การประชุมเครือข่ายฯสัญจร (3.2) ตอนจบ


ถ้าเป็นอย่างนี้สมมติว่าโครงการจบไป ไม่มีการต่อสัญญา เครือข่ายจะเดินไปต่อได้ เพราะ ตอนนี้ (ที่ยังมีโครงการอยู่) ขาข้างหนึ่งเครือข่ายก็ช่วยเหลือตัวเอง ขาอีกข้างหนึ่งก็ให้โครงการช่วยเหลือ ถ้าเครือข่ายให้โครงการช่วยเหลือทั้งหมด ถ้าโครงการจบไป คุณ (เครือข่าย) จะล้ม แต่ถ้าเราช่วยเหลือตัวเองด้วย (ช่วยกันคนละครึ่ง) ถึงแม้โครงการจะจบไป เราก็ยังยืนอยู่ได้

      เฮ้อ! วันนี้ตั้งใจเอาไว้ว่าเป็นตายร้ายดียังไงก็ต้องเล่าเรื่องการประชุมเครือข่ายฯสัญจร (3.2) ให้จบ  เพราะ  ยืดเยื้อมาหลายวันแล้ว  จะได้เล่าวาระอื่นๆต่อไป  วันนี้ต้องตื่นตั้งแต่เช้า  เพราะ  ต้องมาร่วมงานทำบุญที่มหาวิทยาลัย  เล่นเอาเกือบแย่  แต่พอมาแล้วรู้สึกดี  เพราะ  เห็นนักศึกษาโดยเฉพาะปี 4 มาพร้อมหน้าพร้อมตากัน  ความจริงตื่นแต่เช้าก็ดีเหมือนกันค่ะ  ทำอะไรได้ตั้งเยอะแยะไปหมด

      ถ้าอย่างงั้นเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา  ขอเล่าต่อจากเมื่อวานนี้เลยก็แล้วกันนะคะ   เมื่อวานนี้ทิ้งทายไว้ที่.... จำไม่ได้เหมือนกันค่ะ 

      อ.ธวัช ยกมือขออนุญาตแสดงความคิดเห็นว่า ตนเองขอสนับสนุนความคิดของคุณนกที่เสนอว่า น่าจะแบ่งวิทยากรขยายผลออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับจังหวัด กับ ระดับกลุ่ม อยากให้ประธานฯมาพูดคุยกัน ใช้เวลาสัก 1 วัน ให้มาพูดคุยกัน มาอภิปรายกัน เนื่องจาก แต่ละคนมีประสบการณ์ เมื่อได้เนื้อหาสาระแล้วก็สรุป จากนั้นให้ประธานฯกลุ่มแต่ละกลุ่มไปดำเนินการในกลุ่มของตนเอง เช่น กลุ่มแม่พริก เวลาดำเนินการอาจเชิญกลุ่มเถิน กลุ่มแม่ทะ มาช่วยกัน เป็นต้น ตรงนี้แล้วแต่ว่ากลุ่มไหนจะดำเนินการอย่างไร นอกจากนี้แล้วก็ขอให้จัดงบประมาณลงมาช่วยด้วย เมื่อเสร็จสิ้นแต่ละกิจกรรมก็ให้รายงานผลมาที่เครือข่ายฯจังหวัด เครือข่ายฯจังหวัดจะได้ประเมินผล ติดตามผลต่อได้ ที่เสนอเช่นนี้เพราะ (1) มีเวลาจำกัดแค่ 6 เดือน (2) มีงบประมาณจำกัด

          จากนั้นประธานฯได้ถามที่ประชุมว่าตกลงจะเอาอย่างไร? เห็นด้วยกับที่เสนอหรือไม่? ในที่ประชุมยังไม่มีใครตอบ ประธานฯจึงกล่าวต่อว่ามีงบประมาณ 170,000 บาท อยากขอเน้นว่าให้เน้นไปที่การบริหารจัดการ การขยายผล และการเชื่อมประสาน ทีนี้ในการอบรมนั้นต้องอบรมภายใต้กิจกรรมที่เราทำอยู่ เพราะ ทุกคนทำงานอยู่แล้ว แต่อาจต้องมาเพิ่มทักษะ

         คุณกู้กิจ ยกมือขออนุญาตแสดงความคิดเห็นว่า ตัวเลข 6-20-100 ยังมีความซ้ำซ้อนกันอยู่ เช่น อย่างใน 20 คนนี้ คุณอุทัยซึ่งเป็นรองประธานฯก็อยู่ใน 6 คน ทีนี้ 20 คนซึ่งเป็นประธานกลุ่มคุณอุทัยก็อยู่ในนี้ด้วย (ตรงนี้ผู้วิจัยเข้าใจว่าคุณกู้กิจอาจเข้าใจผิดอะไรบางอย่าง เนื่องจาก กรรมการเครือข่ายฯมีทั้งหมด 26 คน เป็นกรรมการบริหาร 6 คน กรรมการประจำกองทุนต่างๆ 20 คน ดังนั้น จึงไม่มีทางที่จะซ้ำคนระหว่าง 6 กับ 20 ได้ นอกจากจะพิจารณา 20 คนตามที่ อ.นวภัทรเสนอที่ว่า 20 คน นั้นมาจากประธานฯกลุ่มทุกกลุ่ม ถ้าเป็นอย่างนี้ต้องซ้ำแน่นอน เนื่องจาก ประธานกลุ่มบางกลุ่มก็อยู่ในคณะกรรมการบริหาร 6 คนนี้ด้วย) ทีนี้ในเรื่องการอบรมนั้นเป็นเรื่องใหม่ แต่ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมาก คิดว่าจะต้องใช้งบประมาณมากในส่วนของการขยายผล อย่างถ้าแบ่งเป็นโซน โซนใต้ก็อาจมีเถิน แม่พริก แม่ทะ เกาะคา ส่วนอีกโซนหนึ่งก็อาจเป็นโซนในเมือง เมื่อกี้คุณสุภัตราบอกว่าเราต้องเดินไปข้างหน้า ผมจึงอยากถามว่าการที่เราเอาลำปางไปพูดทั่วประเทศนั้น เมื่อเหลียวหลังแลหน้าไปแล้วเราเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น เราเพียงแค่เอาเเบตเตอรี่ไปชาร์ท เราก็จะตอบคำถามจังหวัดอื่น หรือที่อื่นๆได้ ผมเห็นว่าสิ่งสำคัญ คือ การขยายผล

         หลังจากที่ผู้วิจัยนั่งฟังอยู่นาน โดยความรู้สึกส่วนตัวแล้วเห็นว่ายังอาจมีบางประเด็นที่ยังไม่เข้าใจตรงกันก็เลยเกิดการถกเถียง แสดงความคิดเห็นกันไปต่างๆนานา ผู้วิจัยจึงยกมือขึ้นเพื่อขอสรุปประเด็น (ไม่รู้ว่าจะใช่การสรุปหรือเปล่าค่ะ แต่ตัวเองคิดว่าใช่) ดังนี้

        1.จากที่ฟังมาทั้งหมดเห็นว่าการที่ประธานฯเสนอ 6-20-100 ขึ้นมานั้น เป็นการเสนอขึ้นมาเป็นตุ๊กตาเท่านั้น คณะกรรมการมาเข้าร่วมประชุมทั้งหมดน่าจะมาช่วยลองดูกันว่าควรจะเป็นอย่างนี้หรือเปล่า ถ้าหากคิดว่าไม่ควรจะเป็นอย่างนี้ก็สามารถเสนอเพื่อเปลี่ยนตุ๊กตาตรงนี้ได้สิ่งนี้ก็สามารถเป็นความณุ้ให้เราได้อย่างหนึ่ง

        2.ดูเหมือนว่า (แทบ) ทุกคนจะมุ่งเน้นไปที่การขยายผล ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญมากเรื่องหนึ่ง แต่ขอตั้งข้อสังเกตว่าเราน่าจะพิจารณาทั้ง 3 ส่วนไปพร้อมๆกัน คือ การบริหารจัดการ การขยายผล และการเชื่อมประสาน รวมทั้งต้องมองใน 3 ระดับด้วย คือ เครือข่ายฯ กลุ่ม สมาชิก

        3.เราอาจมีความรู้อะไรหลายอย่างที่อยู่ในตัว แต่ยังไม่มีการสะท้อนออกมา เช่น ในเรื่องการขยายผล เป็นต้น ถ้าหากเราพูดวนกันอยู่อย่างนี้ (ไม่ได้ตำหนินะคะ) เข้าใจว่าเป็นการระดมความคิดเห็น แต่เราจะไม่ได้ข้อสรุป อยากเสนอว่าลองให้มีคนโยนโจทย์หรือโยนความรู้เข้าไป อย่างเรื่องการขยายผล เราจะทำกันอย่างไร หรือในเรื่องการอบรมวิทยากรนั้นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการขยายผลเท่านั้น ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธีการ เช่น

       ในกรณีของพิจิตร ที่เขาทำในเรื่องเกษตรปลอดสาร ตอนนี้ทางสคส. ก็เข้าไปเป็นภาคีร่วมพัฒนาด้วย กลุ่มนี้เขาก็เอาเรื่องการจัดการความรู้ไปใช้ในการพัฒนาองค์กรเหมือนกัน ปรากฎว่าตอนนี้เป็นกลุ่มที่ได้รับการชมเชยว่าดีมาก มีความเข้มแข็ง มีการเชิญชวนให้ทั้งประเทศไปศึกษาดูงาน เอากลุ่มนี้เป็นตัวอย่าง กลุ่มนี้มีวิธีการอบรมหลายอย่าง เช่น ต้องการให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรปลอดสารพิษ ทางกลุ่มก็หาคนมาอบรม จัดอบรมรวดเดียวเสร็จ 5 วัน หรือ 4 วัน แต่ละวันก็จะสอนเป็นเรื่องๆไป พอผ่านการอบรมกลับไปที่บ้านตนเองแล้วต้องไปทำจริง จะมีทีมผู้ประสานงานในแต่ละอำเภอลงไปประเมินผลเลยว่าที่มาเข้าอบรมแล้วนั้นกลับไปทำจริงๆหรือเปล่า ทำแล้วได้ผลเป็นอย่างไร เราอาจเอาความรู้ตรงนี้มาประยุกต์ใช้กับการอบรมวิทยากรขยายผลของเราก็ได้ เราอาจจัดอบรมไปเลยหลักสูตรละ 2 วัน 3 วัน อบรมให้เสร็จเป็นรุ่นๆไปเลย

         ในกรณีของสงขลานั้น เท่าที่ทราบเขาใช้วันประชุมเครือข่ายฯจังหวัด คือ ทุกวันที่ 16 ของทุกเดือนเป็นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เขาจัดช่วงเวลาเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงเช้า 10.00-12.00น. เป็นช่วงของพ่อชบ พ่อชบจะนำข่าวสารข้อมูลต่างๆมาบอกกับสมาชิกของเครือข่ายฯ รวมทั้งสร้างเจตคติ ความรู้เรื่องวันละ 1 บาทให้กับสมาชิก ให้ไปเรื่อยๆ ไม่เร่งรีบ พอช่วงบ่ายก็เป็นหน้าที่ของอาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษาจะเข้ามาช่วยเสริมในเรื่องเทคนิค ทักษะต่างๆ เช่น ถ้าจะไปขยายผลเรื่องวันละ 1 บาท จะมีวิธีการพูดอย่างไร ให้ทุกคนลองออกมาพูด เปลี่ยนสลับกันไปเรื่อยๆ หน้าที่ประธานฯในที่ประชุมก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสฝึกฝนตนเอง เพราะฉะนั้นอาจไม่เห็นผลเร็วเหมือนพิจิตร เพราะที่พิจิตรรวดเดียวจบ ลงไปทำเลย แต่ของสงขลานั้นมีลักษณะซึมซับไปเรื่อยๆ มีการตั้งเป้าหมายในแต่ละครั้งว่าต้องการอะไร เช่น ต้องการให้ฝึกพูด ก็ต้องให้ความรู้ เสริมทักษะในเรื่องการพูด ครั้งต่อไปต้องการฝึกทักษะตั้งคำถาม ก็ต้องให้ความรู้เรื่องการตั้งคำถาม ให้ฝึกการตั้ง คำถาม เป็นต้น ดังนั้น จึงอยู่ที่ว่าเครือข่ายฯของเราจะเอาแบบไหน จะทำอย่างไร คิดว่าถ้ามีการโยนความคิดลงมาอย่างนี้ จะได้ความคิดที่หลากหลาย จากนั้น ค่อยมาเลือกว่าจะทำอย่างไร แต่ถ้าเลือกแล้วและได้ทำไปแล้ว แต่มันไม่ดี ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ เพราะ การจัดการความรู้นั้น โดยกระบวนการสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา อยู่ที่ว่าเราเรียนรู้ไปแล้วเอาไปทำ ถ้ามันไม่ดีเราก็ถอนออกมา ลองมาหาวิธีการใหม่ ความรู้แบบใหม่ๆ ในการที่จะเอาเข้าไปทำแล้วทำให้งานสำเร็จ

         ลุงบุญเทียม บอกว่า ตอนนี้เรามีอยู่ทั้งหมด 20 กลุ่ม มาคุยกันและลองสรุปดู อย่างเรื่องการจัดการและการขยายผลนั้น เราอาจต้องมาตั้งเป้าเลยว่ากลุ่มไหนที่อ่อนแอ เราต้องเอามาจุดประกาย เอามาชาร์ทแบตเตอรีใหม่เพื่อให้ขยายผลให้ได้ อย่างตอนนี้กลุ่มของผมอ่อนแอ คณะกรรมการยังไม่มีความรู้ อยากให้เข้าไปช่วยในเรื่องการให้ความรู้ จะได้เป็นการจุดประกายให้กับคณะกรรมการ เขาจะได้มีกำลังใจไปขยาย ไม่อย่างนั้นก็จะเกิดคำถามขึ้นมาว่ากลุ่มจะอยู่ได้หรือเปล่า จะล้มหรือเปล่า

         ประธานฯได้พยายามสรุปว่าทั้ง 3 เรื่องนี้ (การบริหารจัดการ การขยายผล การเชื่อมประสาน) นั้นต้องทำไปพร้อมกัน ขาดจากกันไม่ได้ อย่างเรื่องการบริหารจัดการ ถ้าบริหารจัดการองค์กรไม่ชัดเจน องค์กรจะเดินต่อไปไม่ได้ เพราะ มีผลต่อความเชื่อมั่น และจะส่งผลต่อการไปเชื่อมประสานในแง่ที่ว่าถ้าองค์กรมีการบริหารจัดการไม่ชัดเจน เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดการเชื่อมประสาน ดังนั้นต้องทำทั้ง 3 เรื่องไปพร้อมๆกัน ดังนั้น ผมจึงขอสรุปว่าคงต้องตั้งคณะทำงานที่จะเข้ามาบริหารจัดการโครงการนี้ ต้องมีการหารือนอกรอบว่าจะบริหารจัดการอย่างไร หากเอามาพูดในที่ประชุมอีกระยะเวลาก็จะเนิ่นนานออกไป สำหรับสิ่งที่จะต้องทำก็คือ การอบรม การทำคู่มือ การลงพื้นที่ปฏิบัติการ ส่วนการดูงานเอาไว้ก่อน

         สำหรับคณะทำงานที่จะเข้ามารับผิดชอบโครงการ ประกอบด้วย

         1.อ.ธวัช

         2.อ.นวภัทร

         3.คุณอุทัย

         4.คุณนก

         5.คุณสุภัตรา

         6.ลุงคมสัน

         7.คุณกู้กิจ

         8.อ.ชุติกาญจน์

         9.อ.สมพิศ

        10.ป้าอรพินทร์

         ประธานฯกล่าวต่อไปว่าทีมงานทั้ง 10 คนนี้จะต้องมาวางแผนร่วมกันในการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายใน 3 ระดับ และใน 3 เรื่อง ภายใต้งบประมาณที่มีอยู่ และกรอบระยะเวลา (ที่เหลือ) 6 เดือน จากนั้นประธานฯได้โยนคำถามมาที่ผู้วิจัยเกี่ยวกับเรื่องงบประมาณอีกครั้งว่ายอดเงิน 170,000 บาทนั้นได้มาหรือยัง ผู้วิจัยจึงตอบไปว่า ตอนนี้ยังไม่ได้ไปเช็คที่ธนาคารว่าทางทีมกลางโอนเข้ามาหรือยัง ตัวเลขที่บอกมานี้เป็นตัวเลขที่ดูตามสัญญา ประธานฯจึงกล่าวต่อไปว่าถ้าโอนมาแล้วก็ขอให้โอนมาที่เครือข่ายฯ ประเด็นนี้ผู้วิจัยจึงตอบกลับไปว่า ถ้าทางทีมกลางโอนเข้ามาแล้ว ทางผู้วิจัยก็สามารถโอนมาให้ทางเครือข่ายฯได้เลย ขอแค่บัญชีว่าจะเอาเข้าบัญชีไหน และขอให้มีผู้ดูแลในเรื่องบิลต่างๆ ขอให้มีความชัดเจน ถูกต้อง เพราะ เราต้องเอาไปเบิกกับหน่วยงาน ถ้าหาทีมที่จะทำตรงส่วนนี้ได้แล้วก็ให้เข้ามาคุยกับทีมวิจัยได้เลย ทีมวิจัยจะได้แนะนำว่าค่าใช้จ่ายแบบไหน ต้องใช้บิลแบบไหน เนื่องจากมีบิลอยู่หลายประเภทเหมือนกัน

          นอกจากนี้แล้ว ผู้วิจัยยังได้กล่าวต่อไปว่าในส่วนของเรื่องงบประมาณนั้น ขอยอมรับอย่างเปิดเปิดใจเลยว่าในช่วงแรกก็ได้มีการคุยกับผู้ประสานงานโครงการนี้เหมือนกันว่า รู้สึกว่างบประมาณที่ได้จะน้อยจัง แต่พอเราได้คุยกันและทำความเข้าใจกัน ทำให้ผู้วิจัยเห็นจุดๆหนึ่งว่าในการที่มีการหนุนเสริมงบประมาณมาในเรื่องการจัดการความรู้ ไม่ใช่ว่าเขาโยนเงินลงมาแล้วบอกว่าเราจะเอาไปจัดสรรหรือเอาไปทำอะไรก็ได้ให้เกิดการพัฒนาหรือเกิดการเปลี่ยนแปลง การที่หนุนเสริมงบประมาณลงมาแค่นี้ เนื่องจาก เห็นว่าจริงๆแล้วแต่ละพื้นที่ก็มีการทำงาน มีการบริหารจัดการตัวเองอยู่แล้ว เงินที่ได้รับการหนุนเสริมมานี้เอามาเป็นเพียงการหนุนเสริมกระบวนการต่างๆในการทำงาน ซึ่งต่อให้ไม่มีการหนุนเสริมงบเหล่านี้ลงมา เราก็ต้องทำงานกันอยู่แล้ว จะขอยกตัวอย่างในกรณีของเงิน 170,000 บาทนั้น เมื่อสักครู่มีผู้เสนอขึ้นมาว่าจะจะต้องเอามาทำทั้งในส่วนของการอบรมวิทยากร การขยายผล ต้องมีการให้ค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายต่างๆสำหรับการขยายผลด้วย ถ้าเราต้องทำหลายอย่างแบบนี้แล้วเรามาเอาเงินก้อนเดียว คือ 170,000 บาท ยังไงก็คงไม่พอ แต่ถ้าเรามาพิจารณาเป้าหมายของการจัดการความรู้ในระดับเครือข่ายฯ ข้อหนึ่งจะเห็นได้ว่า เครือข่ายต้องมีการหนุนเสริมและจัดการกองทุนต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพ ความจริงแล้วเครือข่ายของเราก็มีกองทุนต่างๆมากมายเป็น 10 กองทุน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนทดแทน กองทุนสวัสดิการคนทำงาน ฯลฯ ดังนั้น เงินก้อนนึง (ที่เอามาจาก 170,000 บาท) อาจเอามาใช้ในเรื่องการอบรมวิทยากรขยายผลก็ได้ ในขณะที่ค่าตอบแทนสำหรับวิทยากรที่จะลงไปเผยแพร่ ขยายกลุ่ม อาจไม่จำเป็นต้องใช้เงินใน 170,000 บาท เครือข่ายต้องมาดูว่ามีเงินของเครือข่ายส่วนไหนที่เอามาใช้ได้ ก็สามารถนำเงินจากแหล่งนั้นมาใช้ได้ เพราะอย่าลืมว่าถ้าเรามัวแต่ใช้เงินของโครงการ ถ้าหมดโครงการไปแล้ว เราอาจเดินไปไม่ถูก เนื่องจากเราเคยใช้แต่เงินของโครงการ หรือตัวอย่างในกรณีของการจัดประชุมสัญจรก็เช่นเดียวกัน เราตกลงกันว่าค่ารถในการเดินทางจะเอาจากเงินโครงการ ส่วนค่าอาหารเครือข่ายเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย อย่างนี้ถือว่าเป็นการหนุนเสริมกัน ถ้าเป็นอย่างนี้สมมติว่าโครงการจบไป ไม่มีการต่อสัญญา เครือข่ายจะเดินไปต่อได้ เพราะ ตอนนี้ (ที่ยังมีโครงการอยู่) ขาข้างหนึ่งเครือข่ายก็ช่วยเหลือตัวเอง ขาอีกข้างหนึ่งก็ให้โครงการช่วยเหลือ ถ้าเครือข่ายให้โครงการช่วยเหลือทั้งหมด ถ้าโครงการจบไป คุณ (เครือข่าย) จะล้ม แต่ถ้าเราช่วยเหลือตัวเองด้วย (ช่วยกันคนละครึ่ง) ถึงแม้โครงการจะจบไป เราก็ยังยืนอยู่ได้ อยากจะนำเสนอมุมมองอีกมุมมองหนึ่งนะคะเกี่ยวกับเรื่องงบประมาณ

        เมื่อผู้วิจัยนำเสนอความคิดเห็นจบ ประธานฯก็ได้กล่าวต่อไปว่า สรุปก็คือ ต้องช่วยเหลือตัวเองด้วย ที่ผ่านมาเวลาเราเคลื่อนงานเราไม่ได้ใช้งบประมาณจากภายนอกเลย แต่เราก็เคลื่อนงานมาได้ถึงขนาดนี้ ก็ต้องช่วยกัน

        จบแล้วค่ะ ขอบอกว่าจบแล้วค่ะ จบจริงๆ แต่เป็นการจบในวาระที่ 3 นะคะ ยังมีวาระอื่นๆต่ออีก แต่วันนี้ขอเล่าแค่นี้ก่อนนะคะ เพราะ คนเล่าเหนื่อยมากเลยค่ะ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 14250เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2006 15:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท