เทคนิคการนำให้ถูกทาง (3)


                เป็นที่น่าแปลกที่ว่า  ศาสตร์ทางการบริหาร  ไม่ได้เริ่มต้นจากนักบริหารโดยตรง  แต่มักเริ่มจากนักอื่นๆ  ดังนี้
                อดัม  สมิธ (Adam Smith-1779) เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ชี้ว่า  การบริหารคือการแบ่งงานกันทำตามความชำนาญที่ช่วยเพิ่มผลผลิต
                เฟรเดอริค  เทเลอร์ (Frederic W Talor-1910) เป็นวิศวกรชาวอเมริกัน  ที่ประกาศแนวทางการบริหารงานเชิงวิทยาศาสตร์  ในหนังสือชื่อ Principles of Scientific Management
                อังรี  เฟโยล (Henri Fayol-1930) เป็นนักธุรกิจชาวฝรั่งเศสที่ประกาศการบริหารแบบกระบวนการ 5 ประการ  คือ  การวางแผน (Planning)  การจัดหน่วยงาน (Organizing)  การบังคับบัญชา (Commanding)  การประสานงาน (Co-ordinating)  และการควบคุม (Controlling)
                แมรี่  ฟอลเลตต์ (Mary P. Follet) เป็นนักสังคมวิทยา  ผู้จุดประกายแนวคิดการบริหารเชิงมนุษยสัมพันธ์  โดยมีความเชื่อพื้นฐานว่า  ความขัดแย้ง (Conflicts) ในองค์การคือ  ความสำคัญที่ผู้บริหารควรแก้ไขให้บรรลุผลด้วยดี  เพราะความขัดแย้งเป็นธรรมชาติของการทำงานร่วมกันของมนุษย์
                ผมขอยกตัวอย่างแค่นี้ (ยังมีทฤษฎีบริหารที่หลากหลายอีกมากที่สรุปว่า  ถ้าใช้ทฤษฎีบริหารดังกล่าวแล้ว  การบริหารจะได้ผลดี)  ที่น่าสนใจคือ  นักทฤษฎี 4 คนข้างต้น  ไม่ใช่นักบริหารโดยตรง  เป็นนักเศรษฐศาสตร์  วิศวกร  นักธุรกิจ  และนักสังคมวิทยา  ผมจึงอยากกระตุ้นให้ผู้อ่านได้ศึกษาแนวคิดทฤษฎีบริหารต่างๆ  โดยไม่ต้องเกรงใจนักบริหาร  ทุกท่านสามารถสรุปเองได้  คิดเองได้  และกำหนดแนวทาง  หรือทฤษฎีเองได้  เพราะท่านเป็นผู้รู้โดยตรงในงานที่ทำ  ใครจะรู้ดีกว่าท่านที่ทำมากับมือ  ขอเชิญชวนครับ
                ผมมีข้อคิดเห็นบางประการเสริมดังนี้ครับ
                1.  ตำราบริหาร  หรือ  แนวคิดการบริหาร  และตัวอย่างความสำเร็จจากการบริหารปัจจุบัน  มักมาจากผู้เขียนหรือผู้ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ  และการบริหารปัจจุบันเริ่มมีความจำเป็นที่จะต้องนำวิธีการทางธุรกิจมาใช้มากขึ้น  และมากขึ้น  ยกตัวอย่าง  สถาบันการศึกษาในอดีตไม่จำเป็นต้องมีการประชาสัมพันธ์ (Promotion) แต่ปัจจุบันเปิดหนังสือพิมพ์รายวันอ่าน  เกือบทุกฉบับจะมีโฆษณาของสถาบันการศึกษา  ที่เปิดสอนหลักสูตรต่างๆ มากบ้าง  น้อยบ้าง  เพื่อหาลูกค้า (Customer)
                2.  ผมเข้าใจว่าแนวคิดการบริหารของ  อังรี  ฟาโยล  เป็นที่มาของคำที่ใช้ในการบริหาร  โดยเฉพาะราชการ  คือ  ผู้บังคับบัญชา  ที่น่าจะมาจาก  บังคับ (Controlling)  และบัญชา (Commanding)  ดังนั้น ข้าราชการส่วนใหญ่จึงมักไม่ค่อยคิดอะไรเอง  เพราะถูกบังคับ  และบัญชาต่อๆ กันมาตามลำดับชั้นจนเคยชิน
                3.  ปัญหาความขัดแย้งในองค์การ  เป็นปัญหาใหญ่ที่  แมรี่  ฟอลเลตต์  มองว่า  เป็นธรรมชาติของการทำงานร่วมกันของมนุษย์  ซึ่งแก้ไขไม่ได้  โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าความขัดแย้งเป็นสิ่งที่ดี  เพราะการเห็นไม่ตรงกันเป็นความขัดแย้งทางความคิด  ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (Change) และเกิดประโยชน์แก่องค์การ  แต่ถ้าคนในองค์การไม่เปิดใจกว้างและยอมรับกัน  ความขัดแย้งทางความคิดจะนำไปสู่ความขัดแย้งส่วนตัว  คือ  “ใครคิดไม่เหมือนข้า  ไม่ใช่พวกข้า  ใครไม่ใช่พวกข้า  คือศัตรูข้า”  อันตรายครับ  อันตราย
                ตัวอย่างข้างต้นคือเรื่องของการบริหารพื้นๆ อาจเข้าใจยากสำหรับผู้ไม่คุ้นเคย  แต่จะยากกว่าคือ  การนำไปปฏิบัติครับ
                ผมขอวกกลับไปเรื่อง “ให้ถูกทาง” คือ  สรุปว่าบริหารอย่างไรก็ได้ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายขององค์การ  ดังนั้นทุกองค์การจึงถูกกำหนดในเรื่องการประกันคุณภาพ  โดยเฉพาะสถาบันการศึกษา  โดยมีดัชนีชี้วัดเต็มไปหมด  เริ่มที่  ปรัชญา  วิสัยทัศน์  พันธกิจ  วัตถุประสงค์  ยุทธศาสตร์  ยุทธวิธี  ฯลฯ  ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นทางให้องค์การเดิน  เดินไปให้ถูกทาง  ให้ตรงทาง  อย่างมีประสิทธิภาพ
                ขอแถมนิทานเรื่อง  ให้ถูกทาง  เป็นการถูกทางด้านธุรกิจครับ
                เรื่องมีอยู่ว่า  บริษัทขายรองเท้า 2 บริษัท  มีการแข่งขันกันสูงมาก  จึงต้องการเปิดตลาดสินค้าแห่งใหม่  ทั้งสองบริษัทคิดตรงกัน  และทำเหมือนกัน  คือ  ต่างก็ส่งเซลล์แมนออกไปหาตลาด  ทั้งสองเซลล์แมนลงเรือเดินทางไปเกาะแห่งหนึ่ง (โดยเรือคนละลำ)
                เซลล์แมนคนแรกไปถึงก่อน  เห็นชาวเกาะไม่มีใครสวมรองเท้าเลย  จึงโทรศัพท์กลับไปบอกเจ้านาย (Boss) ที่บริษัทว่า “รองเท้าของเราคงขายไม่ได้แน่นอน  เพราะชาวเกาะไม่มีใครสวมรองเท้าเลย” แล้วก็ลงเรือจากไป
                เซลล์แมนคนที่สองไปถึงเกาะภายหลัง  เห็นเช่นเดียวกับเซลล์แมนคนแรก  คือ  ชาวเกาะทุกคนไม่สวมรองเท้า  จึงโทรศัพท์กลับไปบอกเจ้านาย (Boss) ด้วยเสียงตื่นเต้นว่า “เราจะรวยกันใหญ่แล้ว  ชาวเกาะไม่มีใครสวมรองเท้าเลย  เราต้องขายรองเท้าได้ยกเกาะแน่เลย”
                เป้าหมายของธุรกิจ  คือ  กำไร  การขายรองเท้า (ตามนิทาน) ได้มากเท่าใด  ก็ได้กำไรมากเท่านั้น  จะขายได้หรือไม่ได้  อยู่ที่คนในองค์การ  “เดินถูกทาง”  เพราะกำไรมาจากสมรรถภาพ (Competencies) ของคน
                ความรู้วันนี้  อาจไม่ใช่ความรู้วันพรุ่งนี้  เพราะมีการเรียนรู้ตลอดเวลา  เรา จึงต้องไม่หยุดเรียนรู้ครับ
                ตอนสาม  ได้แค่คำ “ให้ถูกทาง” ตอนหน้าจะเป็นเทคนิคการนำครับ  อย่าเพิ่งเบื่อ
                การบริหารยาก  แต่ไม่ยากอย่างที่คิด  ใช่ไหมครับ?
หมายเลขบันทึก: 14249เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2006 15:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ติดตามอ่าน blog ของอาจารย์มาตลอด ชอบนิทานที่อาจารย์นำมายกตัวอย่างมาก ต้องขออนุญาตินำนิทานของอาจารย์ไปเล่าให้เพื่อนในชั้นเรียนฟังบ้างนะค่ะ

ดิฉันเห็นด้วยกับอาจารย์อย่างยิ่งในเรื่องที่ความขัดแย้งเป็นเรื่องดี  แต่ในองค์กรปัจจุบันนี้โดยเฉพาะองค์กรภาครัฐ เป็นเรื่องที่ร้ายแรงมาถ้าใครบังอาจมีความขัดแย้งกับผู้บริหาร ซึ่งนับได้ว่าเป็นวัฒนธรรมองค์กรของราชการไทยไปเสียแล้ว ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็นปัญหาที่ตัวผู้บริหาร หรือผู้ร่วมงานกันแน่ ถ้าเราอยู่ในถ้าฐานะผู้บริหารเราจะจัดการอย่างไรกับปัญหานี้ในองค์กรดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท