ผ้าเมืองน่าน จากจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์


ภาพวาดฝาผนังในพระวิหารแตกต่างไปจากวิหารอื่นๆ เนื่องจากบอกเล่าวิถีชีวิตของผู้คน และการแต่งกายก็วาดตามแบบพื้นเมือง คติโดยทั่วไปเป็นตามแบบชาวไทลื้อ

   หลังจากเขียนบันทึก ผ้าเมืองน่าน จากจิตรกรรมฝาผนังวัดหนองบัว แล้ว ก็ตั้งใจจะเล่าเรื่องภาพวาดในวัดภูมินทร์ต่อ แต่ก็ยังติดขัดอยู่ ทั้งๆ ที่โหลดภาพเอามาไว้แล้ว วันนี้จึงได้เล่าเรื่องผ้าในภาพวาดฝาผนังวัดภูมินทร์ต่อครับ

    วัดภูมินทร์เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่ง อยู่ในตัวเมืองน่าน สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2139 มีลักษณะเด่นเห็นได้ชัด คือ พระอุโบสถมีบันไดนาคด้านหน้าและด้านหลัง ทำให้ดูเหมือนพญานาคสองตัวเลื้อยขนาบอยู่ ทางสถาปัตยกรรมถือว่าเป็นพระอุโบสถและพระวิหารในหลังเดียวกัน เป็นรูปสี่เหลี่ยม เรียกว่าทรงจตุรมุข มีจั่วสี่ด้าน เหมือนกับไม่มีด้านใดเป็นด้านหน้า ด้านหลัง

   ภายในยังมีพระประธานปางมารวิชัย 4 องค์ หันหลังชนกัน ปัจจุบันมีการสร้างองค์พระจำลองให้ปิดทอง วัดนี้เคยมีรูปอยู่บนธนบัตรใบละ 1 บาท ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 

ฮูปแต้มไทลื้อ

   จิตรกรรมฝาผนังในพระวิหารมีลักษณะแปลกแตกต่างไปจากวิหารอื่นๆ เนื่องจากบอกเล่าวิถีชีวิตของผู้คน ไม่ใช่เล่าเฉพาะเรื่องชาดก และการแต่งกายก็วาดตามแบบพื้นเมือง ไม่ได้วาดอย่างตัวละคร คติโดยทั่วไปเป็นตามแบบชาวไทลื้อ มีการอยู่ข่วงที่พ่อแม่ให้หนุ่มสาวได้พบกันในช่วงที่ปั่นฝ้ายที่ชานบ้าน

   ผู้เขียนภาพฝาผนังในวัดภูมินทร์นั้นเป็นคนเดียวกับที่เขียนภาพในวัดหนองบัว นั่นคือ หนานบัวผัน เป็นชาวไทลื้อ เขียนขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2410-2431 จึงไม่น่าแปลกใจที่ภาพฝาผนังทั้งสองวัดจึงมีคติไปทางเดียวกัน และฝีมือก็เทียบเคียงกันได้ ทั้งนี้มีภาพร่างในปั๊บสา (สมุดไทย) ที่วัดหนองบัวด้วย

ผ้าทอในฮูปแต้ม

   ขอใช้คำว่าฮูปแต้ม จะได้บรรยากาศพื้นเมือง อย่างไรก็ตาม คำว่า "จิตรกรรมฝาผนัง" คงจะทับมาจากคำว่า mural ในภาษาอังกฤษ ซึ่งใช้กันติดปากทั่วไป

   ภาพในพระวิหาร (หรือจะเรียก พระอุโบสถ ก็ได้) วัดภูมินทร์ คงจะรู้จักกันดีมาช้านาน ทั้งนี้มีกล่าวถึงใน "นิราศเมืองหลวงพระบาง" ของนายร้อยเอก หลวงทวยหาญรักษา (เพิ่ม) ที่แต่งขึ้นเมื่อคราวไปปราบฮ่อที่หลวงพระบาง เมื่อ ร.ศ. 104 (พ.ศ. 2428) ท่านได้กล่าวถึงวัด และภาพฝาผนัง ไว้ดังนี้ (สะกดตามต้นฉบับ)

...เห็นวัดหนึ่งจึ่งพินิจพิศวง 

 ดูมั่นคงขอบโขดโบสวิหาร

กำแพงแก้วแถวกั้นเปนชั้นชาน 

แลละลานเอกสำอางกลางนคร 

บรรไดนาคหลากล้ำทำสดุ้ง 

เปนคันคุ้งคดคู่เชิดชูหงอน 

เกล็ดระบายลายขนดดูชดชอน 

 ดังนาคนอนแนบทางข้างบรรได

เข้าในโบถบงพระพุทธวิสิทธิ์ศรี  

อัญชลีลานจิตต์พิศมัย 

ยลรูปเขียนเพี้ยนภาพให้ปลาบใจ  

ยักษ์อะไรนุ่งสิ้นจินตะนา... 

    ครับ กวีคงจะแปลกใจ แต่ในภาพฝาผนัง ช่างวาดได้วาดรูปยักษ์นุ่งผ้าซิ่นเอาไว้จริงๆ เสียดายที่ไม่ได้นำภาพมาฝาก แต่ผมเคยถ่ายวิดีโอเอาไว้ จะมีโอกาสได้นำมาถ่ายทอดหรือเปล่า ขอตรวจสอบอีกที

   มาดูภาพกันเลยครับ

   ภาพแรก เป็นจิตรกรรมฝาผนังด้านตะวันออก มีหญิงสาวนุ่งผ้าซิ่นกันหลายคน ตัวซิ่นเป็นลายน้ำไหลแบบโบราณ คือทอเป็นแถบคั่น มีลายเป็นเส้นคล้ายเส้นประอยู่ตรงกลาง ตีนซิ่นสีแดงดำ มีหางสะเปาเห็นชัดลากลงไปจนสุดชายซิ่น (คำว่า ชาย ก็เหมือน ตีน, แต่ศัพท์ทอผ้า นิยมเรียก ลายชายผ้า ว่า ตีน ส่วนคำว่า ชายผ้า ก็คือ สุดริมผ้า) สาวคนที่สอง ด้านขวา ตีนซิ่นไม่มีลายอย่างคนอื่น ไม่ทราบว่าเป็นอะไร

   ช่างได้วาดชายพกที่เอวเอาไว้เห็นชัด ดูสวยงาม สังเกตให้ดี ขอบเอวเป็นสีแดง เรียกว่าหัวซิ่น เป็นส่วนที่ไม่มีลวดลาย ช่างวาดได้อย่างประณีต เก็บรายละเอียดอย่างดี

   สาวคนแรกในกลุ่มด้านขวา มีลายจกอยู่ตรงกลางซิ่น ส่วนสาวคนสุดท้าย ตรงลายน้ำไหลเน้นสีดำ ต่างกับคนอื่นที่เป็นสีแดง ไม่ได้มีความหมายพิเศษ แต่แสดงถึงความหลากหลายและความพิถีพิถันของคนวาด

   หญิงสาวทั้งหมดเจาะหูใหญ่ ใส่ม้วนทอง เกล้ามวยด้วย


   ภาพที่สอง (ซ้าย) หญิงสาวเปลือยอก มีผ้าคลุมไหล่ กำลังรัดเกล้า นุ่งผ้าอย่างในรูปก่อนนี้

   ภาพที่สาม (ขวา) เป็นภาพที่นักวิจารณ์ศิลปะนิยมกล่าวถึง แถมยังตั้งชื่อว่า “กระซิบ” อีกแน่ะ เป็นภาพชายหนุ่ม สักขาลายพร้อย พรอดรักกับหญิงสาว สาวคนนี้สวมเสื้อ ดูดี มีราคา นุ่งซิ่นคล้ายลายลูกคลื่น ไม่กล้าระบุ ว่าเป็นลายน้ำไหล หรือผ้าลุนตยาอย่างของพม่า


   ภาพที่สี่ (ซ้าย) ภาพบนฝาผนังด้านทิศตะวันตก ชายหนุ่มสักจนขาลาย นุ่งผ้าเตี่ยว ปิดเฉพาะส่วน เน้นลายสักจนหนุ่มสมัยนี้ต้องอาย ส่วยหญิงข้างหลังสวมเสื้อ ขนของโดยมีเชือกรั้งไว้กับหน้าผาก ผ้านุ่งดูไม่ชัด แต่มีลวดลายเต็มผืนเช่นกัน

   ภาพที่ห้า (ขวา) ภาพบนฝาผนังด้านทิศเหนือ หญิงกำลังหาบของ สวมเสื้อแขนยาว นุ่งผ้าซิ่นลายน้ำไหลแบบเดียวกับในภาพอื่นๆ


   ภาพที่หก เป็นชาวกะเหรี่ยง ชัดเจนทั้งลายผ้าและสีสัน (มีตัวเมืองเขียนไว้ว่า "ยาง" ซึ่งหมายถึงกะเหรี่ยงนั่นเอง) ซึ่งยังมีอยู่ในปัจจุบันนี้ ในหมู่ชาวกะเหรี่ยง ทอด้วยกี่เอว เป็นผ้าแคบ สองผืนเย็บต่อด้านข้างเข้าด้วยกัน เว้นส่วนหัว และส่วนแขนเอาไว้ เป็นเสื้อไม่มีแขน ไม่มีคอ พบได้ในภาพจิตรกรรมฝาผนังในระเบียงภาพที่นครวัดด้วย


   ภาพสุดท้าย หญิงสาวสองคน คนหนึ่งกำลังทอผ้า อีกคนเข้ามาพูดคุย สังเกตกี่ทอมีคานเหยียบหลายอัน ต้องเป็นผ้าลายหลายตะกอ ส่วนตัวผ้า เป็นผ้าหน้าแคบ (ฟืมแคบ) มีกระสวยปลายงอนวางอยู่ด้านขวา ในตะกร้าคงจะมีด้ายหลากสีสำหรับใส่กระสวยอีกที ด้านขวามือมีสองหนุ่มกำลังจะเข้ามาจีบ

 

   ภาพในวัดภูมินทร์ยังมีอีกมาก บางส่วนอาจจะมืดไปสักหน่อย ช่วงที่ผมไปคราวนั้นได้ขออนุญาตฉายไฟ เพื่อถ่ายทำวิดีโอ แต่ภาพที่นำมาเสนอนี้ นำมาจากหนังสืออ้างอิงข้างล่าง ซึ่งถ่ายโดยกรมศิลปากร ถูกต้องและชัดเจน หากท่านสนใจชมภาพเป็นพิเศษ ให้ติดต่อกับทางวัดนะครับ จะได้รายละเอียดมากกว่านี้แน่นอน

 

อ้างอิง

  • ภาพจิตรกรรมฝาผนัง และ นิราศเมืองหลวงพระบาง อ้างอิงจาก หนังสือ เมืองน่าน Muang Nan หนังสือนำชมในวโรกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน จังหวัดน่าน วันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2530 กรมศิลปากร จัดพิมพ์

  • อ่านเพิ่มเติมเรื่องประวัติของภาพฝาผนังวัดภูมินทร์ และวัดหนองบัว ได้จาก http://www.nanartgallery.com/artist_hnanbuwpan01.html

  • ภาพวัดภูมินทร์ จาก http://www.hunsatour.com/NORT/nan/nan28.php

  • ดูภาพเพิ่มเติม ที่ http://www.thai-tour.com/thai-tour/North/Nan/data/place/pictures_watphumin.htm

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 145894เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2007 19:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (48)
  • สวัสดีครับคุณธวัชชัย
  • คนโบราณผู้เฒ่าผู้แก่ท่านถ่ายทอดไว้ดีมากเลยครับ
  • มองภาพพร้อมอ่านคำบรรยายเข้าใจถึงวีถีความเป็นอยู่ของผู้คนสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี
  • ทึ่ง ภาพที่มีชนเผ่ากระเหรี่ยงครับ
  • แสดงว่าชนเผ่านี้เข้ามาอาศัยหรือมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวล้านนามานานมากแล้วนะครับ
  • ผู้ชายไทยสมัยก่อน โดยเฉพาะหนุ่มล้านนานิยมสักลาย
  • ได้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลินตลอดจนจินตนาการ
  • ขอบคุณมากครับ
  • สวัสดีค่ะ
  • ตอนเด็ก เคยเห็นตาข้างบ้าน
  • แก่มากแล้ว แกสักทั้งตัว
  • ยายกาแฟ เคยกลัวจนร้องให้
  • เวลาแก้ผ้าดูแทบไม่ออกเลยค่ะ
  • ส่วนภาพเขียน แปลกใจที่เห็นผู้ชายกะเหรี่ยง
  • ใส่เสื้อยาวเลยเข่า
  • เพราะเท่าที่เห็นปัจจุบัน
  • เสื้อกะเหรี่ยงแทบจะเป็นเอวลอย
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ อ.บัวชูฝัก


ภาพจิตรกรรมเหล่านี้เป็นบันทึกที่ถาวรและสวยงามด้วยครับ

คนไปเมืองน่านมักจะนึกถึงพระธาตุแช่แห้ง

ลืมนึกถึงวัดภูมินทร์ไปเลย

ความจริงก็อยู่ไม่ไกลพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน

ไปเมืองน่าน ลองแวะไปชมนะครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ คุณกาแฟ (เปลี่ยนชื่อตั้งแต่เมื่อไหร่เนี่ย)


ภาพกะเหรี่ยงดูแปลกอย่างที่ว่า คือยาวไปหน่อย คุ้นตากับภาพชายกะเหรี่ยงใส่เสื้อแดง, ลายขาวแดงแบบนี้จะเป็นสาวกะเหรี่ยงมากกว่า

แต่สมัยก่อนจะเป็นยังไงก็ไม่ทราบ เพราะเสื้อผ้าที่ตัดเย็บคงยังไม่แพร่หลาย

ในภาพชายยังนุ่งเตี่ยว หญิงก็นุ่งซิ่น ผ้าผืนเดียวเหมือนกัน อาจจะปล่อยยาวแบบนั้นก็เป็นได้ครับ

ไปแอบดูในเว็บไซต์ http://karen.org/ เขาเรียกผ้าแบบนี้ว่า Hse สวมทั้งชายและหญิง เป็นผ้าฝ้าย ไม่มีลวดลายอะไร

น่าสนใจศึกษาต่อครับ

ขอบคุณสำหรับประเด็น (ได้ไอเดียอีกแล้วววว)

  • ความเหมือนที่แตกต่าง ความแตกต่างที่งดงาม
  • วัดนี้ต้องไปให้ได้สักครา
  • ขอบพระคุณอาจารย์มากครับ

อ่านแล้วทำให้อยากไปเห็นของจริงเพราะบรรยายได้ดี มีเรื่องราว แต่ภาพมองไม่ชัด ต้องไปส่องดูเองนะคะ

พี่ไม่รู้เป็นอย่างไร เห็นภาพคนโบราณนุ่งซิ่นทอมือแล้วมีความสุข เหมือนเป็นคนได้สวมผ้านั้นเอง หยิบผ้าทุกผืน แต่ละผืนที่มีขึ้นมานุ่งครั้งใดนึกถึงคนทำผ้า คนทอผ้าทุกครั้งเลยค่ะ รู้สึกภูมิใจที่นุ่งห่มสิ่งที่บ่งบอกความเป็นชาติ มีเอกลักษณ์อันงดงาม

สวัสดีครับ P คุณออต

  • ต้องไปให้ได้เชียวครับ ทั้งวัดหนองบัว และวัดภูมินทร์
  • ความจริงแล้ว มีวัดอื่นๆ เหมือนกันที่มีภาพผ้าชาวบ้าน
  • ไว้มีโอกาสคงได้มาเล่าสู่กันฟัง
  • แลกเปลี่ยนกันครับ
  • ผมเคยไปดูผ้าพระบฏที่วัดในร้อยเอ็ด จำชื่อไม่ได้ ขอเวลาไปค้นก่อนครับ
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ P คุณพี่คุณนายดอกเตอร์

  • เป็นอย่างที่คุณพี่ว่าครับ ต้องไปส่องดูใกล้ๆ มีเวลาเยอะๆ หน่อยจะได้สบายใจ อย่าลืมดูภาพยักษ์นุ่งซิ่นนะครับ ;)
  • วันก่อนนั่งรถผ่านแล้วแบงค์ชาติ มีผู้หญิงนุ่งซิ่นสวยๆ กันหลายคน ดูดีกว่ากระโปรงอีก เขาเลือกเสื้อได้เข้ากันด้วย เลยดูสง่าดีด้วยครับ
  • ขอบคุณมากครับที่แวะมาพูดคุย

 

  • สวัสดีค่ะ
  • มาชมภาพจิตรกรรมฝาผนัง
  • ที่บอกเรื่องราวการดำเนินชวิตสมัยก่อนได้เป็นอย่างดี
  • อยากจะเห็นใกล้ ๆ ชัด ๆ มองความงาม มองรายละเอียด
  • คงมีความสุข  ถ้ามีโอกาสผ่านไปคงต้องแวะดู
  • ขอบคุณค่ะที่นำมาให้ชม

ภาพสวยม๊ากมากเลย

เสียดาย...มันค่อนข้างเลือนลาง(บางรูป)

แต่สวยจริงๆ

คนวาดเก่งจังเลย

อยากลองวาดมั่งง่ะ

สวัสดีครับ P คุณRAK-NA

  • ภาพเล่าเรื่องและประวัติศาสตร์ครับได้ดีครับ ดูเพลินก็ได้ ดูแบบศิลปะก็ได้
  • ศิลปะในวัดปัจจุบันไม่ได้อาศัยการลงแรงแบบแต่ก่อน ฝีมือจึงอาจจะถอดแบบเดียวกัน อย่างลวดลายไทยตามเสาต่างๆ ไม่ใช่งานมือ แต่เป็นงานปั๊ม
  • กระหนกกระจัง ออกมาเป๊ะๆ ดูขาดชีวิตชีวาไปมา แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของศิลปะยุคปัจจุบันครับ ;)

สวัสดีค่ะอาจารย์ธวัชชัย

  • ต่อไปคงไม่แค่..แอบอ่านบันทึกนี้แล้วนะค่ะ    ขอมาแบบเปิดเผยซะที.....
  • ศิลปะ  ความสวยงามที่ปรากฏ  เป็นคุณค่าทางด้านจิตใจด้วยค่ะ
  • นานาจิตนะค่ะ    ความชอบของคนเราไม่เหมือนกัน  เห็นอาจารย์ชอบความเป็นไทยแล้วปลื้มค่ะ......
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ อาจารย์ธวัชชัย

  • ก่อนอื่นขอชื่นชมอาจารย์ด้วยครับ ดีใจที่ทราบว่าเป็นพี่ช้าง มช. หลายๆท่านเป็นนักเขียน นักแปล ครับ
  • ผมเองเป็นคนล้านนาและชีวิตก็ผูกพันกับวิถีวัฒนธรรม หลากหลาย (โญน ญอง ไต  ญาง  และกลุ่มชาติพันธุ์อื่น) ซึมซับไป แต่ไม่ได้เรียนรู้เชิงลึกเท่าไหร่ แต่ผมพยายามเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้ในฐานะคนทำงานกับชุมชน
  • "วัฒนธรรม" เป็นประเด็นเย็นที่ผมใช้ร้อยรัดคนเข้าด้วยกัน หากพื้นที่ไหนร้อนด้วยความขัดเเย้งเราพบว่า การใช้วัฒนธรรมเดินนำ เป้นการแก้ไขปัญหาได้ดี
  • ที่"เมืองปาย" มี ๗ กลุ่มชาติพันธุ์ ถือว่าหลากหลายมาก เราได้ใช้ "วัฒนธรรม" นำการขับเคลื่อนด้วยครับ
  • ในโอกาสต่อไป ต้องขอปรึกษา ขอเรียนรู้ประเด้นนี้ด้วยครับ
  • ภาพเขียนวัดภูมินทร์มีเสน่ห์มากครับ เห็นในสื่อมากมาย ผมเคยเอามาเป็นแบบวาดสีน้ำมันครั้งหนึ่ง สวยไม่เบาครับ (ชมตัวเอง)
  • เป็นบันทึกที่มีคุณค่ามากครับ ขอบคุณมากครับ

 

  • ตามมาขอบคุณ
  • ภาพสวยมากๆๆ
  • สมัยก่อนนี้ไปจีบชุดนี้เลยเนอะ
  •  

สวัสดีครับ คุณหญ้าบัว

อ้าว แอบอ่านเหรอเนี่ย อิๆ

ชอบศิลปะ ครับ แต่ทำงานศิลปะไม่เป็น

ขอบคุณนะครับที่แวะมาทักทาย ลงมือลงไม้ เอ้ย ลงลายมือไว้เป็นหลักฐาน ผู้ร่วมก่อการทั้งนั้นเลยเนี่ย ;)

สวัสดีครับ น้องเอก


ยินดีที่ได้รู้จักอย่างเป็นทางการอีกครั้งครับ ฐานะรุ่นพี่รุ่นน้อง แล้วก็ขอบคุณที่แวะมาทักทายครับ

อยู่เชียงใหม่แค่ไม่นาน แต่ซึมซับวัฒนธรรมได้บ้าง เข้าหอสมุดครั้งหนึ่งนานมากครับ ถ้าว่างก็อยู่ถึงปิดโน่นแหละ หัดเขียนตัวเมือง แต่ไม่ได้หัดพูด มีเพื่อนชาวญอง ก็ได้กลิ่นอายติดตัวบ้าง นิดหน่อยๆ เผอิญว่าตอนนั้นเรียนสายวิทย์ ไม่มีเวลาได้ศึกษาลึกด้านศิลปะวัฒนธรรม

ภาพวัดภูมินทร์ถือเป็นแบบของภาพฝาผนังล้านนาแบบหนึ่งเลยนะครับ ถ้าสะดวก นำภาพวาดมาอวดกันบ้างครับ มีคนรอชมอยู่เยอะเลย

คงได้มีโอกาสไปเมืองปายสักครั้ง อาจต้องขอแรงช่วยเป็นไกด์ครับ ;)

สวัสดี อีกรอบครับ อ.ขจิต


ชุดแอ่วสาวแบบนี้ คงจะเปรี้ยวน่าดูละครับ สมัยนั้น

ลองแต่งบ้างไหมล่ะครับ อิๆๆ

   สวัสดีคะอาจารย์ธวัชชัย ภาพสวยอย่างนี้หาดูได้ยากมาก ขอบคุณคะที่สรรหาสิ่งดี ๆ มาให้ดูคะ เที่ยวทั่วไทย ไม่ไปไม่รู้คะ ถ้ามีโอกาสคงได้ไปเยี่ยมชมด้วยตาตนเองคะ
  • ตามมาสวัสดีวันลอยกระทงค่ะ
  • ลอยด้วยใจก็ได้ค่ะ
  • เป็นการขอบคุณและขออภัยแม่น้ำ
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ..ครู

>กำลังเข้าเยี่ยมชมบ้านครูหลังนี้เป็นครั้งแรกค่ะ..ทึ่งครูมาก..ครูเก่งตั้งหลายอย่างเลยนะคะ..ชอบที่ครูชอบของไทย ๆ..ชอบวิธีการนำเสนอของครูค่ะ..ครูมีความละเอียดอ่อนในการนำเสนองาน..ยกนิ้วให้ค่ะ

ได้รู้จักครูเพิ่มอีกตั้งหลายเรื่อง..ขอบคุณ gotoknow ที่เปิดโลกกว้างให้..

  • สวัสดีครับ
  • ผมยังอยากจะยืนยันอีกครั้งว่า  ในทุกครั้งที่เข้ามาอ่านบันทึก   จะรู้สึกเหมือนว่ากำลังได้อ่านสารคดีจากนักเขียนสารคดีนั่นเอง
  • ....
  • จากประสบการณ์ที่เคยเห็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง (ที่ไม่มากมายนัก)  ภาพรวมที่เห็นตรงกันก็คือการจารึกเรื่องราวที่เป็นวิถีชีวิตของผู้คนในทางวัฒนธรรมประเพณี  ความเป็นอยู่ ความเชื่อ  และวิถีทางศาสนา
  • แต่พอได้อ่านบันทึกนี้กลับได้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องของ "ผ้า"  หรือการแต่งกาย ...และที่สำคัญที่ดูเหมือนจะขาดไม่ได้เลยในเกือบทุกภูมิภาคนั่นก็คือ ...ภาพชีวิตการ "แอ่วสาว"  ถ้าเป็นอีสานก็อาจจะมีภาพเข็นฝ้าย  (หรือเปล่าก็ไม่รู้)
  • ขอบคุณครับ...

สวัสดีครับ P คุณSusu

  • ภาพจิตรกรรมฝาผนังของเก่าเหลือน้อยเต็มที ยกเว้นแต่มีการบูรณะ แต่การบูรณะก็ทำได้ไม่ง่าย ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ และงานใหญ่จริงๆ ต้องใช้งบประมาณ
  • หนังสือรวบรวมภาพฝาผนังพอจะมีอยู่ แต่ราคาค่อนข้างสูง และหาซื้อยาก การกระจายความรู้คงจะเป็นไปอย่างเชื่องช้า หากเรายังต้องหาซื้อหนังสือด้วยราคาแพงๆ เรามีพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเล่มปกแข็ง กระดาษหนาเป็นพิเศษ ราคาถึง 600 บาท ทั้งๆ ที่ควรจะจัดพิมพ์ให้มีราคาย่อมเยากว่านี้ได้
  • เราๆ ท่านๆ คงต้องช่วยกันเผยแพร่ความรู้เหล่านี้เมื่อมีโอกาสครับ
  • ขอบคุณที่แวะมาเยือนครับ ;)

สวัสดีครับ P คุณRAK-NA

  • เอารูปเด็กที่ไหนมาครับ น่ารักเชียว
  • ลอยกระทงได้ลอยใจด้วย ดีจัง หรือจะลอยตัวตามไปด้วย ก็สนุกดี อิๆๆ
  • ขอบคุณครับที่มาชวน

สวัสดีครับ P  อ.วัชราภรณ์ วัตรสุข

  • อ้าว อาจารย์เข้าระบบได้แล้ว คงมีเมนูขึ้น จะได้ไม่ต้องปวดหัวรับโค้ด html อีก
  • ขอบคุณสำหรับคำชมครับ ผมไม่ได้คลุกวงในงานนี้จริงๆ เผอิญได้เข้ามาเกี่ยวข้องและชอบโดยอัตโนมัติ ผู้รู้ท่านใดเห็นที่ผิดพลาด บกพร่อง เชิญชี้แนะด้วยครับ

สวัสดีค่ะP

เคยไปน่าน แต่ไม่เคยไปที่นี่ค่ะ

ลองไปดูที่นี่ค่ะ ช่างภาพถ่ายภาพวิถีคนไทยในปัจจุบันทุกภาค ไว้มากๆ ทำให้ทราบว่า คนไทยยังชอบการสักอยู่ และมีภาพมรดกศิลป์มากมายค่ะ

  • สวัสดีครับ P อ. แผ่นดิน
  • เราได้เห็นศิลปะส่วนใหญ่ในอดีตก็จากวัดครับ ทั้งจิตรกรรม คือภาพฝาผนัง ประติมากรรม คือรูปปั้น รูปหล่อพระพุทธปฏิมา รวมถึงสถาปัตยกรรม งานก่อสร้างพระอุโบสถพระวิหาร กระทั่งสถูปเจดีย์ และยังมีงานศิลปะที่ประณีตอีกมาก เพราะเราทำงานศิลปะอย่างสุดฝีมือ ด้วยศรัทธา ถวายเป็นพุทธบูชา เมื่อเข้าวัดเก่าๆ จึงได้แลเห็นศรัทธาของผู้คนทั้งหลายรวมอยู่ในนั้น
  • ภาพหนึ่งๆ บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตที่เขาต้องการถ่ายทอด ในวัดโดยมากจะมีภาพพุทธประวัติ ชาดก และหลายวัดมักจะมีภาพวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น และคงยังมีนัยอื่นๆ อีกมากครับ ภาพแอ่วสาว ก็เป็นฉากหนึ่งที่เห็นได้บ่อยๆ ครับ ;)
  • หวังว่าอาจารย์สบายดีนะครับ เห็นวันก่อนบอกว่าไม่ค่อยสบาย ขอบคุณมากครับที่แวะมาเยี่ยม รักษาสุขภาพนะครับ ดูท่าทางจะงานรัดตัวไม่น้อยเลย
  • ขอบคุณที่มาเยี่ยมครับ :)

สุดยอดครับ  อาจารย์ธวัชชัย  การอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย  แบบนี้เป็นสิ่งดีอย่างมาก  ผมไปที่นี่มาแทบทุกปี  เหล่าคนไทยต้องขอบคุณ  คนเมืองน่านนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อนุรักษ์ไว้  และเป็นวัดที่มีรูปอยู่ในธนบัตรไทยด้วย  อันที่จริงยังมีอีกหลายสิ่งมากมายที่คงเอาไว้  มีโอกาสจะนำเฮฮาศาสตร์ไปดูสักหน่อย

เหตุที่รักษาของเก่าเอาไว้มากเพราะเป็นเมืองพี่น้องกับหลวงพระบาง  และยังมีลักษณะที่ตั้งเมืองตามภูมิรัฐศาสตร์  ที่ศัตรูมาทำลายยาก  เป็นอย่างไรคงเอาไว้เล่าให้ฟังต่อไป  เฉกเช่นอยุธยาที่ได้รับมรดกโลกเพราะอะไรไปถามหาคนรู้ยากบอกแต่เป็นเมืองเก่ามันไม่ใช่  แถมเขาจะปลดออกเพราะไปบุกรุกมากโวยวายกันใหญ่  โทษคนไปทั่วยกเว้น  ตัวเอง  กรรม

            สุดยอดครับ  ภาพเก่าโบราณ หายาก  ผมเองโดยส่วนตัวเป็นคนที่ชอบงานศิลป์  ทั้งด้าน จิตกรรมฝาผนัง  งานปั้น  หรือดนตรี  เห็นอย่างนี้แล้ว  อยากบอกว่าน่าชื่นชมที่ยังมีคนเห็นความสำคัญสมบัติของแผ่นดินไทยเราครับ  (ปลื้มใจ) อยากให้มีคนแบบอาจารย์มากๆ ครับ เพื่อให้ของพวกนี้จะได้คงอยู่คู่แผ่นดินไทยเรานานๆ ลูกหลานจะได้มีไว้ดูครับผม

สวัสดีครับ P อาจารย์ลุงเอก

  • ก็ต้องขอบพระคุณอาจารย์มากๆ ที่ช่วยสนับสนุนและให้กำลังใจตั้งแต่แรก
  • จะว่าไปแล้ววัดภูมินทร์นับว่าโชคดีพอสมควร เพราะไม่ค่อยจะมีนักท่องเที่ยวแออัดอย่างวัดใหญ่ๆ หลายๆ วัน การชำรุดทรุดโทรมย่อมจะน้อยกว่า แต่ก็ทำให้หลายท่านเสียโอกาสได้รู้จักหลายสิ่งที่ดีงาม
  • ผมเคยไปที่อยุธยา วันหยุดแทบจะไม่มีที่เข้ายืนไว้พระในโบสถ (อย่าว่าแต่ที่นั่งเลย) คนไปน่าน ที่แรกมักจะไปไหว้พระธาตุก่อน แล้วก็อาจจะลืมวัดภูมินทร์ไป
  • ถ้าอาจารย์พาสมัครพรรคพวกไปชมวัดนี้ก็น่ายินดีมากๆ ครับ แล้วมาบอกข่าวให้ทราบกันด้วยจะเป็นพระคุณอย่างยิ่งครับ

สวัสดีครับ P อาจารย์บรรเจิด

  • ขอบคุณมากครับที่แวะมาเยี่ยม
  • ศิลปะเก่าๆ ค่อยๆ หายไปครับ ถ้าได้บันทึกเอาไว้บ้าง ก็พอจะมีบอกเล่าต่อๆ กันไป
  • มีศิลปะสวยๆ งามๆ เมืองสุพรรณ นำมาบอกเล่าสู่กันฟังบ้างสิครับ คงมีเรื่องน่าสนใจเยอะ
  • ขอบคุณมากครับ ;)

สวัสดีครับ P  คุณพี่sasinanda

แวะไปดูมาแล้วครับ ;) ขอบคุณมากครับ ที่นำสิ่งดีๆ มาบอกกล่าวเล่าขานกันอยู่เสมอๆ วิถีชีวิตไทยเปลี่ยนไป ตามยุคตามสมัย แต่การบันทึกมีอยู่น้อย เรามีตัวหนังสือที่หาอ่านได้ย้อนไปเพียงสุโขทัยเท่านั้นเอง เก่ากว่านั้นก็กะพร่องกะแพร่งเต็มที นักวิชาการคงพยายามต่อจิ๊กซอว์ตรงนี้อยู่

ความทรงจำและบันทึกในศิลปะแขนงต่างๆ ช่วยให้เราทราบความเป็นอยู่ในอดีตได้เป็นอย่างดี ถ้าศิลปะโบราณเหล่านี้หายไป ก็คงไม่มีอะไรให้ศึกษาอีกแล้ว :)

คือสนใจอยากจะไปเที่ยววัดภูมินทร์นะค่ะ..ก็เลยอยากจะรบกวนถามนิดนึงว่าเค้าเปิดให้เข้าชมวันไหนบ้างคะ เวลาเท่าไหร่ และก็เสียค่าบริการในการเข้าชมมั้ยคะ

แล้วถ้าเราไป...จะต้องติดต่อใครมั้ยคะ

..จากผู้สงสัยอยากรู้...กรุณาช่วยตอบด้วยนะคะ..ขอบคุณมากค่ะ

สวัสดีครับ คุณเมย์

จะไปวัดภูมินทร์ ก็ไปเวลาปกตินี่แหละครับ

ไม่เสียค่าบัตรอะไรหรอก

แต่ถ้าจะถ่ายภาพเป็นจริงเป็นจัง ก็ขออนุญาตทางวัดสักหน่อย ท่านจะได้ทราบว่าเราไปทำอะไร แต่ถ้าไปไหว้พระ ชมวัดทั่วไป ก็ไม่มีปัญหาอะไรครับ

แต่ว่า ไปเที่ยวแล้ว ก็แวะมาเขียนเล่ากันบ้างนะครับ ;)

ตอนแรกที่เขามา เห็นว่า อาจารย์เป็นคนจังหวัดเดียวกันกับผม และอำเภอเดียวกัน แต่ผม อยู่ตำบลลานตากฟ้า ต่อมาได้อ่านข้อมูลใน blog แล้วได้รับความรู้มากขึ้นอีกเยอะ เท่ากับเป็นการเปิดโลกทัศน์ อีกอย่างหนึ่ง แล้วผมแวะมาอีก สวัสดีครับ

อาจารย์ครับ ผมเคยอ่านบทความพวกนี้ ของอาจารย์ด้วยครับ 

1. การเล่นแร่แปรธาตุ ความล้มเหลวข้ามสหัสวรรษ
2  กาลาปาโกส: อดีตและปัจจุบัน  
3  ก้าวกระโดดของเทคโนโลยีไมโครชิป   
4  ขุมทองกรุงทรอย   2
5  จับตามองโครงการอวกาศของชาติเอเชีย  
6  ชมปาล์มที่สวนแสนปาล์ม  
7  นาฬิกาอะตอม สุดยอดเทคโนโลยีนาฬิกา  
8  แนวทางพัฒนา ไมโครโปรเซสเซอร์ 
9  ปฏิทินหมื่นปี   
10  ปฏิวัติเทคโนโลยัสวิตซ์ด้วยสวิตช์ 
11  พัฒนาการของดิจิตอลวีดีโอดิสก์ สู่ยุคใหม่  
12  ภูมิปัญญาในผ้าทอมือ  
13  ย้อนอดีตนาฬิกา ตอนที่ 1  
14  ย้อนอดีตนาฬิกา พัฒนการของการวัดเวลานับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตอนจบ 
15  สปินทรอนิกส์ ปฏิวัติโฉมหน้าอุปกรณ์ยุคใหม่ 
16  เสียงดนตรีวิทยาศาสตร์ 
17  หลากหลายโปรแกรมเพื่อจัดกการไวรัสให้อยู่หมัด  
18  อรุณรุ่งแห่งเซลล์แสงอาทิตย์  
19  อองตวน-โลรอง ลาวัวซีเย : นักเคมีผู้สังเวยสมองอันปราดเปรื่องบนเครื่องกิโยติน

สวัสดีครับ อาจารย์ ธ วั ช ชั ย

  • ได้มีโอกาสได้ไปถ่ายรูปวัดนี้มาครั้งเดียวเองครับ
  • น่าน เป็นจังหวัดที่ไม่ใช่ทางรถผ่าน จึงเงียบ สงบ ไม่วุ่นวาย น่าอยู่มากครับ
  • วัดภูมินทร์ฯ ปรากฎตัวอยู่ที่ "ธนบัตรใบละ ๑ บาท" ใช่ไหมครับ ?
  • ศิลปะที่พิเศษกว่าที่อื่น นอกจากจิตรกรรมฝาผนัง ก็คือ ราวบันไดพญานาคใช่ไหมครับ
  • ด้านหน้าของวิหารเป็นรูปหัวพญานาค แต่ด้านหลังของวิหารเป็นรูปหางพญานาคที่ม้วนขด เหมือนจะมีที่เดียวในประเทศไทยครับ

อยากไปเที่ยวอีกครับ :)

สวัสดีค่ะ..คุณธวัชชัย

ขอบคุณมาก ๆ นะคะขอบคุณจริง ๆ อยากไปเที่ยวจังหวัดน่านมานานแล้ว ถ้ามีโอกาสไปจะไปเที่ยววัดภูมินทร์ให้ได้ค่ะ..ขอบคุณมากนะคะ

สวัสดีครับ คุณเชิดศักดิ์

อ้าว คนบ้านเดียวกัน อิๆ อย่างนี้วันหลังต้องเจอกันหน่อยนะครับ

บทความที่ยกมาข้างบน ส่วนมาก ผมเขียนไว้ในนิตยสารอัพเดท ครับ แต่ก็มีในนิตยสารเซมิคอนดักเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ด้วย บางเรื่องเป็นหนังสือเล่ม

แปลว่าคนคุ้นเคย แต่ไม่เคยเจอกัน เท่านั้นเอง

ขอบคุณมากๆ ครับที่ติดตาม

แล้วจะแวะไปเยี่ยมบล็อกครับ ;)

สวัสดีครับ อาจารย์ Wasawat Deemarn

วัดภูมินทร์ปรากฏในธนบัตรใบละบาท ใช่แล้วครับ ในพระอุโบสถมีแสดงเอาไว้ด้วยครับ แต่ไม่ทราบตอนนี้ยังมีอยู่หรือเปล่า

บันไดนาคก็แปลก วิหารจตุรมุขก็แปลกพอสมควร พระประธานหันหลังชนกัน 4 ทิศ ก็แปลกครับ ;)

เสียดายว่ามุมภาพทั้งด้านนอกและด้านในแคบ ทำให้ไม่ค่อยเห็นภาพวัดภูมินทร์เต็มๆ ตาสักเท่าไหร่

คงมีสมาชิกไปเที่ยวแล้วมาเล่าให้ฟังเร็วๆ นี้แค่เลยครับ

สวัสดีครับ คุณเมย์

ไปวัดภูมินทร์ แล้วก็อย่าลืมไปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินะครับ ใกล้ๆ กัน

มีงาช้างดำ ด้านล่างมีนิทรรศการเรื่องผ้าเมืองน่าน น่าติดตามมากครับ

นำภาพธนบัตร 1 บาท รัชกาลที่ 8 มาฝากเพิ่มเติมครับ ภาพไม่ค่อยชัด แต่พอดูออก
  • ในฐานะคนเมืองน่านขอขอบคุณที่นำเรื่องราวของเมืองน่านมาเล่าต่อครับ

อาจารย์ธวัชชัย..

อยากได้ภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับการทอผ้าของชาวไทยยวนค่ะ

อาจารย์จะช่วยกรุณาจัดส่งให้มั้ยค่ะ

อำพร

ที่วัดภูมินทร์บอกว่าภาพในจิตรกรรมฝาผนังเป็นชาวไทยลื้อ แต่บอกว่าผู้ชายนิยมสักตั้งแต่เอวลงมาถึงเข่า เรียกกว่าลาวพุงดำ เท่าที่ทราบลาวพุงดำคือไทยวนไม่ใช่หรือค่ะ ใครทราบบอกด้วยกว่า ที่วัดภูมินทร์คือไทลื้อหรือไทยวน

ลุงเอก..

ถ้าลุงเอกจะไปน่านและมีโอกาสไปวัดภูมินทร์อยากรบกวนลุงเอกถ่ายรูปจิตรกรรมฝาผนังส่งให้บ้างได้มั้ยค่ะ

ขอบคุณล่วงหน้านะคะ

เมืองน่าน มีวัฒนธรรมผสมผสานหลายเผ่าพันธุ์ ทั้งชนพื้นเมือง คนไทยภาคอื่นๆ ชาวเขา แต่ที่เด่นชัดจนแยกไม่ออกคือวัฒนธรรมกาวน่าน หรืออาจจะว่าเป็นไทยวนก็ได้เพราะมีวัฒนธรรมเดียวกันนั่นล่ะครับ ผสมผสานกับไทลื้อ จะสังเกตุได้จาก เครื่องนุ่งห่ม สำเนียงพูด อาหารการกิน การสร้างที่อยู่อาศัย ตลอดจนประเพณีความเชื่อ จิตรกรรมฝาผนังก็จะเป็นตัวบ่งชี้ถึงการผสมผสานวัฒนธรรมอีกหนึ่งอย่างครับ

ขอบคุณไก่เมืองน่านมากนะคะ ถ้ามีข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมของชาวไทยยวนส่งให้บ้างได้มั้ยค่ะ

ดีจาดนักตี๋ห์อความฮู้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท