Timeline - - ปัญหาการ์ตูนพระมะหะหมัด


First Upload:  Mon, 6 Feb 06

Last Update:  Wed, 22 Feb 06

 

ไทยเราก็น่าจะได้ข้อคิดจากปัญหา “การ์ตูนพระมะหะหมัด” ที่กำลังลุกลามใหญ่โตทั่วโลกขณะนี้.  คนไทยโดยเฉลี่ยทั่วไป ไม่ว่าจะถือศาสนาใด น่าจะตกใจใน ๒ ด้าน:

  • เหตุใด ในด้านหนึ่ง “เสรีภาพในการแสดงออก” (Freedom of Expression) ในเมืองฝรั่ง จึงไปไกลขนาดทำร้ายจิตใจผู้อื่นหน้าตาเฉย โดยไม่ให้ความเคารพ & ท้าทายศาสนาอื่น ทั้งที่รู้ดีว่าศาสนาอิสลามเขาห้ามเขียนรูปท่านพระมะหะหมัด แต่กลับเขียนการ์ตูนล้อเลียนท่านศาสดา เป็นเสมือนหัวหน้าผู้ก่อการร้าย เพราะเขียนท่านโพกผ้าศีรษะเป็นรูปทรงลูกระเบิด (Bomb-shaped Turban) และทรงสั่งพวกระเบิดพลีชีพให้หยุดระเบิดเสีย เพราะบนสวรรค์จะไม่มีหญิงพรหมจารีเหลือแล้ว (… telling suicide bombers to stop because heaven had run out of virgins.) ?
  • แต่เหตุใด ในอีกด้าน พี่น้องอิสลามบางแห่งทั่วโลก จึงไปไกลขนาดเกลียดคนเดนมาร์คไปเสียทั้งชาติ แม้ นสพ. ผู้พิมพ์การ์ตูนจะขอโทษแล้ว ก็ยังไม่ให้อภัย ยังตั้งหน้า Boycott สินค้าเดนมาร์คไปหมด ทั้งที่ผู้ผลิตสินค้า ไม่มีส่วนร่วมผิด และยังเผาสถานทูตเดนมาร์คไปแล้วหลายแห่ง ?  แต่แล้ว เราก็เข้าใจมากขึ้น ถึงความโกรธของชาวมุสลิม เมื่อมีข่าว ในวันเสาร์ที่ ๔ กพ. ๐๖ ว่า นสพ. แท็บบลอยในเดนมาร์คชื่อ “Ekstra Bladet” ตีพิมพ์เอกสาร ๔๓ หน้าโดยมี “การ์ตูนพระมะหะหมัด” ที่วาดพระพักตร์เป็นหมู, ทรงถูกสังวาสโดยสุนัข, และทรงเสพเซ็กซ์กับเด็ก.  การ์ตูนเช่นนี้ ยิ่งกระพือให้เกิดความเดือดดาลมากยิ่งขึ้น เป็นธรรมดา.  แม้การประท้วงในบางที่ จะมีลักษณะสันติ & มุ่งตรงต่อ นสพ. ผู้ตีพิมพ์ แต่ในหลายที่ ก็มีความรุนแรง & เลยไปถึงผู้ที่ไม่มีส่วนร่วมผิดด้วย และกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างโลกตะวันตก & โลกอิสลาม ไปเสียแล้ว.

ปัญหา “การ์ตูนพระมะหะหมัด” เตือนใจเราให้ระลึกถึงหนังสือ The Clash of Civilizations โดย Samuel P. Huntington ผู้เสนอทฤษฎีใหม่ในปี ๑๙๙๖ ว่า ความขัดแย้งใหม่ในโลกหลังสงครามเย็น จะมีสาเหตุหลัก มาจากความแตกต่างทางวัฒนธรรม & ศาสนา.

อย่างไรก็ดี “บ้านเขา – บ้านเรา” คือ Blog ที่ว่าด้วย “Law & Society” เราจึงไม่ต้องการพิจารณาเรื่องศาสนา หรือทฤษฎี “The Clash of Civilization” แต่ขอจำกัดเฉพาะ ๒ ประเด็น คือ (๑) “ปัญหาการ์ตูนพระมะหะหมัด” ดำเนินมาอย่างไร (๒) “เสรีภาพในการแสดงออก” (Freedom of Expression) และ “เสรีภาพของสื่อ” (Press Freedom) ในเมืองฝรั่ง มีความหมายเพียงใด.

แน่นอนว่า ข้อเขียนนี้มิได้มีเจตนาลบหลู่ศาสนาอิสลาม, ศาสนาอื่นใด, หรือบุคคลใดๆ.  ในทางตรงข้าม เราให้ความเคารพต่อ “Diversities in Religions & Cultures” เสมอ.  เราเพียงต้องการใช้ปัญหา “การ์ตูนพระมะหะหมัด” เป็น Case Study เป็นกรณีศึกษาเรื่อง “Freedom of Expression” และ “Freedom of the Press” เท่านั้น.

เราจะเริ่มต้นด้วย Timeline เพราะแม้จะเป็นรายละเอียด แต่ก็คือข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็น ในการทำความเข้าใจ & วิเคราะห์ต่อไป.  ข้อมูลส่วนใหญ่ ได้จากแหล่งข่าวข้างล่าง แต่ตั้งใจไม่ระบุทุกครั้งไป เพราะใช้ข้อมูลจากหลายแหล่งผสมกัน จึงไม่ใช่เจตนาที่จะ Plagiarize อย่างไรทั้งสิ้น.

 

 

Monthly Timeline:  ลำดับเหตุการณ์รายเดือน

 

เราจะเริ่มจาก Monthly Timeline กันก่อน เพื่อให้เห็นคร่าวๆว่า ในเวลา ๖ เดือนที่ผ่านมา (กย. ๐๕ – กพ. ๐๖) มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ก่อนที่เราจะพิจารณา Daily Timeline ในรายละเอียด กันต่อไป.

เดือนที่ ๑ - - กันยายน ๐๕:

  • นสพ. รายวันยอดจำหน่ายสูงสุดในเดนมาร์ค “Jyllands-Posten” เริ่มตีพิมพ์ “การ์ตูนพระมะหะหมัด.”

เดือนที่ ๒ - - ตุลาคม ๐๕:

  • ราว ๒ สัปดาห์ต่อมา ประชาชน ๓,๕๐๐ คนที่โคเปนเฮเกน (ในเดนมาร์ค) เริ่มชุมนุมประท้วงโดยสงบที่หน้าสำนักงาน นสพ. “Jyllands-Posten.”

เดือนที่ ๓ - - พฤศจิกายน ๐๕:

  • นสพ. หลายชาติในยุโรป ต่างตีพิมพ์ซ้ำ “การ์ตูนพระมะหะหมัด” จึงยั่วยุให้การประท้วง ลุกลามมากขึ้น.

เดือนที่ ๔ - - ธันวาคม ๐๕:

  • คนงานที่ปากีสถาน เริ่มหยุดงานประท้วงบริษัทเดนมาร์ค และหลายองค์กรเข้าร่วมวิจารณ์รัฐบาลเดนมาร์ค.
  • ส่วนพรรคการเมืองปากีสถาน “Jamaat-e-Islami” ประกาศชัดว่า ถ้าใครสังหารนักเขียน “การ์ตูนพระมะหะหมัด” ได้ เขาจะได้เงินรางวัล ๑๐,๐๐๐ ดอลล่าร์สหรัฐฯ (ราว ๔๐๐,๐๐๐ บาท) ต่อการสังหารนักเขียนการ์ตูน ๑ คน.

เดือนที่ ๕ - - มกราคม ๐๖:

  • เดือนนี้มีการประท้วงเพิ่มขึ้นที่หลายชาติ และเริ่มเกิดความรุนแรง ในการประท้วง.
  • ส่วนการบอยค็อตสินค้าเดนมาร์คก็เริ่มขึ้น ตอนปลายเดือน มค. ๐๖.
  • นอกจากนี้ หลายชาติอิสลาม ยังเรียกตัวเอกอัครราชทูตของตนประจำเดนมาร์ค กลับประเทศอีกด้วย.

เดือนที่ ๖ - - กุมภาพันธ์ ๐๖:

  • การประท้วง รุนแรงมากขึ้นในเดือนนี้ เมื่อมีการบุกเผาสถานทูตเดนมาร์ค & นอร์เวย์ที่หลายชาติ ซึ่งทำให้สถานทูตชิลี & สวีเดน ในตึกเดียวกัน ถูกลูกหลงไหม้ไฟไปด้วย.
  • เมื่อ ๖–๑๒ กพ. ผู้ประท้วง ๑๒ คนในอัฟกานิสถาน ถูกยามรักษาความปลอดภัย ยิงตาย.
  • ระหว่าง ๑๓-๑๗ กพ. เกิดการประท้วงรุนแรงทั่วปากีสถาน.
  • เหตุการณ์ยังเลวร้ายยิ่งขึ้นเมื่อมีข่าว ๒ เรื่อง คือเรื่องแรก เมื่อสื่อมวลชนอังกฤษ แพร่ภาพวีดีโอเมื่อวันอาทิตย์ ๑๒ กพ. ว่า ทหารอังกฤษ ๘ คนในอิรัค รุมทุบ-ตี-เตะ-ต่อย วัยรุ่นอิรัค ๔ คนถึง ๔๒ ครั้ง แต่ผู้บังคับบัญชาทหารอังกฤษ กลับยืนดูเฉยไม่ห้ามปราม.  ข่าวเช่นนี้ ยิ่งทำให้ชาวมุสลิมเกลียดชาวตะวันตกมากขึ้น.
  • เรื่องที่สอง เมื่อวันพุธ ๑๕ กพ. ทีวีออสเตรเลียแพร่ภาพเพิ่มเติม เรื่องทหารสหรัฐฯในอิรัค ทรมาน, ประหาร, และทำทารุณทางเพศ แก่นักโทษที่เรือนจำ Abu Ghraib ในอิรัคเมื่อปี ๒๐๐๓.  ข่าวเช่นนี้ จึงเป็น “น้ำมันราดกองไฟ” ในเรื่อง “การ์ตูนพระมะหะหมัด.”
  • ชาวตะวันตก ก่อปัญหาระลอกใหม่ในวันอังคาร ๑๔ กพ. เมื่อ รมต. อิตาลี Roberto Calderoli ใส่เสื้อ T-Shirt ที่มีรูป “การ์ตูนพระมะหะหมัด” ก่อให้เกิดการเดินขบวนประท้วงสถานกงสุลอิตาลีที่เมืองท่าเบ็งกาซี (ในลิเบีย) ในวันศุกร์ ๑๗ กพ. และตำรวจยิงคนตายไป ๑๐ คน.
  • Sat, 18 Feb 06 - - การประท้วง “การ์ตูนพระมะหะหมัด” ครั้งแรกที่ไนจีเรีย ดูจะกลายเป็นการโจมตีครั้งแรกโดยชาวอิสลาม ที่มุ่งตรงต่อชาวคริสเตียนไปเสียแล้ว เพราะโบสถ์คริสต์ศาสนาได้ถูกเผาไปแล้ว ๑๑ แห่ง และได้มีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย ๑๖ รายที่ส่วนใหญ่เป็นชาวคริสต์.  ความขัดแย้งระหว่างศาสนานี้ มีขึ้นเป็นครั้งแรกที่เมือง Maiduguri ณ ตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรีย และตายไปอีก ๑ รายที่จังหวัด Katsina ทางเหนือตอนกลางของไนจีเรีย.  นี่คือความรุนแรงครั้งแรกในปัญหา “การ์ตูน” ที่ไนจีเรีย ซึ่งเป็นชาติที่มีชาวมุสลิม & ชาวคริสเตียน อย่างละครึ่งที่ตอนเหนือ.

 

Daily Timeline:  ลำดับเหตุการณ์รายวัน

 

ต่อไปนี้ คือ Daily Timeline.  กรุณาสังเกตว่า ชาวตะวันตก ได้ก่อปัญหาระลอกแล้วระลอกเล่า (ซึ่งเราระบายสีไว้ให้เห็นชัด) ในการทำร้ายจิตใจชาวมุสลิม โดยชาวตะวันตกเชื่อว่า & กล่าวอ้างว่า นี่คือ “เสรีภาพในการแสดงออก” & “เสรีภาพของสื่อ.”  ปัญหา “การ์ตูนพระมะหะหมัด” จึงเป็น Case Study ที่ดีมาก ที่เราจะเข้าใจ “Freedom of Expression” และ “Freedom of the Press” ใน Sense ของตะวันตก ซึ่งต่างกับภูมิภาคอื่น & วัฒนธรรมอื่นๆ อย่างชัดแจ้ง.

 

  • Sep 05:  นาย Kåre Bluitgen นักเขียนเดนมาร์ค เริ่มหาคนเขียนรูปพระมะหะหมัดให้หนังสือเด็ก แต่ไม่มีใครกล้า เพราะกลัวถูกทำร้ายโดยชาวมุสลิม แต่นาย Flemming Rose บก.ข่าววัฒนธรรมแห่ง นสพ. “Jyllands-Posten” หานักการ์ตูนได้ ๑๒ คน.
  • Fri, 30 Sep 05:  นสพ. รายวันยอดจำหน่ายสูงสุดในเดนมาร์คชื่อ “Jyllands-Posten” เริ่มตีพิมพ์ “การ์ตูนพระมะหะหมัด.”
  • Sun, 9 Oct 05:  สมาคมมุสลิมแห่งเดนมาร์ค เรียกร้องให้ นสพ. “Jyllands-Posten” ขอโทษ & เลิกตีพิมพ์ “การ์ตูนพระมะหะหมัด.”
  • Fri, 14 Oct 05:  คนเดนมาร์ค ๓,๕๐๐ คน ชุมนุมโดยสงบเพื่อประท้วงเป็นครั้งแรก ที่หน้าสำนักงาน นสพ. “Jyllands-Posten.” ในโคเปนเฮเกน.
  • Fri, 14 Oct 05:  นักเขียน “การ์ตูน” ๒ คน เริ่มถูกขู่ฆ่า.
  • Mon, 17 Oct 05:  นสพ. อียิปต์ชื่อ “El Fagr” เริ่มประณามเดนมาร์ค โดยนำ “การ์ตูนพระมะหะหมัด” ไปพิมพ์ ๖ ภาพให้คนเห็นในระหว่างเทศกาลรามาดาน และไม่ได้รับการต่อต้าน.
  • Wed, 19 Oct 05:  ทูต ๑๑ ชาติมุสลิม ขอพบนายกรัฐมนตรีเดนมาร์ค Anders Fogh Rasmussen เพื่อให้แสดงท่าทีไม่สนับสนุนการพิมพ์ “การ์ตูนพระมะหะหมัด” แต่เขาปฏิเสธที่จะพบ โดยให้เหตุผลว่า นั่นเป็นเสรีภาพของสื่อ (Freedom of the Press).
  • Fri, 28 Oct 05:  ชาวมุสลิมในเดนมาร์ค เริ่มแจ้งความตำรวจว่าผู้พิมพ์ “การ์ตูนพระมะหะหมัด” มีเจตนา “ดูถูก & เย้ยหยัน” (Mock and Deride) ความเชื่อของศาสนามุสลิม ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๐ ของเดนมาร์ค.
  • Tue, 10 Jan 06:  นสพ. ในนอร์เวย์นำ “การ์ตูนพระมะหะหมัด” มาตีพิมพ์ซ้ำ.
  • Thu, 26 Jan 06:  ซาอุดิอเรเบีย คือชาติแรกที่เริ่มบอยค็อทสินค้านม-เนย จากเดนมาร์ค และเรียกทูตของตนประจำเดนมาร์คกลับประเทศ เพื่อให้มารายงานสถานการณ์.
  • Mon, 30 Jan 06:  มือปืนอาหรับ บุกสำนักงาน EU ที่ฉนวนกาซา เรียกร้องให้ขอโทษในเรื่อง “การ์ตูนพระมะหะหมัด” ทำให้เดนมาร์คประกาศเตือนคนของตน ไม่ให้เดินทางเข้าไปในตะวันออกกลาง.
  • Tue, 31 Jan 06:  นสพ. รายวันเดนมาร์ค “Jyllands-Posten”ยอมออกแถลงการณ์ขอโทษ.
  • Wed, 1 Feb 06:  นสพ. อีก ๖ ชาติ คือ ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, สเปน , สวิสเซอร์แลนด์, และฮังการี ได้นำ “การ์ตูนพระมะหะหมัด” มาตีพิมพ์ซ้ำอีก โดยย้ำว่านี่คือ “เสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of Expression) และ “เสรีภาพของสื่อ” (Press Freedom).
  • Fri, 3 Feb 06:  นสพ. ชื่อ Liberation ในฝรั่งเศสตีพิมพ์ “การ์ตูนพระมะหะหมัด” โดยวิจารณ์ว่า แม้การ์ตูนนี้จะไม่มีลักษณะเด่นเป็นพิเศษ แต่ต้องการตีพิมพ์ เพราะต้องการรักษาหลักการเรื่อง “เสรีภาพในการแสดงออก” (Freedom of Expression).
  • Fri, 3 Feb 06:  ชาวมุสลิมในลอนดอนเดินขบวนประท้วงการตีพิมพ์ “การ์ตูนพระมะหะหมัด.”
  • Fri, 3 Feb 06:  ชาวมุสลิมที่ชาติอื่นๆ ได้แก่ตุรกี, ปากีสถาน, อินโดนิเซีย, มาเลเซีย, ปาเลสไตน์, และซูดาน ต่างออกมาประท้วงการตีพิมพ์ “การ์ตูนพระมะหะหมัด.”
  • Fri, 3 Feb 06:  รัฐสภาปากีสถานลงมติเอกฉันท์ประณาม การตีพิมพ์ “การ์ตูนพระมะหะหมัด” ว่า “ชั่วร้าย, ทำร้ายจิตใจ, และยั่วยุ” (vicious, outrageous and provocative campaign).
  • Fri, 3 Feb 06:  นายกรัฐมนตรีเดนมาร์คแถลงว่า เขาเสียใจที่การ์ตูนนี้มีลักษณะ เสียดสี & ก้าวร้าว แต่นั่นเป็น “เสรีภาพของสื่อ” (Press Freedom) เขาจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะขอโทษแทนสื่อมวลชนได้.  เป็นหน้าที่ของ บก. จะต้องพิจารณาเองว่า จะขอโทษเองหรือไม่.
  • Fri, 3 Feb 06:  การต่อต้าน “การ์ตูนพระมะหะหมัด” อย่างรุนแรงในตะวันออกกลาง ทำให้ผู้นำชาติต่างๆในยุโรป ต้องเรียกร้องขอความสงบ.
  • Sat, 4 Feb 06:  รัฐบาลอินโดเนเซียแถลงการณ์ว่า การดูหมิ่นศาสนาเป็นการทำร้ายจิตใจชาวมุสลิม.
  • Sat, 4 Feb 06:  รัฐบาลตุรกีเรียกร้องให้ชาวมุสลิม & ชาวศาสนาอื่นๆ มีความเคารพซึ่งกันและกัน.  เสรีภาพของสื่อ (Freedom of the Press) ต้องไม่ล่วงล้ำการให้ความเคารพต่อค่านิยมผู้อื่น (Respect for Others’ Values) เพียงด้วยข้ออ้างว่าเป็นเรื่องของ ”เสรีภาพ.”
  • Sat, 4 Feb 06:  รัฐบาลสหรัฐฯประณามการตีพิมพ์การ์ตูนนี้ว่ามีลักษณะ คุกคาม (Offensive) ต่อความเชื่อของชาวมุสลิม.  Freedom of the Press & Expression จะต้องคู่ไปกับ Press Responsibility ด้วย.
  • Sat, 4 Feb 06:  บก. ๒ คนของ นสพ. ในจอร์แดนถูกไล่ออกที่นำ “การ์ตูนพระมะหะหมัด” มาตีพิมพ์ซ้ำ และถูกจับในความผิดฐานดูถูกศาสนา ตามกฎหมายสื่อมวลชนและการพิมพ์ของจอร์แดน (Press & Publication Law).
  • Sat, 4 Feb 06:  นสพ. นิวซีแลนด์ ๒ ฉบับชื่อ “The Dominion Post” และ “The Christchurch Press” ได้นำ “การ์ตูนพระมะหะหมัด” มาตีพิมพ์ซ้ำหมดทั้ง ๑๒ เรื่อง.  ยิ่งกว่านั้น สถานีโทรทัศน์ Television New Zealand ยังนำการ์ตูนบางเรื่องไปออกอากาศ ในรายการสถานการณ์ปัจจุบัน “Close Up” เมื่อวันศุกร์, ๓ กพ. ๐๖ ด้วย.
  • Sat, 4 Feb 06:  ชาวมุสลิมหลายพันคนในดามัสคัส (เมืองหลวงซีเรีย) บุกเผาสถานทูตเดนมาร์ค & นอร์เวย์ เสียหายหมด.  ทั้ง ๒ ชาติจึงออกมาประณามซีเรียที่ไม่ระงับเหตุ เป็นการผิดเอกสิทธิ์ทางการทูตในด้านความปลอดภัย และเรียกร้องให้คนชาติตน เดินทางออกนอกซีเรีย.  สถานทูตชิลี & สวีเดน ก็ถูกลูกหลงไหม้ไฟไปด้วย เพราะอยู่ตึกเดียวกับสถานทูตเดนมาร์ค.
  • Sat, 4 Feb 06:  นสพ. แท็บบลอยในเดนมาร์คชื่อ “Ekstra Bladet” ตีพิมพ์เอกสาร ๔๓ หน้าโดยมี “การ์ตูนพระมะหะหมัด” ที่วาด พระพักตร์เป็นหมู, ทรงถูกสังวาสโดยสุนัข, และทรงเสพเซ็กซ์กับเด็ก.  การ์ตูนเช่นนี้ ยิ่งกระพือให้เกิดความเดือดดาลมากยิ่งขึ้น เป็นธรรมดา.
  • Sat, 4 Feb 06:  ชาวมุสลิมทั่วโลกได้ประท้วงทั้งที่กาซ่าในปาเลสไตน์, อินโดเนเซีย, มาเลเซีย, แองคาร่าในตุรกี, และลาฮอในปากีสถาน.  ผู้ประท้วงชูป้ายว่า “Down with Denmark” และ “Hang the Culprits.”
  • Sat, 4 Feb 06:  สหรัฐฯร่วมประณามซีเรีย ที่ปล่อยให้มีการเผาสถานทูตเดนมาร์ค & นอร์เวย์ ที่ทำให้สถานทูตชิลี & สวีเดน ในตึกเดียวกัน ถูกลูกหลงไหม้ไฟไปด้วย.
  • Sat, 4 Feb 06:  รัฐมนตรีมหาดไทยของซีเรียลาออก แสดงความรับผิดชอบ ที่ไม่สามารถหยุดยั้งการบุกเผาสถานทูตเดนมาร์ค & นอร์เวย์ได้.
  • Sun, 5 Feb 06:  ชาวมุสลิมในเบรุต (เมืองหลวงเลบานอน) บุกเผาสถานทูตเดนมาร์ค เสียหายหมด เพราะ “ปัญหาการ์ตูนพระมะหะหมัด” & เพราะข่าวลือว่า มีผู้เผาพระคัมภีร์กุรอานที่เดนมาร์ค.  ในการประท้วงนี้ มีผู้เสียชีวิต ๑ ราย, บาดเจ็บ ๓๐ ราย, และถูกตำรวจจับกุม ๒๐๐ ราย.  นายกฯเลบานอนแถลงว่า ตำรวจได้จับชาวซีเรีย ๗๖ คน, ชาวปาเลสไตน์ ๓๕ คน, และชาวเลบานอน ๓๘ คน.  รมต. ต่างประเทศเดนมาร์ค ได้ออกมาเรียกร้องขอความสงบจากทุกฝ่าย.
  • Sun, 5 Feb 06:  ชาวมุสลิม ๘๐๐ คนที่จังหวัด Mihtarlam (ในอาฟกานิสถาน) ออกมาประท้วง ด้วยการเผาธงชาติเดนมาร์ค.
  • Sun, 5 Feb 06:  ชาวมุสลิมในไคโร (อียิปต์), อิสตันบูล (ตุรกี), และปารีส เดินขบวนประท้วงการตีพิมพ์ “การ์ตูนพระมะหะหมัด.”
  • Sun, 5 Feb 06:  ชาวเดนมาร์คในโคเปนเฮเกน ออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้แก้ปัญหานี้อย่างสันติ.
  • Mon, 6 Feb 06:  ผู้เดินขบวน ๔๐๐ คน ขว้างระเบิดขวด & ก้อนหิน เข้าในสถานทูตเดนมาร์คที่เทหราน (ในอิหร่าน) และราว ๙ รายได้รับบาดเจ็บจากการปะทะกับตำรวจ.  เดนมาร์คได้ขอร้องรัฐบาลอิหร่านอีกครั้ง ให้คุ้มกันสถานทูตของตนให้ดีขึ้น.  รมต. พาณิชย์อิหร่าน ได้ระงับการค้าระหว่าง ๒ ชาติ ลงโดยสิ้นเชิง และได้เรียกเอกอัครราชทูตตนประจำเดนมาร์ค กลับประเทศแล้ว.  ขณะนี้ มีข่าวด้วยว่า อิหร่านจะทบทวนการค้ากับทุกชาติ ที่ตีพิมพ์ “การ์ตูนพระมะหะหมัด.”
  • Mon, 6 Feb 06:  ผู้เดินขบวนที่เทหราน (ในอิหร่าน) ได้ขว้างก้อนหิน เข้าในสถานทูตออสเตรีย เพราะ นสพ. ออสเตรียชื่อ “Kleine Zeitung” ตีพิมพ์ “การ์ตูนพระมะหะหมัด” แต่ไม่มีรายงานว่ามีไฟไหม้สถานทูต.  ผู้ประท้วงแสดงความโกรธด้วย ที่ IAEA ยืนยันจะตรวจสอบโครงการไฟฟ้านิวเคลีย์ของอิหร่าน.
  • Tue, 7 Feb 06:  นสพ. อิหร่านชื่อ “Hamshahri” ประกาศเชิญชวนให้คนส่งการ์ตูนเข้ามาประกวดเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว (Holocaust) เพื่อทดสอบว่า “เสรีภาพในการแสดงออก” มีขอบเขตเพียงใด.  เมื่อต้นปี ๐๖ ประธานาธิบดีอิหร่านกล่าวว่า Holocaust คือตำนานเล่าขานที่ตะวันตกแต่งขึ้นเอง เพื่อใช้เป็นข้ออ้าง เพื่อให้ชาวยิวเข้าไปอยู่ในดินแดนปาเลสไตน์.
  • Tue, 7 Feb 06:  หลายร้อยคน เดินขบวนประท้วงสถานทูตเดนมาร์คที่เทหราน (ในอิหร่าน) ส่วนที่อัฟกานิสถาน มีผู้เสียชีวิต ๕ รายในการประท้วง “การ์ตูนพระมะหะหมัด.”
  • Tue, 7 Feb 06:  ผู้ประท้วงในเมือง Faryab ที่ตะวันตกเฉียงเหนือของอัฟกานิสถาน ได้บุกโจมตีค่ายรักษาสันติภาพของนอร์เวย์ โดยขว้างระเบิดมือ & ระเบิดขวดเข้าไป.  ฝ่ายนอร์เวย์แถลงว่า ขณะถูกโจมตีมีชาวนอร์เวย์อยู่ในค่าย ๓๒ คน, ชาวฟินแลนด์ ๑๖ คน, ชาวลัทเวีย ๓ คน, และชาวไอซ์แลนด์ อีกจำนวนหนึ่ง.
  • Tue, 7 Feb 06:  นายกรัฐมนตรีเดนมาร์ค แถลงข่าวอย่างเป็นทางการว่า การประท้วง “การ์ตูนพระมะหะหมัด” ได้ขยายไปจนรัฐบาลทั่วโลกไม่สามารถควบคุมได้แล้ว.
  • Wed, 8 Feb 06:  ที่อัฟกานิสถาน มีผู้เสียชีวิต ๔ ราย & บาดเจ็บ ๑๑ ราย เพราะตำรวจยิงผู้ประท้วงหลายร้อยคน ที่พยายามจะบุกฐานทัพของสหรัฐฯ.
  • Wed, 8 Feb 06:  มีผู้ค้นพบว่า นสพ. อียิปต์ชื่อ “Al Faqr” เคยตีพิมพ์ “การ์ตูนพระมะหะหมัด” เมื่อเดือน ตค. ๐๕ ในช่วงเทศกาลรามาดาน.
  • Wed, 8 Feb 06:  นสพ. รายสัปดาห์ในฝรั่งเศสชื่อ “Charlie Hebdo” ที่มีชื่อในด้านเสียดสีองค์กรศาสนา ได้ตีพิมพ์ซ้ำ “การ์ตูนพระมะหะหมัด” จากเดนมาร์ค.
  • Thu, 9 Feb 06:  พนักงานรักษาความปลอดภัยที่ University of Prince Edward Island ในแคนาดา ได้เข้าค้นห้องกิจกรรม นศ. และยึด นสพ. ๒,๐๐๐ ฉบับของ นศ.  หลังจากนั้น ผู้บริหารมหาวิทยาลัย จึงได้สั่งปิด นสพ. “Cadre” ลงชั่วคราว ฐานตีพิมพ์ “การ์ตูนพระมะหะหมัด.”
  • Thu, 9 Feb 06:  ผู้บริหารมหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่งในแคนาดา ชื่อ Saint Mary’s University สั่ง อจ. ผู้หนึ่ง ให้แกะ “การ์ตูนพระมะหะหมัด” ที่ติดไว้หน้าห้องทำงานออกไป.
  • Thu, 9 Feb 06:  ชาวมุสลิมราว ๕๐๐,๐๐๐ คนที่เบรุต (ในเลบานอน) เดินขบวนประท้วง “การ์ตูนพระมะหะหมัด” และประกาศให้ประธานาธิบดี George W. Bush กับ รมต. ต่างประเทศ Condoleezza Rice ให้ “หุบปากเสีย” ที่ประณามอิหร่าน & ซีเรีย ว่าถือโอกาสจากเรื่องนี้ โหมไฟให้ชาวมุสลิมประท้วงตะวันตก.
  • Fri, 10 Feb 06:  นาย Kofi Annan เลขาธิการสหประชาชาติ แสดงความหวังว่า บก. นสพ. ทั้งหลาย จะเลิกตีพิมพ์ “การ์ตูนพระมะหะหมัด” เสียที.
  • Sat, 11 Feb 06:  นาย Flemming Rose บก. นสพ. รายวันเดนมาร์ค “Jyllands-Posten” ที่ตีพิมพ์ “การ์ตูนพระมะหะหมัด” เป็นรายแรก ได้ถูกพักงานชั่วคราว.
  • Sat, 11 Feb 06:  ชาวอังกฤษหลายพันคน ชุมนุมกันในลอนดอน เพื่อประท้วง “การ์ตูนพระมะหะหมัด.”
  • Sat, 11 Feb 06:  ชาวมุสลิมหลายพันคนที่ปารีส & ที่สตราสบูร์กในตะวันออก ต่างเดินขบวนประท้วง “การ์ตูนพระมะหะหมัด” ใน นสพ. รายสัปดาห์ Charlie Hebdo.
  • Sun, 12 Feb 06:  นาง Mary McAleese ประธานาธิบดีไอแลนด์  กล่าวประนามการเขียน “การ์ตูนพระมะหะหมัด” และสรุปว่า “ชาวมุสลิมมีสิทธิทุกประการที่จะโกรธในเรื่องนี้.”
  • Sun, 12 Feb 06:  เหตุการณ์ยังเลวร้ายยิ่งขึ้น เมื่อ นสพ. แท็บบลอยอังกฤษ “The News of the World” เสนอข่าว & แพร่ภาพวีดีโอ ที่แสดงชัดว่า เมื่อปี ๒๐๐๔ ทหารอังกฤษ ๘ คนในอิรัค ได้รุมทุบ-ตี-เตะ-ต่อย วัยรุ่นอิรัค ๔ คนถึง ๔๒ ครั้ง แต่ผู้บังคับบัญชาทหารอังกฤษ กลับยืนดูเฉยไม่ห้ามปราม.  ข่าวเช่นนี้ ยิ่งทำให้ชาวมุสลิมเกลียดชาวตะวันตกมากขึ้น.
  • Mon, 13 Feb 06:  ชาวปากีสถานกว่า ๑,๐๐๐ คน บุกเข้าทำลายอาคารธุรกิจของชาวตะวันตก & เผาสภาประจำจังหวัด เพราะโกรธที่เอาใจแต่พวกตะวันตก.  การประท้วงที่จังหวัด Preshawar มีคนตาย ๒ ราย และที่จังหวัด Lahore อีก ๑ ราย.
  • Tue, 14 Feb 06:  ชาวตะวันตก ก่อปัญหาระลอกใหม่ เมื่อ รมต. ปฏิรูปรัฐธรรมนูญของอิตาลี Roberto Calderoli ใส่เสื้อ T-Shirt ที่มีรูป “การ์ตูนพระมะหะหมัด” ก่อให้เกิดการเดินขบวนประท้วงสถานกงสุลอิตาลีที่เมืองท่าเบ็งกาซี (ในลิเบีย).
  • Tue, 14 Feb 06:  ที่อเมริกาใต้ นสพ. เปรู “RPP Noticias” และ นสพ. ชิลี “24 Horas” ต่างตีพิมพ์ซ้ำ “การ์ตูนพระมะหะหมัด” จากเดนมาร์ค.
  • Wed, 15 Feb 06:  ทีวีออสเตรเลียแพร่ภาพเพิ่มเติม เรื่องทหารสหรัฐฯในอิรัค ทรมาน, ประหาร, และทำทารุณทางเพศ แก่นักโทษที่เรือนจำ Abu Ghraib ในอิรัคเมื่อปี ๒๐๐๓.  ข่าวเช่นนี้ จึงเป็น “น้ำมันราดกองไฟ” ในเรื่อง “การ์ตูนพระมะหะหมัด.”
  • Wed, 15 Feb 06:  นาย Francesco Trupiano เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำอิรัค ออกแถลงการณ์ในนามของ รมต. ปฏิรูปรัฐธรรมนูญของอิตาลี Roberto Calderoli ขอโทษต่อลิเบีย ที่แนะให้อิตาลี “ใช้กำลังต่อชาวมุสลิม.”
  • Thu, 16 Feb 06:  รัฐสภาแห่งยุโรป (European Parliament) ลงมติประณามความรุนแรงทุกรูปแบบ ในปัญหา “การ์ตูนพระมะหะหมัด” และออกแถลงการณ์ยืนยันว่า EU เป็นพันธมิตรกับเดนมาร์ค & ชาติอื่นๆที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง.  EU ระบุด้วยว่า ถ้าชาวมุสลิมได้รับความเสียหายจาก “การ์ตูน” พวกเขาย่อมมีสิทธิประท้วงได้ แต่ต้องทำโดยสันติวิธี.  แถลงการณ์ของ EU ยืนยันว่า “Freedom of Speech” มีความศักดิ์สิทธิ์สูงสุด และจะถูกเซ็นเซอร์ในรูปแบบใดๆไม่ได้ทั้งสิ้น.
  • Thu, 16 Feb 06:  ชาวปากีสถานราว ๔๐,๐๐๐ คน ร่วมเดินขบวนประท้วงที่เมืองการาจี เผาธงชาติเดนมาร์ค & เผาหุ่นจำลองนายกรัฐมนตรีเดนมาร์ค.
  • Fri, 17 Feb 06:  พระปากีสถานผู้มีนามว่า Mohammed Yousaf Qureshi ประกาศให้รางวัล ๑ ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ (ราว ๔๐ ล้านบาท) พร้อมรถยนต์ ๑ คัน แก่ผู้ที่สามารถฆ่านักเขียน “การ์ตูนพระมะหะหมัด.”
  • Fri, 17 Feb 06:  Haji Yaqub รัฐมนตรีผู้หนึ่งแห่งรัฐอุตรประเทศในอินเดีย ประกาศให้รางวัล ๑๑ ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ (ราว ๔๔๐ ล้านบาท) แก่ผู้ที่สามารถตัดหัวนักเขียน “การ์ตูนพระมะหะหมัด.”
  • Fri, 17 Feb 06:  เดนมาร์คปิดสถานเอกอัครราชทูตของตนในปากีสถาน ลงชั่วคราว หลังมีการประท้วงหลายระลอก ต่อการตีพิมพ์ “การ์ตูนพระมะมะหมัด.”  กระทรวงการต่างประเทศเดนมาร์คแถลงว่า สถานการณ์ความมั่นคงไม่น่าพอใจ เพราะเกิดบรรยากาศ “Antipathy” คือเกลียดชัง-ต่อต้านเดนมาร์คอย่างรุนแรงในปากีสถาน.  ตลอด ๕ วันที่ผ่านมา (๑๓-๑๗ กพ. ๐๖) ได้มีการประท้วงรุนแรงทั่วปากีสถาน ในเรื่อง “การ์ตูนพระมะหะหมัด.”  นี่คือชาติที่ ๕ ที่เดนมาร์คปิดสถานเอกอัครราชทูตของตน.  ชาติแรกได้แก่อิหร่าน, ตามมาด้วยซีเรีย, เลบานอน, และอินโดนิเซีย ตามลำดับ.
  • Fri, 17 Feb 06:  ปากีสถานเรียกตัวเอกอัครราชทูตของตนประจำเดนมาร์คกลับประเทศเพื่อ “มาปรึกษาในปัญหาการ์ตูนพระมะหะหมัด.”  นี่คือสัญญาณว่า ความสัมพันธ์ระหว่างชาติทั้งสอง กำลังตึงเครียด.
  • Fri, 17 Feb 06:  ชาวมุสลิมกว่า ๒,๐๐๐ คนที่ฮ่องกง เดินขบวนประท้วงโดยสงบ ต่อการตีพิมพ์ “การ์ตูนพระมะหะหมัด.”
  • Fri, 17 Feb 06:  มีคนกว่า ๑,๐๐๐ รายบุกเผาสถานกงสุลอิตาลีที่เมืองท่าเบ็งกาซี (ในลิเบีย) เพราะโกรธ รมต. อิตาลี Roberto Calderoli ที่ใส่เสื้อ T-Shirt ที่มีรูป “การ์ตูนพระมะหะหมัด.”  ตำรวจได้ยิงผู้ประท้วงตายไป ๑๐ คน & บาดเจ็บหลายคน.  นี่นับเป็นครั้งแรกที่ทรัพย์สินของอิตาลีถูกทำลาย ในปัญหา “การ์ตูนพระมะหะหมัด.”  นายกรีฐมนตรี Silvio Berlusconi ได้เรียกร้องให้นาย Roberto Calderoli ลาออกจากตำแหน่ง รมต. และแถลงว่า อิตาลีมีนโยบายให้ความเคารพต่อศาสนาอิสลาม.
  • Fri, 17 Feb 06:  เดนมาร์ค & นอร์เวย์ ได้สั่งปิดสถานเอกอัครราชทูตของตนที่ทานซาเนีย เพราะก่อนหน้านี้ ชาวมุสลิมหลายพันคนที่ดาร์เอสซาลาม (ในทานซาเนีย) ได้เดินขบวนประท้วงโดยสงบ และยื่นคำขาดให้เดนมาร์ค & นอร์เวย์ ถอนคำพูด (Recant) ในกรณี “การ์ตูนพระมะหะหมัด” ภายใน ๒๑ วัน.  ถ้าไม่เช่นนั้น ชาวมุสลิมจะบอยค็อตสินค้า & การบริการทุกชนิดจาก ๒ ชาตินี้ และจะให้รัฐบาลทันซาเนียตัดความสัมพันธ์ทางการทูต.
  • Fri, 17 Feb 06:  ณ วันศุกร์ ๑๗ กพ. ได้มีคน ๒๔ รายตายไปแล้วทั่วโลก ในการประท้วงการตีพิมพ์ “การ์ตูนพระมะหะหมัด.”
  • Sat, 18 Feb 06:  นาย Calderoli รมต. ปฏิรูปรัฐธรรมนูญของอิตาลี ยินยอมลาออกจากตำแหน่ง หลังที่ถูกกดดันโดยนายกรัฐมนตรี Berusconi กรณีถูกประท้วงที่ลิเบีย.  นอกจากนี้ นาย Fini รองนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศจะไปคารวะสุเหร่าในกรุงโรมด้วย.
  • Sat, 18 Feb 06:  เครือข่ายนักวิชาการมุสลิม ๒,๐๐๐ คน เดินขบวนโดยสันติ ที่โคเปนฮาเกน (ในเดนมาร์ค) เรียกร้องให้ “พูดจากัน & สันติให้มากขึ้น ระหว่างชนต่างศาสนา, วัฒนธรรม, และชาวมุสลิม.” (More dialogue and peace amongst religions, cultures and Muslims).  ผู้เดินขบวนครั้งนี้ มีหลายเชื้อชาติ & หลายระดับอายุ ซึ่งชูคำขวัญว่า “เสรีภาพแห่งการแสดงออก หมายถึงการให้ความเคารพ.”
  • Sat, 18 Feb 06:  ชาวมุสลิมอังกฤษราว ๑,๐๐๐ คนเดินขบวนครั้งใหญ่ที่สุดในลอนดอน จาก Trafalgar Square เคลื่อนไป Hyde Park เพื่อประท้วง “การ์ตูนพระมะหะหมัด.”  นี่คือการประท้วง ณ วันหยุดปลายสัปดาห์ครั้งที่ ๓ ติดต่อกันในลอนดอน.  ผู้จัดการเดินขบวนนี้ ได้แก่ Muslim Action Committee.  ตำรวจไม่ได้จับผู้ใด ในการประท้วงนี้.  แต่ที่น่าสังเกตก็คือ ได้มีการเรียกร้อง เป็นครั้งแรกในอังกฤษ ให้ตัดหัวนักเขียน “การ์ตูน.”
  • Sat, 18 Feb 06:  ชาวมุสลิม ๔ คนในปากีสถานได้รับบาดเจ็บ เพราะถูกตำรวจยิง ในการเดินขบวนประท้วง “การ์ตูนพระมะหะหมัด” ที่เมือง Chaniot ในจังหวัดปันจาบ.  การประท้วงที่ปากีสถานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้มีคนตายไปอย่างน้อย ๕ ราย.
  • Sat, 18 Feb 06:  ชาวมุสลิมสตรีที่เมืองการาจี (ในปากีสถาน) ร่วมเดินขบวนประท้วง “การ์ตูนพระมะหมัด” และเผาธงชาติของเดนมาร์ค, สหรัฐฯ, และอิสราเอล.
  • Sat, 18 Feb 06การประท้วง “การ์ตูนพระมะหะหมัด” ครั้งแรกที่ไนจีเรีย ดูจะกลายเป็นการโจมตีครั้งแรกโดยชาวอิสลาม ที่มุ่งตรงต่อชาวคริสเตียนไปเสียแล้ว เพราะโบสถ์คริสต์ศาสนาได้ถูกเผาไปแล้ว ๑๑ แห่ง และได้มีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย ๑๖ รายที่ส่วนใหญ่เป็นชาวคริสต์.  ความขัดแย้งระหว่างศาสนานี้ มีขึ้นเป็นครั้งแรกที่เมือง Maiduguri ณ ตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรีย และตายไปอีก ๑ รายที่จังหวัด Katsina ทางเหนือตอนกลางของไนจีเรีย.  นี่คือความรุนแรงครั้งแรกในปัญหา “การ์ตูน” ที่ไนจีเรีย ซึ่งเป็นชาติที่มีชาวมุสลิม & ชาวคริสเตียน อย่างละครึ่งที่ตอนเหนือ.
  • Sun, 19 Feb 06:  พรรคการเมืองตุรกี Felicity Party เข้าร่วมกับชาวมุสลิมหลายหมื่นคนที่อิสตันบูล ประท้วงเรื่อง “การ์ตูนพระมะหะหมัด.”
  • Sun, 19 Feb 06:  ชาวมุสลิมกว่า ๔๐๐ คนถูกตำรวจจับที่เมืองอิสลามาบัด (ในปากีสถาน) เพื่อระงับการประท้วง “การ์ตูนพระมะหะหมัด” ที่ฝ่ายค้านใช้เป็นโอกาสทางการเมือง เพื่อล้มล้างประธานาธิบดีปากีสถาน.
  • Mon, 20 Feb 06:  นสพ. “Politiken” ในเดนมาร์คเผยข้อมูลว่า เหตุที่นายกรัฐมนตรีเดนมาร์คไม่ยอมพบทูต ๑๑ ชาติอิสลามเมื่อเดือน ตค. ๐๕ เป็นเพราะทูตเหล่านั้น ขอให้รัฐบาลเดนมาร์คห้าม นสพ. “Jyllands-posten” ไม่ให้ลง “การ์ตูนพระมะหะหมัด.”
  • Tue, 21 Feb 06:  ชาวคริสเตียนในเมือง Onitsha (ที่ไนจีเรีย) แก้แค้นชาวมุสลิมด้วยการเผาสุเหร่า ณ บริเวณถนนหลักในเมือง ซึ่งเป็นการแก้แค้น.  มีชาวคริสเตียน ๖ คนเป็นอย่างน้อย ที่เสียชีวิตไปแล้ว.

 

หมายเลขบันทึก: 14502เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2006 09:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท