KM เพื่อชุมชนเป็นสุข


KM เพื่อชุมชนเป็นสุข

         วันที่ ๓๐ มค. ๔๙ สสส. จัดประชุมปฏิบัติการ เรื่อง “การสังเคราะห์ความรู้ สู่ชุมชนเป็นสุข”  ครั้งที่ ๒  เกษตรชีวภาพ    โดยทาง สสส. ต้องการใช้กระบวนการ KM เป็นเครื่องมือในการสังเคราะห์ความรู้ เพื่อการดำเนินการต่อ    อ้อมจึงไปช่วยให้คำแนะนำวิธีการประชุมแบบ ลปรร. โดยใช้ storytelling และบันทึก “ขุมความรู้”    เราภูมิใจ ที่ สคส. ได้นำ KM ไปให้ สสส. (ซึ่งเป็นองค์กรแม่) ใช้ประโยชน์

           

          บรรยากาศในห้องประชุม ๑          บรรยากาศในห้องประชุม ๒


         ผมไปนั่งฟังการประชุมในช่วงเช้า    เห็นพลังของการประชุมว่ามีสูงมาก    แกนนำชาวบ้านที่ทำเกษตรอินทรีย์จาก ๘ โครงการมาเล่าเรื่องที่มาที่ไปของตนอย่างมีพลัง    เพราะว่า สสส. ได้ “คุณกิจ” ตัวจริง มาร่วมประชุม     และ “คุณอำนวย” ผู้ทำโครงการของ สสส. ก็สามารถสรุปบทเรียนได้อย่างลุ่มลึก     ผมมีความสุข ที่ได้ฟังเรื่องเล่าที่มีพลังจาก คุณกิจ ทำเกษตรชีวภาพ จากหลากหลายพื้นที่  โดยเฉพาะ การได้พบพ่อจันที ปราชญ์ชาวบ้านแห่ง อ. ชุมพวง  จ. นครราชสีมา ผู้มีอายุ ๗๐ ปี แต่ยังแข็งแรงว่องไว มีใบหน้าที่สดชื่นยิ้มแย้ม และเล่าเรื่องจากประสบการณ์ตรงด้วยเสียงที่แจ่มใสชัดเจน 

  
         คณะผู้จัดการประชุม ต้องการเอาความรู้ที่สังเคราะห์ได้จากการประชุมไป  (๑) สื่อต่อสังคม ให้เห็นคุณค่าของการเกษตรชีวภาพ ทั้งต่อตัวชาวบ้านที่ทำการเกษตรชีวภาพ ต่อสังคมภาพรวมในการมีผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษบริโภค และการลดมลพิษสิ่งแวดล้อมจากสารเคมีการเกษตร    และต่อระบบเศรษฐกิจพอเพียงของประเทศ     และ  (๒) เอาไปดำเนินการขยายผลการเกษตรชีวภาพให้กว้างขวาง    เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ 
 
ผมขอ AAR การประชุม ซึ่งผมอยู่เฉพาะช่วงเช้า ดังนี้
• เป้าหมายในการไปร่วมประชุมของผม เพื่อไปสังเกตการณ์การประชุม ว่ามีกระบวนการและเนื้อหาอย่างไร     จะมีวิธีจัดกระบวนการให้บรรลุเป้าหมายมากยิ่งขึ้น ได้อย่างไร 
• สิ่งที่ได้เกินความคาดหมาย คือ ได้เห็นพลังของ “คุณกิจ” ตัวจริง ของการเกษตรชีวภาพ    และได้เห็นความสามารถในการสังเคราะห์ภาพการเรียนรู้ ของ “คุณอำนวย”      รวมทั้งได้เห็นโอกาสในการขับเคลื่อนขบวนการเกษตรชีวภาพ    ได้เห็นว่าเกษตรกรรมชีวภาพและโครงการชุมชนเป็นสุขของ สสส. ช่วยลดความเจ็บป่วย เพิ่มสุขภาพ    ได้สร้างความเข้มแข็งของชุมชนโดยการรวมกลุ่ม และขยายเป็นเครือข่าย
• สิ่งที่ยังได้น้อย คือกระบวนการของการประชุม    ยังน่าจะจัดให้ใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพกว่านี้ได้    โดยน่าจะจัดให้เน้น how มากกว่า what
• คำแนะนำสำหรับผู้จัด คือในการประชุมใดๆ ควรจัดประชุมแบบ KM    คือไม่ควรเริ่มจากศูนย์    ควรเริ่มจากทุนเดิมที่มีอยู่แล้ว     คือความรู้เกี่ยวกับ what หรือความสำเร็จในการดำเนินการเกษตรชีวภาพของ “คุณกิจ” และ “คุณอำนวย” ที่มีอยู่แล้ว    ควรได้รับการรวบรวมเอามาเป็นทุนเดิม (ความรู้ความเข้าใจที่มีอยู่) ส่งให้ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนได้อ่านมาก่อน     แล้วใช้เวลาของการประชุม ลปรร. เกี่ยวกับ how   คือตั้งคำถามว่า ความสำเร็จนั้นๆ เกิดขึ้นได้อย่างไร     มี ความเชื่อ ความคิด การกระทำ สภาพแวดล้อม อะไรบ้างที่ช่วยทำให้เกิดความสำเร็จนั้น    และ ความเชื่อ ความคิด การกระทำ และสภาพแวดล้อม แบบใดบ้างที่เป็นอุปสรรค หรือตัวปิดกั้น ความสำเร็จ     คำตอบ คือ ความรู้ เพื่อการบรรลุเป้าหมายของการทำเกษตรชีวภาพ เพื่อชุมชนเป็นสุข
• คำแนะนำอีกประการหนึ่ง ได้จากการพา เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และคุณพรพิไล เลิศวิชา ไปเยี่ยมชมกิจการโรงเรียนชาวนาของมูลนิธิข้าวขวัญสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ ๒๔ มค. ๔๙     เราได้รับคำแนะนำว่า นักเรียนชาวนาไม่ควรเรียนรู้เฉพาะเรื่องการทำนา ซึ่งเป็นเรื่องเชิงเทคนิค     ควรเรียนรู้เรื่องอื่นๆ เพื่อช่วยเสริมความรู้ ความมั่นใจ เข้าใจ ในความเป็นตัวตนร่วมกันของนักเรียนชาวนาอีกด้วย     ผมได้บันทึกเรื่องนี้ไว้แล้ว (click) สามารถคลิกเข้าอ่านได้

• ผมจะกลับไป AAR เรื่องนี้กับอ้อม ในการประชุมประจำสัปดาห์ของ สคส. วันที่ ๘ กพ. ๔๙    อยากขอเชิญทีมงานของสำนัก ๓  สสส. เข้าร่วม AAR ด้วย    เพื่อ ลปรร. และหาแนวทางดำเนินการต่อ

วิจารณ์ พานิช
๓๐ มค. ๔๙
 

หมายเลขบันทึก: 14098เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2006 08:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท