การประเมินอาจารย์


มณีแดง ๖๐๓๒
  
                การศึกษาเป็นวิธีการที่ใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกในสังคมเพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า “ประเทศชาติของเราจะเจริญหรือเสื่อมลงนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการศึกษาของประชาชนแต่ละคนเป็นสำคัญ ผลการศึกษาอบรมในวันนี้ จะเป็นเครื่องกำหนดอนาคตของชาติในวันหน้า” จึงอาจกล่าวได้ว่า สภาพความเป็นอยู่ของสังคมใด ๆ เป็นภาพสะท้อนให้เห็นความมีประสิทธิภาพของการจัดการศึกษาของสังคมนั้น ๆ ด้วย กระแสการปฏิรูปการศึกษาเพื่อสร้าง “ทุนมนุษย์” ให้เป็นมาตรฐานตามแนวทางในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ เร่งเร้าให้สถาบันการศึกษาทุกระดับพัฒนาตนเอง ในกรอบของความหมายว่า “การประเมิน” เพื่อตัดสินคุณค่าสิ่งที่ต้องการ การประเมินซึ่งมีหลากหลายวิธี หลายประเทศต้นแบบ โดยมีหลักใหญ่ ๆ ในเชิงระบบ คือการประเมินองค์กร การประเมินหลักสูตร การประเมินนโยบายแผนงาน การประเมินบุคคลากรและการประเมินเพื่อพัฒนานวัตกรรม เป็นต้น
                มุมมองจากนักการทหาร  ด้านการศึกษา  พลเอก  ชวลิต  ยงใจยุทธ   ได้เคยเสนอวิสัยทัศน์ด้านการฝึกศึกษาเมื่อสมัยเป็นผู้บัญชาการทหารบก  (27   พ.ค.29 – 29 มี.ค.33) ซึ่งให้เน้นพิเศษในเรื่องการสร้างคุณภาพ “คน”   โดยได้ตั้งคำถามไว้ลองคิดดูว่า  “ทำอย่างไรจึงจะให้กองทัพเป็นแหล่ง  “ตักศิลา”  ของชาติ  ซึ่งต้องพัฒนาระบบการศึกษาทุกระดับและทุกหลักสูตรทั้งเป็นบุคคลและเป็นหน่วย   ภาพที่พึงปราถนาของการฝึกศึกษาของกองทัพบก  คือ  การสร้างโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า  ให้เป็นแหล่ง “ตักศิลา”   เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่เป็นของชาติ  มีปรัชญาการศึกษาที่จะสร้างบัณฑิต  ที่สามารถเป็นได้ทั้งพลเรือนที่มีคุณภาพของชาติในยามปกติ  และเป็นผู้นำทหารที่ทรงประสิทธิภาพยิ่งในสงคราม  โดยให้มีความรู้ทางวิชาการ  ความรู้ทางวิชาการทหาร และความเป็นผู้นำ  คุณธรรมและอุดมการณ์เพื่อชาติ  ศาสนา  พระมหากษัตริย์และประชาชน  และความแข็งแกร่งสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ    พันเอก  ธิวา  เพ็ญเขตกรณ์ (2543 :  28) พลเอก  อิสระพงศ์  หนุนภักดี(2544) ให้ มุมมองทางด้านการศึกษาไว้  3 ระดับคือ ระดับ  โรงเรียนเหล่า  ควรสอนและฝึกอบรมในเรื่องที่จะต้องนำไปปฎิบัติให้มากที่สุดระดับ  โรงเรียนเสนาธิการทหารบก  ควรจะเป็นแหล่งสำคัญที่สุดและมีประสิทธิภาพในการช่วยแก้ปัญหาระดับยุทธวิธีให้กับ  กองทัพบกระดับ  วิทยาลัยการทัพบก  ควรเป็นแหล่งช่วยแก้ปัญหายุทธศาสตร์ทางทหารให้กับ  ทบ.อย่างมีประสิทธิภาพและพิจารณาเสนอแนะการแก้ปัญหาเรื่องพลังอำนาจของชาติ (ถ้ามี)ให้กับรัฐบาล (ผ่าน กองทัพบก)  ด้วย พลเอก ยรรยง  ว่องวิทย์ (2544)  ได้กล่าวเกี่ยวกับการเรียนรู้ของนักการทหารไว้ว่า” หลัก  3  ประการที่ทำให้ตัวทหารเข้มแข็ง  ดังนี้   ด้านเศรษฐกิจ  สังคม และปัญญา  ด้านเศรษฐกิจประกอบด้วย  เงินเดือน  สวัสดิการเพียงพอแก่ค่าครองชีพ  และการมีค่านิยม  เศรษฐกิจพอเพียง   ทางด้านสังคม  มีค่านิยมในความพอดีระหว่างความมั่นคงทางวัตถุกับความเจริญทางจิตใจ  มีอุดมการณ์รักชาติ  มีระเบียบวินัยมั่นคงและมีความเป็นผู้นำ  การสร้างประชาคมครอบครัวทหารให้เข็มแข็งและปัจจัยสำคัญยิ่งที่เป็นพื้นฐานในการปฎิบัติอื่น ๆ คือ  การทำให้ทหารมีสติปัญญา  ทหารต้องได้รับการสนับสนุนทุกด้านให้เกิดปัญญาเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ถูกต้องในระบบการศึกษาจะต้องส่งเสริมให้ทหารทุกคนได้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง  มุ่งให้เป็นทหารมืออาชีพ  คือ  ให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต  (โดยวิธีการและมีความสุขในการเรียนรู้)  มีอุดมการณ์ในการปฎิบัติงานเพื่อชาติ  ศาสน์  กษัตริย์  มีคุณธรรมและศักดิ์ศรี”
                ความสอดคล้องด้านวิสัยทัศน์นักประเมินทางการศึกษา อุทุมพร ทองอุไทย (พ.ศ.๒๕๒๐)กล่าวไว้ว่า “ปริมาณบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาในแต่ละปีถูกกำหนดตามนโยบายและความคาดหมายของเงื่อนไขทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ  ส่วนคุณภาพของบัณฑิตนั้นขึ้อยู่กับสถาบันการศึกษา  ภายในแต่ละสถาบันมีบุคลากรผู้เกี่ยวข้องอยู่คือ  ผู้บริหาร  คณาจารย์  นิสิตนักศึกษา  และเจ้าหน้าที่สำคัญ  ในจำนวนนี้บุคคลผู้เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนในแต่ละสถาบันโดยตรงคือ  คณาจารย์  และนิสิตนักศึกษา  คุณภาพของนักศึกษามักจะประเมินโดยตรงจากคณาจารย์-สถาบัน แต่ในทางกลับกัน  คุณภาพอาจารย์ไม่ได้ประเมินโดยตรงจากนักศึกษา  หากแต่ประเมินจากลักษณะและความสามารถของคณาจารย์เองเป็นหลัก”  ดังนั้น  อาจกล่าวได้ว่าคุณภาพของการเรียนการสอนจึงขึ้นอยู่กับคณาจารย์ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งในการผลิตนักศึกษาให้มีคุณภาพ
                คุณภาพของคณาจารย์เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและยากที่จะประเมิน  โดยปรกติมักจะพิจารณาจากวุฒิทางการศึกษาของอาจารย์แต่ละคน  ซึ่งไม่เพียงพอ  วุฒืของอาจารย์เป็นเพียงดัชนีหนึ่งเท่านั้น  ยังมีดัชนีอื่นอีกหลายประการ  เช่น  ความสามารถในการสอน  การถ่ายทอดความรู้  ความรับผิดชอบต่องาน  คุณธรรม  และศักยภาพในการผลิตและเผยแพร่งานวิจัย  เป็นต้น   การประเมินอาจารย์จึงเป็นเรื่องที่ยากที่จะทำได้โดยวิธีใดวิธีหนึ่งเพียงวิธีเดียวลักษณะอาจารย์ในอุดมคติของคณาจารย์เรียงตามลำดับที่พึงปราถนามากที่สุด  5  ลำดับแรกได้แก่
                1.มีความรู้ทันสมัย  กว้างขวางและถูกต้อง
                2.ขวนขวายหาความรู้สู่ตัวอาจารย์เอง
                3.มีการเตรียมการสอนอย่างดี
                4.กำหนดจุดมุ่งหมายในการสอนอย่างชัดเจน
                5.สนับสนุนให้นิสิตคิดเอง
(4)ลักษณะอาจารย์ในอุดมคติของนิสิตปริญญาตรีเรียงตามลำดับที่พึงปราถนามากที่สุด  5  ลำดับแรกได้แก่
                1.มีการเตรียมการสอนอย่างดี
                2.มีความปราถนาดีต่อนิสิตทั้งในและนอกห้องเรียน
                3.มีความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาวิชาที่ทันสมัย  กว้างขวางและถูกต้อง
                4.ใช้ตัวอย่างข้อเปรียบเทียบ  และความจริงในการอธิบายได้อย่างเหมาะสม
                5.บรรยายเรื่องเกี่ยวข้องแม้ว่าจะอยู่นอกเหนือจากเนื้อหา
ลักษณะอาจารย์ในอุดมคติของนิสิตบัณฑิตศึกษาเรียงตามลำดับที่พึงปราถนามากที่สุด  5  ลำดับแรกได้แก่
                1.ใช้ตัวอย่างข้อเปรียบเทียบ  และความจริงในการอธิบายได้อย่างเหมาะสม
                2.มีการเตรียมการสอนอย่างดี
                3.มีความสนใจและสนุกในการสอน
                4.ให้ความคิดใหม่  ๆ  แก่นิสิตเพื่อเปิดความสนใจให้กว้าง
                5.จูงใจให้นิสิตทำงานให้ดีที่สุด
ลักษณะการสอนที่ดี  (6)การสอนเป็นศิลปที่ครูแต่ละคนเลือกมาใช้ให้เหมาะสมกับสภาพการเรียนการสอน  มีการวิจัยเกี่ยวกับลักษณะการสอนที่ดีมากมาย  ผลการวิจัยที่ได้รับแตกต่างกันออกไปตามเวลา  สถาบัน  เนื้อหา  และวิธีสอน  ครูที่สอนได้ผลดีกับนักเรียนกลุ่มหนึ่ง  ในปีหนึ่ง   อาจประสบความยากลำบากกับอีกกลุ่มหนึ่งในอีกวิชาหนึ่งในปีเดียวกัน  แม้ว่าจะมีความยากลำบากในการศึกษาเกี่ยวกับลักษณะการสอนที่ดีก็ตาม  ก็มีผลการวิจัยจำนวนมากที่ให้คำตอบที่สอดคล้องกัน   เช่น   Wotruba  and  Wright    (1976) ได้ศึกษาผลงานวิจัยจำนวน  21  ชิ้น  พบความสอดคล้องของลักษณะการสอนที่มีประสิทธิภาพซึ่งได้เลือกมา  6  ลักษณะแรกคือ
                ลักษณะ                                                                                                                 ความถี่ (N =21)
1.ทักษะการส่งความหมาย                    17
2.ทัศนคติต่อผู้เรียน                             17
3.ความรู้ในเนื้อหาวิชา                          14
4.การจัดระบบของเนื้อหาวิชา                 13
5.ความสนใจในเนื้อหาวิชา                     12
6.ความยุติธรรมในการสอบและการให้เกรด 11
สรุปว่า
๑.การพัฒนาด้านวิชาการที่ตนเองสอนอบรม อุทุมพร ทองอุไทย(๒๕๒๐:๖๑)ได้รายงานผลการวิจัยเรื่องประสิทธิผลการสอนระดับอุดมศึกษาทั้งในและต่างประเทศ  ได้ผลการวิจัยที่สอดคล้องกัน   สามารถจำแนกเป็นตัวประกอบต่าง  ๆ  ได้  6 ตัว  ซึ่งอธิบายโครงสร้างของประสิทธิผลการสอนได้คือ
                1.ลักษณะอาจารย์   ได้แก่  ลักษณะ  ท่าทาง  ความจริงใจ  ความสนใจต่อผู้เรียนให้ความเป็นกันเอง  เป็นผู้นำและเป็นผู้มีความรู้ในสาขานั้น ๆ  อย่างแท้จริง  และทันสมัยอยู่เสมอ
                2.วิธีการสอน  ได้แก่  การจัดเตรียมกระบวนการเรียนการสอน  การจัดห้องเรียน  การเตรียมความรู้  ใช้ตำราประกอบการเรียน  มีทักษะในการสอนแบบต่าง ๆได้เหมาะสมกับเนื้อหาและเวลา  มีการถ่ายทอดความรู้ได้อย่างชัดเจน  เข้าใจง่าย  ทำให้ผู้เรียนเกิดพัฒนาการด้านความคิด
                3.ความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับนิส มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างอาจารย์กับศิษย์  อาจารย์ฟังความเห็นจากศิษย์  เป็นกันเองช่วยเหลือศิษย์ทั้งในและนอกห้องเรียน
                4.อุปกรณ์การสอนและการเรียน  รวมถึงห้องปฏิบัติการ  การใช้เครื่องมือต่าง  ๆ  มีห้องสมุดที่สมบูรณ์  และตำราที่เป็นภาษาของตนเอง
                5.การวัดผล  มีการป้อนกลับ  และการเสริม  ใช้การวัดผลเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน  รู้จักออกข้อสอบที่ดี  ให้คะแนนยุติธรรม
                6.ทัศนคติของอาจารย์ต่อการสอนและต่อนิสิต  อาจารย์มีการยกย่องนิสิตอย่างจริงใจและตั้งใจสอน
๒.แผนการประเมินอาจารย์ อุทุมพร ทองอุไทย(๒๕๒๐:๖๘) กล่าวว่าเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินอาจารย์มีหลายชนิดขึ้นอยู่กับผู้ใช้ว่าต้องการแบบใด  เพื่ออะไร  ในสถาบันบางแห่งมีเครื่องมือที่ใช้อย่างกว้างขวางโดยสถาบันนั้นให้บริการทำการประเมินอาจารย์ให้  แต่บางแห่งผู้ใช้เป็นผู้เสาะแสวงหาเอาเอง  หรือถ้าไม่มีก็ต้องสร้างเองเครื่องมือประเมินอาจารย์ที่ใช้ได้ดี  ต้องให้ข้อมูลที่เชื่อถือได้  นั่นถือเป็นเครื่องมือที่ประเมินตามจุดมุ่งหมาย  เครื่องมือประเมินอาจารย์มีหลายประเภท  เช่นเครื่องมือที่ใช้เทคโนโลยีช่วย  เช่น  วิดีโอเทป  เครื่องบันทึกเสียง  ภาพยนตร์  เป็นวิธีที่ดีมากเครื่องมือประเมินที่เป็นมาตรฐาน ได้แก่เครื่องมือที่ได้รับการสร้างและทดลองใช้จนเป็นที่เชื่อถือเครื่องมือประเมินที่สร้างเอง  เช่น
                1.แบบสอบถาม
                2.แบบตรวจสอบรายการ
                3.แบบประมาณค่า
                4การสัมภาษณ์
                5.การลำดับคุณค่า
                6.แบบสอบ
                7.สเกลซีแมนติดดิฟเฟอร์เรนเชียล
                8.สเกลกัทแมน
                9.การตัดสินใจของผู้เชี่ยวชาญ
                10.การสังเกตุอย่างมีระบบ
๓. ก่อนทำการประเมินอาจารย์  ต้องตอบคำถาม ตนเองให้ได้ดังนี้
๓.๑ จุดมุ่งหมายในการประเมินเพื่ออะไ  เช่น  เพื่อปรับปรุงการเรียน  การสอน  หรือเพื่อตัดสิใจของผู้บริหาร
๓.๒ ขอบเขตของการประเมินครอบคลุมอะไรบ้าง  เช่นเป็นการประเมินอาจารย์แต่ละคนหรือหลายคนจำนวนชั้นเรียน  ที่ใช้การประเมินมีจำนวนกี่ชั้น  ระดับไหนบ้างจำนวนผู้เรียนที่ใช้ในการประเมินลักษณะวิชา  เป็นวิชาบังคับ  หรือวิชาเลือก  มีหน่วยกิตเท่าไร
         ๓.๓ รูปแบบของเครื่องมือประเมินประกอบด้วย
ประเภทของเครื่องมือ  เช่น  จะใช้แบบสอบถาม  หรือแบบประมาณค่าสจะให้ทำเครื่องหมายอย่างเดียว  หรือให้ตอบคำถามด้วยครอบคลุมอะไรบ้าง
ความยาวของแบบประเมินมากน้อยเพียงใด  มีเกณฑ์พิจารณาคือ
ขนาดสั้น                  1-25         ข้อ
ขนาดกลาง              26-50        ข้อ
ขนาดสั้น                  50            ข้อ ขึ้นไป
                                4)    แหล่งข้อมูลจะได้จากอะไรบ้าง  เช่นจากภายในห้องเรียน  หรือนอกห้องเรียน  หรือทั้งสองแบบ
                          ๓.๔ การจัดกระทำแบบประเมินจะทำอย่างไร
ช่วงเวลาที่ทำการตอบ  เช่น  ก่อนเรียน  หลังเรียน  ต้นเทอม  กลางเทอม หรือปลายเทอม
วิธีการแจก  แจกโดยอาจารย์  หรือนิสิต  หรือนำส่งทางไปรษณีย์       
วิธีการเก็บ  รวบรวมโดยอาจารย์  หรือนิสิตรวบรวม  หรือนำมาส่งกันเองที่สถานที่ที่กำหนด  หรือทางไปรษณีย์       
                           ๓.๕ การวิเคราะห์โดยใคร  เช่น  โดยผู้สอน  โดยกลุ่มกรรมการ  หรือโดยคอมพิวเตอร์
                          ๓.๖ การแปลผลโดยใคร  โดยผู้สอน  โดยกลุ่มกรรมการ  หรือโดยคอมพิวเตอร์ 
                          ๓.๗ การเสนอผล  วิเคราะห์ให้เห็นภาพรวมจากผู้ประเมินทั้งกลุ่ม  หรือ  เสนอเป็นรายข้อ  หรือรายบุคคล
                          ๓.๘ การตอบสนอง   ถ้าเป็นการประเมินอาจารย์และเพื่ออาจารย์เอง  อาจารย์ควรนำมาพิจารณาว่าตนจะแก้ไขข้อบกพร่องข้อใดบ้าง  และจะเสริมลักษณะที่เด่นอยู่แล้วให้ดีขึ้นได้อย่างไร  ถ้าเป็นการประเมินสถาบัน  คณะกรรมการควรพิจารณาใช้ผลการประเมินให้เหมาะสม
๔. การเปลี่ยนวิธีสอนและวิธีวัดผลใหม่
                วิธีการปฎิรูปสถาบันอุดมศึกษาที่สำคัญอันหนึ่ง คือวิธีการเรียน การวัดผลต้องเน้นให้นิสิต นักศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ทำรายงาน วิจัย ทดลอง ฝึกภาคปฎิบัติ ฯลฯ เพิ่มมากขึ้นกว่าวิธีฟังการบรรยายแล้วท่องจำไปสอบอย่างที่ทำกันอยู่ โดยมหาวิทยาลัยต้องลงทุนด้านห้องสมุด และสารสนเทศด้านการศึกษาเพิ่มมากขึ้น และอาจารย์ต้องเปลี่ยนวิธีการสอน วิธีวัดผลใหม่เป็นการเรียนรู้ที่นักศึกษาเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง การประเมินคงต้องขึ้นกับการกำหนดสมรรถนะและตัวบ่งชี้สำคัญ ตลอดทั้งจรรยาบรรณของนักประเมินหรือผู้ที่ได้รับการแต่งตั้ง  หากการประเมินไม่ยุติธรรม อาจส่งผลเสียหายต่อองค์กรเป็นส่วนรวมได้
                                          ---------------------------------------------------
บรรณานุกรม

ยรรยง  ว่องวิทย์,พลเอก, หลัก3  ประการให้ตัวทหารเข้มแข็ง, วารสาร ๕๐ ปีเสนาธิปัตย์  2544  
อุทุมพร  ทองอุไทย . การสร้างและพัฒนาเครื่องมือว้ดลักษณะผู้เรียน คณะครุศาสตร์,จุฬาลงกรณ์
               มหาวิทยาลัย ,2532
อุทุมพร  ทองอุไทย . การประเมินอาจารย์ , จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,2520
อิสระพงศ์  หนุนภักดี,พลเอก, มุมมองทางด้านการศึกษา ,วารสาร ๕๐ ปีเสนาธิปัตย์  2544
 
                                                       
การพิมพ์เผยแพร่ นิตยสารเสนาศึกษา เล่มที่ ๗๐ ตอนที่ ๒ เดือนพฤษภาคม ถึงสิงหาคม ๒๕๔๗
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 14235เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2006 13:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 12:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท