้                1.  เป็นสุภาพชนที่มีความประพฤติดีประพฤติชอบ  ไม่มีความประพฤติเสียหาย  เช่น ติดสุราหรือยาเสพติดให้โทษ  และไม่เป็นคนจรจัด                2.  มีความรู้อ่านและเขียนหนังสือไทยได้                3.  ไม่เป็นผู้มีทิฎฐิวิบัติ                4.  ไม่เป็นคนล้มละลาย  หรือมีหนี้สินผูกพัน                5.  เป็นผู้ปราศจากบรรพชาโทษ  และมีร่างกายสมบูรณ์  อาจบำเพ็ญสมณกิจได้  ไม่เป็นคนชราไร้ความสามารถหรือทุพพลภาพ  หรือพิกลพิการ                6.  มีสมณบริขารครบถ้วนและถูกต้องตามพระวินัย                7.  เป็นผู้สามารถกล่าวคำขอบรรพชาอุปสมบทได้ด้วยตนเอง  และถูกต้องไม่วิบัติ ลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้ที่จะบวช  ได้แก่                1.  เป็นคนทำความผิด  หลบหนีอาญาแผ่นดิน                2.  เป็นคนหลบหนีราชการ                3.  เป็นคนต้องหาในคดีอาญา                4.  เป็นคนเคยถูกตัดสินจำคุกฐานเป็นผู้ร้ายสำคัญ                5.  เป็นคนถูกห้ามอุปสมบทเด็ดขาดทางพระศาสนา                6.  เป็นคนมีโรคติดต่ออันน่ารังเกียจ  เช่น  วัณโรคในระยะอันตราย                 7.  เป็นคนมีอวัยวะพิการจนไม่สามารถปฏิบัติกิจพระศาสนาได้ สภาพปัจจุบันของพิธีอุปสมบท ความหมายของคำที่เกี่ยวข้อง                   นาค                       :  เป็นชื่อเรียกผู้ที่จะบวช        นาค  แปลว่า  ผู้ประเสริฐ  หรือผู้ไม่ทำบาป                                  เหตุที่ได้ชื่อว่า  นาค  เรื่องเดิมมีอยู่ว่า  พญานาคแปลงตัวเป็นมนุษย์มาบวชในพระพุทธศาสนา  เวลานอนหลับกลับเพศเป็นนาคตามเดิม  วันหนึ่งพวกภิกษุไปกราบทูลพระพุทธเจ้า  พระองค์ตรัสเรียกมาถาม  ได้ความว่าเป็นเรื่องจริง  จึงสั่งให้สึกเสีย  พญานาคมีความอาลัยในเพศบวช  จึงกราบทูลขอฝากชื่อนาคไว้  ถ้าผู้ใดจะเข้ามาบวชขอให้เรียกชื่อว่า  นาค    โปรยทาน                  :  การโยนเหรียญเงินที่ห่อด้วยกระดาษทอง   ก่อนที่นาคจะเข้าไปทำพิธีต่อในโบสถ์   อุปสมบท                                :  แปลว่า  การเข้าถึง  คือการบวช   การอุปสมบทเป็นสังฆกรรมอย่างหนึ่ง  เป็นพิธีการคัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นศาสนทายาทในพระพุทธศาสนา  พระพุทธเจ้าทรงวางหลักเกณฑ์และระเบียบปฏิบัติไว้รัดกุมและละเอียดมาก  ทั้งนี้เพื่อให้ได้ศาสนทายาทที่ดีไว้สืบสานพระพุทธศาสนา   พระอุปัชฌาย์                                :  ความหมายโดยพยัญชนะ  แปลว่า  ผู้เข้าไปเพ่ง  คือคอยดูแลเอาใจใส่  คอยแนะนำพร่ำเตือนลูกศิษย์ของตน โดยหมายถึง พระเถระผู้ทำหน้าที่เป็นประธานในการบวชกุลบุตรในพระพุทธศาสนา                     เครื่องอัฐบริขาร  :  เป็นสิ่งจำเป็นที่จะขาดไม่ได้ในการอุปสมบท  มีความหมายว่า  บริขาร 8  คือ  แบ่งเป็นผ้า  5 อย่าง  คือ  สบง 1 , ประคตเอว 1 , จีวร 1 , สังฆาฎิ 1 , ผ้ากรองน้ำ 1    และเหล็ก  3  อย่าง   คือ  บาตร 1 , มีดโกน 1 , เข็มเย็บผ้า 1                  บรรพชา                                :  แปลว่า  การงดเว้นจากความชั่ว  หมายถึง  การบวชเป็นนักบวช                                  เดิมคำว่า  บรรพชาใช้หมายถึง  การบวชเป็นนักบวชทั่วไป  แต่ในสมัยปัจจุบันนี้  คำนี้ใช้เรียกเฉพาะการบวชเป็นสามเณรเท่านั้น   ความจริงการบวชเป็นภิกษุนั้นจะต้องผ่านขั้นตอนการเป็นสามเณรก่อน แล้วจึง  อุปสมบท  ดังนั้นจึงนิยมเรียกรวมกันไปว่า  บรรพชาอุปสมบท                   ปลงผม  :  กระทำในวันทำขวัญนาค  หรือในวันอุปสมบท  ซึ่งต้องโกนผม  หนวด  เครา  คิ้ว  ออกให้หมดจด                     ฉายา   :  ชื่อใหม่  เมื่อบวชเป็นพระเรียบร้อยแล้ว ลำดับพิธีอุปสมบท 1.  การกำหนดฤกษ์ยาม                บิดามารดาพาบุตรชาย  ไปพบกับอุปัชฌาย์หรือท่านเจ้าอาวาส  เพื่อให้ท่านตรวจวันเดือนปี  เมื่อเห็นว่ามีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์  จึงกำหนดฤกษ์บวชให้  โดยการไปหาอุปัชฌาย์ต้องนำดอกไม้  ธูปเทียนเครื่องสักการะไปด้วย    2.  การขอขมาลาญาติมิตร                ผู้ที่จะบวชต้องนำดอกไม้ธูปเทียน  ไปลาญาติพี่น้องและผู้ใหญ่  ซึ่งตนเคารพนับถือ  เป็นการแสดงความเคารพ  และขอขมาอโหสิกรรม  ในสิ่งที่ตนเคยล่วงเกิน  ไม่ว่าจะเป็นทางกาย  วาจา ใจ  ทั้งต่อหน้าและลับหลัง   3.  การเตรียมตัว                ผู้ที่จะบวชต้องไปอยู่วัดเพื่อเตรียมฝึกท่องคำขานนาค  และฝึกซ้อมเกี่ยวกับพิธีบวช4.  การปลงผม                ถ้าในงานบวชนาคนั้นมีพิธีทำขวัญนาคด้วย  ก็จะปลงผมก่อนวันบวชหนึ่งวัน  แล้วนุ่งขาวห่มขาวเข้าพิธีทำขวัญนาค   ถ้าไม่มีการทำขวัญนาคก็จะปลงผมในวันบวช  โดยพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่  หรือพระภิกษุที่คุ้นเคยเป็นผู้ขลิบปลายผมให้ก่อนเป็นพิธี  ต่อจากนั้นก็ให้ผู้ที่โกนผมเป็นโกนผม  หนวด  เครา  คิ้ว  ให้หมดจด  อาบน้ำแล้วนุ่งขาวหุ่มขาว  เตรียมเข้าโบสถ์เพื่อทำพิธีต่อไป5.  การนำนาคเข้าโบสถ์                -   นำนาคเวียนโบสถ์สามรอบแบบทักษิณาวรรต    โดยจัดลำดับขบวนดังนี้                                ลำดับ 1   บิดานาค  สะพายบาตร  ถือตาลปัตรเดินนำหน้า                                ลำดับ 2   มารดาหรือญาติผู้เกี่ยวข้องอุ้มไตร                                ลำดับ 3   นาคพนมมือถือดอกบัว 3 ดอก  เดินตาม                                ลำดับ 4   ผู้ถือของอื่นๆ  ตามกันไป                -   ครบแล้วนำนาคมาวันทาสีมา  โดยจุดธูปเทียนที่เสมาหน้าโบสถ์                 -  โปรยทาน   เสร็จแล้วนำนาคเข้าอุโบสถ  โดยบิดาจูงมือข้างขวา  มารดาจูงมือข้างซ้าย  พวกญาติคอยจับชายผ้าตามส่งข้างหลัง  นาคต้องก้าวข้ามธรณีประตูห้ามเหยียบเป็นอันขาด  เมื่อพ้นประตูให้ตรงไปไหว้พระประธาน  โดยใช้ดอกไม้ ธูปเทียน                -  เมื่อถึงกำหนด  พระสงฆ์จะได้รับอาราธนาในพิธีบวช  มีพระอุปัชฌาย์  พระคู่สวดและพระอันดับจะเข้าโบสถ์   นั่งตามแผนผังที่คณะสงฆ์กำหนด                -  พิธีเริ่มโดยพ่อแม่ผู้ปกครอง  เข้ามานั่งข้างกายนาค  เพื่อจะมอบผ้าไตรให้นาคเข้าทำพิธีบวชต่อพระสงฆ์ต่อไป                -  เมื่อเสร็จการรับประเคนแล้ว  พระใหม่และพ่อแม่หรือเจ้าภาพในการบวชครั้งนี้  จะกรวดน้ำโดยใช้เต้ากรวดน้ำคนละที่    และรับพรจากพระสงฆ์   เสร็จแล้วพระใหม่กราบเบญจางคประดิษฐ์สามครั้ง  เป็นอันเสร็จพิธี                -  พระพี่เลี้ยงจะนำพระใหม่ขึ้นจากโบสถ์   สะพายบาตรด้วยไหล่ขวา  มือซ้ายถือพัด  ส่วนของอื่นให้ผู้อื่นถือไป  พระพี่เลี้ยงจะนำออกทางประตูหน้า ของใช้ในพิธีอุปสมบท                  เครื่องอัฐบริขารและเครื่องใช้อื่นๆ                  1.  ไตรครอง   ได้แก่  สบง  ประคตเอว  อังสะ  จีวร  สังฆาฎิ  ผ้ารัดอก  ผ้ากราบ                  2.  บาตร  แบบมีเชิงรองพร้อมด้วยฝา  ถลกบาตร  สายโยค  ถุง  ตะเคียว                3.  มีดโกน  พร้อมทั้งหินลับมีดโกน                4.  เข็มเย็บผ้า  พร้อมทั้งกล่องเข็มและด้าย                5.  เครื่องกรองน้ำ  (ธมกรก)                6.  สันทัต  (อาสนะ)                7.  ตาลปัตร  ย่าม  ผ้าเช็ดหน้า                  8.  เสื่อ  หมอน  ผ้าห่ม  มุ้ง                9.  จีวร  สบง  อังสะ  ผ้าอาบ  2  ผืน  (อาศัย)                10. โคมไฟฟ้า  หรือตะเกียง  ไฟฉาย  นาฬิกาปลุก                11. สำรับ  ปิ่นโต คาว หวาน  จานข้าว  ช้อนส้อม  ผ้าเช็ดมือ                12. ขันอาบน้ำ  สบู่และกล่องสบู่  แปรงและยาสีฟัน  ผ้าขนหนู  กระดาษชำระ                13. หีบไม้หรือกระเป๋าหนังสำหรับเก็บไตรครอง                14. ดอกไม้ธูปเทียนขอนิสัย  1  ชุด                15. จตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระอุปัชฌาย์  คู่สวดและพระอันดับ โดยจัดลดหลั่นกันลงไป 

หมายเลขบันทึก: 146803เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2007 10:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 16:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

พิธีอุปสมบทเป็นวัฒนธรรมประเพณีของไทยด้านพระพุทธศาสนาที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษที่ชายไทยที่มีอายุตั้งแต่20ปีบริบูรณ์ขึ้นไปจะต้องเข้าพิธีอุปสมบท

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท