ความก้าวหน้าทางการศึกษายุคโลกาภิวัตน์


กิจกรรมVideo Conference TV- Conference ระหว่างโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยากับโรงเรียนNahato ประเทศญี่ปุ่น

Video Conference
TV- Conference
ความก้าวหน้าทางการศึกษา
ยุคโลกาภิวัตน์
 

     ในสังคมโลกยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) หรือยุคโลกไร้พรมแดน เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อกาติดต่อสื่อสาร โดยเฉพาะการใช้อินเตอร์เน็ตในวงการต่างๆ ได้เพิ่มปริมาณสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่เว้นแม้แต่ภาครัฐ ภาคเอกชนและหน่วยงานสถานศึกษาต่างๆ   มีการนำระบบ ICT มาใช้ในการบริหารจัดการ อย่างกว้างขวาง จนกระทั่งพูดกันติดปากว่ายุค E เรืองอำนาจ   ที่ได้ยินกันเป็นประจำคือ    E-government, E-commerce, E-education, E-learning,   E-mail เป็นต้น
 

 เป็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ    ที่ได้พัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารระหว่างหน่วยงานที่ตั้งอยู่ห่างไกลกัน โดยการติดต่อสื่อสารนั้น ผู้ใช้สามารถได้ยินเสียง เห็นหน้าตา ท่าทาง รวมทั้งมีการนำเสนอด้วยภาพและข้อมูลต่างๆ (Two way communication) ทำให้การติดต่อสื่อสาร         มีความชัดเจนครบถ้วน เสมือนประชุมอยู่ห้องเดียวกัน หลักการดังกล่าวบางครั้งก็เรียก Tele conference

วิธีการทำงานของระบบVideo Conference
วิธีการทำงานอธิบายโดยย่อคือ ภาพจะถูกแปลงเป็น ข้อมูล และจะถูกบีบอัด(Compressed) เพื่อลดขนาดของข้อมูลให้เล็กลง แล้ว ส่งผ่านระบบสื่อสารไปยังอุปกรณ์ Video Conference  ที่ปลายทาง ทางด้าน อุปกรณ์ปลายทางหรือเครื่องรับจะคลายข้อมูลกลับ (Decompressed) แล้ว แปลงเป็นภาพออกจอแสดงผลหรือ Monitor ต่อไป

ภาพที่ปรากฏในจอของระบบ Video Conference จะมีการเคลื่อนไหวที่ไม่ เป็นธรรมชาติเหมือนกับที่ปรากฏ ในเครื่องรับโทรทัศน์ทั่วไป เนื่องจากวิธี การรับ-ส่งภาพแตกต่างกัน ระบบ Video Conference ภาพ 1 ภาพ จะแปลงเป็นข้อมูลจำนวนมาก ในเวลา 1 วินาที ภาพที่เราเห็นนั้นจะประกอบด้วย ภาพต่างๆจำนวนถึง 30 ภาพ การที่จะทำให้เหมือนธรรมชาติ  ต้องใช้ข้อมูล จำนวนมหาศาล แต่ระบบ Video Conference เป็นระบบ ที่มีราคาต่ำและ ความซับซ้อนของระบบน้อยกว่ามาก ดังนั้นคุณภาพของระบบนี้จึงเปรียบเทียบกันไม่ได้กับ T.V. อุปกรณ์ที่ติดตั้งในแต่ละจุดของระบบจะมีเพียงตู้ควบคุมการแปลงสัญญาณ กล้อง ไมโครโฟนและจอแสดงภาพหรืออาจมีอุปกรณ์เสริมตามความต้องการ

 สำหรับธุรกิจหรือสถาบันที่มีการนำระบบสื่อสารมาใช้ในการรับส่งสัญญาณภาพเคลื่อนไหวพร้อมกับสัญญาณเสียง เช่นในรูปแบบของการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conferencing) การรักษาความปลอดภัยทางไกลผ่านจอภาพ (Video Survaillance) การฝึกอบรมหรือการเรียนการสอนทางไกล (Tele-Education) การรักษาพยาบาลทางไกล (Tele-Medicine) โดยผ่านอุปกรณ์ Video Conference สามารถใช้คู่สาย ISDN แบบ BAI มาเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ดังกล่าวเพื่อติดต่อไปยังปลายทาง ที่มีการติดตั้งอุปกรณ์ Video Conference กับคู่สาย ISDN เหมือนกันได้ การติดตั้งคู่สาย ISDN เพื่อประยุกต์ใช้งาน Video Conference ทำได้โดยเชื่อมต่อคู่สาย ISDN เข้ากับอุปกรณ์ NT แล้วเชื่อมต่ออุปกรณ์ NT เข้ากับอุปกรณ์ Video Conference ที่นำมาใช้งาน โดยการติดตั้ง ISDN แบบ BAI 1 คู่สาย สามารถใช้งานได้ที่ความเร็ว 128 Kbps (ความเร็วการส่งภาพ 15 Frame ต่อวินาที) หากต้องการส่งภาพที่เคลื่อนไหวดูเหมือนจริง(Real Time) ยิ่งขึ้น (ที่ความเร็วการส่งภาพ 30 Frame ต่อวินาที ความเร็ว 384 Kbps) ควรติดตั้งคู่สาย ISDN 3 BAI ขึ้นไป
 TV-Conference เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการใช้เทคโนโลยีของระบบเครือข่าย ซึ่งอาจเป็นระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตหรือเครือข่ายโทรศัพท์ ที่สามารถทำให้เกิดการเชื่อมต่อกันเป็นระยะทางไกลๆได้ ร่วมกับเทคโนโลยีของระบบภาพ (Video system) ทำให้เราสามารถที่จะทำการประชุมทางไกลผ่าระบบเครือข่ายที่มีทั้งภาพและเสียงได้ (Tele Video-Conference) หมายความว่าเราสามารถที่จะเห็นภาพและได้ยินเสียงของอีกฝ่ายหนึ่งที่อยู่ห่างกันได้ เสมือนหนึ่งว่าอยู่ในสถานที่เดี่ยวกันนั่นเอง ทำให้เกิดความสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางเป็นอย่างมาก

 TV-Conference ได้นำมาประยุกต์ใช้ ในการจัดกิจกรรมเรียนการสอนในประเทศญี่ปุ่น มาเป็นเวลานานหลายปี   จากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสสนทนาพูดคุย กับผู้ช่วยศาสตราจารย์นาโอมาซา ซาซากิ          ซึ่งเดินทางมาเจรจาทำความตกลงในการจัดการศึกษาเรียนรู้ร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยเกียวโตการศึกษา ประเทศญี่ปุ่น    กับโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2548 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2549 ที่ผ่านมา    ในลักษณะของการจัดกิจกรรม TV-Conference ทราบว่ามหาวิทยาลัยเกียวโตการศึกษา เริ่มใช้ระบบการสื่อสารสัญญาณดาวเทียมในปี 2540  โดยติดต่อภายในประเทศกับมหาวิทยาลัยรัฐบาล 99 แห่ง และมหาวิทยาลัยเอกชน 20 แห่ง นอกจากนี้ยังมีการใช้ติดต่อแลกเปลี่ยนกันระหว่างประเทศโดยใช้ระบบสัญญาณภาพและเสียงใช้โทรศัพท์แบบดิจิตอล โดยเริ่ม พ.ศ. 2543 สำหรับจุดประสงค์ในการใช้นั้น เพื่อการบรรยายต่างๆ โดยมหาวิทยาลัยเกียวโตการศึกษามีระบบ TV-Conference ด้วยกัน 3 แบบ คือ ระบบสัญญาณที่ใช้ภายในประเทศระหว่างมหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัย ระบบสัญญาณที่ใช้ระหว่างมหาวิทยาลัยเกียวโตการศึกษากับโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเกียวโตการศึกษา และระบบสัญญาณที่ใช้ภาพและเสียงกับโทรศัพท์แบบดิจิตอล

สถาบันการศึกษาสามารถนำคู่สาย ISDN มาประยุกต์ใช้งานกับระบบการศึกษาทางไกลได้ เพียงนำอุปกรณ์สื่อสารการเรียนการสอนต่างๆ เชื่อมต่อผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ ทำให้ผู้สอนและผู้เรียนที่อยู่ห่างไกลกัน สามารถสื่อสารโต้ตอบได้ในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ยังสามารถอำนวยความสะดวกแก่นักศึกษาในการค้นคว้าหาข้อมูลด้วยบริการเชื่อมต่อข้อมูล และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง สถาบันการศึกษาใดที่มีหน่วยงานหรือสาขากระจายอยู่ตามที่ต่างๆ ก็สามารถใช้ ISDN เพื่อติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้อีกด้วย

 สำหรับธุรกิจที่มีการติดต่อสื่อสารในรูปแบบของการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conferencing) การเรียน การสอนทางไกล (Tele-Education) หรือการรักษาพยาบาลทางไกล (Tele-Medicine) สามารถนำคู่สาย ISDN มาเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ Video Conferenceเพื่อประยุกต์ใช้งานให้เหมาะกับรูปแบบที่ธุรกิจต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยสามารถใช้งานได้ทั้งการส่งสัญญาณภาพเคลื่อนไหว, ภาพนิ่ง, ภาพกราฟิก, การส่งไฟล์ข้อมูล ฯลฯ ด้วยความเร็วที่สูงถึง 2.048 Mbps จะทำให้ได้สัญญาณที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับสัญญาณโทรทัศน์ และสามารถประชุมพร้อมกันได้ตั้งแต่ 2 จุดขึ้นไปเมื่อธุรกิจติดตั้งคู่สาย ISDN แบบ PRI ต้องจัดเตรียมคู่สายภายในอาคาร     ซึ่งอาจจะเป็นสาย Coaxial หรือสายทองแดง 2 เส้น สำหรับเชื่อมเข้าอุปกรณ์ Video Conference ซึ่งปลายทางที่ธุรกิจจะติดต่อสื่อสารต้องติดตั้งคู่สาย ISDN และติดตั้งอุปกรณ์ Video Conference เหมือนกันจึงจะสามารถสื่อสารได้ทั้งเสียงและภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 โครงการ TV-Conference
สำหรับการดำเนินงานโครงการ TV-Conference เริ่มต้นจากการที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์   นาโอมาซา ซาซากิ จากมหาวิทยาลัยเกียวโตการศึกษา ได้มีการติดต่อประสานงานในการดำเนินโครงการร่วมกับโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา ครั้งแรกเมื่อปลายปี 2547 และครั้งที่สองเมื่อกลางปี 2548 และครั้งที่สามประมาณวันที่ 15 และ 22 กุมภาพันธ์ 2549 โดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ให้ความอนุเคราะห์ด้านสถานที่จัดกิจกรรมTV-Conference ซึ่งมีการทดลองสอนวิชาเกี่ยวกับสังคมศึกษา วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ระหว่างนักเรียนประถมศึกษาโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา   กับนักเรียนประถมศึกษาของประเทศญี่ปุ่น ทำให้นักเรียนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภาษาและศิลปวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศในเวลาเดียวกัน

จากผลการดำเนินงานโครงการดังกล่าวในปีที่ผ่านมา นับได้ว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง และปีนี้จึงได้ดำเนินงานต่อเนื่องโดยจะมีการจัดกิจกรรม TV-Conference ร่วมกันอีก 2 ครั้ง ในปี 2549 นี้โดยครั้งแรกเป็นกลุ่มนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลาย จำนวน 80 คน โดยจะจัดในวันที่ 15  กุมภาพันธ์ และ 22 กุมภาพันธ์ 2549 ณ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา  มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
 
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่หน่วยงานสถานศึกษาต่างๆทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนจะได้ร่วมมือกันจัดกิจกรรมการศึกษาโดยใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศให้เกิดประโยชน์ ในลักษณะการจัดกิจกรรมระบบ VIDEO CONFERENCE และTV-CONFERENCE
โดยอาศัยความร่วมมือช่วยเหลือทางวิชาการจากสถาบันทางการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพความพร้อมสูง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

   ปฐมพงศ์ ศุภเลิศ
        6 ก.พ. 49


 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 14528เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2006 11:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 12:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท