บริหารโอกาส เรื่องที่ขาดไม่ได้สำหรับนักเรียนยุคไอที


บทความนี้เขียนเพื่อลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น "ข่าวชุมพร" ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2549

ช่วงนี้มีโอกาสได้เข้าไปเรียนรู้เรื่องทางการศึกษามากเป็นพิเศษ ทั้งในฐานะประธาน อกคศ.เขตพื้นที่การศึกษาชุมพร เขต 1 และประธานเครือข่ายผู้ปกครองโรงเรียนสอาดเผดิมวิทยา แต่ที่สำคัญที่สุดซึ่งเป็นปัจจัยกำหนดให้ต้องเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวันมาใช้เวลาร่วมอ่าน ร่วมเรียนรู้บทเรียนในระดับประถมปลายและมัธยมต้นก็คือ การเป็นพ่อของลูกชายและลูกสาวในวัยเรียน

ยิ่งได้รับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ก็ยิ่งเห็นว่า โรงเรียนและครอบครัวของนักเรียนจะต้องช่วยกัน บริหารโอกาส (Opportunity Management) ของลูกหลานให้มีความพร้อม รู้เท่าทัน และไม่เสียโอกาสสำหรับเส้นทางของการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไปในอนาคต

แล้วเรื่องของ การบริหารโอกาสสำหรับนักเรียน ที่ว่านี่มันคืออะไรกัน ?” ผมอยากให้อ่านหัวข้อข่าวที่ตัดมาจากเว็บไซท์แห่งหนึ่งน่าจะทำให้เข้าใจเรื่องนี้ได้ชัดเจนขึ้น

การสอบคัดเลือกระบบโควตาถือเป็นโอกาสทองก่อนลงแข่งขันในสนามใหญ่ (Entrance) เนื่องจากสนามใหญ่ทุกคนแข่งกันหมด แต่การสอบโควตานั้นที่เรียกว่าเป็นโอกาสทองเพราะแต่ละมหาวิทยาลัย ได้จำกัดคุณสมบัติไว้ เฉพาะกลุ่ม การแข่งขันจึงไม่รุนแรงมาก เช่น การจำกัดภูมิภาคของผู้สมัคร หรือความสามารถพิเศษด้านต่างๆ กีฬา ดนตรี เป็นต้นช่วงเวลาเดือน สองเดือนนับจากนี้ น้องๆ ม.6 ทั่วประเทศ ต้องติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด ทั้งจากโรงเรียน มหาวิทยาลัย และสื่อต่าง ๆ

เรื่องนี้มีตัวอย่างของเด็กชุมพรที่กำลังเรียนหนังสือชั้น ม.6 ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมความรู้ทางด้านไอทีซึ่งเป็นวิชาที่เขารัก (เช่นเดียวกับเด็ก ๆ อีกมากมาย) ทำให้มีโอกาสตั้งแต่เรียนอยู่ในระดับมัธยมต้นเข้าไปสอบคัดเลือกเข้าฝึกอบรมในค่ายโครงการคอมพิวเตอร์โอลิมปิก ผ่านค่าย 1 และค่าย 2 ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช และในที่สุดก็ได้รับการคัดเลือกให้เข้าฝึกในค่าย 3 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ น้องนักเรียนไม่ผ่านเป็นตัวแทนระดับประเทศตามกระบวนการคัดเลือกที่มีเกณฑ์ตัดสินเป็นกติกา แต่เท่าที่ผ่านมา 3 สนามโดยมีวุฒิบัตรเป็นเครื่องรับรองให้อ้างอิงได้ในแฟ้มประวัติผลงาน หรือที่เรียกว่า Folio ของนักเรียนก็เพียงพอแล้วที่จะสมัครเข้าเรียนในรูปแบบโควตาของคณะวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่หมายมั่นปั้นมือเอาไว้แต่แรกโดยไม่ต้องไปเสี่ยงสอบแข่งขันในสนามใหญ่ (Entrance) ซึ่งมีที่นั่งเหลืออยู่ไม่มากนัก แต่มีการแข่งขันกันรุนแรงในกลุ่มนักเรียนส่วนใหญ่ (ที่ไม่ได้รับการบริหารโอกาสมาเป็นลำดับ)

ดังนั้น การบริหารโอกาสสำหรับนักเรียนยุคไอที ในทัศนะของผมก็คือ การร่วมมือร่วมใจกันทั้งที่บ้านและโรงเรียนสนับสนุนให้นักเรียนได้เรียนรู้ เสริมสร้างประสบการณ์ ทำให้การแสวงหาเส้นทางอาชีพที่เขารักมีความชัดเจนมากที่สุดตั้งแต่ในช่วงก่อนจบระดับมัธยมต้น จากนั้นก็จะต้องส่งเสริมให้นักเรียนได้รับโอกาสเข้าสู่กระบวนการจัดการความรู้รูปแบบใหม่ ๆ ซึ่งมีอยู่มากทั้งที่จัดการโดยหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยที่โรงเรียนและครอบครัวจะต้องช่วยกันติดตามข้อมูลข่าวสารในเรื่องนี้ทางอินเตอร์เน็ทอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการติดตามศึกษาหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของคณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยที่เปิดรับในระบบโควตา ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีสัดส่วนการรับนักศึกษามากกว่าการสอบผ่านสนามใหญ่ ทั้งนี้เพื่อสร้างเสริมคุณสมบัติของนักเรียนให้มีความพร้อมมากที่สุดในการเข้ารับการพิจารณาหรือสอบแข่งขันในระบบโควตา

กระบวนการทั้งหมดนี้ ผมคิดว่าเป็นหนึ่งในแนวทางที่ถูกต้องของการจัดการศึกษาสำหรับเด็กรุ่นใหม่ การกำหนดบังคับให้นักเรียนแห่ตามกันไปในเส้นทางแคบ ๆ ของการกวดวิชา โดยมีความหวังที่จะทำคะแนนให้ได้มาก ๆ ผ่านเทคนิคของการเก็งข้อสอบ ท่องจำ... และก็ท่องจำ... ซ้ำแล้วซ้ำอีก สร้างความสูญเสียให้กับระบบการศึกษาของชาติ ความเสี่ยงของครอบครัวที่จะต้องส่งลูกหลานไปกวดวิชาในเมืองใหญ่ โดยประโยชน์ที่ได้ไม่คุ้มกับที่เสียไปเมื่อพิจารณาในระยะยาวตลอดชีวิตของลูกหลานของเรา

เด็กรุ่นใหม่ต้องการ ความท้าทาย ที่มาเป็นจังหวะอย่างต่อเนื่องเหมาะกับวัยและระดับความรู้ของเขา การเข้าสู่สนามแข่งขันอยู่เรื่อย ๆ แพ้บ้าง ชนะบ้าง จะสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นทั้งตัวเขาและครอบครัว ที่สำคัญคือ รู้จักการให้อภัย และเสริมสร้างกำลังใจซึ่งกันและกัน สิ่งเหล่านี้เราเรียกว่า น้ำใจนักกีฬา ซึ่งเอามาใช้ได้ในชีวิตจริง.

ไอศูรย์ ภาษยะวรรณ์
[email protected]

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 14425เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2006 08:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท