ยุทธศาสตร์ต้านโรคภัยเงียบ


การป้องกันโรคเบาหวาน ไขมันผิดปกติ ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน หัวใจและหลอดเลือดนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน

บ่ายวันศุกร์ที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ มีการประชุมคณะกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การควบคุมป้องกันโรคภัยเงียบจากโรคไม่ติดต่อ (Silence Killer Disease) ที่ห้องประชุม ๑ ชั้น ๒ อาคาร ๑ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมีวาระการประชุมกว้างๆ คือ

   วาระที่ ๑ เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ
   วาระที่ ๒ เรื่องเสนอเพื่อพิจารณา 
               ๒.๑ ร่างแผนยุทธศาสตร์การควบคุมป้องกันโรคภัยเงียบจากโรคไม่ติดต่อ
   วาระที่ ๓ เรื่องอื่นๆ (ถ้ามี) 

กระทรวงสาธารณสุขได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ มีองค์ประกอบเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาล สมาคมที่เกี่ยวข้องรวมทั้งหมด ๒๗ คน โดยมี ศ.นพ.จิตร สิทธีอมร คณบดีวิทยาลัยการสาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน ผู้ทรงคุณวุฒิจากโรงพยาบาลที่ได้รับการแต่งตั้งคือ ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทพธารินทร์ และ รศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา จากศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลรามาธิบดี

ในวันและเวลาดังกล่าว ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ เดินทางไปประชุมที่ต่างประเทศ ดิฉันจึงได้รับมอบหมายให้เข้าประชุมแทน สังเกตว่ามีหลายหน่วยงานที่ส่งผู้แทนมาประชุมเช่นกัน เนื่องจากไม่มีการแนะนำตัวผู้เข้าประชุม ดิฉันจึงไม่ค่อยรู้จักว่าใครเป็นใคร ต้องคอยจดจำเวลาที่ท่านประธานเอ่ยชื่อ มีบางท่านที่เคยเห็นหน้ากันมาบ้าง เช่น พญ.ฉายศรี สุพรศิลป์ชัย พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ เป็นต้น

เนื้อหาการประชุมที่พอจับความได้คือความสำคัญของโรคภัยเงียบอันได้แก่โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น ทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณในการดูแลรักษาจำนวนมาก โรคดังกล่าวเป็นโรคที่สามารถเฝ้าระวัง ควบคุมป้องกันสกัดกั้นปัญหา และลดความสูญเสียลงได้ หากทุกส่วนได้ให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมในการควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหา

พญ.ฉายศรี (ดิฉันเข้าใจว่าคงเป็นผู้รับผิดชอบงานที่สำคัญ) นำเสนอข้อมูลตามเอกสารที่แจกก่อนเข้าห้องประชุมที่มีชื่อว่า "แผนปฏิบัติการลดโรคระบาดเงียบเพื่อเฉลิมพระเกียรติครองราชย์" ใช้เวลาประมาณ ๓๐-๔๐ นาที เนื้อหาน่าสนใจ แต่ผู้เข้าประชุมออกจะงงๆ และไม่ค่อยเข้าใจว่าที่นำเสนอมานี้จะให้ผู้เข้าประชุมทำอะไร ศ.นพ.จิตร จึงช่วยสรุปประเด็นต่างๆ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ท่านสรุปได้อย่างน่าชื่นชมจริงๆ

เมื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าประชุมแสดงความคิดเห็น ดิฉันได้แนะนำตัวและนำเสนอความคิดเห็นของ ศ.นพ.เทพที่ท่านฝากไว้ว่าการป้องกันโรคเบาหวาน ไขมันผิดปกติ ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน หัวใจและหลอดเลือดนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน สิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนคือพฤติกรรมเรื่องอาหารและการออกกำลังกาย การให้การศึกษามีความสำคัญและต้องมีการผลิตบุคลากรในด้านนี้ รวมทั้งต้องสร้างความเข้มแข้งให้กับ PCU องค์กรบริหารท้องถิ่นและชุมชน ตลอดจนมีการทำงานแบบเครือข่าย ฯลฯ ดิฉันเพิ่มเติมประสบการณ์จากการประสานงานเครือข่ายว่าการพัฒนาบริการของแต่ละโรงพยาบาลแตกต่างกัน หลายแห่งยังไม่มีความตื่นตัวดูแลรักษาผู้ป่วยเรื้อรังแบบเดิมๆ ในโมเดลของ acute care ในขณะที่บางแห่งมุ่งทำงานตามตัวชี้วัดแต่ไม่ครบวงจร เช่น คัดกรองเบาหวานให้ได้ ๑๐๐% เอาคนที่เป็นมารักษา แต่ไม่ได้ทำการป้องกันในผู้ที่มีความเสี่ยง รพ.เล็กๆ หลายแห่งมีการทำงานเชิงรุกเข้าถึงชุมชนและทำงานร่วมกับองค์กรท้องถิ่น จึงควรสำรวจว่าสถานการณ์ในเรื่องนี้ปัจจุบันอยู่ ณ จุดใด

ประชุมกันจนถึงเกือบ ๑๖.๐๐ น.ท่านประธานและรองประธาน (นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข) ขอให้กรรมการแต่ละท่านกลับไปดูงานของตนเองว่ากำลังทำอะไรในเรื่องนี้และจะทำอะไรต่อไปได้บ้าง ท่านประธานไม่ลืมให้กำลังใจ พญ.ฉายศรี โดยกล่าวชมเชยและผู้เข้าประชุมร่วมกันปรบมือให้

ดิฉันไม่แน่ใจว่าการทำงานแบบการประชุมอย่างนี้จะมีประสิทธิภาพแค่ไหน เพราะยังไม่รู้เป้าที่ชัดและไม่ค่อยรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมมากนัก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อาจเป็นเพราะข้อจำกัดของดิฉันเองก็ได้

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙

หมายเลขบันทึก: 14303เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2006 09:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท