ร.ร.กุ้งชีวภาพ


"เรื่องเลี้ยงกุ้ง ให้เรียนยังไงก็เรียนไม่จบ ต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ และหาความรู้ให้มาก"

        "เรียนไม่รู้จบ" ....จากกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งบ้านสร้าง สู่โรงเรียนกุ้งชีวภาพ 

คำกล่าวที่ว่า "ทุกสิ่งย่อมเปลี่ยนไปตามกาลเวลา" คงจะนำมาอ้างอิงได้เสมอๆ เช่นเดียวกับ กลุ่มชาวบ้านในอำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งแต่เดิมผืนนาที่พวกเขาเคยปลูกและเก็บเกี่ยวข้าวมานานหลายชั่วอายุคน แต่วันนี้วิถีของการทำนาเปลี่ยนไป เมื่อทำแล้วไปไม่รอดก็ต้องหาทางนำสิ่งใหม่ๆเข้ามาปรับใช้ วันนี้พื้นที่นา ที่เคยปลูกข้าว ได้กลายสภาพเป็นบ่อเพาะเลี้ยงกุ้งแทนผืนนาที่แห้งแล้ง

            กลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งบ้านสร้าง เป็นกลุ่มที่เลี้ยงกุ้งกุลาดำเหมือนกับพื้นที่อื่นๆทั่วไปในภาคตะวันออก ที่เปลี่ยนแปลงนา เป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง เนื่องจากรายได้จากการทำนาไม่สามารถทำให้เห็นเม็ดเงินได้อย่างชัดเจน การเลี้ยงกุ้งกุลาดำ จึงกลายเป็นทางออกและเป็นอาชีพหลักในเวลาต่อมา

            แต่กระนั้นการทำอะไรสักอย่างให้ได้ดี และประสบผลสำเร็จ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ โดยเฉพาะการเลี้ยงกุ้งซึ่งมีความเสี่ยที่อาจจะต้องแลกด้วยหยาดเหงื่อไปพร้อมๆกับน้ำตา จึงต้องอาศัยการเรียนรู้ทั้งจากตัวเองและจากผู้อื่น ทีมีความรู้มากกว่า "กลุ่มเกษตรกรชีวภาพ" จึงเกิดจากแนวคิดในการทำที่มีลักษณะคล้ายกัน ดังนั้นปัญหาที่เจอก็คงไม่หนีกันนัก การรวมตัวเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องการเลี้ยงกุ้งจึงเกิดขึ้น

           "ปกติทั่วไปกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก็เลี้ยงกุ้งของตัวเองตามแบบฉบับทั่วไปซึ่งมีความรู้อยู่บ้าง แต่จะไม่มากนัก ซึ่งโดยธรรมชาติของการเลี้ยงกุ้งนั้นจะต้องเรียนรู้เรื่องต่างๆที่เข้ามาตลอดเวลา แต่เมื่อ ธกส.อำเภอบ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี เข้ามาช่วยในเรื่องของการนำกลุ่มเกษตรกรชีวภาพไปเรียนรู้ในพื้นที่ต่างๆ ทำให้ความรู้ชัดแจ้งในปัญหาที่ตนเองพบบ่อยๆนั้นกระจ่างมากขึ้น" นั่นเป็นเสียงสะท้อนจากผู้เลี้ยงกุ้งมานาน

             นางบังอร มั่งมี เป็นหนึ่งในเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 เนื่องจากปัจจัยมากมายในเรื่องของการทำนาข้าว ปัญหาข้าวราคาต่ำ ดินไม่ดี ทำกำไรได้เป็นบางช่วง เธอจึงหันมาพึ่งการเลี้ยงกุ้งที่สามารถเห็นกำไรเต็มเม็ดเต็มหน่วยได้มากกว่า และสะท้อนถึงแง่มุมต่างๆที่ชาวบ้านในอำเภอบ้านสร้างได้ประสบกับตัวเองว่า ปัญหาการเลี้ยงกุ้งมีเรื่องให้กลุ่มเกษตรกรคิดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการลงทุนกับบ่อกุ้งสัก 1 บ่อ ต้องใช้ค้าใช้จ่ายเป็นหลักแสน กว่าที่จะเห็นกำไร ก็เล่นเอาเกษตรกรลุ้นกันชนิดที่ว่าหายใจไม่ทั่วท้องเลยที่เดียว

            ซึ่งการเลี้ยงกุ้งกุลาดำของเกษตรกรทุกพื้นที่จะมีปัญหาเรื่องโรคกุ้งต่างๆมากมาย เช่นโรคตัวแดงดวงขาว โรคหัวเหลือง ปัญหากุ้งเป็นโรคสารพัด ที่เกิดจากปัจจัยในเรื่องของ อาหาร สภาพดินและน้ำในบ่อเลี้ยงกุ้ง การหาวิธีแก้ไขของกลุ่มเกษตรกรก็เหมือนจะเป็นการโยนหินถามทาง ซึ่งในที่สุดก็หาข้อสรุปให้กับตัวเองไม่ได้

            จนกระทั่งได้ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรที่จะนำช่วยในเรื่องของการเลี้ยงกุ้ง แทนการใช้ยาหรือสารเคมีที่เหล่าเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งเคยชิน โดยมี อาจารย์วิวัฒน์ ศัยกรรมธร จากมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง อ. บ้านบึง จ.ชลบุรี เป็นผู้มาให้ความรู้โดยการอบรมทำน้ำหมักชีวภาพและสมุนไพร ซึ่งเป็นผู้จุดประกายความคิดและให้ความรู้ต่างๆกับกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งหันมาใช้วิถีแบบธรรมชาติแทนการใช้ยาเคมีต่างที่เคยทำกันมา

เมื่อเห็นความแตกต่างระหว่างสารเคมีที่ใช้เลี้ยงกุ้ง เปรียบเทียบกับการใช้สมุนไพรซึ่งมีหลายขั้นตอนในการสกัด แต่สามารถลดจำนวนการตายของกุ้งให้เหลือเพียง 25 % ได้ จึงเลือกที่จะมาใช้สมุนไพร และเริ่มประยุกต์ใช้กับสมุนรไพรชนิดอื่นๆ ด้วย เช่น สิ่งที่ทดลองอยู่ตอนนี้คือสมุนไพร  ยาเขียว ซึ่งสามารถนำมาเป็นสมุนไพรผสมอาหารกุ้งได้ จากที่กุ้งตายบ่อย ก็จะลดจำนวนการตาย และหายไปในที่สุด นอกจากนี้ยังมี ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร แก้ไวรัส โรคตัวแดงจุดขาว หัวเหลือง ซึ่งจะสามารถป้องกันโรคเหล่านี้ได้ เป็นสิ่งที่กลุ่มช่วยกันคิดและหาวิธีแก้ไข

           คุณบังอรยัง บอกอีกว่า หลังจากที่เธอได้ไปดูงานเรื่องการเลี้ยงกุ้งของกลุ่มต่างๆ ก็ได้เกร็ดความรู้เล็กๆน้อยมากมาย ซึ่งเธอบอกกับตัวเองว่า ควรจะเริ่มเอาจริงเอาจังกับการทำนากุ้งซะที โดยเริ่มจากการโทรนัดลูกกุ้งจากพ่อค้าในราคา 12 สตางค์ กลับมาบอกกับตัวเองว่าพร้อมจะทำงานแล้ว จากนั้นก็มาเตรียมบ่อ ถากหญ้า และจึงเริ่มปล่อยน้ำลงบ่อ และใส่น้ำหมักลงในบ่อ ซึ่งเธอจะมีสมุดบันทึกการทำงานของเธอเสมอ หากฤดูกาลนี้เธอลงลูกกุ้ง 3 บ่อ บันทึกของเธอก็จะมี 3 เล่ม ซึ่งข้อมูลทุกอย่างที่เธอได้ทำอย่างละเอียด ดังนั้นการปรับปรุงเปลี่ยนวิธีคิด ตั้งแต่การเลิกใช้ยาสารเคมี การรวมกลุ่มและหันมาผลิตอาหารกุ้งกันเอง ทำให้ประชากรกุ้งในบ่อของแต่ละคนลดจำนวนการตายลงได้มาก พร้อมกล่าวทั้งท้ายว่า "เรื่องเลี้ยงกุ้ง ให้เรียนยังไงก็เรียนไม่จบ ต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ และหาความรู้ให้มาก"

             ผลจากการใช้สารเคมีทำจากกการเลี้ยงกุ้งทำให้อาการป่วยของสามีเธอเริ่มเห็นได้ชัดเจนขึ้น เธอจึงลดยาฆ่าเชื้อหลายๆอย่างลงไปบ้าง และหันมาใช้ปูนขาวมาโรยรอบๆบ่อ เพื่อปรับปรุงค่า  ph ของน้ำเมื่อเวลาที่ฝนตกจะช่วยชะล้างน้ำในบ่อกุ้งให้สะอาดมากขึ้น และยังไร้จัก ค่า ph ดิน

             การทำบ่อกุ้งจึงมีการหมุนเวียนในการทำงานอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสามารถทำนากุ้งได้ทั้งปี จึงมีเงินหมุนเวียนที่ให้กำไรมากกว่าการทำนาข้าว หากแต่การเลี้ยงกุ้งนั้นต้องอาศัยการเรียนรู้ตลอดชีวิตของกลุ่มผู้เรียนผ่านเวที ผ่านการลองผิดลองถูก เพื่อให้เห็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะนำมาปรับใช้กับการทำงานได้ต่อไป

            ด้าน นายสำราญ เขียวฉอ้อน กลุ่มเกษตรชีวภาพ สะท้อนปัญหาหนักอกของผู้เลี้ยงกุ้งว่า "โรคที่กุ้งตายมีหลายโรค เช่น โรคตับฝ่อ สาเหตุเกี่ยวกับการกินอาหารแล้วตาย ซึ่งตอนนี้กลุ่มเกษตรกรชีวภาพกลับมาทำอาหารกุ้งกันเอง ซึ่งจะมีส่วนผสมทนี่กลุ่มกำหนดกันเอง แต่ไม่ได้เน้นโปรตีนมากนัก สามารถผลิตกันได้ประมาณ 1 ตัน / วัน ซึ่งจะมีการร่วมทุนกันในกลุ่ม โดยไปหาสูตรอาหารกุ้งจากอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ซึ่งที่นั่นมีลูกค้าเยอะ ทำเองและได้ผลดี"

นายสำราญ กล่าวอีกว่า "ช่วงแรกๆ ไปดูงานที่นั่น ซึ่งผลิตกันได้ 200 กก./วัน หลังจากนั้นเรากลับมาทำกันเองซึ่งสามารถทำได้มากกว่าที่อำเภอขลุง จากนั้นอำเภอขลุงก็มาดูว่าเราทำอย่างไรจึงผลิตได้มากกว่ากลุ่มของเขา เมื่อเขาศึกษาดูงานจากกลุ่มของเรา ก็กลับไปทำและได้จำนวนการผลิตมากกว่าเราขึ้นไปอีก ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกัน"

               ขณะที่ นายณรงค์ ทองคำ ประธานกลุ่มเกษตรชีวภาพ กล่าว่า โรงเรียนกุ้งจะมีกลุ่มนักเรียนแวะเวียนเข้ามาเรียนเป็นรุ่นๆ ซึ่งความสำเร็จของรุ่นแรกมีให้เห็นบ้างแล้ว ซึ่งกลุ่มเกษตรชีวภาพก็มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในทุกๆด้าน และมีการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จำนวนกว่า 60 คน มี การทำเรื่องปุ๋ย และ การทำอาหารกุ้งร่วมกัน ทั้งนี้กลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งสามารถเข้ามาซื้ออาหารจากกลุ่มได้ในราคาต้นทุน และผู้ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มก็ได้ในราคาต้นทุนเช่นกันซึ่ง กระบวนการนี้ กลุ่มเกษตรฯ คาดว่าจะสามารถดึงให้กลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งรายอื่นมีสมาชิกเพื่มขึ้นด้วย

  วันนี้การดูแลลูกกุ้ง การดูแลน้ำ และปรับปรุงดินของพี่บังอร และสายัณต์ผู้เป็นสามี ต่างคนต่างเรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองสนใจ และมาแลกเปลี่ยนกันโดยธรรมชาติ ไม่เพียงแค่2คนสามีภรรยาเท่านั้น แต่การเรียนรู้ร่วมกันของกลุ่มเกษตรชีวภาพ ที่ถูกบัญญัติภายใต้ชื่อ "โรงเรียนกุ้งชีวภาพ" นั้น เชื่อเหลือเกินว่าความเข้มแข็ง และความตั้งใจใฝ่รู้ ความร่วมแรงแข็งขันของกลุ่ม สามารถจะทำให้กลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งประสบความสำเร็จเรื่องการเลี้ยงกุ้งด้วยชีวภาพในรุ่นต่อๆไป

              และสิ่งที่ตามมาคือการ "ทำเอง - เห็นเอง - รู้เอง" ที่กลุ่มเกษตรกรชีวภาพทุกคนสามารถพูดเรื่องความสำเร็จได้เต็มปากว่าประสบความสำเร็จอย่างไร และนำไปสู่การเรียนรู้ร่วมกันโดยอัตโนมัติ และสอดรับกับเป้าหมายของกลุ่มเกษตรชีวภาพ ที่ต้องการให้เกษตรมีรายได้เพิ่มขึ้น "ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้" รู้จักการทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกัน ทั้งการระดมหุ้น ร่วมคิดร่วมทำจนสามารถไปถึงความสำเร็จในเป้าหมายร่วมกันในที่สุด.

                                                     ********************

ปิดท้ายด้วยภาพการกินกุ้งที่มากที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็น ชาวบ้านใจดีพี่บังอร ได้ให้น้องสาวเข้าครัวโชว์ฝีมือ และเลี้ยงอาหารกลางวันพวกเราจากบ่อกุ้งของเธอเอง ตามด้วยผลไม้มากมาย งานนี้อิ่มอร่อยขนาดไหน สังเกตพี่อ้อ ของเราซิครับ ตั้งใจกินมากเลยครับ ...

 

หมายเหตุ

คอลัมน์นี้เป็นคอลัมน์ที่ทีมประชาสัมพันธ์ สคส. ได้เคยไปจับภาพ เรื่องจัดการความรู้ ในโรงเรียนกุ้งชีวภาพมาแล้วตั้งแต่ ก.ค .2548 และยังไม่เคยนำมาลงบล็อก จึงถือโอกาสนี้นำมาเพื่อเป็นความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แก่ผู้ที่สนใจ และกำลังเลี้ยงกุ้งอยู่ครับ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 1461เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2006 10:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุน สำหรับความรู้สำหรับการทามโครงงานจร้า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท