ทางกลับคือการเดินทางต่อ (2)


บทความนี้เขียนเพื่อลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น "ไทยนิวส์" ฉบับประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2549
ในชั้นเรียนหลักสูตรบริหารเศรษฐกิจสาธารณะฯ สถาบันพระปกเกล้า ท่านศาสตราจารย์ ดร.เมธี ครองแก้ว ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ศึกษาและทำวิจัยเกี่ยวกับ ความยากจน มาอย่างยาวนาน สรุปแบบ ฟันธง ให้นักศึกษาได้ฟังกันอย่างชัด ๆ ว่า สำหรับครัวเรือนในระดับรากหญ้า ถ้าไม่มีแนวทางใดช่วยเหลือและสนับสนุนให้ ลูกหลาน พ้นจากความยากจนไปได้แล้ว ก็เป็นที่แน่ชัดว่า ครัวเรือนนั้นจะต้องวนเวียนอยู่ในวัฏจักรของความยากจนต่อไป

 

ผมฟังบทสรุปนี้แล้ว คิดย้อนกลับและคิดเชื่อมโยงไปข้างหน้าก็ยิ่งเห็นด้วยกับท่านอาจารย์เมธี เพราะเมื่อเราเริ่มต้นวิเคราะห์ความยากจนของครัวเรือน ตัวเลขที่ไม่ค่อยสมดุลมักจะปรากฏให้เห็นเด่นชัดก็คือ รายรับที่น้อยไม่พอรายจ่าย ลำพังถ้าครอบครัวนั้นมีเพียงสามี-ภรรยาช่วยกันทำมาหากิน แม้จะไม่มีกิจการเป็นของตัวเอง ขาดที่ดินแหล่งทำกินต้องทำงานรับจ้างทั้งในรูปแบบรายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือน เงินรายได้ที่เข้ามาถ้าไม่ใช้จ่ายเกินตัวก็พอจะเลี้ยงตัวเองได้ และในครอบครัวที่รู้จักใช้เงินก็มีให้เหลือเก็บหอมรอมริบเดือนละเล็กละน้อย ค่อย ๆ สร้างอนาคตให้พ้นไปจากความยากจน

 

แต่ถ้าจับภาพไปที่ครัวเรือนซึ่งมีภาระในการเลี้ยงดูลูกหลาน รายจ่ายที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งอยู่ที่การส่งเสียให้ลูกหลานเติบใหญ่ได้รับการศึกษา ครัวเรือนที่อยู่ในสภาพอัตคัดขัดสนเมื่อลูกหลานเรียนสูงขึ้นเรื่อย ๆ ก็ยิ่งต้องแลกกับที่สวน ที่นา และตัวเลขหนี้สินของพ่อแม่ ซ้ำร้ายเมื่อจบออกมาแล้วถ้าหางานทำไม่ได้กลายเป็นคนว่างงาน (ที่เลือกงาน) ทางเลือกที่เกือบทุกครอบครัวจะต้องเผชิญก็คือ ต้องหางานให้ลูกหลานทำไม่เช่นนั้นจะเที่ยวเตลิดเปิดเปิงไปมั่วสุมอยู่กับกลุ่มเพื่อน สร้างปัญหาตามมาให้พ่อแม่ต้องหนักใจอีกหลายเรื่อง เรียกว่า ออกจากโรงเรียนแล้ว ไม่รู้ว่าจะไปจบที่โรงไหนก่อนกัน ระหว่างโรงพักหรือโรงพยาบาล

 

ครอบครัวส่วนใหญ่เมื่อเผชิญกับปัญหานี้ ทางออกที่เป็นเสมือน ไฟท์บังคับ ให้ต่อสู้ก็คือ ต้องหาช่องทางลงทุนให้ลูกหลานทำมาหากิน ทั้งออกมาขายอาหารริมถนน ขายเสื้อผ้า ตระเวนขายของไปตามตลาดนัด ฯลฯ แน่นอนว่าเงินลงทุนก้อนแรกที่นำมาใช้สร้างงานก็คือ เงินจากการกู้หนี้ยืมสิน จำนองจำนำหลักทรัพย์ที่พอจะมีอยู่ ซ้ำร้ายจากสภาพที่ต้องดิ้นรนทำการค้าด้วยความไม่รู้ ขาดประสบการณ์ในเชิงธุรกิจ คิดไม่รอบคอบ ฯลฯ เมื่อต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงสภาวะการขาดทุน มีหนี้สิน หมดเงินลงทุน ก็ตามมากระหน่ำซ้ำเติมเกิดเป็นวัฏจักรของหนี้สินและความยากจนที่แทบจะหาทางออกไม่ได้ กลายเป็นความกดดันที่บีบบังคับให้ลูกหลานเกิดการเบี่ยงเบนในพฤติกรรมหันหน้าเข้าหาสิ่งเลวร้ายทั้งยาเสพติด ขายบริการทางเพศ ทะเลาะวิวาท ลักขโมย อาชญากรรม ฯลฯ

 

ในเมืองใหญ่ที่มีผู้คนอยู่กันมาก มีสถานศึกษาขนาดใหญ่ ภาพของความเหลวแหลกทางสังคมก็จะยิ่งเห็นเด่นชัด เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดชุมพรของเราแล้ว นับว่ายังดีที่ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของเรายังไม่เสื่อมทรุดไปมากนัก แต่ก็มีแนวโน้มที่ชัดเจนว่าจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

 

ทางออกของการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ให้ทุเลาเบาบางลงไป จนเกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวเข้าสู่สภาวะของการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ผมคิดว่า ต้องเริ่มต้นที่เด็ก และเราไม่ควรตีกรอบเฉพาะในเรื่องของการศึกษาในรั้วโรงเรียนเท่านั้น พ่อแม่ที่อยู่ทางบ้านจะต้องเห็นความสำคัญและจริงจังกับการปลูกฝังวินัยให้กับลูกหลานในเรื่อง การใช้จ่ายอย่างชาญฉลาด

 

เรื่องนี้เป็นหนังชีวิตที่ต้องดูกันนาน ๆ ไว้อ่านต่อคราวหน้าครับ.

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 14370เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2006 08:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท