อนุทินครูเพ็ญจันทร์ รร.วัดบางน้ำชน


อนุทิน  นางเพ็ญจันทร์    คำเมืองปูก

สารบัญเหตุการณ์

                             เหตุการณ์                           วัน / เดือน /  ปี

“พฤติกรรม ด.ช. ธีรพงษ์”
21 พ.ค. 45
“Mind  Mapping”
19 มิ.ย. 45
“ฉันรักเธอ  เธอรักฉัน”
23 ก.ค. 45
“หางเลข”
1 ส.ค. 45
“คุณภาพและปริมาณ”
2 ธ.ค. 45
“Open  House” 
27 มี.ค. 46
“ความภูมิใจเล็กๆ”
30 มี.ค. 46

 21 พ.ค. 45  

“พฤติกรรมของ ด.ช. ธีรพงษ์”  ได้เข้าไปสอนแทนในชั่วโมงพละ  ของชั้น  ป.6  ได้ให้เด็กเล่นเกมส่งลูกบอล  โดยมีกติกาว่าถ้าเพลงหยุด  ลูกบอลตกอยู่ในมือของใคร  คนนั้นจะต้องออกมาจับฉลากซึ่งในสลากจะบอกว่าให้ทำอะไร  จะต้องออกมากลางวงแล้วแสดงให้เพื่อนๆดู  เด็กๆสนุกสนานกันมาก  แต่พอมาถึงรอบที่ลูกบอลตกอยู่ในมือของ  ด.ช. ธีรพงษ์  ซึ่งก็ออกมาจับฉลากได้การเต้นระบำชาวเกาะ  สีหน้าของธีรพงษ์ก็ไม่ค่อยสู้ดีนัก  เพื่อนๆเริ่มร้องเพลงระบำชาวเกาะธีรพงษ์ก็ออกไปชูมือแล้วหมุนตัวไปรอบๆ  เพลงยังไม่จบ  ครูต้อยก็บอกให้ส่ายสะโพกหน่อย  เพื่อนๆจึงร้องเพลงซ้ำอีกครั้ง  แต่ธีรพงษ์บ่นพึมพำกับตัวเอง  แล้วหยุดนิ่งทำท่าจะร้องไห้  ครูจึงบอกให้กลับไปที่เดิม  แต่ธีรพงษ์ไม่ยอมเล่นต่ออีกกลับออกไปนั่งนอกวง  ครูเรียกให้เล่นด้วยกันกับเพื่อนๆอีก  ธีรพงษ์ส่ายหน้าไม่เล่น

ค่อนข้างตกใจและแปลกใจไม่น้อยที่ทำให้ธีรพงษ์  ซึ่งตอนแรกสนุกสนานกับเกมที่กำลังเล่นกับเพื่อนๆ  แต่พอต้องออกมาแสดงหรือทำในสิ่งที่ตนไม่ชอบและไม่กล้าแต่ก็อุตส่าห์แสดงแล้ว  แต่ครูกลับให้ทำซ้ำอีก  ตัวครูเองก็รู้สึกเสียใจที่ทำให้ธีรพงษ์ที่คงกำลังสนุกกลับต้องหมดสนุก  ซ้ำร้องไห้แถมไม่ยอมเล่นอีก

อาจเป็นเพราะ ด.ช. ธีรพงษ์  ไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นในตัวเองและไม่ค่อยกล้าแสดงออก  ประกอบกับไม่ชอบการเต้นรำ  แต่พอเจอคำสั่งที่ฝืนใจ  ฝืนความรู้สึกของตนเองซึ่งไม่ชอบใจอยู่แล้ว  แต่ก็อุตส่าห์ออกไปแสดงให้ดูแล้ว  ซ้ำยังโดนครูสั่งให้ส่ายสะโพกอีก  เลยเกิดปฏิกิริยาต่อต้านทันที  ต่อไปก็คงต้องดูและใช้ความคิดสักนิดก่อนที่จะพูด  หรือออกคำสั่งอะไรกับใคร  ออกไป  และคงต้องศึกษา  ติดตามพฤติกรรมของ ด.ช. ธีรพงษ์  ต่อๆไปอีก

 19 มิ.ย. 45

“ Mind  Mapping “  ไปอบรมวิจัยในชั้นเรียน  ได้รู้จักเพื่อนครูโรงเรียนฉิมพลี  เขตตลิ่งชัน  ชื่ออาจารย์ยุพิน  ชูเชิด  ได้นำเสนอผลงานการวิจัยในชั้นเรียน  เรื่องการศึกษาผลการใช้ Mind  Mapping  ในการพัฒนากระบวนการทางวิทยาศาสตร์  เป็นการสอนเนื้อหาโดยให้เด็กได้ค้นหาความรู้  แล้วนำเสนอออกมาในรูปของการเขียน  Mind  Mapping  เป็นการสรุปเนื้อหาที่เรียนที่ได้ไปค้นคว้าหาความรู้มา

เห็นด้วยกับอาจารย์ยุพิน  ที่ให้เด็กได้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้  แล้วนำสิ่งที่ได้ศึกษานั้นมาเขียนเป็นแผนที่ความคิดของตนเอง  หรืออาจจะเป้นกลุ่มก็ได้  นับเป็นงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจ  และคิดว่าจะนำไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เด็กให้มากที่สุด

การสรุปความคิดรวบยอดแล้วเขียนเป็น  Mind  Mapping  คิดว่าเป็นการสอนที่น่าสนใจและคิดว่าน่าจะได้ผลวิธีหนึ่ง  เป็นการพัฒนาการเรียนการสอนของครูด้วยวิธีหนึ่ง

 23 ก.ค. 45

“ฉันรักเธอ  เธอรักฉัน  เรารักกัน  ซู่ซ่า  ซู่ซ่า “  นั่งตรวจงานอยู่หน้าห้องคณิตศาสตร์  ได้ยินเสียงโต๊ะครูในห้องในห้องวิทยาศาสตร์ ( ห้องอยู่ติดต่อ ) เลื่อนเสียงดัง  จึงถามไปว่าใครทำอะไรในห้อง  ก็ปรากฏมีนักเรียนออกมาบอกว่า  เคนกับอนุชา  ต่อยกันจึงให้ไปเรียกคู่กรณีทั้งสอง  ออกมา  ซึ่งก็ออกมาหน้าตาเอาเรื่องทั้งคู่  พร้อมกับเพื่อนไทยมุงอีกเป็นโขยง  จึงได้ซักถาม  และอบรมความประพฤติอยู่พักใหญ่  แล้วจึงสั่งลงโทษโดยการสั่งให้ทั้งสองกอดกัน  แล้วร้องเพลง “ฉันรักเธอ  เธอรักฉัน  เรารักกัน ซู่ซ่า  ซู่ซ่า” ( ส่ายสะโพกตามเพลงด้วย )  ซึ่งนักเรียนทั้งสองก็ปฏิบัติตาม  เรียกเสียงหัวเราะได้จากทั้งคู่กรณีทั้งสอง  และเพื่อนไทยมุ่งทั้งหลาย

พอรู้ว่านักเรียนที่ต่อยกันเป็นลูกศิษย์ของเราทั้งคู่  ก็อารมณ์ไม่ดีแล้ว  เพราะถ้าใครรู้เข้าก็ต้องโดนตำหนิแล้วว่าเป็นพี่ ป. 6  แล้วยังเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่น้องๆ  กะว่าจะตีทั้งคู่เพราะชกต่อยกัน  แต่พอเห็นหน้านักเรียนทั้งสองแล้วก็ได้คิดว่าถ้าลงโทษด้วยการตีก็คงจะทำให้เกิดความอับอายเพื่อนๆ  ที่คอยดูอยู่  และก็อาจจะเจ็บแค้นเคืองกันไม่จบไม่สิ้น

เด็กก็คือเด็ก  โกธรกันก็ทะเลาะกัน  ต่อยกันพอหายโกธรก็ดีกันเป็นเพื่อนรัก  เล่นด้วยกันเหมือนเดิม  เพราะฉะนั้นบางครั้งความรุนแรง  คงใช้ตัดสินปัญหาไม่ได้เสมอไป  แต่มีความคิดอีกว่า  บางครั้งความรุนแรงก็ต้องเอามาใช้ในการตัดสินปัญหาบางอย่างเหมือนกัน  แต่ถ้าไม่จำเป็นหลีกเลี่ยงได้ก็ควรหลีกเลี่ยง

1 ส.ค. 45

“หางเลข”   หมดชั่วโมง สปช. ซึ่งเรียนห้องวิทยาศาสตร์ ด.ญ. อรอุมา  วิ่งหน้าตื่นเอากระดาษสมุดที่ฉีกเป็นแผ่นยาวๆครึ่งแผ่น  มายื่นให้แล้วบอกว่าครูขาหนูเก็บได้มันตกอยู่ใกล้โต๊ะที่หนูนั่ง  มันเขียนว่าหนูและว่าครูด้วยค่ะ  จึงรับมาอ่านดู  จะเรียกว่าช้อคก็ได้  เพราะอึ้งไปเหมือนกัน  ในกระดาษเขียนว่า “ อีอร  อีแรด  ทำเป็นระรี้ระริก  อีเพ็ญจันทร์มันแกล้งเอาใจมึงหลอก  อีหนึ่ง  อีอร “  พอได้สติตอนแรกก็ขำ  อะไรกันนี่เลยเดินไปหาครูอานนท์  ยื่นกระดาษแผ่นนั้นให้ดู  ครูอานนท์กล่าวว่ามันกล้าขนาดนี้เชียวหรือ  และได้พูดกับนักเรียนชั้น ป.6 ว่าใครเป็นคนเขียนก็ไม่มีใครยอมรับ  ถามอีกว่าใครเห็นใครเขียนบ้าง  ก็ไม่มีใครรับอีก  ครูอานนท์เลยบอกว่างั้นเมื่อจบ ป.6 ไม่แจก ป.05  ให้ผู้ปกครองมาจึงจะแจกให้

วันรุ่งขึ้นหมดชั่วโมงที่สอน  เด็ก ป.6 ลงไปเรียนจริยะที่ห้องชั้น  3  เมื่อเก็บของในห้อง ป.6 เสร็จจึงเดินออกมาหน้าประตูห้อง  เหลือบเห็นเศษกระดาษพับเป็นชิ้นเล็กๆ  ตกอยู่จึงเก็บขึ้นมาเปิดออกดูก็ต้องตกใจและเสียใจอีกครั้งที่พบคำพูดลักษณะทำนองเดียวกับเมื่อวาน  ซึ่งนึกว่ามันจบไปแล้ว  แต่คนเขียนไม่ยอมจบ  เขียนมาอย่างย่ามใจ  ซ้ำยังบอกว่า  มึงไม่รู้หรอกว่ากูเป็นใคร  พูดไม่ออกและก็จะมีแผ่นกระดาษลักษณะนี้โดยทิ้งมาอีกวันละชิ้น  รวมเป็นทั้งหมด  4  ชิ้น  ถามนักเรียนในห้องว่าสงสัยใครบ้าง  โดยดูจากลายมือ ( ครูให้เขียนใส่กระดาษมาให้ดูทุกคน ) สรุปได้มี  2  คนคือ  1. น้ำฝน 2.หนึ่งฤทัย  ครูลองให้  2  คนนี้คัดลอกข้อความมาจากหนังสือพิมพ์อีกครั้งหนึ่ง  เพื่อนำไปเปรียบเทียบลายมือในเศษกระดาษที่เก็บไว้  จากนั้นได้มาปรึกษาครูเจี๊ยบว่าจะทำอย่างไรดี  ซึ่งครูเจี๊ยบเคยเป็นครูประจำชั้นเด็ก 2 คนนี้ตอน ป.4 

เราจึงเอาสมุดงานของหนึ่งกับน้ำฝนมาเปรียบเทียบกับกระดาษที่เก็บไว้  ปรากฏว่าตัวอักษรบางตัวหนึ่งเหมือนกับกระดาษบางแผ่นที่เก็บได้  และตัวอักษรบางตัวเหมือนของน้ำฝน  ซึ่งเป็นคนละแผ่นกัน

วันรุ่งขึ้นน้ำฝนเข้าอบรมเกี่ยวกับการจราจรที่โรงเรียนบางขุนเทียนศึกษา  ครูเจี๊ยบกับครุต้อยจึงเรียกหนึ่งเข้าไปคุยในห้องจริยะ  แค่เรียกมาเฉยๆหนึ่งก็มีปฏิกิริยาสั่นอย่างเห็นได้ชัด  ดังนั้นจึงกล่อมไม่นานก็ร้องไห้สารภาพ  ว่าเป็นคนเขียนแผ่นที่  3  แต่ไม่ได้เขียนแผ่นแรกๆ  และไม่ได้ร่วมมือกับน้ำฝน  แต่รู้และเห็นว่าน้ำฝนเป็นคนเขียนแผ่นแรก  ครูจึงถามว่าแล้วหนึ่งเขียนทำไม  ก็เอาแต่ร้องไห้แล้วจึงกล่าวว่าหนูขอโทษ  สุดท้ายก็บอกว่าจะสวมรอยเป็นน้ำฝนเขียน  และถามหนึ่งอีกว่าเมื่อรู้ว่าเป็นน้ำฝนเป็นคนเขียน  ทำไมไม่บอกแต่แรก  หนึ่งกลับบอกว่าน้ำฝน  เขาไม่มีวันรับเด็ดขาด และก็จะไม่มีใครเชื่อหนู  ฟังแล้วก็ต้องคิดหนักจะทำอย่างไรดีกับน้ำฝนแต่เรายังไม่เชื่อหนึ่งฤทัยนัก

วันต่อมาน้ำฝนเข้ามาหาข้าพเจ้า  มายอมรับผิดว่าเป็นคนเขียนกระดาษเหล่านั้น  จึงถามน้ำฝนว่าทำทำไมแต่น้ำฝนกลับตอบว่า  ความจริงหนูไม่ได้ทำค่ะ  แต่เพื่อนๆบอกว่าให้หนูยอมรับซะ  เพื่อนๆจะได้ไม่เดือดร้อนจะได้รับ ป. 05  ตอนจบ ป. 6  ตอนแรกเชื่อสนิทเลยว่าน้ำฝนไม่ได้ทำเพราะหน้านิ่งไม่สั่น  ไม่มีพิรุธเลย  จึงนำเรื่องนี้มาบอกครูเจี๊ยบ  แล้วเราก็เรียกน้ำฝนกับหนึ่งเข้าไปคุยในห้องจริยะ  ตอนแรกน้ำฝนปฏิเสธเสียงแข็ง  ทั้งๆที่อยู่ต่อหน้าหนึ่งซึ่งเป็นคนบอกว่าน้ำฝนเป็นคนเขียน  ครูเจี๊ยบคงหมดความอดทนจึงบอกน้ำฝนอย่าโกหก  หลักฐานมันบอกว่าเป็นลายมือของเธอชัดๆ  ครูต้อยจึงเอากระดาษที่ให้น้ำฝนคัดครั้งล่าสุดเปรียบเทียบกับกระดาษแผ่นแรกให้น้ำฝนดู  และบอกว่าหนึ่งเขารับสารภาพแล้วว่าเห็นเธอเขียน  ยังจะปฏิเสธอีกหรือ  ปรากฏว่าน้ำฝนเงียบไป  แล้วจึงค่อยๆพูดออกมาว่า  หนูขอโทษค่ะ  หนูทำเองค่ะ  จึงถามว่าทำไมครูไปทำอะไรให้  น้ำฝนจึงบอกว่า  วันนั้นครูสนใจอรอุมา  ยิ้มหัวเราะกันสนุกสนาน  เลยหมั่นไส้อรอุมา ( ซึ่งมารู้ทีหลังจากปากครูอานนท์ว่าทั้ง  3  คนมี  อรอุมา  หนึ่งฤทัย  น้ำฝน  เขาจะมีเรื่องหึงหวง  งอนง้อ  ทะเลาะแย่งอรอุมากันเป็นประจำตั้งแต่ ป.5 วันเกิดเหตุครูต้อยเลยเป็นชนวนและถูกหางเลข )  หนูโกธรเลยเขียนไปไม่ได้ตั้งใจ  แต่ครูเป็นครูนะไม่ใช้เพื่อนเล่นที่เธอจะเขียนอีได้  ครูไม่ยอมหรอก  แต่ครูจะยกโทษให้  พรุ่งนี้เธอ  2  คนเอาดอกไม้ธูปเทียน  มาขอขมาครูในห้องนี้

วันรุ่งขึ้น  ตอนเช้าไม่มีใครพูดว่าน้ำฝนพูดอะไรกับครูแดง ( ซึ่งเป็นแม่บุญธรรมในบ้านเล็กในบ้านใหญ่ ) เกี่ยวกับดอกไม้ที่เขานำมา  ทำให้ครูแดงเข้าใจผิดทำนองครูต้อยขู่จะไม่ให้ ป. 05  ถ้าน้ำฝนไม่ยอมรับว่าเป็นคนเขียน  อะไรกันนี่เด็กคนนี้  พอดีครูภากับอาจารย์ใหญ่อยู่ด้วย  เลยเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง  ซึ่งครูภากล่าวว่า  อันที่จริงมันก็เป็นสิทธิ์ของครูที่จะใช้วิธีขู่เพื่อให้เด็กรับสารภาพ  ครูภาเลยแนะนำว่าถ้าเป็นอย่างนี้  ต้องให้สารภาพต่อหน้าเพื่อนทั้งหมดในห้อง ป.6 เพื่อให้เขาเกิดความละอาย  ให้เพื่อนๆได้รู้ถึงสิ่งที่เขาทั้ง  2  คนได้ทำลงไป

ถ้าถามว่าโกธรไหมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  โกธรมาก  เสียใจไหม  เสียใจอย่างที่สุด  แต่ต่อมาหายโกธรแล้ว  เพราะมันทำให้เรารู้จักเด็กแต่ละคนมากขึ้น  ซึ่งล้วนแล้วแต่มีปัญหาทั้งนั้นยิ่งน้ำฝนด้วยแล้ว  จากน่าชังเป็นน่าสงสาร  ไม่มีใครอ้าแขนรับเลย  พ่อแม่แยกทางกัน  ต่างคนต่างมีใหม่ไม่ค่อยสนใจความรู้สึกความต้องการของลูกๆ  น้ำฝนกลายเป็นเด็กเก็บกด  ว้าเหว่  เดียวดาย  ขี้อิจฉา  ทำตัวไม่ค่อยน่ารัก  แต่เรียนหนังสือเก่งพอใช้  เมื่อมีงานกลุ่มจะให้เขาเป็นหัวหน้า  มีวานอะไรก็จะให้เขาออกหน้า  บ้างก็เป็นตัวแทนนักเรียนในกิจกรรมต่างๆ  เพราะเขากล้าพุด  กล้าแสดงออก  ซึ่งทำหน้าที่ได้ดีพอใช้  มีความรับผิดชอบใช้ได้  ส่วนหนึ่งฤทัย  ก็มีปัญหาพ่อแม่แยกทางกัน  พ่อมีภรรยาใหม่  แม่ไปอยู่ต่างจังหวัด  พ่อและแม่ใหม่ค่อนข้างดุ  ไม่ค่อยยอมให้ไปไหนง่ายๆ  หนึ่งจึงมักอ้างครูใช้วาน  เมื่อตัวเองกลับบ้านเย็น  เพื่อจะได้ไปบ้านเพื่อนหรือเถรไถรไปกับเพื่อนในตอนเย็น  เป็นคนหัวอ่อน  อ่อนไหวง่าย  ขี้ใจน้อย  จึงมักเป็นฝ่ายต้องร้องไห้บ่อยครั้ง

จากวันนั้นถึงวันนี้  เหตุการณ์ผ่านมาด้วยดี  ทุกอย่างปกติ  เด็กทั้ง  2  คนทำตัวดีขึ้น  ไม่ทำตัวให้เป็นปัญหา  แต่ก็ยังมีปัญหากันระหว่าง  3  คนเหมือนเดิม  ซึ่งพยายามสอนว่าอยู่  ป.6  แล้วมีเวลาที่จะอยู่ด้วยกันไม่กี่เดือนก็ต้องจากกันไปศึกษาต่อที่อื่น  ก็จะไม่ได้เจอะกัน  ควรจะรักกันให้มากๆและเมื่อจากกันไป  ต่างคนก็ต่างต้องมีเพื่อนใหม่เยอะแยะแล้วจะมาแก่งแย่ง  ชิงดีชิงเด่นอะไรนักกันหนา  ก็พูดอยู่บ่อยๆไม่รู้จะเข้าหูบ้างหรือเปล่า  แต่เด็กก็คือเด็กนั่นแหละ  ไม่ค่อยจะเข้าใจอะไรได้ง่ายๆอย่างที่อยากให้เข้าใจหรอก  ก็คงต้องดูต่อไปว่าจะเป็นอย่างไรและหนึ่งฤทัยก็ได้เข้ามาเป็นสมาชิกคนใหม่ในบ้านเล็กในบ้านใหญ่  โดยมีครูต้อยเป็นแม่บุญธรรม  และครูต้อยขอรับรองด้วยเกียรติของความเป็นแม่ว่าไม่เคยมีคติกับหนึ่งฤทัย  และน้ำฝน  เด็กทั้ง  2  คนนี้เลย  ขอรับรองด้วยเกียรติของลูกเสือ

 2 ธ.ค. 45

“คุณภาพและปริมาณ”  อ. ณัฐวุฒิได้พูดในห้องประชุม 2  เกี่ยวกับอาหารกลางวันซึ่งมีคุณภาพและปริมาณด้อยลงทุกวัน  จะมีวิธีการแก้ปัญหานี้อย่างไร  อ.อานนท์  เสนอว่าน่าจะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่โครงการอาหารกลางวัน  ซึ่งมี อ.ลัดดาวัลย์เป็นครูโภชนาการ  อ.สนธยา  และ อ.เพ็ญจันทร์  ในที่ประชุมได้ข้อตกลงว่า  ควรจะมีการตรวจคุณและปริมาณของอาหารกลางวันทุกวัน  อ. สนธยา  อ. เพ็ญจันทร์  รับว่าจะปฏิบัติตามมติที่ประชุม  จะมีการออกแบบฟอร์มเช็คทุกวัน 

อันที่จริงก็เป็นหน้าที่ของเรานะ  แต่ไม่ใช้ละเลยเคยพูดเหมือนกันเกี่ยวกับปริมาณที่ไม่พอกับ  อ. ลัดดาวัลย์  พูดแล้วก็เหมือนคลื่นกระทบฝังไม่มีอะไรเกิดขึ้น  จนอาจารย์ณัฐวุฒิและอาจารย์อีกหลายๆท่านในโรงเรียนทนไม่ได้จึงพูดเรื่องนี้ขึ้นมา 

ก็เป็นการดีเหมือนกัน  มีการตรวจเช็คคุณภาพและปริมาณอาหารกลางวันทุกวัน  จะได้เป็นวิธีการหนึ่งที่จะได้มีการแก้ไขปรับปรุง  พัฒนาโครงการอาหารกลางวันเพื่อจะได้ทำให้มีคุณภาพดีขึ้น  เด็กนักเรียนของเราจะได้มีสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์  แข็งแรงยิ่งขึ้น

  27 มี.ค. 46

“ Open  House “  วันนี้เป็นวันที่ตื่นเต้นมาก  เพราะยังไม่รู้เลยว่าโรงเรียนของเราจะเปิดบ้านนั้นจะเป็นอย่างไรบ้าง  จะทำให้ผู้มาเยี่ยมชม  โรงเรียนของเรา  จะผิดหวังหรือเปล่า  แต่พวกเราทุกคน  ก็เตรียมและได้พยายามทำทุกสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดที่เคยได้ให้เด็กนักเรียนได้ร่วมกิจกรรมของแต่ละบ้าน  มานำเสนอ  ออกสู่สายตาผู้มาเยี่ยมชม 

ความตั้งใจของแต่ละบ้านที่นำกิจกรรมของบ้านตนเองออกมาแสดงนั้น  เท่าที่เห็น  คิดว่าไม่ผิดหวังเลยจริงๆ  สำหรับบ้านเรา  Home  Sweet  Home  มีกิจกรรม  บิดแล้วสวย  คือ  นำลูกโป่งมาบิดเป็นรูปต่างๆ  เช่น  สุนัข  โบว์  คฑา  นกแก้ว  ดอกไม้  ฯลฯ   ได้รับความสนใจไม่น้อยไปกว่าบ้านอื่นๆเลย  จะเห็นได้จากลุกโป่งแทบไม่เหลือ  ( ที่เหลือเป็นเพราะมันรั่ว )  เรามีกติกาถ้าอยากได้ต้องลงมือบิดลูกโป่งเองโดยมีใบงาน  ขั้นตอนการบิด  เป็นรูปร่างต่างๆให้ดู  หรือไม่ก็บิดตามวิทยากรของบ้าน

มีเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นเกิดขึ้นกับบ้านของเรา   เมื่อ อ.ภาวิณี  ได้มาเยี่ยมชมบ้านเรา  ที่ว่าตื่นเต้นก็เพราะ   เวลาในตอนนั้น  ประมาณ  4  โมงเย็นลูกๆปิดบ้านจะกลับไปกันเกือบหมดแล้วเหลืออยู่  3-4  คน  ก็กำลังจะกลับเพราะไม่นึกว่าไม่มีใครขึ้นมาเยี่ยมชมแล้ว  แต่บังเอิญอาจารย์  ดร. ภาวิณี  ขึ้นมาและได้ทักทายลูกๆ  แล้วให้ลูกๆบิดลูกโป่งให้ดู  ซึ่งลูกเมเป็นคนบิดลุกโป่งเป็นรูป คฑา  และมอบให้กับ  อาจารย์  ภาวิณี  เป็นที่ระลึก

ก็ทำไมจะไม่ตื่นเต้นละ  ก็เพราะลูกๆที่หลืออยู่ทำไมไม่เป่าและบิดลูกโป่ง  มีลูกเมคนเดียวเท่านั้นที่มีลูกโป่งเป่าได้ที่พร้อมบิดอยู่ในมือ  ซึ่งลูกเมคนนี้เป็นคนที่กลัวการบิดลูกโป่งมาตั้งแต่แรกที่สอน  และไม่ค่อยยอมบิดเพราะกลัวแตก  กลัวเสียงดัง  เพิ่งจะมาเริ่มกล้าหายกลัวบ้าง  เมื่อไม่นานมานี้เอง   แล้วอยู่ๆ  หนูเม  จะต้องเป็นคนบิดลูกโป่งให้  ดร. ภาวิณี

แต่ลูกเมของแม่ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง  ส่วนลูกๆที่ไม่ได้บิดลูกโป่งนั้น  มารู้ที่หลังว่าที่สูบลูกโป่งมันเสียบีบแล้วลมไม่เข้า  โธ่เอ๋ย  ลูกแม่  อุตส่าห์เตรียมตัวบิดโชว์เต็มที่นะ  แต่ไม่เป็นไรหรอกวันหน้ายังมี  แต่วันนี้เป็นวันที่แม่มีความสุขมาก  ลูกๆไม่ทำให้แม่ผิดหวังเลย  แม่ขอบอกลูกว่า  แม่ภูมิใจในตัวลูกทุกคน  ที่งานนี้ลูกๆแสดงพลังความสามัคคี  ช่วยเหลืออย่างเต็มที่  น่ารักมาก  แม่รักลูกทุกคนจ๊ะ

  30 มี.ค. 46

“ ความภูมิใจเล็กๆ “  โรงเรียนวัดบางน้ำชน  ได้ Open  House  ไปเมื่อวันที่  27 มีนาคม 2546   เป็นความภูมิใจเล็กๆ ที่โรงเรียนเล็กอย่างเราสามารถนำเสนอในสิ่งที่เราได้ทำ  ได้ปฏิบัติมาตั้งแต่ต้นปี  นั่นคือกิจกรรมบ้านเล็กในบ้านใหญ่  ซึ่งแต่ละบ้านก็สามารถนำเสนอได้อย่างน่าประทับใจ  แต่จริงๆแล้ว  พวกเราที่เปิดโรงเรียน  ไม่ได้คิดจะอวดเก่งหรืออะไรทั้งสิ้น  แต่ที่เราปิดบ้าน  เปิดโรงเรียนเพราะต้องการความคิดเห็นจากบุคคลภายนอกว่ากิจกรรมที่เราทำนั้นมีข้อเสนอแนะอย่างไรบ้าง  เพื่อจะได้นำไปแก้ไข  ปรับปรุงให้ดีขึ้น  หรือว่าดีแล้วจะได้นำไปปฏิบัติที่โรงเรียนของท่านบ้าง  ก็เป็นที่น่ายินดี  เพราะมีอาจารย์หลายท่านซักถามถึงกิจกรรมบ้านเล็กในบ้านใหญ่  ซึ่งก็ได้อธิบายให้ฟังอย่างละเอียดจนเข้าใจ  จนได้รับคำตอบจากอาจารย์หลายท่านว่าเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจมาก  ดีมากที่ทำได้แบบนี้  ฟังแล้วก็หายเหนื่อยเลย  เป็นการแสดงให้เห็นว่า  มีอาจารย์หลายท่านเข้าใจถึงความรู้สึกของเด็กนักเรียนเป็นบ้านหลังที่สอง  โดยมีกิจกรรมต่างๆที่ทำให้  เด็กนักเรียนมีความสุข

15 พ.ค. 45

เปิดเทอมวันแรกนักเรียนแต่ละชั้นยังมากันน้อย  อาจเป็นเพราะโรงเรียนอื่นยังไม่เปิด  ก็เลยคิดว่าเปิดพร้อมๆกัน  สำหรับนักเรียน  ป.6  ที่ประจำชั้นอยู่มีนักเรียนมาทั้งหมด  21  คน  วันนี้มา  14  คน  ครึ่งๆกลางๆ  แต่วันนี้เด็กนักเรียนยิ้มแย้มแจ่มใส  ก็ทำให้สดชื่นยิ้มได้  แจกอุปกรณ์การเรียนและชุดนักเรียนให้คนละ  2  ชุด

ในตอนเช้ามีการอบรมแนะนำบุคคลากรในโรงเรียนว่าใครทำอะไรเป็นอะไรอย่างไร  ให้นักเรียนได้รู้จัก  จากนั้นก็แจกชุดนักเรียน  คนละ  2  ชุดทุกชั้น  แล้วจึงขึ้นห้องเรียนเพื่อแจกอุปกรณ์การเรียน  มีหนังสือเรียน  สมุด  ดินสอ  ยางลบ  จดตารางสอน

ในตอนบ่ายมีการจับสลากเลือกพ่อแม่อุปถัมภ์ ( พ่อแม่อุปถัมภ์คือครูทั้ง  12  คนในโรงเรียนจะต้องมีลูกประมาณ  9 –10  คน ) ซึ่งต่างก็ได้ลูกไว้เชยชมกันคนละหลายๆคน  และมีทุกชั้นกันถ้วนหน้า

16 พ.ค. 45

เปิดเทอมวันที่  2  นักเรียนที่ห้องมาเพิ่มมากขึ้นเป็น  19  คนขาดเพียง  2  คนเท่านั้น

วันนี้มีลูกเพิ่มอีก  2 เป็น 8  คน  ในชั่วโมงบ้านเล็กในบ้านใหญ่  ก็จะให้ลูกๆทุกคนแนะนำตัวเอง  ทำความคุ้นเคยกัน  พูดคุยกัน  จากการสังเกตลูกๆไม่ค่อยกล้าแสดงออก  ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง  ครูต้องหากิจกรรมต่างๆ  ที่จะมาช่วยแก้ปัญหานี้ให้หมดไป

สำหรับปัญหานักเรียนชั้น  ป.6  ซึ่งต้องเป็นครูประจำชั้นอยู่  ค่อยข้างคุยเก่ง  และต้องคอยชี้ย้ำเตือนในการทำงานสำหรับนักเรียนชาย  คงต้องคอยอบรมสั่งสอนไปเรื่อยๆก็คงจะดีเอง

 21 พ.ค. 45

ได้เข้าไปสอนแทนในชั่วโมงพละ  ของชั้น  ป.6  ได้ให้เด็กเล่นเกมส่งลูกบอล  โดยมีกติกาว่าถ้าเพลงหยุด  ลูกบอลตกอยู่ในมือของใคร  คนนั้นจะต้องออกมาจับฉลากซึ่งในสลากจะบอกว่าให้ทำอะไร  จะต้องออกมากลางวงแล้วแสดงให้เพื่อนๆดู  เด็กๆสนุกสนานกันมาก  แต่พอมาถึงรอบที่ลูกบอลตกอยู่ในมือของ  ด.ช. ธีรพงษ์  ซึ่งก็ออกมาจับฉลากได้การเต้นระบำชาวเกาะ  สีหน้าของธีรพงษ์ก็ไม่ค่อยสู้ดีนัก  เพื่อนๆเริ่มร้องเพลงระบำชาวเกาะธีรพงษ์ก็ออกไปชูมือแล้วหมุนตัวไปรอบๆ  เพลงยังไม่จบ  ครูต้อยก็บอกให้ส่ายสะโพกหน่อย  เพื่อนๆจึงร้องเพลงซ้ำอีกครั้ง  แต่ธีรพงษ์บ่นพึมพำกับตัวเอง  แล้วหยุดนิ่งทำท่าจะร้องไห้  ครูจึงบอกให้กลับไปที่เดิม  แต่ธีรพงษ์ไม่ยอมเล่นต่ออีกกลับออกไปนั่งนอกวง  ครูเรียกให้เล่นด้วยกันกับเพื่อนๆอีก  ธีรพงษ์ส่ายหน้าไม่เล่น

ค่อนข้างตกใจและแปลกใจไม่น้อยที่ทำให้ธีรพงษ์  ซึ่งตอนแรกสนุกสนานกับเกมที่กำลังเล่นกับเพื่อนๆ  แต่พอต้องออกมาแสดงหรือทำในสิ่งที่ตนไม่ชอบและไม่กล้าแต่ก็อุตส่าห์แสดงแล้ว  แต่ครูกลับให้ทำซ้ำอีก  ตัวครูเองก็รู้สึกเสียใจที่ทำให้ธีรพงษ์ที่คงกำลังสนุกกลับต้องหมดสนุก  ซ้ำร้องไห้แถมไม่ยอมเล่นอีก

อาจเป็นเพราะ ด.ช. ธีรพงษ์  ไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นในตัวเองและไม่ค่อยกล้าแสดงออก  ประกอบกับไม่ชอบการเต้นรำ  แต่พอเจอคำสั่งที่ฝืนใจ  ฝืนความรู้สึกของตนเองซึ่งไม่ชอบใจอยู่แล้ว  แต่ก็อุตส่าห์ออกไปแสดงให้ดูแล้ว  ซ้ำยังโดนครูสั่งให้ส่ายสะโพกอีก  เลยเกิดปฏิกิริยาต่อต้านทันที  ต่อไปก็คงต้องดูและใช้ความคิดสักนิดก่อนที่จะพูด  หรือออกคำสั่งอะไรกับใคร  ออกไป  และคงต้องศึกษา  ติดตามพฤติกรรมของ ด.ช. ธีรพงษ์  ต่อๆไปอีก

19 มิ.ย. 45

ไปอบรมวิจัยในชั้นเรียน  ได้รู้จักเพื่อนครูโรงเรียนฉิมพลี  เขตตลิ่งชัน  ชื่ออาจารย์ยุพิน  ชูเชิด  ได้นำเสนอผลงานการวิจัยในชั้นเรียน  เรื่องการศึกษาผลการใช้ Mind  Mapping  ในการพัฒนากระบวนการทางวิทยาศาสตร์  เป็นการสอนเนื้อหาโดยให้เด็กได้ค้นหาความรู้  แล้วนำเสนอออกมาในรูปของการเขียน  Mind  Mapping  เป็นการสรุปเนื้อหาที่เรียนที่ได้ไปค้นคว้าหาความรู้มา

เห็นด้วยกับอาจารย์ยุพิน  ที่ให้เด็กได้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้  แล้วนำสิ่งที่ได้ศึกษานั้นมาเขียนเป็นแผนที่ความคิดของตนเอง  หรืออาจจะเป้นกลุ่มก็ได้  นับเป็นงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจ  และคิดว่าจะนำไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เด็กให้มากที่สุด

การสรุปความคิดรวบยอดแล้วเขียนเป็น  Mind  Mapping  คิดว่าเป็นการสอนที่น่าสนใจและคิดว่าน่าจะได้ผลวิธีหนึ่ง  เป็นการพัฒนาการเรียนการสอนของครูด้วยวิธีหนึ่ง

 20 มิ.ย. 45

ชั่งโมงลูกเสือ  เป็นชั่วโมงที่มีช่วงหนึ่งเป็นการเล่นเกม  กลุ่มใดแพ้จะต้องออกมาแสดงอะไรก็ได้  ซึ่งก็มีกลุ่มของ ด.ช. สุวิทย์  บุญมี  ซึ่งเล่นเกมแพ้จะต้องออกไปแสดง  เพื่อนๆลูกเสือ  เนตรนารีเกือบทั้งหมดขอให้สุวิทย์ร้องเพลง  แรกๆ  ด.ช. สุวิทย์  ทำท่าเหมือนอาย  แต่สักพักเดียว  สุวิทย์ตอบตกลง  ซึ่งการร้องเพลงของสุวิทย์  มีการแสดงท่าทางประกอบด้วย ( มีเพื่อนๆในกลุ่มเป็น  Dancer )  การแสดงออกไม่ว่าจะเป็นการร้องเพลง  การเต้น  ทำให้นึกไม่ถึงว่าสุวิทย์  จะมีความสามารถได้ดีมีความกล้าที่จะแสดงออก

รู้สึกถึงในความกล้าแสดงออกของ ด.ช. สุวิทย์  บุญมี  มาก  นึกไม่ถึงเลยเพราะในเวลาเรียน  สุวิทย์จะไม่เอาไหนเลย  การบ้านไม่ส่ง  งานไม่ทำ  เพราะอ่านหนังสือไม่ค่อยออก

ความสามารถของเด็กในแต่ละคน  ไม่เหมือนกันจะเห็นได้จากสุวิทย์เป็นตัวอย่าง  เขาอาจจะไม่เก่งเรื่องเรียนหนังสือ  แต่ความสามารถในการร้องเพลงประกอบท่าเต้นด้วยแล้ว  ไม่มีใครเกิด ด.ช. สุวิทย์  บุญมี  เลยจริงๆ  แต่ถึงอย่างไรก็ต้องทำให้สุวิทย์อ่านหนังสือคล่องให้ได้

 24 มิ.ย. 45

ในห้องสมุด อ. นิภา  พูกให้ฟังว่ามีปัญหาเกี่ยวกับการอ่านออกเสียงตัวพยัญชนะ  ก ออ  กอ   ข ออ ขอ  แต่พออ่านอ่าไป  ก ออ  ไม่เป็นกอ  ม ออ  ไม่เป็นมอแล้ว  เป็นอะไรก็ไม่รู้  ซึ่งเป็นปัญหาส่วนใหญ่ของเด็ก  ป.1  สำหรับ อ. นิภา  เป็นอย่างมาก  แต่ อ. นิภา  ได้หาวิธีแก้ปัญหาโดยการใช้นิ้วโป้ง  กับนิ้วชี้ช่วย  คือ  นิ้วโป้งเป็นตัวพยัญชนะ  นิ้วชี้เป็นสระออ  เช่น  ชี้ที่นิ้วโป้งเป็น ก  ชี้นิ้วชี้เป็นออ  แล้วย้อนกลับมาที่นิ้วโป้งใหม่อ่านว่า   กอ   ( ไม่ว่าจะตัวพยัญชนะอะไรชี้ที่นิ้วโป้งก่อน  ตามด้วยนิ้วชี้  ออ  แล้วกลับไปชี้นิ้วโป้งใหม่  อ่านออกเสียงเหมือนเดิม )  อ. นิภา  บอกว่าประสบผลสำเร็จอย่างมากเลย  ก็เลยขออนุญาต  อ. นิภา  ลอกเลียนแบบเอาอย่างไปสอนลุกศิษย์  ป. 6 ที่อ่านออกบ้าง  อ. นิภาก็อนุญาต 

ฟังพี่นิภาเล่าแล้ว   มองเห็นภาพเลยว่ามันน่าจะเป็นผลทีเดียวสำหรับเด็กที่อ่านหนังสือไม่ออก  อย่างเด็ก ป. 6  บางคนเพราะเคยประสบปัญหาอย่างนี้มาแล้วเหมือนกัน  พี่เค้ามีความสามารถทีเดียว  ต้องยอมรับในเรื่องนี้  ขอยกนิ้วให้

นับว่าเป็นวิธีการที่ใช้แก้ปัญหาการอ่านออกเสียงตังพยัญชนะ  ที่ดีอีกวิธีหนึ่งทีเดียว  และจะได้นำไปใช้กับเด็กอื่นๆ  ได้ผลอย่างไรต้องมาคอยติดตามผลกันต่อไป

 26 มิ.ย. 45   

ไปอบรมวิทยาศาสตร์  เรื่องการทดลองวิทยาศาสตร์ในระดับชั้นประถมศึกษา  เป็นการให้ลงมือปฏิบัติจริงให้ครู  ผู้เข้ารับการอบรมเป็นเด็กนักเรียน  แล้วออกไปทำกิจกรรมการทดลองต่างๆ  เป็นการลงมือปฏิบัติจริง  ซึ่งก็สนุกสนานมาก  มีความตั้งใจทำงานให้ความร่วมมือในกลุ่มเป็นอย่างดี

จริง ๆ แล้ววิทยากรที่มาให้การอบรมนั้นตั้งใจให้ครูผู้เข้ารับการอบรมทุกคนเห็นขั้นตอน  ในการทดลองวิทยาศาสตร์  เพื่อให้ครูนำไปสอนนักเรียนตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  ซึ่งในความรู้สึกเด็กนักเรียนก็คงจะชอบที่ได้ลงมือทำ  ลงมือปฏิบัติ  โดยมีครูคอยเป็นพี่เลี้ยง  ให้คำปรึกษา  ครูเองยังชอบเลย  รู้สึกเหมือนเด็กๆอีกครั้ง  ที่ทำอะไรได้รู้สึกภูมิใจ  มีการปรึกษาหารือกับเพื่อนๆ  สนุกและมีความสุข  มีความรู้สึกดีๆ

การสอนวิทยาศาสตร์  ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  จะทำให้เด็กๆได้พัฒนาสมอง  เป็นอย่างดีและมีความสุขกับการเรียนวิทยาศาสตร์

 28 มิ.ย. 45

ชั่วโมงบ้านเล็กในบ้านใหญ่    วันนี้จัดงานวันคล้ายวันเกิดให้กับลูกชายคนเล็ก     ( มีลูก  11  คน  )    ชื่อ  ด.ช. พงษ์สิทธิ์  ฉ่ำอำนวย  หรือน้องบอส  มีการเลี้ยงฉลองกันนิดหน่อยมีกินขนม  น้ำหวาน  กันอย่างเอร็ดอร่อย  มีการให้ของขวัญวันเกิดเล็กๆน้อยๆ  เป็นกล่องดินสอ  พี่ๆน้องๆ  ร้องเพลง  Happy  Birthday  ให้กับเจ้าของวันเกิด  ซึ่งยิ้มแฉ่งทีเดียว  มีครอบครัวเพื่อนข้างบ้านมาร่วมงานด้วย

คิดว่าเด็กๆมีความสุขมากทีเดียว  สังเกตจากการที่ทำกิจกรรมต่างๆ  ตั้งแต่ต้นจนจบทุกคน  Happy  มาก

นับว่าเป็นชั่วโมงแห่งความสุขที่มอบให้กับลูกๆทุกคน  โดยมีงานวันเกิดของ “บอส”  เป็นตัวกระตุ้นคิดว่า  จะทำให้ลูกๆทุกคนมีความสุข  มีความสนุกสนาน  สามัคคีกันอย่างนี้ตลอดไป

 1 ก.ค. 45

เป็นวันประชุมข้าราชการคงสังกัด  สำนักงานเขตธนบุรี  ซึ่งได้เชิญ  ดร.  พัชรีวัลย์  เกตุแก่นจันทร์  มาพูดเกี่ยวกับ  เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้  ท่านบอกว่าต้องศึกษาเด็กให้ถึงรากเง่า  ถ้าเด็กไม่รู้  อย่าเพิ่งไปบอกว่าไอ้โง่  มีเด็ก ป. 6 ยังอ่านหนังสือไม่ออกเลย  แล้วจะให้ไปเรียนกับเด็กที่เขาเรียนได้  แล้วเด็กคนนั้นจะเรียนกับเขาได้อย่างไร  ก็เป็นไอ้โง่ตลอดชาติสิ  ไม่ได้ต้องสอนเด็กคนนั้นในระดับ  ป. 1  ก็ต้องทำเพื่อเขาจะได้อ่านออกเขียนได้  เพราะฉะนั้นควรศึกษาและแบ่งแยกเด็กว่าควรอยู่ระดับไหน

ประทับใจ  ดร.  พัชรีวัลย์  พูดได้ยอดเยี่ยมมากตลอดเวลา  1  ชั่วโมงครึ่ง  นับว่าน้อยหรือสั้นไปจริงๆ  ท่านเป็นนักวิชาการที่เก่งมากคนหนึ่ง  ในความคิดความรู้สึกการพูดของท่านสามารถปลุกจิตวิญญาณของความเป็นครูอย่างเรา  ให้หันหลังกลับไปมองเด็กนักเรียนซึ่งเป็นลูกศิษย์อีกหลายๆครั้ง  เ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 14667เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2006 16:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 17:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เป็นอนุทินที่มีความดีมากเลย

ครูเขียนดีจัง

เขียนได้ดีมากเลยคับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท