ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ : ยอดนักคิดและนักบริหารการศึกษา


"แก้วโกวิท" "นักคิดตลอดกาล" "ปราชญ์ของแผ่นดิน" "จอมยุทธ์ไร้กระบวนท่า" ""วิทยายุทธ์สูงสุดสู่สามัญ" "ยอดคน ยอดผู้นำ" "ต้นไทรที่ทอดเงา"

ดร. โกวิท วรพิพัฒน์ เกิดเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ที่บ้านตำบลสาวชะโงก อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นบุตรคนสุดท้องของนายหลีหั่นและนางกิมเอ็ง (แซ่แต้) วรพิพัฒน์ โดยมีพี่ 5 คน บิดามารดาของท่าน มีอาชีพปลูกผักผลไม้ เลี้ยงไก่ และค้าขายทางเรือระหว่างจังหวัดฉะเชิงเทรา และกรุงเทพมหานคร ชีวิตวัยเด็กก่อนเข้าเรียนของท่านได้ติดตามบิดามารดาไปค้าขาย ได้ปลูกผัก เลี้ยงไก่ ช่วยเหลือบิดามารดาด้วยความขยันขันแข็ง และสามารถมีรายได้ส่วนตัวจากการปลูกผัก เลี้ยงไก่ มีชีวิตวัยเด็กที่อิสระมีความสุข ได้สนุกสนานกับเพื่อน มีความรักความผูกพันกับพ่อแม่ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน ได้เรียนรู้และผูกพันกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อมต้นไม้และแม่น้ำลำคลอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ช่วยหล่อหลอมกล่อมเกลาให้ท่านมีจิตใจที่ดีงาม ละเอียดอ่อน และเห็นช่องทางประกอบอาชีพมาตั้งแต่ก่อนเข้าเรียน

ดร. โกวิทเข้าเรียนครั้งแรกตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2479 ใน พ.ศ. 2485 เมื่ออายุย่างเข้า 9 ปี ที่โรงเรียนบ้านปลายคลองบ้านหมู่ ตำบลเสม็ด อำเภอบางคล้า จบชั้นประถมปีที่ 2 แล้วติดตามพี่ชายที่บวชเป็นพระมาเป็นเด็กวัดและเรียนชั้นประถมปีที่ 3 ที่โรงเรียนประชาบาลวัดใหม่บางคล้า (อุดมกิจประชาสรรค์) ในอำเภอเดียวกัน จนจบชั้นประถมปีที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2488 ดร. โกวิทเรียนหนังสือเก่งมาก สอบได้ที่ 1 มาทุกชั้น ขณะที่เรียนชั้นประถมปีที่ 3 ได้ 1 ภาคเรียน ครูก็ให้ขึ้นไปเรียนชั้นประถมปีที่ 4 หลังจากนั้นก็สอบเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมาเป็นเด็กวัดที่วัดประตูน้ำท่าไข่ ซึ่งห่างจากโรงเรียนไม่ถึง 2 กิโลเมตร

ท่านจบชั้นมัธยมปีที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2491 โดยสอบได้ที่ 1 มาทุกชั้น หลังจากนั้นก็สอบได้ทุนไปเรียนที่โรงเรียนฝึกหัดครูปราจีนบุรี 2 ปี จบประโยคครูประกาศนียบัตรจังหวัด (ว) แล้วได้ทุนไปเรียนที่โรงเรียนฝึกหัดครูสมุทรสงครามอีก 1 ปี จบประโยคครูมูล (ป) หลังจากที่รับราชการครูแล้ว ได้ศึกษาด้วยตนเองและสอบประโยคครูพิเศษประถม (พ.ป.) ได้ และระหว่างที่สอบชุดครูพิเศษมัธยม (พ.ม.) ได้ 3 ชุด ยังขาดอีก 1 ชุด นั้น ก็ได้รับทุน I.C.A (International Cooperation Agency) ให้ไปศึกษาดูงานและศึกษาต่อระดับปริญญาตรีและปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยยูถ่าห์ (University of Utah, Salt Lake City) ประเทศสหรัฐอเมริกา จบปริญญาตรีการประถมศึกษา (B.S. in Elementary Education) และจบปริญญาโทการบริหารการศึกษา (M.S. in Educational Administration) เมื่ออายุ 26 ปี หลังจากกลับมาเป็นครูก็สอบชุดครู พ.ม. ที่ยังเหลืออีก 1 ชุดต่อจนได้ประโยคครูพิเศษมัธยม (พ.ม.) ต่อมาได้ไปศึกษาระดับปริญญาเอกที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในมหาวิทยาลัยเดิม และจบปริญญาเอกการบริหารการศึกษา (Ph.D. in Educational Administration) เมื่อ พ.ศ. 2510

ดร. โกวิทเริ่มเข้ารับราชการเมื่อ พ.ศ. 2495 ตำแหน่งครูจัตวาที่โรงเรียนวัดแหลมใต้ (สุดสุนทร) จังหวัดฉะเชิงเทรา และมีประวัติการรับราชการต่อมาคือ เป็นครูใหญ่โรงเรียนวัดเทพนิมิตร จังหวัดฉะเชิงเทรา ปฏิบัติหน้าที่ศึกษานิเทศก์ฝายสามัญศึกษา ประจำภาคศึกษา 12 เป็นหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ ฝ่ายสามัญศึกษา ประจำภาคศึกษา 1 เป็นผู้อำนวยการกองการศึกษาผู้ใหญ่ เป็นรองอธิบดีกรมวิชาการ เป็นอธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน เป็นอธิบดีกรมวิชาการ เป็นอธิบดีกรมสามัญศึกษา และเป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จนเกษียณอายุราชการ เมื่อ พ.ศ. 2537

เมื่อตอนเป็นครู ดร. โกวิทเป็นครูที่มีความรู้ดี สอนเก่ง เล่นฟุตบอลเก่ง เป็นครูโครงการส่งเสริมการศึกษาจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ได้รับความช่วยเหลือจากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) จัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มุ่งให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างครบถ้วนทั้งด้านพุทธิศึกษา จริยศึกษา พลศึกษา และหัตถศึกษา คอยติดตามเอาใจใส่ดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างใกล้ชิด ด้วยความรักความเมตตา นักเรียนคนใดที่ไม่มีอาหารกลางวันรับประทานก็จะจ่ายเงินส่วนตัวซื้ออาหารให้นักเรียนได้รับประทานกันทุกคน ตอนเย็นก็จะสอนฟุตบอลให้นักเรียน ออกไปพบปะพูดคุยกับชาวบ้านและหมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเองตลอดเวลา จึงเป็นที่รักของนักเรียน เพื่อนร่วมงาน ชาวบ้าน และผู้บังคับบัญชาอย่างมาก

ปกติดร.โกวิทจะไม่ลงโทษนักเรียนด้วยไม้เรียว เว้นแต่เป็นความผิดที่รุนแรงและได้มีกติการ่วมกันไว้แล้ว ซึ่งในเรื่องนี้ ศิษย์คนหนึ่งได้กล่าวไว้ในหนังสือไทรทอดเงา สรุปได้ว่า "เมื่อลงโทษด้วยไม้เรียวครั้งใด ท่านจะไม่ใช้อารมณ์ แต่จะถามถึงเหตุและผลของความผิด แล้วใช้คำพูดที่อ่อนโยนแต่กินใจ เพื่ออบรมให้นักเรียนสำนึกผิด เมื่อเฆี่ยนเสร็จก็จะหักไม้เรียวออกเป็นหลายท่อนโยนทิ้งถังขยะ และพูดด้วยประโยคสุดท้ายว่า “ขอให้ความไม่ดีจงหมดไปกับไม้เรียวอันนี้ ครูไม่อยากเห็นความไม่ดีและการลงโทษเกิดขึ้นอีก” และหลังจากนั้นก็แทบจะไม่มีนักเรียนคนใดทำผิดกติกา"

ดร. โกวิทเป็นผู้ที่เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง ฝึกการประกอบอาชีพจนประสบผลสำเร็จ มีรายได้เป็นของตนเองตั้งแต่วัยก่อนเรียน มีความขยันขันแข็ง ซื่อสัตย์ อดทน ทำอะไรทำจริง จนได้รับฉายาเรียกกันหลายชื่อ เช่น “แดงเสือปลา” (แดงคือชื่อเล่นของท่าน) เมื่ออายุได้ 6 ขวบ เพราะมีความเชี่ยวชาญในการจับปลา ช้อนกุ้ง งมหอยในแม่น้ำลำคลอง ได้รับฉายาว่า “แดงปลาหมอเทศ” เมื่อเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 1 เพราะได้เพาะเลี้ยงปลาหมอเทศก่อนใครในอำเภอบางคล้า โดยท่านโกวิทได้ไปขอคำปรึกษาแนะนำจากประมงจังหวัดฉะเชิงเทราและศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้จากเอกสารแล้วลงมือปฏิบัติเองจนได้ผลดี ได้รับฉายาว่า “แดงนกกระทา” เมื่ออายุ 18 ปี ตอนเป็นครูใหม่ ๆ ได้เลี้ยงนกระทาจนออกไข่มากมาย ฯลฯ

จากประสบการณ์ตรงที่สั่งสมมา ท่านจึงมีความเชื่อว่าแผ่นดินไทยเรานี้เลี้ยงเราได้ การสอนที่ดีต้องฝึกให้เด็กได้ทำงานทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนตั้งแต่ยังเล็ก ๆ และต้องทำงานในระหว่างเรียนด้วย ไม่ต้องการให้การจัดการเรียนการสอนเป็นเพียงการให้ความรู้เพื่อเตรียมการสำหรับให้ผู้เรียนนำไปใช้ในอนาคต แต่มุ่งหวังให้ผู้เรียนได้ดำเนินชีวิตจริงไปพร้อมกับการเรียนด้วย โดยต้องสร้างเสริมคุณธรรมให้เกิดขึ้นแก่นักเรียนทั้งด้านความขยัน การประหยัด ความซื่อสัตย์ ความกตัญญู ความรับผิดชอบ การพึ่งตนเองและความมีวินัย โดยท่านได้ให้ความหมายของคำว่า “ขยัน” ว่าไม่ได้หมายความว่าขยันเรียนหนังสืออย่างเดียว แต่ต้องรวมถึงการขยันทำงาน ขยันช่วยคนอื่น ขยันดูแลพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ครูอาจารย์ด้วย

ดร. โกวิทเป็นผู้ที่มีจิตใจดีงาม ยิ้มง่ายอ่อนน้อมถ่อมตน จริงใจกับทุกคนจึงทำให้เป็นคนที่มีเสน่ห์ อยู่กับใครใครก็รัก ทำงานกับใครใครก็ชอบ ความดีงามเหล่านี้มีความเป็นสากลและเป็นบารมีส่งเสริมให้ท่านประสบผลสำเร็จ ทั้งในด้านการเรียนการทำงานและชีวิตครอบครัวมาโดยตลอด

ชีวิตการเรียนของท่านในต่างประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวหาประสบการณ์ และการอ่านหนังสืออย่างเร็ว โดยมีความคิดว่าถ้าเรียนโดยการศึกษาค้นคว้าในห้องสมุดทั้งวันเรียนที่เมืองไทยก็ได้ แต่การเรียนหนังสือเป็นเหมือนภาคปฏิบัติที่ทำให้มีประสบการณ์มากขึ้น ท่านจึงยึดมั่นในหลักการหารายได้ระหว่างเรียน (Earn while you learn) และเรียนระหว่างมีรายได้ (Learn while you earn) โดยเรียนนอกระบบโรงเรียนมาโดยตลอด จึงทำให้ท่านมีวิสัยทัศน์กว้างไกล เป็นนักคิดนักปฏิบัติที่สร้างสรรค์ผลงานให้เกิดขึ้นตลอดกาล

ดร.โกวิทเป็นผู้รอบรู้ปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาต่อเนื่องของประเทศไทยเป็นอย่างดีคนหนึ่ง เมื่อครั้งปฏิบัติงานในตำแหน่งหัวหน้ากองการศึกษาผู้ใหญ่ กรมสามัญศึกษา ได้ริเริ่มโครงการการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จแบบไทย (Functional Literacy Thai Model) ซึ่งมุ่งให้ผู้เข้ารับการศึกษาระดับชาวบ้านได้รู้จักคิดแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสภาพสถานะของตนและของกลุ่มที่เรียกว่า “คิดเป็น” จนประสบผลสำเร็จ และได้รับความสนใจจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจนองค์การยูเนสโกยอมรับ และนำเรื่องนี้ไปเผยแพร่ทั่วโลก สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยอย่างมาก และท่านได้รับฉายาจากต่างประเทศว่า “ Mr.Khit Pen” หรือ “นายคิดเป็น”

เมื่อตอนปฏิบัติงานที่กรมการศึกษานอกโรงเรียน ท่านได้ให้ความสำคัญกับการอ่าน โดยตั้งโครงการอ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้านขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2514 โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลและประชาชนอย่างมาก เป็นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ทำให้ชาวบ้านสนใจในการรู้หนังสือจากการดูภาพแล้วอยากรู้เรื่องนั้น ๆ เป็นการส่งเสริมให้คนรู้หนังสือง่ายขึ้น ท่านยังมุ่งกระจายการศึกษาไปสู่ชนบท ได้จัดตั้งศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนประจำภาค ประจำจังหวัดขึ้น โดยได้พัฒนาระบบโครงสร้างการศึกษานอกระบบให้เป็นระบบที่สามารถนิเทศติดตามและพัฒนาการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการศึกษาดังกล่าวถือว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่คิดริเริ่มจัดระบบนี้ นอกจากนี้ยังมีโครงการครูอาสาสมัครสอนประจำที่เดินสอน โครงการจัดการศึกษาทางวิทยุและไปรษณีย์ โครงการศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา โครงการการศึกษานอกโรงเรียนเพื่อพัฒนาอาชีพ โครงการแนะแนวการศึกษาและอาชีพ โครงการทอดผ้าป่าหนังสือ เป็นต้น

เมื่อปฏิบัติงานที่กรมวิชาการ ท่านก็ได้นำแนวการศึกษาเรื่อง “คิดเป็น” มาจัดทำหลักสูตรใหม่ทั้งสายสามัญและสายอาชีพ ที่มุ่งเน้นให้นักเรียน คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ให้เหมาะสมกับตนเองและหมู่คณะ เน้นการทำงานเป็นกลุ่ม สร้างเสริมความมีวินัย ความขยัน ความซื่อสัตย์ ความอดทน รู้จักพึ่งตนเอง และมองเห็นช่องทางประกอบอาชีพ

เมื่อมาเป็นอธิบดีกรมสามัญศึกษา ท่านได้สร้างสรรค์แนวคิดแนวปฏิบัติจนเป็นวลีที่พูดกันติดปากหลายเรื่อง เช่น ครูที่พูดไม่ได้ โรงเรียนเสมือนบ้าน ห้องสมุดโรงเรียน อาชีพอิสระ ผักกางมุ้ง(ผักโรงเรียน) มินิคอมปะนี ธนาคารนักเรียน ฯลฯ โดยเริ่มจากความคิดในจุดเล็ก ๆ แล้วขยายออกไปเป็นหลาย ๆ เรื่องอย่างร้อยรัดกัน ท่านได้พิสูจน์ความเป็นจริงตามปรัชญา “การศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม” ว่าทุกอย่างล้วนเป็นวิถีการดำเนินชีวิตที่ไม่แยกส่วนกัน

เมื่อมาเป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ก็มีโอกาสนำแนวคิดของตนทุกเรื่องมาส่งเสริมให้เกิดการพัฒนากระเพื่อมออกไปในทุกกรมทั่วทั้งกระทรวงศึกษาธิการได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น ความคิดเรื่องครูที่พูดไม่ได้ ได้ก่อให้เกิดอุทยานการศึกษาในสถานศึกษา และหน่วยงานทางการศึกษาอย่างกว้างขวาง เรื่องการส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระเพื่อการมีรายได้ระหว่างเรียนของนักเรียนก็มีการปฏิบัติเกิดขึ้นทั้งสถานศึกษาระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาทุกสังกัด รวมทั้งความคิดเรื่องอื่น ๆ อีกหลายเรื่องด้วย ในช่วงดังกล่าวท่าน ได้สนับสนุนให้ก่อตั้งโรงเรียนการทำมาหากินวัดโพธิ์เฉลิมรักษ์ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ขึ้น เพื่อเป็นโรงเรียนแบบอย่างในการสอนเยาวชนให้รู้จักทำมาหากิน เห็นช่องทางในการประกอบอาชีพ สามารถช่วยตนเองได้บนพื้นฐานของความมีคุณธรรมด้านความขยัน อดทน ซื่อสัตย์สุจริต มีความรับผิดชอบ และมีความกตัญญู (บันทึกไว้ในเทป “แผ่นดินไทยเรานี้เลี้ยงเราได้”)

ดร. โกวิทได้มีบทพิสูจน์ให้เห็นว่าแนวคิดของท่านล้วนเป็นสิ่งที่จับต้องได้สามารถปฏิบัติได้ในชีวิตจริง ไม่ใช่ทำได้เฉพาะในสถานศึกษาเท่านั้น ด้วยการเปิดกิจการร้านนายก๊วก 3 สาขา คือ สาขาท่าข้ามสาขาบางประกง และสาขามีนบุรี โดยทำธุรกิจร้านอาหารที่มุ่งเน้นการรวมกลุ่มกันบริหารบนพื้นฐานการมีคุณธรรม ที่ยึดหลักว่าคนที่เข้ามาใช้บริการต้องอิ่มท้อง อิ่มตา อิ่มใจ และอิ่มสมองกลับไปด้วย ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้ให้สมญานามท่านไว้มากมาย เช่น “ แก้วโกวิท” “นักคิดตลอดกาล” “ปราชญ์ของแผ่นดิน” “จอมยุทธ์ไร้กระบวนท่า” “วิทยายุทธ์สูงสุดสู่สามัญ” “ ยอดคน ยอดผู้นำ” “ต้นไทรที่ทอดเงา” เป็นต้น

ดร. โกวิทได้รับรางวัลและเกียรติคุณ ได้แก่ คนไทยตัวอย่าง บุคคลดีเด่นแห่งวงการศึกษาชาติ สาขาการนิเทศการศึกษา ผู้บริหารข้าราชการพลเรือนดีเด่น “ครุฑทองคำ” พ่อตัวอย่าง ผู้อุทิศตนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและพัฒนาสิ่งแวดล้อม นักการศึกษาดีเด่นและบุคคลที่ได้ทำ

คุณประโยชน์อย่างมากให้กระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนี้ยังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นวุฒิสมาชิกสองสมัย เป็นที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ฝ่ายการศึกษา เป็นกรรมการมูลนิธิในพระบรมราชูปถัมภ์ พระบรม-ราชินูปถัมภ์ พระราชูปถัมภ์ และพระอุปถัมภ์ หลายรายการ เป็นกรรมการด้านการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม เยาวชน และสิ่งแวดล้อมมากมาย

หลังเกษียณอายุราชการแล้ว ดร. โกวิทยังได้ปฏิบัติงานตามแนวคิดของตนให้แก่การศึกษาและสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้เป็นประธานชมรมรวมใจภักดิ์ รักษ์ต้นไม้ แม่น้ำ ลำคลอง และสิ่งแวดล้อม เป็นประธานชมรมรักษ์กล้วย ทำให้ท่านมีความสุขอย่างมากที่ได้มีโอกาสดูแลอนุรักษ์สืบสานความเป็นไทย และดูแลด้านบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล ความเป็นนักคิดที่ไม่หยุดนิ่ง แม้ช่วงสุดท้ายที่เจ็บป่วยก็ยังคิดพัฒนาการศึกษา คิดพัฒนาสังคมบ้านเมือง ฝากให้ผู้มาเยี่ยมสืบสานต่ออีกหลายเรื่อง และครั้งสุดท้ายได้เขียนบันทึกขอลาออกจากการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยเจตนาอยากกระตุ้นให้ผู้บริหารระดับสูงได้เอาใจใส่ในการปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง ทั้งในเรื่องการผลิตครู การดูแลเอาใจใส่สวัสดิการครู และเรื่องสำคัญที่สุด คือ อยากเห็นการประเมินผลตามสภาพจริง ทั้งด้านวิชาการและด้านคุณธรรมให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ดร. โกวิทได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคระบบหัวใจล้มเหลว เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2543 สิริอายุได้ 67 ปี 1 เดือน 8 วัน

ตลอดชีวิตของ ดร. โกวิทตั้งแต่ก่อนเข้าเรียนจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ใดท่านได้ทำหน้าที่เป็นครูและเป็นแบบอย่างที่ดีมาโดยตลอด ท่านเป็นผู้นำทั้งด้านความคิดและการปฏิบัติ มีความมุ่งมั่น ผูกพัน ทุ่มเทชีวิตจิตใจให้แก่การศึกษาของประเทศชาติอย่างแท้จริง นับเป็นผู้นำทางการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ เป็นครู เป็นผู้บริหาร และเป็นแรงบันดาลใจให้คนไทย ผู้ใต้บังคับบัญชา และศิษย์ ได้ตระหนักสำนึกในความรับผิดชอบ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาของชาติ และพัฒนาบ้านเมือง ดร. โกวิทกล่าวไว้ในหนังสือ “ยอดคน ยอดผู้นำ” ตอนหนึ่งว่า

“เราสอนเด็กให้เป็นนักเรียนดีได้เราก็อิ่มเอิบใจ แต่จริงแล้วเราควรจะอิ่มเอิบใจไปกว่านั้นเหมือนเราปลูกต้นไทรแผ่ร่มเงา วันหนึ่งตอนเที่ยงเราออกไปยืนเห็นคนมายืนอยู่ใต้ต้นไทรของเราเพื่อพักร้อน เราก็ชื่นใจที่ร่มเงาของต้นไทรที่เราปลูกสามารถให้คนมาพักอาศัยได้ และคนที่มายืนอยู่ใต้ต้นไทรหรือนกกาคาบลูกไทรไปเป็นต้นไทร แผ่ร่มเงาให้คนได้อาศัยพักร่มเงาอีกต่อไป เหมือนกับเราทำความดีมันจะกระเพื่อมออกไปอีกเรื่อย ๆ ไม่มีวันจบสิ้น

นายธเนศ ขำเกิด ผู้เรียบเรียง
----------------------------------------

เอกสารอ้างอิง

การศึกษานอกโรงเรียน, กรม. ท่านโกวิทจะอยู่ไปไม่มีตาย. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์อักษรไทย, 2544

เทปที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ “แผ่นดินไทยเรานี้เลี้ยงเราได้”

วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร วันที่ 27 พฤษภาคม 2544.

นพดล เจนอักษร, ไผ่เสียดยอด ลงคืนเลาขลุ่ย. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มติชน, 2538.

บันทึกของนายโกวิท วรพิพัฒน์ และบันทึกคำสัมภาษณ์นายโกวิท วรพิพัฒน์ ขณะรักษาตัวที่โรงพยาบาล

จุฬาลงกรณ์, 2544

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, สำนักงาน. โรงเรียนในฝัน. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว,

2538.

วิชาการ, กรม. โกวิท นักคิดตลอดกาล. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์องค์การค้าของคุรุสภา, 2544.

ศึกษาธิการ, กระทรวง. ไทรทอดเงา. กรุงเทพมหานคร : บริษัทพิฆเณศ พริ้นท์ติ้งเซ็นเตอร์ จำกัด, 2537.

สามัญศึกษา, กรม. กระบวนการคิดเป็น. เอกสารรายงานการวิจัยเรื่อง การสร้างวิชาการคิดเป็น,

หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา, 2537.

สามัญศึกษา, กรม. ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ สุภาพบุรุษนักบริหารการศึกษาที่เป็นแบบอย่าง.

กรุงเทพมหานคร : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชซิ่ง, 2537.

สามัญศึกษา, กรม. ตามรอย. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช, ม.ป.ป. .

สามัญศึกษา, กรม. ยอดคน ยอดผู้นำ. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.

หมายเลขบันทึก: 141623เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2007 08:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2017 20:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สวัสดีครับท่าน..

          ท่านได้นำเสนอบุคคลสำคัญให้คนรุ่นหลังได้เห็นคุณค่าของบุคคลที่ทำความดี  ทำงานด้วยความมุ่งมั่น  ที่ต้องการพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  สมควรอย่างยิ่งที่คนรุ่นเราควรจะศึกษาแนวคิด  หรือหลักการของท่านมาใช้  หรือมาปรับปรุงให้เกิดประโยชน์ และบรรลุเป้าหมายตามทีคาดหวังเอาไว้  นั้นแหละคือสิ่งที่เราได้จากผลงานหรือคุณงามความดีของท่านที่แท้จริง  ครับ..ท่าน

           ในส่วนลึกของจิตใจของครูโหลเองมีหลายสิ่งหลายอย่างที่อยากจะเสนอแนะเกี่ยวกับการศึกษา  การเมือง  และอีกมากมาย  แต่พูดแล้วใครจะเชื่อหรือรับฟัง  เพราะมีปัจจัยหลายอย่าง  ไม่ว่าจะเป็น คุณวุฒิ  วัยวุฒิ  วุฒิภาวะต่างๆ  ยกตัวอย่างหลักสูตรการศึกษาระดับประถมศึกษาไม่มีใครระรู้ดีไปกว่าครูผู้ปฏิบัติ  คนเราเมื่อมีชีวิตอยู่จะทำดีเพียงใดไม่มีใครมองเห็น  แต่พอตายไปแล้วเมื่อนั้นแหละจะเห็นความดี  ทำไมเราไม่มองเห็นความดีซึ่งกันและกันตอนมีกำลังอยู่แล้วหันมาช่วยกันแก้ปัญหาร่วมกันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  ครับ..ท่าน

             ครูโหล 25/10/2550

 

 

ตามที่ศึกษาแนวคิดของท่านอาจารย์โกวิท วรพิพัฒน์ทำให้ตั้งใจว่าเราจะทำงานของความเป็นครูให้ดีที่สุด

     คนที่สั่งสมความดีไว้ เมื่อยังมีชีวิตอยู่คนก็ศรัทธาสรรเสริญ เมื่อเสียชีวิตลงคนก็ยังระลึกถึงไม่เสื่อมคลาย ไม่ว่าจะอยู่ในหน้าที่การงานใด  ตำแหน่งใดก็ทำความดีได้ทั้งสิ้น  แม้ใครมองไม่เห็นแต่เราก็ภูมิใจมิใช่หรือ

สวัสดีครับท่าน

      จากเรื่องที่ท่านเล่ามาเป็นที่ดีเป็นเครื่องเตือนใจให้คนเราทำความดี  การทำความดีไม่เสียหายแม้ตายไปก็มีคนยกย่องและสรรเสริญ  แต่อยากให้ทุกคนเห็นความดี เห็นความสำคัญบุคคลที่ทำความดีช่วยให้กำลังใจช่วยส่งเสริมให้โอกาสได้สร้างสรรค์งานเพื่อให้เกิดกับสังคมหรือพัฒนางานตามงานที่เขาสร้งสรรค์  ตัวอย่างที่มีให้เห็น เช่น  กวีเอกของไทย  "ท่านสุนทรภู่"  "สืบ  นาคะเสถียร"  และบุคคลสำคัญของโลกอีกหลายคน  เมื่ออ่านประวัติท่านแล้วน่าเศร้าใจ  ครับท่านเลยหยิบยกมาให้คนรุ่นหลังได้เป็นอุธาหรณ์  ให้เป็นแง่คิดครับท่าน......

            ครูโหล 27/10/2550

สวัสดีครับท่านอาจารย์ธเณศ

       ผมอยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับท่านอาจารย์  เดี่ยวนี้วงการศึกษามีปัญหาเรื่อง  การอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของนักเรียน  ปัญหาไม่ได้เกิดจากผู้เรียนเสมอไป  แต่เกิดจากครูมากกว่า  ครูสอนให้นักเรียนจำ มากกว่า  สอนนักเรียนให้เข้าใจ  นักเรียนที่มีปัญญาเลิศเท่านั้นที่จะจำได้อย่างที่ครูบอก แต่อีกส่วนหนึ่งจำไม่ได้เพราะไม่เข้าใจ  ยกตัวอย่างการสอนจำของครูการแจกลูกสะกดคำ  คำว่า    กาน     โดยสอนแจกลูกสะกดคำดังนี้   กอ  - อา  -  นอ   อ่านว่า   กาน   หรือ  กอ  - อา - กา - กา  -นอ-  กาน  นักเรียนที่มีปัญญาเลิศเท่านั้นที่จะอาศัยความจำแล้วจึงอ่านออกแต่นักเรียนที่สติปัญญาระดับกลางหรืออ่อนจะจำไม่ได้แจกลูกสะกดคำไม่ถูกเพราะไม่เข้าใจว่า เอา  กอไก่มาใส่สระอา  แล้วเอาตัว (น) มาใส่ทำไมถึงอ่านว่า  กาน  เป็นปัญหาที่ครูจะต้องหาคำตอบให้นักเรียนกลุ่มนี้ให้เขาได้เข้าใจ  และจึงเป็นที่มาของนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาการอ่านไม่ได้เขียนไม่ออก  ของผมครับ และนวัตกรรมการแก้ปัญหาชุดนี้ได้คัดเลือกให้เป็น  หนึ่งวัตกรรมระดับประเทศ  อยากจะเผยแพร่ให้ครูหรือบุคลากรทางการศึกษาได้นำไปแก้ปัญหานักเรียนกลุ่มที่อ่านคำที่มัตัวสะกดไม่ออกหรือ  กอ - อา- นอ - กาน  ไม่ออก  ครูโหลพอที่จะช่วยได้  ครับท่าน

 ครูโหล  2550

         

 

 

    ขอชื่นชมครูโหลที่คิดค้นนวัตกรรมเรื่องการอ่านออกเขียนได้ จนประสบผลสำเร็จ ซึ่งนวัตกรรมก็คืออุบายที่จะช่วยส่งเสริมนักเรียนตามบัวแต่ละเหล่านั่นเอง อย่างนี้จะเรียกว่าครูโหลได้อย่างไร น่าจะเป็นครูต้นแบบมากกว่า
     เรื่องการอ่านออกเขียนได้ และคิดเลขเป็น ถือเป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้  ถ้าอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ นิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนก็คงไม่เกิด ที่นิวซีแลนด์ซึ่งผมเพิ่งไปดูงานมา  ในชั้นประถมศึกษาเขาเน้นเรื่องนี้เป็นพิเศษ (ไม่เหมือนบ้านเราที่ยัดเยียดความรู้ 8 กลุ่มสาระตั้งแต่ประถม จนเด็กเครียด ทั้งๆทีฐานยังไม่แน่น) เขาถือว่าถ้าเด็กเกิดทักษะเรื่องนี้แล้วก็จะใฝ่ศึกษาค้นคว้าในศาสตร์ต่างๆได้อย่างกว้างขวาง 

สวัสดีครับท่าน

ต้องขอโทษที่หายไปนาน แต่ไม่ได้ไปไหนครับเพียงแต่มีงานที่จะต้องทำมาก ต้องรวบรวมข้อมูลและปรับปรุงพัฒนาชุดฝึกการแก้ปัญหาการอ่านคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตรา และชุดฝึกทักษะการเขียนคำที่มีตัวสะกด และตอนนี้ได้เสร็จสมบูรณ์ดีแล้ว ได้เผยแพร่ให้ครูดีในดวงใจของเด็กๆ และครูดีในดวงใจครูโหลทุกท่านนำไปปรับใช้จะเป็นในรูปแบบนวัตกรรม หรือคู่มือการใช้นวัตกรรม ขอเสนอชุดฝึกทักษะการเขียนนักเรียนชอบมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่อัศจรรย์มากตรงที่กระบวนการฝึกทักษะการอ่านของครูโหลสามารถนำไปพัฒนาทักษะการเขียนได้อย่างไม่น่าเชื่อ แม้แต่ครูโหลเองก็ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะทำให้ลงตัวได้อย่างนี้ เหมือนกันกับสูตรคูณกับสูตรหารอย่างไรอย่างนั้น

ท่านครับขอฝากแก่นสาร "นวัตกรรมไม่ใช่คาถา หรือยาวิเศษ ที่จะสามารถ ปลุกเสกให้หายจากโรคได้ ถ้าไม่นำไปใช้กับเด็กจริงๆ" ครับท่าน

ครูโหล01 แบบคัดกรองการอ่าน

ครูโหล02 แบบฝึกอ่านแม่ ก-กา

ครูโหล03 แบบฝึกอ่านคำที่มีตัวสะกดตรงตามมาตรา

ครูโหล04 คู่มือการใช้ชุดฝึกการอ่านคำที่มีตัวสะกดตรงตามมาตรา

ครูโหล05 แบบฝึกอ่านคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตรา

ครูโหล06 คู่มือการใช้ชุดฝึกการคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตรา

ครูโหล07 แบบฝึกทักษะการเขียนคำที่มีตัวสะกด

ครูโหล08 คู่มือการใชแบบฝึกเขียน

เพื่อนครูอยากนำชุดฝึกไปปรับใช้เข้ามาที่ kouloo03.blogspot.com

พร้อมกับแนบ email ครับ

ครูโหล 03

ใครสนใจก็เชิญชวนติดตามผลงานของ ครูโหล 03

ที่ kouloo03.blogspot.com ได้เลยครับ

สวัสดีครับท่าน

ต้องขออภัยที่เงียบหายไปนานพอควร มัวยุ่งหลายงาน แต่ตอนนี้พอมีเวลาตืดตามถามไถ่ท่าน คงจะสบายดีนะครับ ตอนนี้ผมได้ค้นพบวิธีการสอนเขียนคำต่อจากการอ่านตามวิธีการแจกลูกสะกดคำ มาประยุคการสอนเขียนของนักเรียนอย่างลงตัวที่สุด ครับผมจะนำเสนอย่อให้ท่านฟังดังนี้ครับ

การเขียนคำที่มีตัวสะกดไม่ออกเกิดจากสาเหตุหลัก 4 สาเหตุครับ

1. จำตัวสะกดที่ตรงตามาตราตัวสะกดไม่ได้

2. แปลเสียงมาตราตัวสะกดของคำไม่ออก

3. แปลเสียงสระไม่ออก

4. แปลเสียงพยัญชนะต้นไม่ออก

ผมค้นพบวิธีแก้ปัญหาและสาเหตุโดยใช้ชุดฝึกทักษะการเขียนคำที่มีตัวสะกดที่ตรงตามาตราตัวสะกดมีหลักการดังนี้

1. การแก้ปัญหาจำตัวสะกดไม่ได้ใช้วิธีเดิมในการแก้ทั้ง 8 แม่ โดยใช้ภาพเป็นสื่อที่มีความหมาย เพราะ หนูอยู่ในโกน ตัวนอหนูจึงอยู่ในแม่กน ปัญหานี้หมดไปตอนชุดฝึกอ่านแล้ว

2. การแก้ปัญหาการแปลเสียงมาตราตัวสะกด การแปลเสียงมาตราตัวสะกดแปลยากต้องแปลก่อน จะพาเขียนคำว่า "นอน" ต้องเข้าใจก่อนว่าอยู่ในมาตราตัวสะกดในแม่ใด โดยพูด 3 ครั้งจะรู้เลยว่าอยู่ในมาตราใด เช่น พูดครั้งแรกว่า นอ-ออน-นอน

ครั้งที่ 2 พูดว่า นอ-อน-นน ครั้งที่ 3 พูดว่า กอ-อน-กน แม่ กน พูดสามครั้งรู้ได้เลยว่า" นอน" อยู่ในมาตราใด ส่วนการแปลเสียง สระ และพยัญชนะต้นั้นแปลง่ายกว่า ผมมีตัวอย่างชุดฝึกอ่านและฝึกเขียนให้ท่าน และเพื่อนครูที่สนใจ ในไปปรับใช้แก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ที่ Google แล้วพิมพ์คำว่า " ครูโหลสอนอ่านที่หนูรัก" โดยการอนุเคราะห์จากคณะครูโรงเรียนบ้านหนองโดนรกฟ้า สพป.นม.7 หวังว่าจะเกิดประโยชน์กับผู้เรียนและครูผู้ที่นำไปปรับใช้ ไม่มากก็น้อย วันนี้รบกวนท่านเท่านี้ก่อน โชคดีครับ สัสดีครับ............

อ่านแล้วประทับใจ ได้แรงบันดาลใจ ขอบพระคุณค่ะ

ท่านเป็นสุดยอดผู้บริหารต้นแบบในใจของผมตลอดกาล

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท