ความเป็นเลิศของสถาบันการศึกษาเอกชน


ความเป็นเลิศทางการศึกษาหัวใจอยู่ที่ผู้เรียนสำคัญที่สุด
           ในสภาพแวดล้อมของการดำเนินธุรกิจสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะกิจการโรงเรียนเอกชนไม่ว่าจะอยู่ในกรุงเทพมหานคร หรือต่างจังหวัด ผู้บริหารย่อมมุ่งหวังสร้างความเป็นเลิศให้กับสถาบันการศึกษาของตน ผู้บริหารสถาบันการศึกษาแต่ละคนมองความหมายของ “ความเป็นเลิศ” และกลยุทธ์ที่จะนำไปสู่ความเป็นเลิศนี้แตกต่างกันไป  แต่สำหรับการประกอบธุรกิจการให้การศึกษาที่มีการแข่งขันรุนแรง ตลาดการศึกษา       ในระดับนานาชาติกำลังขยายตัวและรุกคืบเข้าสู่การเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมากขึ้น เทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และผู้บริโภคซึ่งได้แก่นักเรียน นักศึกษาต้องการได้รับบริการการเรียนการสอนที่มีคุณภาพสูงในระดับราคาพอสมควร 

            สถาบันการศึกษาที่มุ่งหวังความเป็นเลิศในรูปของผลกำไรที่สม่ำเสมอหรือเพิ่มสูงขึ้นโดยใช้วิธีการขึ้นราคาเป็นหลักย่อมสูญเสียส่วนแบ่งตลาดและไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ในทางตรงกันข้ามผู้บริหารจะต้องหันมาให้ความสนใจกับการบริหารต้นทุนแทนที่ระบบบัญชีที่ใช้อยู่จะต้องไม่บิดเบือนต้นทุนผลผลิตและต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสหรือช่องทางในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการดำเนินงานแก่ผู้บริหารด้วย     องค์ประกอบสำคัญของความเป็นเลิศของสถาบันการศึกษา ได้แก่

๑.    ความมีประสิทธิภาพทางด้านต้นทุน
การประกอบกิจกรรมต่างๆของสถาบันการศึกษานั้น  ผู้บริหารจะต้องกระทำ
โดยตระหนักถึงความมีประสิทธิภาพทางด้านต้นทุนเป็นสำคัญแต่ไม่ได้หมายความว่าสถาบันการศึกษาจะต้องพยายามลดต้นทุนให้อยู่ในระดับต่ำสุด แต่อย่างน้อยต้นทุนก็ควรจะต่ำกว่าต้นทุนถัวเฉลี่ยของการจัดการศึกษาในระดับเดียวกัน
๒.   การบริหารงานในลักษณะที่มองกิจกรรมต่าง ๆ ของสถาบันการศึกษาเป็นภาพรวม
       ผู้บริหารจะต้องเข้าใจความเกี่ยวเนื่องระหว่างกิจกรรมต่าง ๆ ต้นทุนที่เกิดขึ้น
ในหน่วยงานหนึ่งอาจได้รับผลกระทบมาจากการตัดสินใจจากหน่วยงานอื่น

๓.   การให้ความสำคัญกับทุกกิจกรรมของสถาบันการศึกษา
       ความเป็นเลิศของสถาบันการศึกษาจะเกี่ยวข้องกับทุก ๆ ส่วนขององค์กร
ไม่เฉพาะกิจกรรมการเรียนการสอนเท่านั้น ทุกกิจกรรมมีความสำคัญที่ผู้บริหารจะต้องให้ความสนใจเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นกิจกรรรมเกี่ยวกับการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษา งานหลักสูตรการเรียนการสอน  บุคลากร อาคาร-สถานที่  ธุรการ-การเงิน และความสัมพันธ์กับชุมชน   ตลอดจนการให้คำปรึกษาแก่นักเรียน นักศึกษาด้านต่าง ๆ  ฯลฯ 

๔.   การพัฒนากิจกรรมต่าง ๆ ของสถาบันการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
ความเป็นเลิศของสถาบันการศึกษาส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ผู้บริหารเน้นการพัฒนา
กิจกรรมทั้งหมดอย่างต่อเนื่อง โดยการให้ความสำคัญกับการบริหารกิจกรรมเพื่อลดความสูญเปล่าหรือกิจกรรมที่ไม่เพิ่มค่าให้เหลือน้อยที่สุดหรือให้หมดไป
 
๕.   ความพึงพอใจของนักเรียน นักศึกษา
ความเป็นเลิศของสถาบันการศึกษาจะเกิดขึ้นไม่ได้     ถ้าหลักสูตรและบริการอื่น ๆ
 ของสถาบันการศึกษาไม่สร้างความพอใจหรือไม่ตรงกับความต้องการของนักเรียน นักศึกษา ดังนั้นสถาบันการศึกษาจะต้องทำการวิเคราะห์ความต้องการของนักเรียน นักศึกษา ตลอดจนประเมินผลความพอใจของนักศึกษาด้วยวิธีการต่าง ๆ 
การจัดองค์กรทางการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ
มีแนวทางดังนี้

   ก. การปรับระบบต่างๆในโรงเรียนเพื่อการพัฒนา

   ๑.ปรับระบบการบริหารจัดการ เน้นกระบวนการบริหารแบบมีส่วนร่วม
   ๒.ปรับสภาพจิตใจครูและบุคลากร โดยการสร้างความเข้าใจ ให้ความสำคัญ ผลักดันคุณภาพ และจัดสวัสดิการ สิทธิผลประโยชน์เกื้อกูลให้ตามสมควรเพื่อเป็นการเสริมสร้างขวัญ กำลังใจ
   ๓.ปรับระบบการนิเทศและติดตามผล ในลักษณะ "กัลยาณมิตรนิเทศ" ซึ่งมีการนิเทศโดยเพื่อนครู  ฝ่ายวิชาการ และโดยผู้บริหาร เป็นต้น
   ๔.ปรับกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน ในลักษณะ "การจัดการความรู้" โดยจัดให้มีการศึกษาเรียนรู้ตามสถภาพจริงทั้งในและนอกห้องเรียนหรือแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ฝึกให้นักเรียนรู้จักสังเกต ตั้งคำถาม สืบค้นหาข้อมูล จดบันทึกข้อมูล เล่าเรื่อง/ประสบการณ์ นำเสนอผลงาน และรู้จักประเมินตนเอง ฯลฯ
   ๕.ปรับกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน โดยเน้นการพัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคคลอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งโรงเรียนอาจจัดให้มีกิจกรรมชมรม ชุมนุม ตามความถนัด ความสนใจของนักเรียน นักศึกษาและมีครูเป็นที่ปรึกษา
   ๖.ปรับระบบการแนะแนวการช่วยเหลือนักเรียน เน้นสร้างความร่วมมือระหว่างบ้าน กับโรงเรียนในการช่วยกันดูแลช่วยเหลือนักเรียน มีกิจกรรมการเยี่ยมบ้าน  การจัดกิจกรรมแนะแนวอาชีพ/แนะแนวศึกษาต่อ  การจัดกิจกรรมร่วมกันคิดไม่ให้(เด็กและเยาวชน)ผิดซ้ำสอง ฯลฯ
   ๗.ปรับปรุงแหล่งเรียนรู้ทั้งในและนอกโรงเรียน โดยสำรวจ และขึ้นทะเบียนแหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นและขอความร่วมมือในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน เช่น พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ศูนย์วิทยาศาสตร์ ศูนย์ท่องเที่ยว ชุมชนผลิตสินค้า OTOP เป็นต้น
   ๘.ปรับสัมพันธภาพระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครองและชุมชน โดยจัดกิจกรรมร่วมกันในลักษณะ "เครือข่ายผู้ปกครอง" ร่วมกันเฝ้าระวัง ปกป้อง ช่วยเหลือ ดูแลไม่ให้นักเรียน นักศึกษามีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไป
   ๙.ปรับระบบการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ โดยเน้นการวัดและประเมินตามสภาพจริง (Authentic Assessment)เช่น จาการสังเกต สอบถาม สัมภาษณ์ และตรวจผลงานนักเรียน      นักศึกษาจากแฟ้มสะสมงาน (Portfolio)
   ๑๐.ปรับกลยุทธ์สู่ความเป็นเลิศทางการศึกษา ในที่นี้มีกลยุทธ์สำคัญๆ ขอนำเสนอเป็นแนวทาง ดังต่อไปนี้
     - ผู้บริหารประสานใจ
    - ทอสายใยสร้างความตระหนัก
    - ชวนชักนิเทศเชิงมิตร
    - ศิษย์เรียนรู้อย่างมีความสุข

    - บุกเบิกกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

    - ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่พึงประสงค์
    - สืบสานการเรียนรู้อย่างมั่นคง
    - ดำรงสัมพันธภาพที่ยืนยง
    - มุ่งตรงประสิทธิภาพและประสิทธิผล
    - พัฒนากลยุทธ์สู่ความเป็นเลิศอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

ข.แนวทางการดำเนินงานพัฒนาระบบภายในโรงเรียน         ให้ประสบผลสำเร็จไปสู่ความเป็นเลิศ

   ๑. ศึกษาวิเคราะห์ 
   ๒.
มั่นเหมาะวางแผน 
   ๓.
แนบแน่นยุทธศาสตร์ 
   ๔. มีมาตรฐานเป้าหมาย
   ๕.
หลากหลายสื่อ/นวัตกรรม
   ๖.
น้อมนำปฏิบัติ 
   ๗.
แน่ชัดควบคุมติดตาม 
   ๘. งดงามประเมินผล 
   ๙.
นำยลพัฒนาปรับปรุง 
   ๑๐. รุ่งเรืองสร้างเครือข่าย

   ปฐมพงศ์  ศุภเลิศ
       ๓ ก.พ.๔๙


คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 14248เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2006 15:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 20:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ดิฉันเชื่อว่า"คุณภาพของโรงเรียน"ต้องมาก่อนความเป็นเลิศและเห็นด้วยกับแนวทางการพัฒนาความเป็นเลิศ ต้องทำทั้งองค์กร และผู้บริหารต้องเป็นผู้นำการพัฒนาด้วย
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท