พุทธศาสนากับการพัฒนา : พัฒนาชุมชนด้วยการจัดการศึกษา


จะให้ความสำคัญหรือไม่ก็อยู่ที่ใครคนนั้น

องค์กรพุทธศาสนา นับเป็นองค์กรหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการให้การศึกษาเพื่อพัฒนาคนในชุมชนให้มีความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับต้นจนถึงระดับสูงทั้งการศึกษาในระบบ และการศึกษานอกระบบ

การศึกษาในระบบ
องค์กรทางพุทธศาสนา ได้จัดการศึกษาที่มีหลักสูตร การเรียนการสอน การสอบความรู้เพื่อเลื่อนขั้น  และใบรับรองการผ่านความรู้ ตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปถึงระดับสูง สามารถแบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือ การศึกษาสำหรับบุคคลทั่วไป และการศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณร
๑.       การศึกษาสำหรับบุคคลทั่วไป
การศึกษาสำหรับบุคคลทั่วไป แบ่งการจัดการศึกษาออกเป็น ๔ ส่วนคือ ๑) การศึกษาปฐมวัย ได้แก่ ศูนย์อบรบเด็กก่อนเกณฑ์ในวัด ๒) การศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ คือการจัดการศึกษาให้แก่เยาวชนเพื่อเรียนพิเศษในวันอาทิตย์ นอกจากวิชาพระสายพุทธศาสนาแล้วยังมีวิชาเสริมอื่นอีกคือ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ เป็นต้น  การศึกษาชั้นนี้เป็นการศึกษาแบบให้เปล่า ๓) การศึกษาพระปริยัติธรรม เฉพาะผู้ไม่ได้บวชเรียกว่า “ธรรมศึกษา” การเรียนการสอนจะให้พระที่มีความรู้ความสามารถไปสอนตามโรงเรียนต่างๆ หรือไม่ก็จัดการเรียนการสอนในวันเสาร์และวันอาทิตย์ที่วัดอันเป็นศูนย์กลางของชุมชน ทั้งนี้แล้วแต่ความเหมาะสมของชุมชน ๔) การศึกษาระดับอุดมศึกษา เป็นการศึกษาสำหรับผู้ที่ประสงค์จะเรียนพระพุทธศาสนาในเชิงลึก ภายใต้การจัดการศึกษาโดยตรงของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง มีตั้งแต่ระดับปริญญาตรี โท และเอก ปัจจุบัน นอกจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง ยังมีมหาวิทยาอื่นอีกที่เปิดให้เรียนพระพุทธศาสนาในเชิงลึก เช่น หลักสูตรพุทธศาสน์ศึกษาในระดับปริญญาโท ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ขณะที่มหาวิทยาลัยมหิดลกำลังทำหลักสูตรปริญญาเอกเกี่ยวกับพุทธศาสนาเช่นกัน
๒.     การศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณร
การศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณรนี้ แบ่งออกเป็น ๓ ส่วนคือ ๑) ปริยัติธรรมแผนกธรรม แบ่งออกเป็น นักธรรมชั้นตรี โท และเอก โดยเทียบให้ผู้จบนักธรรมชั้นเอกเท่ากับ ป.๖ ๒) ปริยัติธรรมแผนกบาลี แบ่งเป็น บาลีประโยค ๑-๒ ป.ธ.๓ ป.ธ.๔ - ป.ธ.๙ โดยเทียบให้ผู้สอบผ่านปริยัติธรรมระดับ ๓ (ป.ธ.๓) เทียบเท่า ม.๓ ปริยัติธรรมระดับ ๕ (ป.ธ.๕) มีประสบการณ์ทำงานโดยได้รับใบเทียบความรู้และปริยัติธรรมระดับ ๖ (ป.ธ.๖) เทียบเท่า ม.๖ และปริยัติธรรมระดับ ๙ เทียบเท่า ปริญญาตรี (สาขาวิชาเอกภาษาบาลี) ๓) ปริยัติธรรมแผนกสามัญ มีการจัดการเรียนการควบคู่กันไประหว่างวิชาสายสามัญและวิชาสายพุทธศาสนา แบ่งออกเป็น ม.๑-ม.๖
เมื่อผ่านระดับ ม.๖ หรือเทียบเท่า ผู้เรียนสามารถนำใบผ่านความรู้ไปสมัครเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาที่สูงขึ้นได้ ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี-ปริญญาเอก นอกจากนั้น ความรู้ที่ได้จากการศึกษายังนำไปพัฒนาชีวิต ครอบครัว องค์กร ประเทศชาติ โดยเฉพาะด้านคุณค่าทางจริยธรรมได้เป็นอย่างดี

การศึกษานอกระบบ
การศึกษานอกระบบ สถานศึกษาที่สำคัญซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศคือ “วัด” มีมากกว่า ๓๑,๒๐๗ วัด (ต่างประเทศประมาณ  ๑๓๖ วัด) และบุคลากรที่สำคัญในการให้ความรู้คือ “พระสงฆ์” การศึกษานอกระบบ มีหลักสูตรใหญ่คือ “พระไตรปิฎก” อันเป็นคัมภีร์หลักทางพระพุทธศาสนา ส่วนเนื้อหาของการเรียนรู้ ขึ้นอยู่กับพระสงฆ์จะเป็นผู้จัดการถ่ายทอดออกทางอักขรวิธีบ้าง เทศนาวิธีบ้าง อย่างไรก็ตาม การจัดการศึกษานอกระบบนี้ไม่มีการสอบความรู้เพื่อเลื่อนขั้นและไม่มีใบรับรองผ่านความรู้ หากแต่เป็นการเรียนรู้เพื่อฝึกฝนตัวเอง การเรียนรู้เพื่อทำลายความไม่รู้ และการเรียนรู้เพื่อเพิ่มพูนศรัทธา
                การศึกษานอกระบบ อาจแยกผู้ศึกษาออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ๆ คือ ๑) กลุ่มชาวพุทธ ที่ยังยึดมั่นในจารีต ประเพณี และวัฒนธรรมความเป็นพุทธแบบไทย ๒) กลุ่มนักวิชาการ อันประกอบด้วยคนนอกพระพุทธศาสนาและชาวพุทธที่ศึกษาจากสาขาวิชาอื่นๆ และหันมาจับงานวิชาการด้านพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาตามความเชื่อของบรรพบุรุษ ทั้ง ๒ กลุ่มนี้ อาจมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน กล่าวคือ กลุ่มแรก อาจมองเพียง การอุปถัมภ์บำรุง การอนุรักษ์ และการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา ตามจารีตเดิม ส่วนกลุ่มหลัง อาจสงสัยในความเป็นพระพุทธศาสนา เมื่อมีความรู้ความเข้าใจจึงนำหลักการทางพุทธศาสนาไปใช้กับเนื้องานที่ตนรับผิดชอบ
           

คำสำคัญ (Tags): #ศาสนาและปรัชญา
หมายเลขบันทึก: 14458เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2006 16:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท