พระราชบัญญัติ การประมง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528 มาตราที่ 1-16


เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากปรากฏว่าในปัจจุบันนี้มี ประชาชนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้ใช้วัตถุมีพิษเพื่อทำการประมงอันอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคสัตว์น้ำได้ จึง สมควรจะได้กำหนดมาตรการควบคุมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น พร้อมกับกำหนดความรับผิดของเจ้าของเรือ กรณี ที่มีการละเมิดน่านน้ำของต่างประเทศ และทำให้คนประจำเรือหรือผู้โดยสารไปกับเรือต้องตกต้องอยู่ ณ ต่างประเทศ ประกอบกับมีสัตว์น้ำบางชนิดที่มีคุณค้าในทางเศรษฐกิจ เช่น เต่า และกระ ได้ถูกจับเกิน ปริมาณที่สมควร หากไม่มีมาตรการอนุรักษ์ที่เหมาะสมแล้ว สัตว์น้ำที่ มีคุณค่าทางเศรษฐกิจประเภท ดังกล่าวจะถูกทำลายจนไม่มีเหลือสำหรับแพร่พันธุ์ หรือนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกต่อไปจึงสมควรที่จะออก มาตรการห้ามครอบครองสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำบางชนิดที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจดังกล่าวและโดยที่ พระราชบัญญัติ การประมง พ.ศ. 2490 ไม่มีบทบัญญัติครอบคลุมไปถึงมาตรการเหล่านี้ อีกทั้งโทษบาง มาตราที่บัญญัติไว้มีอัตราต่ำไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ (ร.จ. เล่ม 102 ตอนที่ 120 หน้า 38 5 กันยายน 2528)
      ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.ให้ไว้ ณ วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2528 เป็นปีที่ 40 ในรัชกาลปัจจุบัน
 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
 โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการประมง
 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้น ไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐ สภา ดังต่อไปนี้
 มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติ การประมง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528"
 มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความใน (1) ของ มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติ การประมง พ.ศ. 2490 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
  "(1) "สัตว์น้ำ" หมายความว่า สัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำหรือมีวงจรชีวิตส่วนหนึ่งอยู่ในน้ำหรือ อาศัยอยู่ในบริเวณที่น้ำท่วมถึง เช่น ปลา กุ้ง ปู แมงดาทะเล หอย เต่า กระ ตะพาบน้ำ จระเข้ รวมทั้งไข่ของสัตว์น้ำนั้น สัตว์น้ำจำพวกเลี้ยงลูกด้วยนม ปลิงทะเล ฟองน้ำ หินปะการัง กัลปังหา และสาหร่ายทะเล ทั้งนี้ รวมทั้งซากหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของสัตว์น้ำเหล่านั้น และ หมายความรวมถึงพันธุ์ไม้น้ำตาม ที่ได้พระราชกฤษฎีการะบุชื่อ"
 มาตรา 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (1ทวิ) ของ มาตรา 4 แห่ง พระราชบัญญัติ การประมง พ.ศ. 2490
  "(1 ทวิ) "ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ" หมายความว่า ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นโดยใช้สัตว์น้ำตามที่ได้มี พระราชกฤษฎีการะบุชื่อเป็นวัตถุดิบ"
 มาตรา 5 ให้ยกเลิกความใน มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติ การประมง พ.ศ. 2490 ซึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 105 ลงวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2515 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
 " มาตรา 19 ห้ามมิให้บุคคลใด เท ทิ้ง ระบาย หรือทำ ให้วัตถุมีพิษตามที่รัฐมนตรีประกาศ กำหนดในราชกิจจานุเบกษาลงไปในที่จับสัตว์น้ำ หรือกระทำการใด ๆ อันทำให้สัตว์น้ำมึนเมา หรือ เททิ้ง ระบายหรือทำให้สิ่งใดลงไปในที่จับสัตว์น้ำในลักษณะที่เป็นอันตรายแก่สัตว์น้ำหรือทำให้ที่ จับสัตว์น้ำเกิดมลพิษ เว้นแต่เป็นการทดลองเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ และได้รับอนุญาต จากพนักงานเจ้าหน้าที่"
 มาตรา 6 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น มาตรา 28ทวิ แห่งพระราชบัญญัติ การประมง พ.ศ. 2490
 " มาตรา 28ทวิ บุคคลใดเป็นเจ้าของเรือ ใช้หรือยอมให้ใช้เรือของตนทำการประมงหรือ เพื่อทำการประมง จนเป็นเหตุให้มีการละเมิดน่านน้ำของต่างประเทศ และทำให้คนประจำเรือ หรือผู้โดยสารไปกับเรือต้องตกค้างอยู่ ณ ต่างประเทศ บุคคลนั้นมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัย ของคณะกรรมการพิจารณากำหนดค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อันเกิดจากการละเมิดน่านน้ำ ของต่างประเทศซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งมีจำนวนไม่เกินเจ็ดคน ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับ หนังสือแจ้งคำวินิจฉัยดังกล่าว
 ในกรณีที่ไม่สามารถแจ้งคำวินิจฉัยแก่บุคคลตามวรรคหนึ่ง เพราะไม่พบตัวบุคคลดังกล่าวหรือ ไม่มีผู้ใดยอมรับแทน ให้ถือว่าบุคคลดังกล่าวได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแล้ว ในเมื่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ส่งคำวินิจฉัยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหรือปิดคำวินิจฉัยไว้ในที่เห็นได้ ง่าย ณ สำนักงานภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ของบุคคลดังกล่าว โดยมีพนักงานฝ่ายปกครองหรือ ตำรวจเป็นพยานในการนั้น"
  
  มาตรา 7 ให้ยกเลิกความใน มาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติ การประมง พ.ศ. 2490 ซึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 พ.ศ. 2513 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
 " มาตรา 53 ห้ามมิให้บุคคลใดมีไว้ในครอบครองซึ่ง สัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำชนิดใดชนิด หนึ่งตามที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกา หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำชนิดใด ชนิดหนึ่งเกินจำนวนหรือปริมาณ หรือเล็กกว่าขนาดที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกา เว้นแต่จะได้รับ อนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
 ในกรณีที่สัตว์น้ำที่ห้ามบุคคลมีไว้ในครอบครองเป็นชนิดที่อาจก่อ ให้เกิดอันตรายต่อร่างกายหรือ ทรัพย์สินของบุคคลหรือสาธารณชน ให้กำหนดลักษณะของสัตว์น้ำนั้นว่าจะมีอันตรายอย่างใด และ กำหนดเวลาสำหรับผู้ซึ่งมีสัตว์น้ำนั้นในครอบครองอยู่แล้วส่งมอบสัตว์น้ำนั้นให้แก่พนักงานเจ้าหน้า ที่ไว้ในพระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งด้วย
 การขออนุญาตและการอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่กำหนดในกฎกระทรวง
 บุคคลใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำในวันที่พระราชกฤษฎีกาออกตามความ ในวรรคหนึ่งใช้บังคับ ถ้าประสงค์จะมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นต่อไป ต้องยื่นคำขออนุญาตตามวรรคสามภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ เว้นแต่ในกรณีสัตว์น้ำตามวรรคสองจะขออนุญาตหรืออนุญาตมิได้และในระหว่างเวลาที่กำหนดไว้ สำหรับการขออนุญาตจนถึงวันที่ได้รับคำสั่งไม่อนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่มิให้นำ มาตรา 67 มาใช้ บังคับ
 ในกรณีที่บุคคลตามวรรคสี่ยื่นคำขออนุญาตแล้วแต่ไม่ได้รับอนุญาตอธิบดีมีอำนาจสั่งให้บุคคลดัง กล่าวส่งมอบสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเจ็ดวันนับแต่วันได้รับคำสั่ง
 ในกรณีมีการส่งมอบสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำตามวรรคสองหรือวรรคห้า ให้กรมประมง คิดราคาสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำดังกล่าวตามสมควรแก่ผู้ส่งมอบ
 ความในวรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม วรรคสี่ วรรคห้า และวรรคหก มิให้ใช้บังคับ แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นเฉพาะที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา"
 มาตรา 8 ให้ยกเลิกความใน มาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติ การประมง พ.ศ. 2490 และ ให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
 " มาตรา 61 บุคคลใดฝ่าฝืน มาตรา 11 มาตรา 14 มาตรา 15 มาตรา 16 วรรคสอง มาตรา 23 มาตรา 31 มาตรา 34 หรือ มาตรา 52 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ"
 มาตรา 9 ให้ยกเลิกความใน มาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติ การประมง พ.ศ. 2490 ซึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ การประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2496 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
 " มาตรา 62 บุคคลใดฝ่าฝืน มาตรา 9 มาตรา 13 มาตรา 17 มาตรา 18 มาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 30 มาตรา 54 หรือ มาตรา 55 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ"
 มาตรา 10 ให้ยกเลิกความใน มาตรา 62ทวิ แห่งพระราชบัญญัติ การประมง พ.ศ. 2490 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 105 ลงวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2515 และ ให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
 " มาตรา 62ทวิ บุคคลใดฝ่าฝืน มาตรา 19 หรือ มาตรา 20 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท"
 มาตรา 11 ให้ยกเลิกความใน มาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติ การประมง พ.ศ. 2490 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
 " มาตรา 64 บุคคลใดใช้เครื่องมือทำการประมง ซึ่งต้องมีอาชญาบัตรตามพระราชบัญญัติ โดยไม่มีอาชญาบัตรตาม มาตรา 28 หรือมิได้เสียเงินอากรเพิ่มเติมตาม มาตรา 29 ต้องระวาง โทษปรับสามเท่าของเงินอากรและให้อธิบดีหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่อธิบดีมอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบได้
 เมื่อผู้กระทำความผิดได้ชำระค่าปรับตสมจำนวนที่เปรียบเทียบภายในสิบห้าวันให้คดีนั้นเป็นอันเลิกกัน"
 มาตรา 12 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น มาตรา 64ทวิ แห่งพระราชบัญญัติ การประมง พ.ศ. 2490
 " มาตรา 64ทวิ บุคคลใดไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการตาม มาตรา 28ทวิ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาทหรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ"
 มาตรา 13 ให้ยกเลิกความใน มาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติ การประมง พ.ศ. 2490 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
 " มาตรา 65 บุคคลใดฝ่าฝืนประกาศของรัฐมนตรีหรือผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งประกาศตามความใน มาตรา 32 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ"
 มาตรา 14 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น มาตรา 67ทวิ แห่งพระราชบัญญัติ การประมง พ.ศ. 2490
 " มาตรา 67ทวิ บุคคลใดฝ่าฝืน มาตรา 53 วรรคหนึ่งหรือวรรคห้า ต้องระวางโทษปรับไม่ เกินสองหมื่นบาทหรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือทั้งปรับทั้งจำ
 ถ้าหากปรากฏว่าสัตว์น้ำนั้นเป็นสัตว์ชนิดที่อาจก่อให้เกิดอันตรายตาม มาตรา 53 วรรคสอง ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทสองหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหกปี หรือทั้งปรับทั้งจำ"
 มาตรา 15 บรรดาพระราชกฤษฎีกาและประกาศรัฐมนตรีที่ออกโดยอาศัยอำนาจตาม มาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติ การประมง พ.ศ. 2490 ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้ ยังคงใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีพระราชกฤษฎีกาหรือประกาศรัฐมนตรีให้ยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงแล้วแต่กรณี
 มาตรา 16 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ที่มา http://www.kodmhai.com/m4/m4-1/Nthailaw-4-1/N379.html
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 14478เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2006 21:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 14:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท