เบาหวาน ต่างกลุ่ม ต่างที่


ภาพการดูแลผู้ป่วยเบาหวานในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โดยทีมผู้เชี่ยวชาญ แตกต่างไปจากภาพการดูแลผู้ป่วยเบาหวานในบริการปฐมภูมิ

เช้าวันนี้ดิฉันได้รับเชิญไปเป็นผู้ตั้งข้อสังเกตผลงานทางวิชาการของนางสาวชุลีพร ศรศรี นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาประชากรศึกษา ภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้ศึกษาเรื่องกระบวนการเรียนรู้ที่นำมาสู่การปรับตัวของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ ๑ และครอบครัว

 รศ.ดร.เนาวรัตน์ พลายน้อย เป็นประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรนี้ (อาจารย์เนาวรัตน์ เข้าร่วม workshop คุณอำนวยรุ่นเดียวกับดิฉันที่บ้านผู้หว่าน เมื่อต้นเดือนมิถุนายน) อาจารย์สนใจเรื่องการจัดการความรู้ ทั้งความรู้ที่ชัดแจ้งและความรู้ฝังลึก

หลักสูตรกำหนดให้นักศึกษา ศึกษาประเด็นการพัฒนาคุณภาพประชากรที่สนใจ ในแนวสหวิทยาการ ทำการศึกษาแนวลึก เพื่อนำไปสู่การทำวิทยานิพนธ์ โดยให้นักศึกษาไปฝึกงานกับผู้ทรงคุณวุฒิ เรียนรู้จาก Best Practice แต่นักศึกษาก็จะต้องมีฐานคิดที่จะแลกเปลี่ยนและเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานนั้นๆ ด้วย เพราะหลักสูตรมุ่งหวังให้เกิด mutual benefit

ดิฉันมีประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ ๑ ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงพอที่จะให้ข้อสังเกตกับผลงานของนักศึกษาและสามารถที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้บ้าง

นักศึกษาทำการศึกษาโดยค้นคว้าจากเอกสาร รายงานวิจัย สืบค้นข้อมูลจากระบบสารสนเทศหรืออินเตอร์เน็ต และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ ๑ ได้ฝึกงาน ณ สาขาต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี รศ. พญ.สุภาวดี ลิขิตมาศกุล เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ดูแลระหว่างการฝึกงาน

ทีมดูแลผู้ป่วยเบาหวานของอาจารย์สุภาวดีเป็นทีมสหสาขาวิชาชีพ ในด้านของการปฏิบัติก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งของ Best Practice และอาจกล่าวได้ว่าที่นี่ให้การดูแลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ ๑ (เด็ก) จำนวนมากที่สุดในประเทศไทย

หัวข้อที่นักศึกษาเสนอครั้งนี้ น่าสนใจ ภาพที่แสดงได้ชัดคือการจัดกิจกรรมให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและครอบครัว ที่ใช้หลายวิธี ทั้งการให้ความรู้เป็นรายบุคคล เป็นกลุ่ม ให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้ฝึกปฏิบัติทักษะที่จำเป็น ตลอดไปจนถึงการจัดค่ายเบาหวาน ผู้ป่วยที่รับเข้าไว้ในโรงพยาบาล จะมีแผนการให้ความรู้ว่าวันไหนเรียนหัวข้ออะไร ฝึกปฏิบัติเรื่องใด ประเมินอย่างไร เมื่อใดจึงพร้อมที่จะออกจากโรงพยาบาลได้

ภาพที่ยังไม่ชัดและไม่ลึกนักคือกระบวนการเรียนรู้ของผู้ป่วยและครอบครัว

น่าเสียดายที่ขาดข้อมูล background ทั้งของผู้ที่ทำการศึกษาเอง ผู้ป่วยและครอบครัว และทีมเจ้าหน้าที่ผู้ให้การดูแลผู้ป่วย ทำให้ผู้อ่านรายงานนึกภาพ (จินตนาการ) ไม่ค่อยออก และเกิดความสงสัยในการตีความ (ข้อมูล) ของผู้ศึกษา

ดิฉันตั้งข้อสังเกตส่วนหนึ่งว่า สภาพแวดล้อมในโรงพยาบาลต่างจากที่บ้านและที่โรงเรียนของเด็ก สอนเขาตอนอยู่ในโรงพยาบาลแล้วให้เขาทำให้ดูไม่น่ายาก แต่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากโรงพยาบาลไปสู่บ้านและโรงเรียน เด็กและครอบครัวมีกระบวนการเรียนรู้อย่างไร เพราะเขาจะต้องปรับให้กิจกรรมการดูแลอันเนื่องจากการเป็นเบาหวานนั้นเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน

ยังมีคำถามว่าการปรับตัวของผู้ป่วยและครอบครัวคืออะไร และมีข้อเสนอว่าควรศึกษาการทำงานของทีมที่ดูแลผู้ป่วยในเชิงลึกว่ามีกระบวนการอย่างไร อะไรคือความรู้เชิงปฏิบัติของเขา เพราะนักศึกษาได้ทำงานร่วมกับทีมดูแล และดิฉันเพิ่งนึกได้ตอนกำลังเขียนบันทึกนี้ว่า น่าจะศึกษาจากเรื่องเล่าความสำเร็จของทีมด้วย

ภาพการดูแลผู้ป่วยเบาหวานกลุ่มนี้ ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โดยทีมผู้เชี่ยวชาญ แตกต่างไปจากภาพการดูแลผู้ป่วยเบาหวานในบริการปฐมภูมิที่ดิฉันเล่าเมื่อวานนี้อย่างมากๆ ทำให้เกิดความอยากรู้ว่าชุดความรู้ที่ทีมดูแลนี้ใช้ในการทำงาน รวมทั้งความรู้เชิงปฏิบัติของเขา ต่างจากของทีมในบริการปฐมภูมิหรือไม่ อย่างไร

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๘

หมายเลขบันทึก: 1434เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2005 21:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท