ความในใจของพ่อคนหนึ่งที่เริ่มรู้สึกตัวว่าความสุขของตนอยู่ที่ไหน


"...ถึงตอนนี้ เกิดความรู้สึกเสียใจขึ้นมาอย่างลึกซึ้งรุนแรง รู้สึกมีก้อนๆ ขึ้นมาจุกที่ลำคอ รู้สึกปวดที่กรามทั้งสองข้างขึ้นไปจนถึงหู แล้วก็รู้สึกมีน้ำตาซึมๆ ออกมา แต่เธอไม่รู้หรอกเพราะไม่ได้มองผม มัวแต่อธิบายรูป ผมเกิดความรู้สึกอยากลูบผมเธอ อยากดึงตัวเธอเข้ามากอด..."

สัปดาห์ที่แล้ว มีวันหนึ่งที่ผมมีความสุขมากในชีวิต ปกติผมเป็นคนหนึ่งของคนประเภทที่ไม่เคยคิดว่าความสุขรวมทั้งความทุกข์ของตัวเองคืออะไร พอเจอคำถามง่ายๆ ตื้นๆ จากกัลยาณมิตรท่านหนึ่งเมื่อวันสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เองว่า เวลาไหนที่เรารู้สึกมีความสุขบ้าง ขณะที่มีความสุขนั้น ในใจเรารู้สึกอย่างไร ผมงงเลย เพราะไม่เคยคิดจริงๆ หรือจะเป็นเพราะว่าจริงๆ แล้วเราไม่เคยมีความสุขจริงๆ เลยก็ได้  หรือไม่ก็มีความทุกข์อยู่ด้วย แต่ไม่รู้ตัว จนกระทั่งผมคิดถึงเหตุการณ์ที่ผมคิดว่าเป็นวันหนึ่งที่ผมมีความสุข 

เรื่องมีอยู่ว่า เย็นวันนั้น ลูกสาวผมกลับจากที่ทำงานประมาณ ๓ ทุ่ม ผมนั่งเขียนหนังสืออยู่ เธอเดินเข้ามาถามด้วยท่าทีเกรงใจมากๆ ว่า ป่าป๊าจะดูรูปที่ผิงไปเวียดนามมามั๊ย

ความรู้สึกแรกที่เกิดขึ้นคือขุ่นใจเล็กน้อยที่ถูกขัดจังหวะ ซึ่งโดยนิสัยผมจะขุ่นใจมากหากงานที่กำลังทำนั้นใกล้เส้นตายที่ต้องเสร็จ (หลังจากผลัดวันประกันพรุ่งมา)

ผมมองหน้าลูกสาวอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนที่จะพูดออกไปโดยอัตโนมัติเหมือนที่เคยทำเป็นประจำนับสิบปีกับทั้งลูกและเมียว่า ป่าป๊าทำงานอยู่

แต่วันนั้น ผมมองหน้าลูกแล้วเกิดนึกขึ้นได้ว่า ลูกสาวคนนี้เป็นคนที่มีจิตใจค่อนข้างอ่อนไหว ผมจึงยอมให้เธอขัดจังหวะ ตอบกลับไปว่า เอามาสิ 

เธอเอาเมมโมรี่สติคมาเสียบเข้ากับเครื่องโน๊ตบุ๊คผมที่เปิดอยู่ พอเปิดขึ้นมาดูเป็นไฟล์ภาพที่เธอและเพื่อนๆ ถ่ายจากการไปทัวร์เวียดนามกันมาช่วงวันปิยมหาราชที่มีวันหยุดยาว เป็นร้อยๆ ภาพ ทำไมเยอะอย่างนี้ ความคิดแรกก็คือจะดูอย่างเร็วๆ ผ่านๆ พอเป็นพิธี

แต่เมื่อเห็นเธอชี้และอธิบายความทรงจำทั้งสนุก ตื่นเต้น ทั้งไม่สนุก น่าเบื่อ แต่ละรูปแล้วก็ไม่อยากขัด ดูไปฟังไปบ้าง ไม่ได้ฟังบ้าง

ปกติผมเป็นคนชอบใจลอยอยู่แล้ว ตลอดชีวิตผมที่ผ่านมา หลายคนไม่รู้ว่าขณะที่ผมมองตาบางคนที่กำลังพูดกับผมอยู่นั้น บ่อยครั้งที่ผมไม่ได้ "ฟัง" เขาเลย ใจลอยออกไปคิดเรื่องอื่น เป็นระยะๆ

คราวนี้ก็เหมือนกัน แต่คราวนี้มีความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้น

การดูรูปจากหน้าจอโน๊ตบุ๊คทำให้เราต้องนั่งใกล้กันมาก และหันหน้าไปทางเดียวกัน ผมจึงได้สังเกตเห็นนิ้ว เห็นมือ เห็นแขน และไล่ขึ้นมาถึงไหล่ ถึงคอ ถึงหู ถึงเส้นผม และต่อมาผมก็ได้กลิ่นหอมจางๆ จากผมของเธอด้วย ผมไม่เคยได้เห็นอะไรที่ละเอียดๆ อย่างนี้ในตัวเธอมานานมากแล้ว แต่เธอไม่รู้ตัวหรอกว่าผมไม่ได้ฟัง เพราะเธอจดจ่ออยู่กับรูปและการเล่า

ชั่วขณะที่มองเธอจากทางด้านข้างอยู่นั้น ผมเกิดความคิดภายในใจขึ้นมาว่า นี่คือเลือดเนื้อเชื้อไขของเรา และเธอก็สวยงามมาก เป็นความรู้สึกที่ไม่ได้เกิดมานานมากแล้ว นึกได้ว่าเมื่อเธอยังตัวเล็กๆ อยู่ เวลาที่ผมอุ้มเธอผมก็เคยรู้สึกอย่างนี้ และตอนนั้นผมก็เคยมี "ความสุข" มาแล้ว แต่ผมลืมมันไปนานมากแล้ว

เมื่อมาถึงตอนนี้ เกิดความรู้สึกเสียใจขึ้นมาอย่างลึกซึ้งรุนแรง รู้สึกมีก้อนๆขึ้นมาจุกที่ลำคอ รู้สึกปวดที่กรามทั้งสองข้างขึ้นไปจนถึงรอบใบหู แล้วก็รู้สึกมีน้ำตาซึมๆ ออกมา แต่เธอไม่รู้หรอกเพราะไม่ได้มองผม มัวแต่อธิบายรูป ขณะที่ผมกำลังหลุดเข้าไปติดอยู่ในร่องอารมณ์บางอย่าง ไม่ได้ฟังเลย ผมเกิดความรู้สึกอยากลูบผมเธอ อยากดึงตัวเธอเข้ามากอด ...

แล้วผมเข้าไปอยู่ในภวังค์ของความเสียใจ เสียใจที่คิดขึ้นมาได้ว่านิสัยหมกมุ่นกับตนเองของเรา ทำให้เราไม่มีโอกาสได้ใกล้ชิดกับลูกเมียเท่าที่ควรทั้งที่อยู่บ้านเดียวกัน แม้จะเดินสวนกันไปมาวันละหลายๆ ครั้ง ตัวอยู่ด้วยกัน แต่เหมือนผมไม่ได้อยู่กับพวกเขา มีเรื่องของตัวเองมากมายที่ต้องคิดต้องทำเกี่ยวกับงานอยู่ตลอดเวลา แม้อยู่ที่บ้านก็เอางานมาทำ วันหยุดก็ยังทำ ถ้าไม่ทำงานบ้าน ก็อ่านหนังสือที่ตัวเองสนใจอยู่คนเดียว ผม "คุย" กับสมาชิกในครอบครัวน้อยไป ประโยคที่พูดกันจำนวนมากเป็นประโยคคำถาม คำตอบ คำแก้ตัว ประโยคคำสั่ง หรือไม่ก็เป็นการ(ทน)ฟังเสียงบ่นของกันและกัน 

มันเป็นเช่นนี้มาเป็นสิบๆปีแล้วกระมัง!

ครู่หนึ่งผมก็ตื่นขึ้นจากภวังค์อันนั้น ผมหันหน้ากลับมาที่หน้าจอ มาถึงรูปที่เท่าไรแล้วก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าเธอเล่าอย่างสนุกสนาน ผมรู้สึกเหมือนเธอเล่าให้ตัวเธอเองฟัง เมื่อผมเริ่มฟัง ผมก็เริ่มรู้สึกสนุกไปด้วย ภาพแล้วภาพเล่า หลายภาพก็สวยงามมาก เธอดูสวยงามจริงๆ ในทุกภาพที่มีตัวเธอปรากฏอยู่ด้วย ขณะดูไปนั้น ผมได้ขอก็อปปี้ภาพถ่ายเธอกับเพื่อนๆ และภาพทิวทัศน์ที่สวยงามไว้ ๓ - ๔ ภาพด้วย ซึ่งเธอก็ดูยินดีมากที่ป่าป๊าทำเช่นนั้น เวลาผ่านไป ผมเงยหน้าขึ้นดูนาฬิกา สี่ทุ่มครึ่ง เวลาผ่านไปตั้งชั่วโมงครึ่งโดยไม่รู้สึกตัว

ผมรู้สึกได้ดื่มด่ำกับความสุข กับเรื่องราวการผจญภัยของลูกในเวียดนาม เหมือนได้ดูหนังเรื่องหนึ่งที่ลูกผมเป็นคนเขียนบท

เหตุการณ์ในครอบครัวระหว่างผมกับลูก ที่ผมได้ฟังลูกเล่าอะไรอย่างสนุกสนานเป็นเวลานานๆ แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นนานมากแล้ว

คืนนั้นผมเข้านอนด้วยความรู้สึกมีความสุขมาก มากจริงๆ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน!

ผมไม่ได้เล่าเรื่องนี้ให้กัลยาณมิตรที่ถามผมว่าเมื่อไรที่ผมรู้สึกมีความสุขฟัง เพราะผมรู้ว่าเขาตั้งคำถามให้ผม "คุย" กับตัวเองมากกว่า เป็นกลยุทธของเขา ผมจะตอบหรือไม่ตอบก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าผมตอบตัวเองว่าอย่างไร ผมค้นพบอะไรในตัวเอง ผมเรียนรู้ที่จะรู้จักตัวเองอย่างไร เขาแนะนำให้ผมฝึกสังเกตตัวเอง ตั้งคำถามกับตัวเองบ้างเวลาที่เรารู้สึกตัวขึ้นมาว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เรารู้สึกอย่างไรในขณะนั้นๆ มีอาการทางกายภาพ ทางอารมณ์อย่างไรในขณะนั้นๆ อาการนั้นๆ คือสัญญาณที่ตัวเรากำลังส่งถึงตัวเราเอง ขึ้นอยู่กับว่าเรารู้จักที่จะรับสัญญาณนั้นหรือเปล่า

คำถามสั้นๆ พร้อมคำแนะนำสั้นๆ ของกัลยาณมิตรท่านนั้น กระแทกกระทั้นใจ และมีผลต่อผมมากจริงๆ

ขอขอบคุณ ขอบคุณ และขอบคุณ คุณโรเบิร์ต ลาร์สัน ฝรั่งที่เคยมาบวชเป็นพระอยู่สวนโมกข์เมื่อครั้งท่านพุทธทาสยังมีชีวิตอยู่ ได้ฉายาตามพยางค์หลังของนามสกุลว่า สันติกโร ท่านกลับไปตั้ง Liberation Park ซึ่งแปลว่า สวนโมกข์เหมือนกัน ที่อเมริกา

ผมเขียนบันทึกนี้เพราะต้องการบันทึกความคิดความรู้สึกนี้ไว้เอง และเพื่อแบ่งปันความรู้สึกนี้กับพ่อแม่คนอื่นที่อาจมีประสบการณ์แบบเดียวกันกับผม

คนที่ไม่เคยมีประสบการณ์แบบเดียวกับผม หากอ่านแล้วงงๆ ว่าผมต้องการสื่ออะไร เพ้อเจ้ออีกหรือเปล่า? ก็ไม่เป็นไร

ไม่เป็นไรจริงๆ ครับ เพราะผมเข้าใจของผมเอง และอยากให้ลูกเข้าใจด้วย จึงเขียนอีเมล์ทำลิงก์ให้เธอคลิกเข้ามาอ่านบันทึกนี้ด้วย ผมคิดว่า เราคงมีเรื่องคุยกันยาวหลังจากเธออ่านบันทึกนี้

ผมอยากให้เธอรู้ว่า จากนี้ไปผมจะมีความสุขมากกับการ "ฟัง" ทุกเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตเธอที่เธออยากจะเล่า ผมอยากให้เธอเล่าให้ผมฟังทุกวันด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเล็กๆ น้อยๆ แค่ไหน ผมจะละจากทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังทำเพื่อฟังเธอ

เพราะผมพบแล้วว่า การทำเช่นนั้นทำให้ผมมีความสุข!

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
๑๓ พ.ย. ๒๕๕๐

หมายเลขบันทึก: 145982เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2007 08:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 22:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (32)

สวัสดีค่ะอ.สุรเชษฐ

เบิร์ดกระโดดเข้ามาเลยค่ะ เพราะดีใจมากที่เห็นอาจารย์ และอ่าน 3 รอบเพราะซาบซึ้งกับความสุขที่ละเมียดละไม ซาบซึ้งในความรู้สึกที่อาจารย์ถ่ายทอดความรัก ความผูกพันของความเป็นพ่อ ลูก สายใยความผูกพันในครอบครัวได้อย่างงดงามและเห็นภาพที่เคยเป็นมาในอดีตได้อย่างชัดเจน

การให้เวลา การนิ่งฟัง.. ความดื่มด่ำลึกซึ้งที่เกิดขึ้นเป็นห้วงเวลาที่อบอุ่น อ่อนโยนและก่อให้เกิดความสุขที่เอิบอาบเต็มอยู่ในใจของเรา เพราะเป็นกระบวนการที่สร้างสรรค์ ทำให้เรารับรู้ว่าเราคือผู้ให้และเป็นผู้รับความรักในขณะเดียวกัน..

เบิร์ดชอบบันทึกนี้ของอาจารย์นะคะ เพราะงามมากเลยค่ะ

ขอบพระคุณสำหรับบันทึกดีๆที่ทำให้วันนี้เบิร์ดยิ้มกว้างเลยนะคะ..ขอบพระคุณค่ะ

 

(TT...TT)....let's talk more & more na ka.....

.......

ซาบซึ้งมากเลยอ่ะป่าป๊า T____T

 

จาก...

 

ลูกสาวคนที่สาม

ขอบคุณคุณเบิร์ดมากครับที่เข้ามาทักทายและเขียนความเห็นที่สดใส

ดีใจ และเป็นสุขด้วยครับ

สิทธิพงษ์

ตามมาอ่านครับ อาจารย์

ยินดีกับความสุขจริงๆด้วยครับ

 มิ่งเมือง

สวัสดีครับอาจารย์สุรเชษฐ 

ตามอ.สิทธิพงษ์ เข้ามาอ่านครับ

ยินดีด้วยกับอาจารย์ครับ และขอบคุณที่จุดประกายเรื่อง  ความสุขของตัวเองอยู่ที่ไหน???

 

 ..........ไม่รูจะ comment อะไร ..........   :)

ขอส่งรอยยิ้ม :D ไปให้

แทนความคิดเห็นละกันนะคะ ..........อาจารย์เชต

ผึ้ง๖ -anchana

------------------------------------------------------------------ 

  • Only a few things are really important.

brainyquote: by Marie Dressler

------------------------------------------------------------------

แวะมาอ่านด้วยความซาบซึ้ง และแอบร้องให้ไปกับอารมณ์นั้น ที่เห็นคนเจ็ดสัมผัสได้กับอารมณ์ของตนเอง และของคนรักใกล้ตัว ค่ะ ... ทำเอาคนห้าอินไปด้วยสุดๆ เลยค่ะ
ซาบซึ้งมาก
กับการได้รู้จักตัวเองของอาจารย์................................
อ่านแล้วสะท้อนตัวเราด้วย .....ที่ชอบใช้ความคิดอยู่กับตัวเอง...หลายครั้งเราละเลยคนอื่นจริงๆ และหลายครั้ง คนอื่นก็ไม่รู้ แต่เราแหละรู้ (เมื่อเรารู้ตัวอ่ะ)....ซึ้ง..จะพิจารณาตัวเองแบบนี้บ้าง

เยี่ยมมาก ชอบจริงๆและขออนุญาตเผยแพร่ต่อๆไปนะครับ

เชษฐ์มีบทความดีๆแบบนี้อีกไหมครับ

ลูกเป็นความสวยงามของชีวิตเสมอค่ะ อันนี้เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพียงแต่บางขณะเราหลงลืมมันไป อ่านแล้วน้ำตาซึม ซาบซึ้งในความรักที่สื่อแสดงออกมาจากใจ ขณะที่คุณเชษฐ์รู้สึกถึงความรักที่ไหลรินออกมาจากใจ ความรู้สึกอยากโอบกอดลูกเอาไว้ ขณะนั้นคุณเชษฐ์ก็ได้โอบกอดและเยียวยาบาดแผล ความทุกข์บางอย่างของตัวเองเช่นกัน แล้วเราก็กลายเป็นคนใหม่ มีชีวิตที่สดใหม่ มีพลังในการใช้ชีวิต และรู้สึกว่าโลกช่างสว่างไสวงดงาม เมื่อเรารู้สึกว่าได้มอบความรักออกไป เราก็ได้รับรู้ถึงความรักนั้นที่เกิดขึ้นในใจของเราด้วย เป็นกำลังใจให้ถนอมความรักเอาไว้นานๆ ค่ะ

สวัสดีค่ะ  อ่านสิ่งที่พี่เขียนแล้ว นึกหน้าพี่ออกเลยนะคะ ที่เห็นก็ดูใจดี ตลกดี แต่วันนี้พี่ยิ้มสวยขึ้นเพราะพบแล้ว "ความสุขใจ" และจำได้ว่า พี่พูดว่าพี่เห็นความสุขของคนในครอบครัวมาแล้วจากการที่ฟังมากขึ้น ขอให้ความสุขนี้คงอยู่ตลอดไปค่ะ..เหน่ง

สวัสดีค่ะอาจารย์  เทอม  2  ปี  2  อาจารย์มีโครงการดี ๆ  มีสุขสำหรับพวกเรามั๊ยค่ะ 

 

งดงามมากค่ะ

สุ้ย

รู้สึกดีใจ และ อิ่มใจ ไปกับความสุขแบบเรียบง่ายแต่ลึกซึ้งของคุณสุรเชษฐ์ด้วยค่ะ

ขอบคุณทุกท่านมากครับที่เข้ามาอ่านและแสดงความคิดเห็น

คุณช่อผกา วิริยานนท์ นักจัดรายการวิทยุ อสมท.FM 100.5 Mhz จะนำบันทึกนี้ไปอ่านออกอากาศ 4 ทุ่ม คืนวันอาทิตย์ที่ ๒ ธ.ค.50 นี้ อ่านเสร็จแล้วจะสัมภาษณ์สดผมทางโทรศัพท์ออกอากาศด้วย ประเด็นสัมภาษณ์คือ "สภาวะสวยงามนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร"

ผู้ที่เคยมีประสบการณ์คล้ายๆ แบบนี้ คิดว่าสภาวะนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรครับ?

สำหรับประสบการณ์ของตัวเอง สภาวะที่เราหลุดจากปฏิกิริยาอัตโนมัติที่เราเคยชิน(สำหรับคนอย่างโอ๋ก็คงเป็นเรื่องความรู้สึกรำคาญ หงุดหงิด และอาจถึงขั้นโมโหโทษคนอื่นไปเรื่อย) มันเกิดขึ้นเพราะการได้รับความรัก ความเมตตาจากเพื่อนมิตรและคนใกล้ชิดค่ะ ความรักทำให้เราหยุดเพื่อฟังและเมื่อเราเริ่มฟังคนอื่นเราก็เริ่มวางตัวเราเองไว้มุมหนึ่ง ไม่ใช่มีแต่ตัวเราใหญ่คับหัวใจ เมื่อนั้นเราจะพิจารณาเรื่องราวอย่างเป็นจริงมากขึ้น ไม่ใช่เอียงๆ แบบคิดไปเองเช่นทุกครั้ง แต่ถ้าไม่มีเพื่อนมิตรมาช่วย ณ เหตุตรงนั้น ก็สูดลมหายใจลึกๆ ค่ะ เพราะเวลาที่เกิดความขุ่นเคืองในใจ พลังงานของเราจะพุ่งออกไปเพื่อหาเป้าหมายที่เป็นสาเหตุ ซึ่งอาจเป็นปลายสุดของสาเหตุ การสูดลมหายใจลึกๆ ช่วยให้เรากลับมาสำรวจใจเราอย่างเป็นกลางมากขึ้น (กลับเข้ามาสู่สาเหตุแรกๆ ของเรื่องราว) และเมื่อเห็นความหมกมุ่นที่เรากำลังจะกระทำต่อคนอื่นด้วยใจที่สงบมากขึ้น ความหมกมุ่นนั้นก็จะคลายลงค่ะ (การกลับมาหาตัวเองด้วยใจที่เป็นกลาง เป็นการใส่ความเมตตาให้กับตัวเองค่ะ เพราะเวลาที่เราโกรธ โอ๋รู้สึกว่าเราเองช่างไม่เมตตาตัวเองเอาซะเลย) ใจจะเริ่มเปิดออก และด้วยการแลเห็นความเมตตาว่ามีซุกซ่อนอยู่ในใจของเราเช่นกัน การแลเห็นนั้นจะทำให้เราแผ่ขยายมันออกไปโดยไม่รู้ตัว และเราจะเห็นคนรอบข้างเป็นเพื่อนมิตรมากขึ้น ปัญหาที่คิดว่าเป็นปัญหาเมื่อแรกจะพลิกกลับและสลายตัวไปอย่างน่าแปลกใจเชียวค่ะ ไม่น่าเชื่อนะคะแค่ความใส่ใจและดึงตัวเองให้ช้าลงอีกนิด จะเป็นการย้ายฐานของพลังงานมาให้ความใส่ใจกับบางจุดที่เราหลงลืมไป และก็เกิดอะไรใหม่ๆ กับเราได้ ทั้งยังช่วยให้ค้นพบว่าแท้จริงแล้วปัญหาเกือบทุกอย่างเกิดจากใจเราที่เที่ยวไปคาดหวัง หรือแม้แต่กลัวกับบางเรื่องราว เพียงแต่เราจะหันมามองและยอมรับการมีอยู่ของมันได้หรือไม่เท่านั้น ด้วยมิตรภาพค่ะ

ประทับใจในข้อความที่คุณโอ๋เขียนครับ คุณโอ๋หลุดจากปฏิกริยาอัตโนมัติที่แสดงออกอย่างเคยชิน คือ หงุดหงิด ขุ่นเคือง โมโห ได้เพราะได้รับความรักความเมตตาจากเพื่อนมิตร ทำให้ผมคิดว่า ถ้าเราอดทนต่อพฤติกรรมคนอื่น ให้ความรักความเมตตาต่อเขาแล้ว เขาก็จะหลุดออกจากพฤติกรรมที่แสดงออกไปเป็นประจำอย่างอัตโนมัติได้...เป็นอย่างนั้นหรือเปล่าครับ?

 สภาวะสวยงามนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร??

"ความรัก" "การเห็นความรัก" ทำให้ยอม ยอมอะไรสักอย่าง...ที่เคยๆมา

เพื่อหยุดที่จะ "ฟัง"

ยอมทั้งที่ยังไม่รู้ว่าจะได้อะไรพอทำดูก็รู้ว่าได้อะไรจริงๆ ......"ความสุข"  ความงดงามจากภายใน

การฟังอย่างตั้งใจ-ด้วยความรัก-ด้วยหัวใจ มันจะเป็นการอยากฟังอย่างอยากเข้าใจความรู้สึก ความต้องการของคนอื่นอย่างเป็นธรรมชาติ(ไม่กดดัน) แบบที่เค้าเรียกว่าเอาใจเค้ามาใส่ใจเรามั้งคะ

มันคงจะต่างจาก -การคิดว่าต้องตั้งใจฟัง- (ไม่ธรรมชาติ และอาจทำให้เรากดดัน จนถึงรำคาญ)  

 :)

 

ขอขอบพระคุณครับสำหรับบทความ "ความในใจของพ่อฯ" ที่นำมาซึ่งความซาบซึ้ง และความสุข

กระผมคิดว่าคงมีคุณพ่อคุณแม่หรือคนทั่วๆไปอีกมากมายที่เคยให้เวลากับงานจนมองผ่านความละเอียดอ่อนที่อาจารย์ได้สัมผัส

และบทความนี้อาจเป็นกุญแจนำไปสู่ความสุขของคนอีกมากมาย

บางครั้งอยู่ใกล้กันแต่เหมือนเส้นผมบังภูเขา แต่วันนี้ความใกล้ชิดแค่ชั่วเวลาสั้นๆกลับทำให้มองเห็นความสุขที่ยั่งยืน ขอแสดงความยินดีอย่างยิ่งครับ

มีบางส่วนคล้ายกับที่พี่ผึ้งตอบนะคะ คือความรัก ทำให้เกิดการ "หยุด" เพื่อที่จะ "ฟัง" พี่ผึ้งตอบคำถามพี่เชษฐเน้นให้เห็นในแง่การรับฟังคนอื่นนะคะ โอ๋ขอเพิ่มเติมว่า นอกจากหยุดเพื่อจะฟังคนอื่นแล้ว ที่สำคัญกว่าและมาก่อน คือ หยุดเพื่อที่จะฟังเสียงจากข้างในของตัวเองค่ะ อันนี้พูดแบบนามธรรมใช้ได้กับทุกคนนะคะ แต่โอ๋มีตัวอย่างส่วนตัวค่ะ ที่ทำให้ตัวเองหยุดฟังเสียงของตัวเองมากขึ้น และ(พยายาม)หยุดเพื่อฟังเสียงของคนอื่นๆ แบบไม่กดดันจนเกินไป คือ ตั้งแต่โอ๋มีลูกน่ะค่ะ โอ๋และสามีเราเลี้ยงลูกเองค่ะ ทำงานอยู่กับบ้านและเลี้ยงลูกไปด้วย ก็จะได้เห็นขั้นตอนการเติบโตของลูกอย่างใกล้ชิด และลูกนี่เองที่เป็นกระจกสะท้อนให้โอ๋ได้มองย้อนกลับไปถึงวัยเด็กของตัวเอง ได้ทบทวนสายธารของชีวิตตัวเอง แบบมีความรักของแม่ของโอ๋เองเป็นตัวประคอง เพราะเดิมทีเราก็รู้ว่าแม่รักเราแต่มันไม่ซึ้งเข้าไปในหัวใจจนได้มีลูกเอง การทบทวนชีวิตตัวเองแบบยอมรับในหลายเรื่องที่ไม่เคยยอมรับว่าตัวเองมี และเป็นเช่นนั้น ทำให้สะท้อนคิดไปถึงเพื่อนมนุษย์ว่า เราต่างก็เคยเป็นเด็กน้อยด้วยกันทุกคน เราต่างมีเจตจำนงที่จะเป็นคนดี คนน่ารัก เป็นที่รักของผู้คน แต่.... ด้วยหลายเหตุทำให้เราเป็นบางอย่างที่พิกลพิการทางความรู้สึก คิดได้แค่นี้โอ๋ก็ไม่รู้จะโกรธอะไรใครหลายๆ คนได้อีก และพยายามระลึกถึงความรู้สึกนี้ไว้เสมอค่ะ เพื่อหยุดฟังตัวเองอย่างเมตตา และนำไปสู่การหยุดฟังคนอื่นอย่างเมตตาจากเนื้อหัวใจเช่นกัน คิดว่าพี่เชษฐ พี่ผึ้ง หรือคนอื่นๆ ก็คงมีประสบการณ์บางอย่างที่เคยผ่านและทำให้เรายอมหยุดเพื่อฟังตัวเองและคนอื่นได้แบบเป็นธรรมชาติอยู่ในตัวเอง เพียงแต่รอเวลาในการทบทวนถึงเท่านั้นค่ะ อย่าลืมนะคะเมื่อใดที่สายธารของความรักรินล้นจากใจ ในย่างก้าวของการเดินไปสู่การโอบกอดผู้อื่น ระหว่างทางเราก็กำลังได้รับความรักและกำลังโอบกอดตัวเองอยู่เช่นกัน... ด้วยมิตรภาพค่ะ
  • ขอบคุณครับคุณวุฒิชัย ผมก็พบเรื่อง "เส้นผมบังภูเขา" ในชีวิตตัวเองอยู่เรื่อยๆ 
  • ชอบคำของคุณโอ๋จังเลยครับ "พิกลพิการทางความรู้สึก" และการ "ฟังเสียงจากข้างในของตัวเอง"
  • ได้แนวคิดจากผึ้งว่า การ "ตั้งใจฟัง" กับ "(เอาใจเขา)ใส่ใจ(เรา)ฟัง" นั้นต่างกัน อย่างแรก ตั้งใจมากไปอาจคุกคามคนพูด อย่างหลังจะฟังได้อย่างธรรมชาติ ผ่อนคลาย สบายๆ สุข และสงบกว่า

 

ไม่แน่ใจว่า พูดได้ไหมว่า นี่คือพลังของนพลักษณ์หรือเอ็นเนียแกรมในการหยุดยั้งอีโกที่ยิ่งใหญ่ของตัวเรา แล้วมาอยู่กับความตระหนักรู้ตนเองตามความจริง

ขอชื่นชมและยินดียิ่งครับ

  • สวัสดีค่ะ อาจารย์..

อ่านบันทึกนี้แล้วน้ำตาซึมเพราะคิดถึงพ่อค่ะ   หลายๆ ครั้งกับกิจกรรมที่ได้ทำร่วมกันมาในอดีต    ทำไมก็ไม่รู้ที่ช่วงวันเวลานั้นในความทรงจำกลับขาดหายไปเสียเฉยๆ    ที่หลงเหลืออยู่บ้างก็คือความรู้สึกบางอย่าง และภาพบางภาพ    ยังจำได้ว่าตัวเองชอบไปไหนโดยจับชายเสื้อของพ่อไว้เกือบตลอดเวลา   จำรอยยิ้มตลอดจนแววตา

ได้แต่คิดว่า..อยากจะย้อนวันเวลากลับไปซึมซับเอาช่วงวันเวลาแห่งความสุขนี้ไว้ให้เนิ่นนาน   แต่เราก็ย้อนกลับไปแก้ไขบริบทใดๆ ไม่ได้ 

ขอบพระคุณอาจารย์ค่ะ ^_^

http://gotoknow.org/blog/naepalee/135431

  • ตามมาชื่นชมความผูกพันในครอบครัวค่ะ
  • อยากให้ทุกครอบครัวเป็นแบบนี้บ้างค่ะ

ขอชื่นชมด้วยอีกคนค่ะ..อาจารย์

ความสุขมันอยู่ใกล้เราเสียจนเราลืมที่จะมองไปจริงๆ..

เป้นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับทุกๆคนมากเลยค่ะ..

ขอบคุณมากค่ะ..

การเปิดใจเช่นนี้ คือ การเกิดขึ้นของสำนึกที่ท่วมท้น ท้นจนตกผลึกทางความรู้สึกในสิ่งที่ควรจะทำที่ดีกว่า 

ยอดเยี่ยม และคงเป็นสภาพเดียวกันกับอีกหลายๆท่านแต่ยังไม่มีโอกาสได้เกิดปรากฏการณ์นี้ครับ  นี่เอาใจมาเขียนกันเลยนะครับ

คงยังไม่สายเกินไปใช้ไหมคะ เป็นความรู้สึกที่ละเอียดอ่อน มาจากจิตใต้สำนึก ใครที่ยังไม่มีลูกอาจสัมผัสกับสิ่งนี้ได้ยาก ลูกสาวหนู9ขวบปีนี้ค่ะ เขาน่ารักตลอดเวลาโดยเฉพาะเวลานอนหลับ ไม่มีคืนไหนที่แม่จะไม่หอมแก้มและกอดลูก ไม่รู้ว่าพอโตเป็นสาวเขาจะยอมใหเราหอมให้เรากอดหรือเปล่า "ดวงใจแม่"

ไม่เคยรู้จักอาจารย์นะครับ แต่รู้สึกชอบอ่านมาก บางทีเรื่องราวชีวิตของคนเราอาจลืมบางอย่างที่อยู่ไกล้ๆตัวเรา ทำให้ผมคิดถึงพ่อของตัวเองครับ

ประภาศรี บุญเลี้ยง

ชอบอ่านค่ะ ได้ประโยชน์และข้อคิดมากมายเลยค่ะอาจารย์ วันเสาร์อาทิตย์ที่ไม่ได้เรียนหนูก้คงอยู่บ้านให้เวลาครอบครัวเหมือนกันค่ะ เพราะหนูเรียนด้วยทำงานด้วยทั้งสามีและลูกก็จะบ่นว่าหนูไม่อยู่บ้านไม่มีเวลาให้ครอบครัวเลย ห่างเหินบางวันแทบไม่เห็นหน้ากันเลยค่ะอาจารย์

ขอให้คุณประภาศรี บุญเลี้ยง ได้พบกับชีวิตที่สมดุลย์และมีความสุขครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท