อ่านคำสมาส : อ่านอย่างไรจึงจะถูกต้อง?


วิงวอนให้พวกเราช่วยกันดูแลภาษาไทยกันมากๆ หน่อยครับ

อ่านคำสมาส :

อ่านอย่างไรจึงจะถูกต้อง?              

         ระยะนี้พิธีกรทางโทรทัศน์มักอ่านคำสมาสผิดบ่อยๆ เช่น คำ แพทยศาสตร์  (แพด-ทะ-ยะ-สาด)  มักอ่านว่า  แพด-สาด  ความจริงคำนี้ ต้องอ่านออกเสียงอะระหว่างคำทั้งสอง แต่ออกเสียง อะ เบาแค่ครึ่งเสียง  ผมจึงขอนำความรู้เรื่องหลักการอ่านคำสมาสมาย้ำเตือนกันสักนิดว่าเราควรรักษาความบริสุทธิ์ของการออกเสียงภาษาไทยไว้เพื่อภาษาไทยเราจะได้ไม่เพี้ยนเปลี่ยนไปจนผิดอย่างถาวรครับ

           คำสมาสคือคำอย่างไร?    ต้องอธิบายกันก่อนครับ   คำสมาสคือคำที่มาจากภาษาบาลี-สันสกฤต 2 คำ ที่นำมาเชื่อมติดต่อกัน  โดยแปลความหมายจากข้างหลังไปข้างหน้า  อย่างเช่น แพทยศาสตร์  (แพทย์ + ศาสตร์)  หมายถึง  วิชาที่ว่าด้วยการแพทย์  เป็นต้น  เวลาอ่านออกเสียง ต้องอ่านออกเสียงอะ  หรือ อ่านเรียงพยางค์  ระหว่างคำทั้งสองนั้น (สังเกตการเขียนด้วยว่า จะไม่มีตัวการันต์ท้ายคำแรก เพราะต้องการให้อ่านออกเสียงอะ อย่าใส่ไปนะครับ) 

1.ตัวอย่างคำสมาสที่อ่านตามหลักเกณฑ์ เช่น 

แพทยศาสตร์        -     แพด-ทะ-ยะ-สาด 

สัตวแพทย์           -     สัด-ตะ-วะ-แพด 

ประวัติศาสตร์       -      ประ-หวัด-ติ-สาด (กรณีมีสระอื่นระหว่างคำให้อ่านออกเสียงสระนั้นครับ) 

มัธยมศึกษา         -      มัด-ทะ-ยม-มะ-สึก-สา (อ่านผิดกันมาก) 

อุดมศึกษา           -      อุ-ดม-มะ-สึก-สา 

ประถมศึกษา        -      ประ-ถม-มะ-สึก-สา 

บรรณารักษศาสตร์ -      บัน-นา-รัก-สะ-สาด

เจตคติ               -      เจ-ตะ-คะ-ติ 

เจตภูต               -      เจด-ตะ-พูด 

ทัศนคติ              -     ทัด-สะ-นะ-คะ-ติ  

2.คำสมาส  แต่ไม่อ่านตามแบบสมาส      คำต่อไปนี้แม้จะเป็นคำสมาสแต่ไม่ต้องอ่านอย่างสมาส ซึ่งต้องจดจำครับ  ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะคนไทยออกเสียงผิดเพี้ยนกันมานานจนชินแล้ว  ยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้ นี่แหละครับผลของการไม่ใส่ใจในการรักษาความถูกต้องเอาไว้  ตัวอย่างเช่น 

คำที่เป็นชื่อจังหวัด  12 จังหวัดที่ไม่ต้องอ่านแบบสมาส 

ชลบุรี  ชัยนาท  ปทุมธานี  ปราจีนบุรี  ลพบุรี 

สกลนคร สมุทรปราการ    สมุทรสงคราม

สมุทรสาคร  สุพรรณบุรี อุดรธานี    อุทัยธานี 

ชื่อจังหวัดนอกจากนี้ที่เป็นคำสมาสต้องอ่านอย่างสมาสครับ เช่น 

ราชบุรี      -  ราด-ชะ-บุ-รี        เพชรบุรี    -  เพ็ด-ชะ-บุ-รี      

3.คำที่ไม่ใช่คำสมาสแต่อ่านอย่างสมาส     ส่วนใหญ่เป็นคำประสมซึ่งเป็นวิธีสร้างคำของไทยครับ เช่น

 พระพุทธเจ้า    -  พระ-พุด-ทะ-เจ้า 

 กรม              - กรม-มะ .... เช่น  กรมขุน  กรมวัง                   กรมหลวง กรมพระ   กรมพระยา  กรมท่า  

(ส่วนคำว่า กรม ที่ใช้นำหน้าชื่อองค์กร  เช่น  กรมตำรวจ  กรมสรรพากร  กรมทรัพยากรธรณี ฯลฯ ไม่อ่านตามหลักเกณฑ์นี้ ครับ)

กลเม็ด           -  กน-ละ-เม็ด 

คุณค่า           -   คุน-นะ-ค่า  (คำนี้อ่านผิดกันมาก) 

ทุนทรัพย์       -   ทุน-นะ-ซับ 

พลขับ           -   พน-ละ-ขับ 

พลความ        -   พน-ละ-ความ 

พลเมือง        -   พน-ละ-เมือง 

พลร่ม           -   พน-ละ-ร่ม (คำนี้อ่านผิดกันมาก

                      จนชินแล้วครับ)  

พลเรือน        -   พน-ละ-เรือน   

สรรพสินค้า    -   สับ-พะ-สิน-ค้า (คำนี้ก็อ่านผิดกันมากเช่นกัน) 

สรรพสิ่ง        -   สับ-พะ-สิ่ง , สัน-พะ-สิ่ง  

            ความจริงคำที่อ่านอย่างไร เขียนอย่างไร  ให้ถูกต้อง  มีรวบรวมอยู่ในหนังสือของราชบัณฑิตยสถาน เล่มเล็กๆ ยาวๆ ครับ  น่าจะหามาอ่านประกอบ ราคาไม่แพงครับน่าจะสิบกว่าบาทกระมัง  ได้ความรู้ และนำไปใช้พูดให้ถูกต้อง   ช่วยกันรักษาเสียงอ่านของคำในภาษาไทยไว้ให้ถูกต้อง ก่อนที่จะผิดเพี้ยนเปลี่ยนไปจนผิดถาวรนะครับ   เสียชื่อคนไทยหมด  ที่อ่าน-พูดภาษาของตนผิดๆ แล้วอย่างนี้เราจะไปสอนภาษาไทยให้ต่างชาติเขาเข้าใจว่าอย่างไร  หลายครั้งที่ชาวต่างชาติมาปรารภกับผมว่า  ภาษาไทยเข้าใจยากที่สุดในโลก  เพราะมีกฎเกณฑ์แต่ก็มีคำนอกกฎเกณฑ์  พูดอย่างแต่มีความหมายอีกอย่าง  สับสนไปหมด  ก็ต้องวิงวอนให้พวกเราช่วยกันดูแลภาษาไทยกันมากๆ หน่อยครับ          

หมายเลขบันทึก: 143888เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2007 10:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
  • ขอบคุณมากครับ
  • เราควรรักษาความบริสุทธิ์ของการออกเสียงภาษาไทย ไว้เพื่อภาษาไทยเราจะได้ไม่เพี้ยนเปลี่ยนไปจนผิดอย่างถาวรครับ ถูกใจครับ
  • สงสัยว่าผมต้องหันมาทำความเคยชินกันใหม่แล้วครับ แรกๆ เพื่อนคงหัวเราะเยาะกับการถูกกฏเกณฑ์น่าดู

สวัสดีครับ อ.กรเพชร

ขอบคุณที่นำความรู้มาให้ทบทวนกัน เดี๋ยวนี้เราพูดภาษาไทยผิดกันเยอะขืนปล่อยไปก็จะทำให้ภาษาผิดเพี้ยน ครับ ต้องช่วยกันครับ

ขอบพระคุณอาจารย์มากนะค่ะ บางคำหนูเข้าใจว่าอ่านเช่นนั้นถูกต้องแล้ว พออ่านบันทึกนี้ของอาจารย์ อายยยย ... และได้ทราบที่ถูกต้องตามหลักภาษาไทยต้องอ่านอย่างไร

สวัสดีครับP

         ดีใจครับที่เรามาช่วยกันรักษาความบริสุทธิ์ของเสียงในภาษาไทยกัน

สวัสดีครับP

       ขอบคุณอย่างยิ่งครับ  ภาษาไทยเป็นของทุกคนครับ เราใช้ตั้งแต่เกิดและใช้ทุกเวลานาทีตลอดชีวิตของเรา  ต้องช่วยกันดูแลครับ

สวัสดีครับP

        ผมเชื่อว่าคุณ Moo  ใช้ภาษาไทยได้ดีคนหนึ่งครับ สังเกตการเขียนบันทึก ผมยังชอบมากเลยครับ คงมีบางคำที่เราพลาดพลั้งไป แก้ไขใหม่ก็จะดีครับ

ตอนเรียนหนังสือใช้หลักท่องเพื่อกันสับสนระหว่างคำสมาส และคำสนธิว่า สมาสชน สนธิเชื่อม

สวัสดีครับP

      ทำไมใช้หลักเดียวกันครับ  น่าจะเป็นคนยุคเดียวกัน ท่องจำแล้วได้ผลดีครับ

อยากรู้ว่าคําไหนคือคำสมาสที่ใช้กันทั่วไป คําไหนคือคำสมาสที่ใช้เป็นศัพท์วิชาการ

ช่วยตอบหน่อยได้ไมค่ะ

 

thank you kha

คุณค่า อ่านได้ สองแบบครับ คุน - ค่า , คุน - นะ - ค่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท